จรัญ มะลูลีม : ปรัชญาอิสลามบนแผ่นดินยุโรปหลังยุคกลาง

จรัญ มะลูลีม

ในปี 1215 กษัตริย์เฟรดเดริกที่ 2 กลายเป็นจักรพรรดิแห่งโรม พระองค์เคยเล่าเรียนที่ปาเลอร์โมกับครูชาวอาหรับและคุ้นเคยกับชาวมุสลิมในซิซิลีและซีเรียในตอนสงครามครูเสดจึงยกย่องความคิดของนักปราชญ์มุสลิมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะของอิบนุรุชด์

ในปี 1224 ได้ทรงสร้างมหาวิทยาลัยที่เมืองเนเปิลส์เพื่อจะแนะนำปรัชญาและวิทยาศาสตร์ของอิสลามให้แก่ชาวตะวันตก St.Thomas ก็ศึกษาที่มหาวิทยาลัยนี้ ที่นี่นักแปลทั้งที่เป็นชาวยิวและคริสเตียนขะมักเขม้นอยู่กับการแปลหนังสือภาษาอาหรับเป็นภาษาละตินและฮิบรู

งานของอริสโตเติลและอิบนุรุชด์ที่ถูกแปลเป็นภาษาละตินมิได้ใช้สอนในมหาวิทยาลัยนี้เท่านั้น

แต่ยังถูกส่งไปยังมหาวิทยาลัยปารีสและโบโลญญาด้วย

ส่วนในมหาวิทยาลัยโบโลญญาและปากัวอิทธิพลของอเวอโรสก็เข้าไปครอบครอง

อิบนุรุชด์จึงมีอิทธิพลอย่างรวดเร็วในตะวันตก

อิบนุรุชด์มีชื่อเสียงในโลกละตินมากกว่าในโลกมุสลิมเสียอีกเพราะในโลกมุสลิมเหลือตำราของเขาอยู่น้อย

ส่วนในสเปนหนังสือของเขาก็ถูก Ximenez สั่งให้ทำลายเสีย

ต้นฉบับภาษาอาหรับ 80,000 เล่มถูกเผาที่จัตุรัสแกรนาดาจนไม่มีเหลือ

 

ระยะหลัง (จากสมัย Descartes ถึง Kant)

ความคิดด้านปรัชญาสมัยใหม่เริ่มต้นด้วยความนึกคิดของ Descartes ปรัชญามุสลิมได้แทงทะลุเข้าไปในตะวันตกอย่างลึกซึ้งมาก่อนสมัยของ Descartes งานส่วนมากของอัล-ฆอซาลี ได้ถูกแปลเป็นภาษาละตินก่อนกลางศตวรรษที่ 12 นับตั้งแต่นั้นมาก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อวิชาการของยิวและคริสเตียน

แต่อิทธิพลของอัล-ฆอซาลีที่มีต่อความคิดสมัยใหม่ของยุโรปก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่งเต็มที่นัก Descartes ไม่ได้ยอมรับว่าตนเป็นหนี้ (โดยตรงหรือโดยอ้อม) ต่อนักคิดมุสลิมใดๆ แต่ก็ยากที่จะเชื่อว่าเขาไม่รู้จักอัล-ฆอซาลีและมิได้รับอิทธิพลมาโดยผ่านหนังสือภาษาละตินซึ่งเขาจะต้องเคยอ่าน

ฉะนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิเสธอิทธิพลของอัล-ฆอซาลีที่มีต่อปรัชญาสมัยใหม่ในตะวันตก เราสามารถแลเห็นได้โดยการเปรียบเทียบหนังสืออัล-มุนกิซของอัล-ฆอซาลี กับเรื่อง Discourse de lla method ของ Descartes

ความคล้ายคลึงกันอย่างมากของงานสองชิ้นนี้ทำให้ George Henry Lewis เขียนไว้ในหนังสือ Biographical History of Philosophy ของเขาว่า “ถ้าในสมัย Descartes มีต้นฉบับแปลของอัล-ฆอซาลี อยู่ละก็ ทุกๆ คนคงจะต้องร้องว่า Discartes ขโมยความคิดมาทีเดียว”

นักปรัชญาสมัยใหม่ของยุโรปที่มีชื่อเสียงมากอีกคนหนึ่งคือ Spinoza เขาได้รับอิทธิพลจากอัล-ฟะรอบี มากมาย ความคิดของอัล-ฟะรอบี มาถึงสปิโนซาโดยผ่านนักวิชาการชาวยิวอย่างเช่นมัยโมนิดส์ คนที่อ่านหนังสือ De Emendetione Intellectus ของสปิโนซากับหนังสือ What Should Precede the Study of Philosophy ของอัล-ฟะรอบี ก็คงจะต้องสะดุดใจในความเหมือนกันของหนังสือสองเล่มนี้

แม้กระทั่งจุดมุ่งหมายสุดท้ายก็เหมือนกันคือความรู้ของพระเจ้า อิทธิพลของอิบนุสินาที่มีต่อสปิโนซาก็สังเกตเห็นได้เช่นเดียวกัน

 

ดังได้กล่าวมาแล้ว ข้อพิสูจน์ทางจักรวาลในเรื่องความมีอยู่ของพระเจ้าของอัล-ฟะรอบี และอิบนุ สินา เป็นที่ยอมรับของสปิโนซาเช่นเดียวกับมัยโมนิดส์และเซนต์โทมัสก่อนหน้าเขา และเรื่องความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นอนันตะกับสิ่งที่ไม่เป็นอนันตะของอัล-ฆอซาลี ก็ถูกเขาติดตามเช่นเดียวกับที่ Crescas, Bruno Galileo และ Descartes เคยตามมา

นอกจากนั้น ความคิดเรื่องสสารของสปิโนซาก็เหมือนกับความคิดที่ว่าพระเจ้าทรงเรียบง่าย และไม่มีการแยกกันระหว่างแก่นแท้กับความเป็นอยู่อย่างที่อัล-ฆอซาลีคิด

ผู้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในหมู่ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่หลังจากสปิโนซาก็คือลิบนิซ (Leibniz) แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงเขา ขอกล่าวถึงนักคิดผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งของสมัยใหม่เสียก่อน คือคานต์ (Kant) คานต์มีความคิดด้านปรัชญาคล้ายคลึงกันมากกับอัล-ฆอซาลี

มันเป็นไปได้อย่างไร?

