ธงทอง จันทรางศุ | เที่ยวอินเดีย สุข-ทุกข์ ไฉน

ธงทอง จันทรางศุ

อย่างที่ได้เคยเกริ่นข่าวเล่าไว้ในที่นี้แล้วว่า ผมและพรรคพวกเพื่อนฝูงที่เรียนหนังสือมาด้วยกันตั้งแต่เป็นเด็กชั้นประถมจะเดินทางไปเที่ยวประเทศอินเดียด้วยกันในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ในที่สุดการเดินทางก็เกิดขึ้นจริงเป็นเวลานานแปดวันแปดคืนเต็มๆ

คณะเดินทางซึ่งมีจำนวนรวม 27 คนนี้ มีผู้ที่อายุไม่ถึงหกสิบปีอยู่เพียงแค่สามคน และหนึ่งในสามคนนั้นอีกไม่กี่วันก็จะอายุ 60 บ้างแล้ว

แปลว่าคณะเดินทางเกือบทั้งหมดเป็นคนแก่โดยสมบูรณ์

น่าแปลกที่เรารอดชีวิตกลับมาได้ครบบริบูรณ์นะครับ

การเดินทางไปอินเดียครั้งนี้มิใช่ไปแสวงบุญอย่างคณะเดินทางที่คนไทยส่วนมากประพฤติปฏิบัติกัน

หากแต่เป็นการท่องเที่ยวโดยไม่มีอะไรเจือปนเลย

ปลายทางของเราคือรัฐราชสถาน ซึ่งมีขนาดกว้างใหญ่ไพศาลพอสมควร ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย มีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศปากีสถาน

เมืองที่เราได้แวะไปท่องเที่ยวมีด้วยกันสี่เมืองได้แก่ เมืองชัยปุระ เมืองจัลซัยเมอร์ เมืองโยธปุระ และเมืองอุทัยปุระ

พาหนะเดินทางเราใช้ทั้งรถบัส เครื่องบินระหว่างประเทศและภายในประเทศ รถตุ๊กตุ๊กอย่างแขก เรือ

แล้วยังแถมด้วยการขี่อูฐขี่ช้างให้เป็นที่หวาดเสียวอีกด้วย

ธรรมเนียมการเดินทางไปต่างประเทศหรือไปต่างจังหวัดของคนไทยเรามักจะต้องมีของฝากติดไม้ติดมือมาให้ผู้ที่นับถือคุ้นเคยกันอยู่เสมอ น้ำหนักกระเป๋าเดินทางขาไปจึงมักจะเบากว่าน้ำหนักขากลับ ข้าวของที่ซื้อกลับมาเป็นของฝากนั้น เอาเข้าจริงแล้วผู้ได้รับของฝากจะได้ใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่มีใครรู้ได้

แต่ธรรมเนียมมันเป็นเสียอย่างนั้นมาช้านานแล้ว ครั้นจะงดเว้นเสียก็มีบางคนเห็นว่าจะเสียประเพณีบ้านเมืองไป

เวลาเราไปร่ำลาบอกว่าจะเดินทางไปต่างประเทศหรือไปหัวเมือง มีหลายคนอวยชัยให้พรกับผมว่า

“ขอให้เดินทางปลอดภัย ใส่ใจของฝาก”

ไปเมืองแขกหนนี้ ผมจึงต้องหาของฝากติดมือกลับมาบ้าง

และสำหรับท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนคุ้นเคยกันมาร่วมปีหนึ่งแล้วผมก็ขออนุญาตส่งการบ้านที่จะได้อ่านต่อไปนี้เป็นของฝากก็แล้วกันนะครับ

คําถามที่ผมต้องคอยอธิบายอยู่เสมอเมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวประเทศอินเดีย คือคำถามว่าอินเดียน่ากลัวไหม ไปแล้วจะมีความสุขความทุกข์อย่างไร กินอยู่ลำบากลำบนไหม

คำถามข้อนี้ผมต้องแบ่งคำตอบออกเป็นสองส่วน

ส่วนที่หนึ่งคือสไตล์การท่องเที่ยวที่เราเลือกว่าเราจะเดินทางแบบไหน เพราะมีตั้งแต่ระดับมหาศาลเศรษฐีไปจนถึงระดับนักท่องเที่ยวแบกเป้

ถ้ามีเงินถุงเงินถังและขนหน้าแข้งไม่ร่วงง่ายๆ การไปเที่ยวแบบมหาศาลเศรษฐีก็มีไว้พร้อมสรรพรองรับบริการ

เช่น นั่งขบวนรถไฟที่แสนจะโก้หรู มีอาหารดินเนอร์เรียงลำดับเป็นชุดๆ ไปแบบเต็มยศฝรั่ง

บนรถไฟมีทั้งสปาและห้องสมุด ถ้าไม่นอนบนรถไฟจะนอนในโรงแรมที่เป็นส่วนหนึ่งของวังมหาราชาเก่าราคาคืนละหลายหมื่นหรือเป็นแสนก็มีให้เลือกทั้งนั้น

ไปเที่ยวแบบนี้โปรแกรมเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต้องไม่สมบุกสมบันนัก วันละหนึ่งรายการหรือสองรายการก็พอแล้ว

มิเช่นนั้นจะไม่ได้เอ็นจอยกับโรงแรมหรือรถไฟที่แสนวิจิตรบรรจงของเรา

เที่ยวแบบนี้อุปมาเหมือนแต่งตัวเป็นเทวดาแล้วเหาะลอยอยู่บนท้องฟ้า แล้วมองลงมาเห็นเมืองอินเดียอยู่ข้างล่าง ผมเดาว่าน่าจะสวยมาก เพราะไม่มีทางจะเห็นความสกปรกรกรุงรังทั้งหลาย กลิ่นอายที่ไม่พึงปรารถนาก็ไม่ปรากฏ

