ลึกแต่ไม่ลับ : กำขี้ดีกว่ากำตด

จรัญ พงษ์จีน

หัสเดิม “ปฏิทินร่างรัฐธรรมนูญ” วางโปรแกรมแรกเอาไว้เบื้องต้นว่า กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 ฉบับ “เรือแป๊ะ” ที่มี “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นประธานกรรมาธิการ จะต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำให้แล้วเสร็จ และส่งมอบให้ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” หรือ “สปช.” ภายในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2558 เพื่อให้ศึกษาร่างฯ เป็นเวลา 15 วัน เพื่อลงมติ รับหรือไม่รับ ภายในวันที่ 5-7 กันยายน

กรณีที่ “สปช.” ลงมติเห็นชอบ รับร่างรัฐธรรมนูญ จึงนำไปสู่ขั้นตอนถัดไป คือการ “ออกเสียงทำประชามติ” ในเดือนมกราคม พ.ศ.2559 เมื่อประชามติผ่านด้วยเสียงข้างมากจากผู้มาใช้สิทธิแล้ว

จากนั้น จึงชงลูกสู่ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” หรือ “สนช.” เพื่อพิจารณากฎหมายลูกหรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นเวลา 3 เดือน เมื่อแล้วเสร็จจึงส่งร่างฯ ทั้งฉบับ ให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ใช้เวลาวินิจฉัยตีความภายในเวลา 1 เดือน รูดปื๊ด ไม่กี่อึดใจ ลื่นไหลเข้าโหมดสุดท้าย คือ การเลือกตั้งใหม่ภายใน 90 วันหรือ 3 เดือน

 

ประมาณการกันในโค้งแรกว่า ศึกเลือกตั้งใหญ่ในประเทศไทย จะระเบิดเถิดเทิงขึ้นในเดือนกันยายน หรือไม่เกินเดือนธันวาคม พ.ศ.2559

แต่แล้วในที่สุด ฝันก็ดับสลาย เพราะ “เรือแป๊ะ” ที่มี “บวรศักดิ์” ทำหน้าที่กัปตัน พร้อม 36 อรหันต์ทองคำ เกิดชนตอ ถูกคว่ำกระดาน จมกระเบื้องกลางอ่าว เมื่อ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่ผ่านความเห็นชอบของ “สปช.” เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2558

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช. จึงอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ระบุว่า

“เมื่อ สปช. ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ที่กรรมาธิการแก้ไขแล้วเสร็จ ให้ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้น ให้ยุบ สปช.” ซึ่งก็เป็นมรรคผลให้ “กรรมาธิการยกร่างฯ” สิ้นสภาพตามไปด้วย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของ “สปช.” จึงกอดคอกันตายหมู่

 

หลังจากนั้น “บิ๊กตู่” อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 39 แต่งตั้ง คณะกรรมการชุดใหม่ ขึ้นมายกร่างภายใน 30 วัน โดยมอบหมายให้ “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน ประกาศแต่งตั้งหลังคลอดรายชื่อ “สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ” หรือ “สปช.” จำนวน 250 คน เพียงไม่กี่วัน

มีการปรับจูน “ปฏิทินร่างรัฐธรรมนูญ” เป็นคำรบที่ 2 ด้วยกรอบเวลาใหม่ ดังนี้คือ “กรธ.” จะต้องเร่งยกร่างให้แล้วเสร็จภายในเวลา 120 วัน โดยวางโปรแกรมไว้ว่า ระหว่างวันที่ 20-26 เมษายน พ.ศ.2559 ร่างรัฐธรรมนูญ ชุด “21 มหาปราชญ์” จะแล้วเสร็จในเบื้องต้น และสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุม สปช. เพื่ออภิปรายเสนอความเห็น

ภายใน 30 วัน คือ วันที่ 25 พฤษภาคม 2559 “แม่น้ำ 4 สาย” ได้แก่ “คสช.-ครม.-สนช.-สปช.” สามารถเสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมได้

เมื่อแม่น้ำ 4 สายเสนอแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ และส่งกลับไปให้ “กรธ.” จะนำข้อเสนอแนะเข้าสู่กระบวนการทบทวนเนื้อหาทั้งหมด โดยนำคำขอแก้ไขทั้งหมดจากทุกฝ่ายมาประกอบการพิจารณา ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน คือก่อนวันที่ 23 กรกฎาคม

จากนั้นภายใน 1 สัปดาห์ส่งร่างทั้งฉบับให้เลขานุการและกฤษฎีกา ตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อป้องกันความผิดพลาด ก่อนส่งให้ที่ประชุมใหญ่ “สปช.” ลงมติ ซึ่งเสียงข้างมาก มีมติเห็นชอบ

ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” จึงขับเคลื่อนสู่กระบวนการ “การออกเสียงประชามติ” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 และผลดังที่ทราบกันไปแล้ว ปรากฏว่า “ผ่านฉลุย” ทั้ง 2 คำถาม เสียงข้างมาก จากจำนวนผู้ใช้สิทธิ เห็นชอบท่วมท้น

 

“คำถามแรก-ร่างรัฐธรรมนูญ” ประชามติทั่วประเทศ เห็นชอบ 15,562,027 เสียง ไม่เห็นชอบ 9,784,680 เสียง คิดเป็นร้อยละ 61.40 ต่อ 38.60 และ “คำถามพ่วง” เห็นชอบ 13,969,594 เสียง ไม่เห็นชอบ 10,070,599 เสียง คิดเป็นร้อยละ 58.11 ต่อ 41.89 จากผู้มาใช้สิทธิ ร้อยละ 58 ทั่วประเทศ

การที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559 ผ่านความเห็นชอบจากการออกเสียงลงประชามติแล้ว น่าจะสามารถก้าวข้ามทุกมิติ เพื่อนำพาไปสู่โหมดเลือกตั้งใหญ่ ได้ตามตารางเวลาที่วางไว้เดิมคือ ภายในปลายปี พ.ศ.2560

แต่ดูเหมือนว่า จะไม่เป็นไปตามนั้น เนื่องเพราะ เมื่อคำนวณดูกรอบเวลา เงื่อนไขสะระตะ “ศึกเลือกตั้ง” ยังต้องตีกรรเชียงเข้าเขาวงกตอันคดเคี้ยวอีกมากมายก่ายกอง

 

กล่าวคือ ขั้นตอนต่อไป “กรรมการร่างฯ” ของ “ซือแป๋มีชัย” ต้องใช้เวลา 30 วัน เพื่อปรับแก้ไขใส่ “คำถามพ่วง” เข้าไปในร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อแล้วเสร็จจึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตีความ

หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าต้องปรับแก้ เพราะเจตนาไม่ตรงตามคำถามพ่วง กรธ. ต้องนำกลับมาแก้ไขใหม่ ภายใน 15 วัน

รวมเป็น 45 วัน เมื่อแก้ไขปรับปรุงแล้วเสร็จ “กรรมการร่างฯ” จึงส่งมอบต่อให้นายกฯ นำร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน รวม 75 วัน ทรงมีเวลาลงพระปรมาภิไธย 90 วัน

หลังจากนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559 จึงสามารถประกาศใช้ได้อย่างสมบูรณ์ ขั้นตอนต่อไป “กรธ.” ต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้แล้วเสร็จ

 

4 ฉบับที่ต้องใช้เวลานาน พิถีพิถันเป็นกรณีพิเศษคือ 1.กฎหมายเลือกตั้งสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2.กฎหมายวุฒิสมาชิก 3.กฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ 4.กฎหมายพรรคการเมือง

“กฎหมายพรรคการเมือง” เห็นว่าจะมีรายการ “เซ็ตซีโร่” พรรคการเมืองเพื่อเริ่มนับหนึ่งกันใหม่

อย่างไรก็ตาม “คณะกรรมการ” มีตารางเวลาในการจัดทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน จากนั้น ภายในเวลาอีก 150 วัน ส่งลูกให้ทาง “กกต.” รับไม้เพื่อดำเนินการจัดการการเลือกตั้ง

ยกทุกออปชั่นมาผูกโยง สี่ซ้าห้าขั้นตอนหลังประชามติผ่านมาผูกโยง ตัวเลขกลมๆ ออกมาที่ 75+30+240+150 โดยประมาณ เท่ากับ 495 วัน เอาจำนวนดังกล่าวเป็นตัวตั้ง หารด้วย 30 คูณคำนวณเท่ากับ 16.5 เดือน

ลากลายแทงจาก กลางเดือนสิงหาคม ไปอีก 16 เดือน หวยเลือกตั้ง น่าจะไปลงเอยช่วงต้นปี พ.ศ.2561

“นักเลือกตั้ง” ชักสะพานแหงนถ่อรอคอยกันเหงือกบวม เก๊กซิมพอท้วมๆ เป็นทุนอยู่แล้ว

ยังเป็นการเลือกตั้งแบบ “วัดครึ่ง-กรรมการครึ่ง” กล้ำกลืนฝืนทน กับบทเฉพาะกาล ที่เปิดพื้นที่ให้มี “ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน”

รายการนี้เขาเรียกว่า “กำขี้ดีกว่ากำตด”