นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ปฏิรูปจากข้างบนหรือข้างล่าง (ต่อ)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ปฏิรูปจากข้างบนหรือข้างล่าง (ต่อ)

ความวิตกของโฮเซ่ ริซาล ว่าการปฏิรูปจากข้างล่างมักทำให้เกิด “ความไม่ปรกติ” และ “ความสั่นสะเทือนที่ไม่รู้ผลกระทบแน่ชัด” คือความหวั่นวิตกต่อความเปลี่ยนแปลงในลักษณะ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” นับเป็นความหวั่นวิตกที่มีเหตุผลเหมือนกัน โดยเฉพาะในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19

ความเปลี่ยนแปลงใหญ่เช่นนี้เคยเกิดขึ้นและเป็นที่จดจำกันทั่วโลกก็คือการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเกิดขึ้นได้โดยอาศัยการก่อจลาจลของประชาชนระดับล่าง และการแข็งข้อของทหารระดับล่างในกองทัพ (และปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเฉยเมยของเจ้าที่ดิน ฯลฯ ซึ่งยังมองเห็นได้ไม่ชัดนักในตอนนั้น) นำมาซึ่ง “รัชสมัยแห่งความพรั่นพรึง” และทรราชของเผด็จการนโปเลียน ขยายความปั่นป่วนวุ่นวายไปทั่วยุโรป ล้างผลาญชีวิตผู้คนและทรัพย์สินไปอย่างไพศาล

นี่คือความไม่ปรกติที่ไม่อาจคาดเดาผลกระทบได้อย่างแน่นอน

ความเปลี่ยนแปลงจากข้างล่างอีกอย่างที่แพร่หลายในยุโรป (และสหรัฐ) ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ซึ่งริซาลรู้จักดี (ดังที่อาจารย์เบนได้ชี้ให้เห็นในหนังสือเล่มดังกล่าว) คือความเคลื่อนไหวของพวกอนาธิปัตย์ แม้ว่าอุดมการณ์อนาธิปไตยเกิดขึ้นจากความคิดและการรณรงค์ของปัญญาชน แต่ฝ่ายปฏิบัติการมักมาจากผู้คนระดับล่าง ซึ่งเป็นผู้ลอบสังหารด้วยปืนและระเบิด แต่ก็ไม่มีอนาธิปัตย์กลุ่มใดที่สามารถเปลี่ยนสังคมใดได้ แม้ว่าประสบความสำเร็จในการสังหารผู้นำของระบบที่เลวร้ายไปหลายคนและองค์ก็ตาม ซ้ำร้ายในการปฏิบัติการของเหล่าอนาธิปัตย์ในหลายกรณี ยังสังหารผู้คนที่ไม่เกี่ยวข้องไปอีกไม่น้อย

แม้ริซาลอาจสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับปัญญาชนอนาธิปัตย์หลายคน แต่อาจารย์เบนก็ชี้ให้เห็นว่า เขาไม่เคยเข้าร่วมกับความเคลื่อนไหวนี้

ความเปลี่ยนแปลงจากข้างล่างอีกอย่างหนึ่งที่รู้จักกันดีทั้งโลก เพราะเคยเกิดขึ้นในเกือบทุกสังคม รวมทั้งในฟิลิปปินส์ด้วย คือกบฏชาวนา และ/หรือกบฏทาส-ไพร่ แต่กบฏประเภทนี้ที่ประสบความสำเร็จถึงกับยึดอำนาจของชนชั้นนำได้มีน้อยมาก ซ้ำกบฏที่ประสบความสำเร็จก็ไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคม เพราะมักอาศัยโครงสร้างเดิมในการสถาปนาอำนาจของตนขึ้น เช่นราชวงศ์มัมลุคในอียิปต์ ซึ่งอุบัติขึ้นจากกองทหารทาสของราชวงศ์เดิมยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แล้วสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์แทน

กบฏชาวนา-ทาส-ไพร่ที่ไม่ประสบความสำเร็จมีให้รู้จักมากกว่า เหตุที่ไม่ค่อยสำเร็จนั้นมีมาก นับตั้งแต่เป้าหมายค่อนข้างแคบ เพราะมุ่งจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในท้องถิ่น เช่น ประท้วงการเก็บภาษี, ต่อต้านค่าเช่านาที่แพงเกินไป, เป็นปฏิปักษ์กับความเหลื่อมล้ำในชุมชนที่เห็นได้ชัดยิ่งขึ้น ฯลฯ การจัดองค์กรก็คับแคบเช่นเดียวกัน เพราะไม่อาจขยายไปสู่ผู้คนในวงกว้างได้มากกว่าความสัมพันธ์ส่วนบุคคล แม้ว่าความเดือดร้อนอาจขยายไปกว้างขวางกว่านั้นมาก หรือแม้ว่าอุดมการณ์ของการเคลื่อนไหวก็เป็นที่เชื่อถือทั่วไปอยู่แล้ว เช่น โลกพระศรีอาริย์ หรือการมาถึงของ Ratu Adil (ธรรมราชา ในความเชื่อของชาวชวา)

