ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
แม้จะมีความพยายามจะเล่นแง่ เพื่อปฏิเสธข้อกล่าวหาของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตามญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จาก ส.ส.รัฐบาลที่นำโดย “เสี่ยเฮ้ง” นายสุชาติ ชมกลิ่น ประธาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ
โดยเฉพาะถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในญัตติที่ฝ่ายค้านสาธยายถึงพฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ อันเป็นเหตุให้ขอเปิดซักฟอกหนนี้
ไม่ว่า “พล.อ.ประยุทธ์มีพฤติกรรมล้มล้างรัฐธรรมนูญ กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” หรือไม่ว่า “พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำประเทศที่กร่าง เถื่อน มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู ปิดปากผู้ที่มีความเห็นต่าง ชอบก่นด่าเมื่อถูกซักถาม”
แม้ 9 ส.ส.รัฐบาลจะประกาศรับไม่ได้ ยื่นเรื่องถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาตีกลับให้ฝ่ายค้านไปแก้ไขถ้อยคำให้เหมาะสม ก่อนที่จะมาคุยถึงกำหนดเปิดอภิปราย
“ญัตติที่ฝ่ายค้านส่งมามีเนื้อหาเป็นเท็จที่กล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ฉีกรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์มาตามระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นนายกฯ คนใหม่แล้ว” นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลระบุ
แต่ทว่ายกแรกนี้ที่บรรดา “องครักษ์” หยิบมาต่อสู้ก่อนเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะไม่ได้รับการตอบสนองจากประธานสภา ผู้อาวุโสจากพรรคประชาธิปัตย์สักเท่าไหร่
เพราะนอกจากจะไม่ตีกลับญัตติให้ฝ่ายค้านตามที่ 9 ส.ส.รัฐบาลได้ร้องขอแล้ว นายชวนกลับบรรจุญัตติที่ปรากฏถ้อยคำ “กร่าง-เถื่อน” เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมทันที
“ปกติแล้วญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ คงไม่อวยกันอยู่แล้ว ต้องใส่กันเต็มที่ ดังนั้น ถ้าเห็นว่าข้อมูลใดไม่ถูกต้องก็ค่อยไปชี้แจงกันในสภา ไม่ใช่เรื่องยาก” นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาจากพรรคประชาธิปัตย์ชี้แจง
แน่นอน เกมนี้สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นเรื่องเล็กๆ เมื่อเทียบกับถ้อยคำในญัตติที่พรรคประชาธิปัตย์เมื่อครั้งเป็นฝ่ายค้านได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้วๆ มา
จึงเจอฝ่ายค้านในพวกเดียวกัน อย่าง “เสี่ยคึก” เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ สอนแรงๆ ว่า นี่ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่เมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วฝ่ายรัฐบาลมาขอให้ฝ่ายค้านแก้ไขถ้อยคำใหม่
เพราะการที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติที่จะมีเนื้อหารุนแรงหวือหวาก็เป็นเรื่องปกติ เพราะถือเป็นการโหมโรม ออเดิร์ฟ สำหรับการประหารชีวิตทางการเมือง
จึงไม่จำเป็นต้องมาสดุดีเยินยอกัน
อีกแง่แง่งที่ซีกรัฐบาลยกมาเป็นศึกอีกยกกับฝ่ายค้านก่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
นั่นคือ กรอบกับวันเวลาเปิดซักฟอก เพราะฝ่ายรัฐบาลต้องการบีบ โดยชิงล็อกวันเปิดอภิปรายระหว่าง 25-27 กุมภาพันธ์ 2563 และลงมติ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ให้ 3 วัน 3 คืนเป๊ะๆ โดยนำวันปิดสมัยประชุมมาปิดท้าย ปิดปากฝ่ายค้านโดยปริยาย
แค่อ้าปากมาก็เหมือน “ไก่เห็นตีนงู” ฝ่ายค้านรู้ทัน ไม่ยอม นี่จึงเป็นที่มา ทำให้นายชวน หลีกภัย ต้องเรียกประชุม
