คนของโลก : มอคทาดา ซาดาร์ “คิงเมกเกอร์” แห่งอิรัก

มอคทาดา ซาดาร์ ผู้นำศาสนาฝีปากกล้าชาวอิรัก หัวหน้าพรรค “ซาดริสต์ มูฟเมนต์” ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีอิทธิพลในทางการเมืองของอิรักมากที่สุดคนหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงในอิรัก การเลือกตั้ง การเจรจาลับ หรือแม้แต่การจัดตั้งรัฐบาล มอคทาดา ซาดาร์ จะเป็นหนึ่งในบุคคลที่อยู่เบื้องหลังในทุกๆ เรื่อง

อดีตทหาร วัย 46 ปี ผู้ผันตัวมาเป็นผู้นำศาสนาและนักการเมืองชื่อดัง มีผู้สนับสนุนจำนวนมากในอิรัก เพียงแค่ทวีตข้อความเพียงข้อความเดียว ก็สามารถระดมคนจัดประท้วงใหญ่ หรือแม้กระทั่งโค่นล้มรัฐบาลได้

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซาดาร์แสดงออกสนับสนุนโมฮัมหมัด อัลลาวี อดีตรัฐมนตรีสื่อสารอิรัก ขึ้นนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในที่สุด หลังจากอิรักต้องเผชิญการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่กินเวลายาวนาน 4 เดือน สิ้นสุดภาวะชะงักงันทางการเมืองของอิรักลง

ซาดาร์สนับสนุนการประท้วงดังกล่าวตั้งแต่ต้น แม้ว่ากลุ่มผู้ประท้วงจะเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีที่ซาดาร์เองให้การสนับสนุนลาออกจากตำแหน่ง รวมไปถึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้ซาดาร์สูญเสียที่นั่งในสภาซึ่งเขาเองคุมเสียงส่วนใหญ่อยู่

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ชายผู้นี้มีจุดยืนอยู่ได้หลายฝักหลายฝ่าย เป็นนักมานุษยวิทยาที่พร้อมลงถนน ทำให้จุดยืนในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นไม่คงเส้นคงวา

 

ซาดาร์เป็นลูกชายของโมฮัมหมัด ซาเดค อัล-ซาดาร์ อดีตผู้นำศาสนาชื่อดัง ฝ่ายค้านคนสำคัญของรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน ก่อนที่จะถูกลอบสังหารในปี 1999

นอกจากนี้ ซาดาร์ยังเป็นญาติกับโมฮัมหมัด บาเคอร์ อัล-ซาดาร์ นักคิดชื่อดังที่ถูกซัดดัมสังหารในปี 1980 ด้วยเช่นกัน

มรดกสายเลือดเหล่านี้ส่งผลให้ซาดาร์มีความมุ่งมั่นในเส้นทางการเมือง ก่อนจะสร้างชื่อเสียงในฐานะผู้นำกองกำลังมาห์ดี ที่ปกป้องชุมชนมุสลิมชีอะห์ ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองไร้ขื่อแป หลังจากสหรัฐอเมริกาส่งทหารบุกเข้าอิรักและโค่นล้มรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน ลงเมื่อปี 2003

ซาดาร์หายหน้าไปจากสื่ออิรักเมื่อปี 2006 โดยเดินทางไปเรียนด้านการเป็นผู้นำศาสนาในอิหร่านอยู่หลายปี ก่อนจะกลับอิรักในปี 2011 และกลายเป็นคนดังที่นำการประท้วงใหญ่หลายครั้ง

โดยเฉพาะการชุมนุมต่อต้านการทุจริตเมื่อปี 2016 หลังจากอิรักถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่ทุจริตเป็นอันดับ 12 ของโลก

ด้วยบุคลิกโผงผาง และออกหน้าคัดค้านรัฐบาลด้วยตัวเอง ทำให้ “กลุ่มเซรูน” กลุ่มพันธมิตรพรรคการเมืองผู้สนับสนุนซาดาร์ กลายเป็นกลุ่มการเมืองขนาดใหญ่ที่สุดด้วยจำนวนเก้าอี้ 54 ที่นั่งจากเก้าอี้ในสภาทั้งหมด 329 ที่นั่ง

ซาดาร์มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์จำนวนมากถึง 900,000 คน จับมือกับกลุ่มฟาตาห์ กลุ่มการเมืองที่มีจำนวนเก้าอี้ตามมาเป็นอันดับ 2 ครองเสียงข้างมากในสภาได้ในที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ซาดาร์มีความขัดแย้งในจุดยืนทางการเมืองของตัวเองในช่วงเดือนที่ผ่านมา เมื่อเขาทวีตข้อความทั้งสนับสนุนและคัดค้านรัฐบาลปะปนกันไป ก่อนจะสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ลงมาบนท้องถนนนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อน

นอกจากนี้ ซาดาร์ยังเป็นแกนนำประท้วงเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาถอนกำลังออกจากอิรักในช่วงที่ผ่านมา หลังเหตุสังหารคัสเซม โซไลมานี ผู้นำทหารอิหร่านที่สนามบินในกรุงแบกแดดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ซาดาร์เองมีสายสัมพันธ์อันซับซ้อนกับอิหร่าน ชาติที่ครอบครัวของซาดาร์ต่อต้านมาโดยตลอด แต่เวลานี้เป็นเขาเองที่จบการศึกษาด้านศาสนามาจากอิหร่าน

ซาดาร์สร้างความประหลาดใจให้กับหลายๆ คนเมื่อเขาเดินทางไปกรุงเตหะรานพบปะกับอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนีผู้นำสูงสุดอิหร่าน รวมไปถึงพบกับโซไลมานี ด้วยในเดือนกันยายนปีก่อน

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้คำอธิบายในตัวนักการเมืองผู้นี้ว่าเป็น “ผู้มีแนวคิดชาตินิยม ต่อต้านอเมริกันในช่วงสงครามอิรัก เป็นบุคคลที่สานสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียในเวลาต่อมา ก่อนจะวกกลับไปสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน”

เวลานี้ ซาดาร์แสดงบทบาทในฐานะผู้มีอิทธิพลในวงการการเมืองอิรักอีกครั้งด้วยการเป็นผู้สนับสนุนดันให้อัลลาวีก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แต่ยังคงยืนยันว่าตนเองมีหัวใจขบถอย่างเต็มที่

โดยเฉพาะทวีตข้อความล่าสุดที่เรียกร้องให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ข้อความที่ผู้สนับสนุนทวีตต่อไปหลายพันครั้งลงท้ายด้วยคำว่า

“ผู้อุปถัมภ์การปฏิวัติ”