ดังนั้น กบฏประเภทนี้ ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ จึงไม่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม ซ้ำในเกือบทุกกรณียังนำความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงแก่ผู้คน โดยเฉพาะคนเล็กๆ ที่อยู่ข้างล่างนั่นเอง

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนข้างล่างไม่มีความสำคัญ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมใดๆ ที่จะมีผลยั่งยืนได้ ก็ต้องมีผลต่อความสัมพันธ์ทางสังคม (ซึ่งรวมความสัมพันธ์เชิงผลิตด้วย) ของคนข้างล่างหรือคนทั่วไปด้วยเสมอ

คนข้างล่างมีบทบาทอย่างมากในความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่และฉับพลันในหลายสังคมในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเรามักเรียกว่าการปฏิวัติ ความเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” นี้เกิดขึ้นไม่ได้โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของคนข้างล่าง (จะมากจะน้อยก็ตาม จะมีบทบาทเด่นหรือไม่ก็ตาม) ไม่เฉพาะแต่การปฏิวัติของคอมมิวนิสต์, แต่รวมถึงการปฏิวัติสร้างชาติจากรัฐอาณานิคม การปฏิวัติโค่นล้มระบอบเก่า และการปฏิวัติอิสลาม

ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าคนข้างล่างมีบทบาทในการปฏิวัติมากสักเพียงไร แต่ผู้นำมักเป็นคนข้างบนเสมอ เพราะคนข้างบนสามารถครอบครองพลังการจัดองค์กรสมัยใหม่ได้มากกว่าคนข้างล่าง (ผ่านการศึกษา, สื่อ, การรณรงค์สาธารณะ ฯลฯ) ยิ่งกว่านั้นเมื่อโค่นล้มระบอบเก่าลงได้แล้ว ความสามารถดังกล่าวของคนข้างบนก็ยังทำให้พวกเขาเข้าถึงอำนาจในระบอบใหม่ได้อย่างเด็ดขาด แม้ว่าการดำเนินงานของเขาต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากคนข้างล่างอยู่ต่อไปก็ตาม แต่ถึงตอนนี้ คนข้างบนได้ทรัพยากรในการจัดองค์กรของรัฐไว้ในมือแล้ว การระดมพลังสนับสนุนของคนข้างล่างยิ่งง่ายดายขึ้นไปอีก

ความเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติมีปัญหาในตัวเองหลายอย่าง เพราะเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน จึงไม่ค่อยมีหนทางในการประนีประนอมมากนัก เช่น ทำไมในหลายสังคมจึงต้องขจัดเจ้าที่ดินด้วยการ “ทำปุ๋ย” เพราะเจ้าที่ดินไม่ได้มีแต่ที่ดิน หากยังมีอิทธิพลอีกหลายอย่างทั้งในทางสังคมและวัฒนธรรม การริบเอาอิทธิพลทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่สามารถลบอิทธิพลด้านอื่นของเจ้าที่ดินไปได้ คณะปฏิวัติไม่มีกำลังพอจะควบคุมอิทธิพลเช่นนั้นได้ นอกจากใช้ความกลัวอย่างสุดซึ้งทำให้อิทธิพลนั้นเป็นหมัน คือทำงานไม่ได้

ไม่เฉพาะแต่ตัวเจ้าที่ดินเท่านั้นที่ต้องขจัด แต่ยังรวมถึงครอบครัวและเครือข่ายอันกว้างขวางทั้งหมดด้วย จึงกลายเป็นความรุนแรงที่อาจเป็นผลร้ายแก่สังคมโดยรวมได้

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการแย่งอำนาจกันเองในหมู่ผู้นำการปฏิวัติ เรามักคิดว่าการแย่งอำนาจนั้นเกิดจากความโลภเห็นแก่ตัวของผู้นำเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยที่สำคัญกว่าบุคลิกภาพของผู้นำอีกมาก เช่น เพราะการปฏิวัติทำลายโครงสร้างอำนาจของระบอบเดิมไปหมด ทำให้ฐานทางวัฒนธรรมซึ่งจรรโลงช่วงชั้นของอำนาจที่เคยมีในสังคมหายไปด้วย ไม่มีอะไรจะแบ่งได้ชัดอีกต่อไปว่า ใครคือตั้วเฮีย, ยี่เฮีย, ซาเฮีย, สี่เฮีย ฯลฯ และใครเป็นแค่เสี่ยวเอ้อ ความตึงเครียดในการจัดสรรอำนาจของผู้นำระดับบนนั่นแหละตึงเครียดอย่างไม่เลิกเสียที เป็นผลให้เกิดความตึงเครียดกระจายลงมาทั้งสังคม

แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธว่า การปฏิวัตินำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมได้จริง (ส่วนจะเปลี่ยนได้ตรงตามอุดมการณ์หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ดังนั้น การปฏิวัติจะ “คุ้ม” หรือไม่จึงเป็นเรื่องต่างคนต่างคิด

คิดถึงเรื่องนี้แล้วทำให้อดนึกถึงการปฏิวัติของคนดำในสหรัฐไม่ได้ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหวที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐและศาลสูงต้องออกกฎหมายหรือตีความกฎหมายเปิดให้เกิดความเสมอภาคแก่คนดำ ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ แต่ ดร.คิงก็ไม่ได้อำนาจรัฐไว้ในมือ จำเป็นต้องยึดกุมแรงสนับสนุนของคนดำไว้ให้ได้ตลอดมา

ยุทธศาสตร์ของความเคลื่อนไหวในระยะหลัง คือความร่วมมือกับประธานาธิบดีให้ผลักดันกฎหมายและโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อคนดำ ดังนั้น ดร.คิงจึงหลีกเลี่ยงที่จะโจมตีหรือต่อต้านสงครามเวียดนาม แต่คนดำนั่นแหละที่ถูกส่งไปรบและตายหรือบาดเจ็บมากเกินสัดส่วนของคนดำในสังคมอเมริกันอย่างท่วมท้นเลย ทำให้คนดำพากันออกมาต่อต้านสงครามเวียดนาม ในที่สุด ดร.คิงก็เริ่มโจมตีและต่อต้านสงครามเวียดนามเหมือนคนอเมริกันกลุ่มอื่น นำความผิดหวังและขุ่นเคืองให้ประธานาธิบดีจอห์นสันเป็นอย่างมาก

ประเด็นของผมก็คือ การนำความเปลี่ยนแปลงระดับปฏิวัติมาสู่สังคม โดยไม่ยึดอำนาจรัฐอย่างเด็ดขาด อาจเป็นไปได้ หากสังคมได้ก้าวเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว เช่นในกรณี ดร.คิง ไม่เฉพาะแต่สังคมคนดำเท่านั้นที่เปลี่ยนไปก่อนการเคลื่อนไหวของ ดร.คิง (เช่น ผู้หญิงที่ไม่ยอมลุกไปนั่งด้านหลังของรถเมล์, คนดำที่ไม่ยอมลุกจากร้านอาหารที่สงวนไว้เฉพาะคนขาว ฯลฯ) สังคมคนขาวเองก็เปลี่ยนไปเหมือนกัน จึงมีคนขาวจำนวนมากที่สนับสนุนความเสมอภาคของคนดำ และสื่อคนขาวก็ตอบสนองความต้องการของผู้อ่านคนขาวด้วยการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวอย่างละเอียด

ดร.คิงได้ครอบครองหูของคนขาวไปเพราะสื่อ

ความพร้อมของสังคมนำเรามาสู่ประเด็นสุดท้ายที่โฮเซ่ ริซาล พูดถึง นั่นคือ “โอกาส” อันเหมาะที่จะเปลี่ยนสังคม ริซาลกล่าวในแถลงการณ์ว่า เงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ในการบรรลุเสรีภาพของสังคมฟิลิปปินส์คือการศึกษา ซึ่งจะทำให้ชาวฟิลิปปินส์เป็นตัวของตัวเอง และมีคุณค่าในตัวเองพอจะใช้เสรีภาพนั้นได้

เรามักได้ยินข้ออ้างจากคนข้างบนเช่นนี้ในศตวรรษที่ 19 เสมอ กล่าวคือ เสรีภาพหรือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปสู่ระบอบการเมืองที่ดีขึ้นนั้น ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้สังคมมีความ “พร้อม” เสียก่อน (และที่แย่กว่าริซาลก็คือ ไม่มีใครบอกว่าจะใช้มาตรฐานอะไรวัดความ “พร้อม” ที่ว่านั้น) เจ้าอาณานิคมอังกฤษก็พูดอย่างนี้ในอินเดียและพม่า, เจ้าอาณานิคมวิลันดาก็พูดอย่างนี้ในอินโดนีเซีย, เจ้าอาณานิคมรายใหม่คือสหรัฐก็พูดอย่างนี้ในฟิลิปปินส์ และผู้ปกครองของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามก็พูดอย่างเดียวกัน