แบบนี้ผมว่าไม่สนุกครับ

แบบที่เดินสายกลางเช่นผมก็มีอยู่ คือนอนโรงแรมธรรมดา ขอให้สะอาดสะอ้านหน่อย ไปไหนมาไหนก็ใช้รถบัสขนาด 40 ที่นั่ง นั่งนินทาคนทั้งโลกไปด้วยกัน

บางวันต้องเดินทางระหว่างเมืองก็ใช้เวลาอยู่ในรถบัสหลายชั่วโมงโขอยู่ เพราะแม้ระยะทางไม่ไกลมากนัก แต่ถนนในประเทศอินเดียมีขนาดแคบกว่าบ้านเราและใช้ความเร็วสูงไม่ได้

อาหารก็ไม่ได้กินอาหารฝรั่ง แต่กินอาหารอินเดียที่ขายกันอยู่นั่นแหละเป็นหลัก

หลายวันหลายมื้อหนักเข้า เสบียงกรัง เช่น น้ำพริกนรก หมูหยอง หรือมาม่าที่เอามาจากเมืองไทย ก็ออกมาช่วยชีวิตเราในทันที

โปรแกรมท่องเที่ยวก็งกครับ จัดตารางเข้าไปวันละสามแห่งเป็นอย่างน้อย ตกค่ำอาบน้ำแล้วหัวถึงหมอนนอนหลับไปเหมือนถูกทุบ

หรือจะเอาแบบทรมานบันเทิงมากกว่านี้ก็ได้ เพื่อนผมคนหนึ่งแม้จะอยู่ในวัยเดียวกัน แต่เธอเป็นคนสมบุกสมบันกว่าเรามาก เห็นจะเป็นเพราะเคยอยู่ต่างประเทศมาหลายสิบปี แล้วเพิ่งจะเกษียณอายุไม่ต้องทำงานอีกต่อไป การท่องเที่ยวของเธอคนนี้จึงเป็นสไตล์ฝรั่งแบ็กแพ็ก

และบ่อยครั้งที่เดินทางคนเดียว (เพราะเพื่อนทุกคนขยาดวิธีเดินทางแบบของเธอ) จะเดินทางไปไหนมาไหนเธอก็จะใช้รถโดยสารประจำทางที่คนท้องถิ่นใช้อยู่เป็นประจำนั่นเอง ซื้อตั๋วแล้วขึ้นไปนั่งป๋อหรอรวมกับทั้งปวง ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่นั่งอยู่ข้างซ้ายข้างขวา

เที่ยวแบบนี้ดูจะสนุกเกินไปหน่อยสำหรับผม ฮา!

ที่ว่ามาข้างต้นนี้คือเป็นเรื่องที่เราเลือกได้ว่าอยากได้แบบไหน เลือกกันได้ตามถนัด

แต่ส่วนที่สองที่ต้องบอกกล่าวกันก็คือ ความเป็นอินเดียนั้น แม้คำโฆษณาการท่องเที่ยวของอินเดียเองก็ยังบอกว่า incredible India นั่นหมายความว่า เรื่องราวมหัศจรรย์พันลึกในอินเดียนั้นมีมากเหลือเกิน และเป็นเรื่องยากที่จะได้พบเห็นในประเทศอื่น

ยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งครับ เมืองอินเดียนับถือว่าวัวเป็นสัตว์เทพ พาหนะของพระอิศวร พระผู้เป็นเจ้าศักดิ์สิทธิ์ เรื่องการไม่กินเนื้อวัวจึงเป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อนแล้ว

แต่เมื่อไปถึงเมืองนั้นเข้าจริงเราจะได้เห็นวัวเดินไปเดินมาอยู่ตามท้องถนน ได้เห็นวัวสามตัวนอนหัวหางชนกันเป็นวงกลมมีลักษณะคล้ายวงเวียนอยู่กลางสามแยก

วัวเหล่านี้ไม่มีเจ้าของนะครับ และวัวทั้งปวงก็หาอะไรกินเองตามอัธยาศัย

เพื่อนที่ไปด้วยกันคนหนึ่งบอกว่า เกิดเป็นวัวอินเดียนี้ปลอดภัยดีอยู่ เพราะไม่มีใครจ้องจะมากินเนื้อวัวโคขุนแบบเมืองไทย ขณะที่เพื่อนอีกคนหนึ่งบอกว่า แต่วัวก็น่าจะมีความทุกข์ไม่ใช่น้อย เพราะต้องหาอาหารใส่ปากใส่ท้องเอง

อันนี้ทั้งสองคนได้ไปสัมภาษณ์วัวมาแล้วกระมัง

เห็นไหมว่าไม่มีอะไรที่ได้เปล่าหรือเสียเปล่า โลกนี้มีได้มีเสียอยู่เสมอ

นึกอย่างนี้แล้วก็ไม่กลัวครับ จริงอยู่ว่าไปอินเดียเราอาจจะไม่ได้เห็นสิ่งซึ่งสวยงามทุกเวลานาที แต่ของที่สวยงามเขาก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย และคุ้มค่ากับการเดินทางที่จะได้ไปเห็นเรื่องราวอันน่าสนใจเหล่านั้น เวลาเดินไปดูอะไรสวยงาม ต้องเดินอย่างมีสติ อย่าไปเดินเหยียบขี้วัวเสียก่อนก็แล้วกัน

วันนี้ผมสวมวิญญาณเป็นผู้ว่าการ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศอินเดีย” ขึ้นมาเสียอย่างนั้น

เปลี่ยนตำแหน่งตัวเองบ่อยจนจะจำไม่ได้อยู่แล้วครับ