 

เราเชื่อว่า จะได้พบคำอธิบายอยู่ในปรัชญาของลิบนิซ เพราะคำสอนของลิบนิซนั้นมีบรรยากาศถาวรของความคิดของคานต์ ลิบนิซก็เช่นเดียวกับคานต์และอัล-ฆอซาลี ถือว่าโลกเป็นปรากฏการณ์จักรวาล กาลและอวกาศ ดังนั้น สำหรับทั้งสามคนโลกจึงไม่เป็นของจริงหรือมีลักษณะของจริง

ลิบนิซเป็นคนร่วมสมัยกับสปิโนซาแต่มีอายุน้อยกว่า ความเป็นหนึ่งของความคิดมุสลิมของเขานั้นไม่มีข้อสงสัย เขามีความสามารถในภาษาละตินตั้งแต่เล็กๆ ฉะนั้น จึงไม่น่าจะละเว้นการอ่านงานของอัล-ฆอซาลี ที่แปลเป็นภาษาละตินไปได้

อันที่จริงนั้นจะเห็นอิทธิพลของความคิดมุสลิมที่มีต่อเขาได้อย่างชัดเจนในแง่มุมอื่นอีกด้วย ข้อพิสูจน์เรื่องความมีอยู่ของพระเจ้าจากแนวความคิดเรื่องความจำเป็นและเหตุการณ์ในอนาคต ถ่ายทอดผ่านมาถึงอิบนุ สินา มัยโนนิดส์ และเซนต์โทมัส

ความคิดของเขาที่ว่าความสมบูรณ์ของมนุษย์มาจากพระเจ้าและความไม่สมบูรณ์มาจากธรรมชาติของเขาเองนั้นก็สืบร่องรอยได้ว่ามาจากนักปราชญ์มุสลิมเช่นกัน

 

หลังสมัยของคานต์

ในศตวรรษที่ 12 ได้มีนักคิดมุสลิมอีกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมา คนผู้นั้นคืออิบนุ ตูฟัยส์ ซึ่งในโลกมุสลิมรู้จักในนามของอเบนโตฟาล (Abentofal) หรืออบูเบเซอร์ (Abubacer)

งานส่วนใหญ่ของตูฟัยส์สูญหายไป บางทีอาจจะเพราะการทำลายของ Ximenez แต่งานที่มีชื่อชิ้นหนึ่งของเขาคือเรื่องฮัยย์ อิบนุยักซาน อันเป็นเรื่องโรแมนติกแฝงปรัชญา ซึ่งเขาได้แสดงให้เห็นว่าแม้แต่เมื่อไม่มีขนบธรรมเนียมและวะฮีย์ (วิวรณ์) มนุษย์ก็สามารถได้รับความรู้ของธรรมชาติได้และโดยอาศัยความรู้นั้นก็อาจได้ความรู้ของพระเจ้าด้วย

งานชิ้นนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาฮิบรูก่อนโดยมีผู้เขียนคำอรรถาธิบาย ต่อมาถูกแปลจากภาษาอาหรับเป็นภาษาละตินและพิมพ์พร้อมกับภาษาอาหรับ ต่อมาก็ได้มีการแปลเป็นภาษายุโรปต่างๆ ส่วนมาก ในตอนแรกก็แปลเป็นภาษาอังกฤษหลายฉบับ ต่อมาเป็นภาษาดัตช์ เยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย และสเปน

ฉบับแปลมากมายของงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นอิทธิพลของนวนิยายแฝงปรัชญาที่มีต่อความคิดของตะวันตก หนังสือหลายเล่มในตะวันตกได้รับแรงบันดาลใจจากงานชิ้นนี้ ตัวอย่างเช่น เรื่อง Atlantis ของ Bacon และนวนิยายเรื่องอื่นๆ เล่มสุดท้ายคือ Robinson Crusoe เขียนโดย Daniel Defore

เราไม่อาจละเว้นการกล่าวถึงอิบนุ ค็อลดูน (Abd al-Rahman ibn Khaldun 1332-1406) ได้ คนจำนวนมากยอมรับว่าอิบนุ ค็อลดูน เป็นบิดาแห่งสังคมวิทยาและนักปรัชญาคนแรกของวิชาประวัติศาสตร์ เป็นคนแรกที่คัดค้านความคิดของนักปรัชญากรีกและนักปรัชญามุสลิมระยะแรกๆ โดยยืนยันว่าไม่ควรศึกษาถึงสังคมมนุษย์จากทรรศนะด้านอุดมคติ-เหตุผล แต่ควรศึกษาในฐานะที่มันเน้นปรากฏการณ์ธรรมชาติ

ทรรศนะนี้ได้แสดงไว้อย่างเต็มที่ในมุก็อดดิมะฮ์ (บทนำ) ของานทางประวัติศาสตร์ของเขาที่มีชื่อว่ากิตาบ อัลอิบัร ครั้งแรกมีการแปลเป็นภาษาตุรกี ชาวตะวันตกไม่เคยได้รู้เรื่องปรัชญานี้จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 18