ยิ่งกว่านั้น แม้แต่ข้อกล่าวหาว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” เมื่อเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบอบเก่าลงแล้ว ก็ไม่ได้มีแต่ไทยเท่านั้นที่จะอ้างภูมิปัญญานี้แต่ผู้เดียวได้ เพราะเป็นข้อกล่าวหาที่ระบอบเก่าของเอเชียทุกรายต่างใช้เหมือนกันหมด

ทั้งหมดนี้ ล้วนเกิดจากความเข้าใจผิดในยุคสมัยนั้นว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นผลจากการกระทำหรือไม่กระทำของผู้มีอำนาจปกครอง หรืออย่างน้อยผู้มีอำนาจปกครองเป็นตัวกระทำที่สำคัญที่สุด

แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าใครจะคาดได้ว่า ทำอะไรหรือไม่ทำอะไรแล้วจะทำให้อะไรเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน

การแสวงหาผลประโยชน์จากอาณานิคมในศตวรรษที่ 19 และ 20 เปลี่ยนไปจากการรักษาเส้นทางการค้ากับเอเชียให้ปลอดภัย บังคับให้เมืองแม่ต้องปรับเปลี่ยนการบริหารภายในอาณานิคมของตนให้เหมือนกับการบริหารรัฐแบบใหม่ จึงจำเป็นต้องสร้างระบบราชการแบบใหม่ขึ้นจากข้าราชการที่มีการศึกษาแผนใหม่ เกิด elite หรือชนชั้นนำรุ่นใหม่ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากชนชั้นนำรุ่นเก่าซึ่งเจ้าอาณานิคมควบคุมไว้ได้แล้ว รวมทั้งเกิดกลุ่มวิชาชีพเพื่อรองรับหน้าที่ใหม่ๆ ของรัฐและเศรษฐกิจทุนนิยม

สังคมเปลี่ยน แต่ไม่ได้เปลี่ยนไปตามเจตนาของผู้ปกครองเพียงอย่างเดียว ที่ไม่อยากให้เปลี่ยนก็เปลี่ยนไปด้วย เช่นชนชั้นนำที่การศึกษาแผนใหม่สร้างขึ้น ไม่เคารพช่วงชั้นตามแบบแผนเดิมอีกต่อไป กำเริบเสิบสานริจะตีเสมอ “นาย” นับแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ผู้ปกครองของรัฐอาณานิคมและกึ่งอาณานิคมทั้งหลายต่างมีทัศนคติต่อชนชั้นนำรุ่นใหม่เหล่านี้อย่างกำกวม ด้านหนึ่งก็รู้และรับว่า คนเหล่านี้มีความจำเป็น แต่อีกด้านหนึ่งก็เหยียดว่า “กึ่งสุกกึ่งดิบ” บ้าง, “หัวนอก” บ้าง, “หัวใหม่” บ้าง ฯลฯ ในอินเดียมีศัพท์เรียกคนเหล่านี้อย่างเหยียดๆ ว่า “พวกบาบู”, ในพม่าและอินโดนีเซียมักเรียกว่า “นักป่วน” (agitator)

ความเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูปหรือปฏิวัติ ล้วนเกิดขึ้นจากเงื่อนไขทางสังคมทั้งนั้น ผมอยากจะพูดอย่างนี้ด้วยซ้ำว่า ส่วนใหญ่ของความเปลี่ยนแปลงมักเป็นไปในทางที่นักปฏิรูปและนักปฏิวัติไม่ได้ตั้งใจ มีเงื่อนไขบางอย่างและหลายอย่างที่สุกงอมโดยไม่มีใครวางแผนไว้ก่อน แล้วความเปลี่ยนแปลงก็ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากเชื่อเช่นนี้เสียแล้ว คำถามว่า “ปฏิรูปจากข้างบนหรือข้างล่าง” ก็ดูเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว คงจะตรงกับความคิดของฝ่ายซ้ายไทยในสมัยหนึ่งที่พูดถึง “กงล้อประวัติศาสตร์” อย่างไรเสียมันก็หมุนไปอย่างห้ามไม่หยุด พยายามไปหยุดยั้งมัน ก็อาจโดนมัน “บดขยี้” ถอยห่างจากมันก็ไม่มีที่ให้ถอย จะอยู่รอดได้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไรเท่านั้น