“ฝ่ายค้านไม่มีทางยอมรับเด็ดขาด ถือเป็นการบีบกันเกินไป ส่วนในเรื่องการที่รัฐบาลขอให้แก้ไขเนื้อหาญัตตินั้น ฝ่ายค้านได้ความชัดเจนจากประธานสภาแล้วว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไขญัตติ แต่ถ้าจะให้เอาใจรัฐบาล ฝ่ายค้านก็พร้อมจะไม่อ่านเนื้อหาในญัตติในส่วนนั้น” นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านยืนยัน
จนกระทั่งรัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยอมถอย
ถอยให้เปิดอภิปรายรัฐบาลในตั้งแต่เวลา 13.30 น. ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยในช่วงเช้าขอประชุม ครม.ให้จบ เพื่อจะได้ยกทีมมาประจำการที่รัฐสภาตลอดทั้งสัปดาห์สุดท้ายของสมัยประชุม
วางเป้า 3 วัน 3 คืน หากไม่จบวันที่ 27 กุมภาพันธ์ มีออปชั่นต่อไปอีกวัน เพื่อไปลงมติไว้วางใจหรือไม่ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน หนนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบๆ 7 ปี
ครั้งหลังสุด ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่พรรคฝ่ายค้านโดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในขณะที่การเมืองนอกสภากำลังเข้มข้นจากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.เพื่อขับไล่รัฐบาลก่อนที่จะเกิดรัฐประหารโดย คสช.ในเดือนพฤษภาคม 2557
แม้ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะเดดไลน์ถึงชั่วโมงสุดท้ายก่อนยื่นญัตติ ถึงจะเคาะรายชื่อสุดท้ายของรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ จาก 9 ชื่อที่ปล่อยออกมา เหลือเพียง 6 คน
นอกจากจะมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเป้าหลักแล้ว ยังมี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ
“บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย
แน่นอนว่า ข้อกล่าวหากว้างๆ ในญัตติ ประกอบด้วย ไม่ซื่อสัตย์สุจริต บริหารงานทำให้ประเทศเสียหาย ใช้อำนาจแทรกแซงข้าราชการ ไม่มีคุณสมบัติในตำแหน่ง ขาดความรู้ความสามารถ ขาดคุณธรรม ผิดจริยธรรม เป็นต้น
แต่หากมองไปให้ลึกๆ รายชื่อที่ฝ่ายค้านจับขึ้นเขียงทั้งหมด ล้วนเป็นกลุ่มที่ยึดโยงมาจากการยึดอำนาจ และมีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันตามยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายค้านโจมตีรัฐบาลมาตลอด
เป็นกลุ่มพี่น้อง 3 ป. กับกลุ่ม 3 บริวารอย่างที่นายเทพไทระบุว่า “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พี่น้อง 3 ป.เป็นการล็อกเป้าของฝ่ายค้านที่ต้องการพาดพิงไปถึงยุค คสช. เพื่อพุ่งเป้าไปยังศูนย์อำนาจของรัฐบาล หากทำให้ศูนย์กลางอำนาจสั่นคลอน ก็เป็นการง่ายในการโค่นล้มรัฐบาลนี้ในโอกาสต่อไป”
แม้ดูจากเสียงในสภา ที่ล่าสุด 5 ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่จะถอนตัวจากฝ่ายค้าน และส่อเข้าร่วมรัฐบาล จะคาดหมายได้ว่า โอกาสที่สภาจะลงมติไว้วางใจ “บิ๊กตู่+5 รมต.”
แต่การที่ฝ่ายค้านไม่ใส่รายชื่อรัฐมนตรีในสังกัดประชาธิปัตย์ กับภูมิใจไทย หรือแม้แต่รัฐมนตรีในสังกัดพลังประชารัฐ เช่น ทีมเศรษฐกิจ กลุ่มสามมิตร หรือสาย กปปส.แม้แต่คนเดียว
ถือเป็นการวางยุทธศาสตร์เพื่อโดดเดี่ยว คสช.อย่างชัดเจน
แม้พรรคประชาธิปัตย์จะสั่งตั้งทีมช่วย ห้ามอยู่เฉย แต่กรณีนี้ คสช.รู้ดี ในเมื่อ “ธุระไม่ใช่” แล้ว ส.ส.ประชาธิปัตย์ระดับเขี้ยวรากดิน จะหวังพึ่งในเกมนี้ได้จริงหรือไม่?
นี่จึงเป็นที่มาที่บรรดา “องครักษ์” ต้องมาขู่ฟ่อๆ ล่วงหน้า โดยเฉพาะการอภิปรายย้อนอดีต คสช. หากประท้วงแล้ว เตือนแล้ว ฝ่ายค้านไม่ฟัง อาจมีมาตรการโดยสมาชิกซีกรัฐบาลจะลุกขึ้นเสนอขอปิดอภิปรายก็เป็นได้
แม้ขู่ล่วงหน้า แต่ฝ่ายค้านรู้ดี หากจะใช้โอกาสนี้ตบหน้า หลอกด่ารัฐบาลตามยุทธศาสตร์ ยังไงก็ต้องอภิปรายกลับไปในยุค คสช.
อภิปรายซัดกลุ่ม 3 บริวารเชื่อมโยงไปถึงพี่น้อง 3 ป. ไล่เรียงตั้งแต่นิสัยกร่าง-เถื่อน ยันจัดซื้อเรือดำน้ำ