เทศกาลหนังเบอร์ลิน ยกเลิก “อัลเฟร็ด บาวเออร์ ไพรซ์” หลังพบหลักฐาน เจ้าของชื่อรางวัลเป็น “สมาชิกนาซี” | คนมองหนัง

คนมองหนัง

เทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ต้นๆ ของโลก อย่างเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน เพิ่งประกาศระงับการมอบรางวัล “หมีเงิน อัลเฟร็ด บาวเออร์ ไพรซ์” หนึ่งในรางวัลสำคัญของตนเอง

หลังมีข้อมูลใหม่ทางประวัติศาสตร์ซึ่งระบุชัดว่า “อัลเฟร็ด บาวเออร์” ผู้อำนวยการเทศกาลคนแรก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรางวัล “อัลเฟร็ด บาวเออร์ ไพรซ์” นั้นเคยเป็นสมาชิกระดับสูงในพรรคนาซี รวมทั้งเคยทำงานในหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อที่ก่อตั้งขึ้นโดย “โยเซฟ เกิบเบิลส์”

“อดีตอันถูกเก็บงำ” ของบาวเออร์ ถูกเปิดเผยโดยบทความในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ “ดี ไซต์” (Die Zeit) ซึ่งได้สืบค้นหลักฐานเอกสารต่างๆ จนสามารถบ่งชี้ว่าเขาเคยเป็นทั้งสมาชิกพรรคนาซี และสมาชิกของเอสอา (SA) กองกำลังกึ่งทหารของพรรคนาซี

ยิ่งกว่านั้น ยังพบหลักฐานว่าบาวเออร์เป็นมือทำงานคนสำคัญในหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อที่ก่อตั้งเมื่อปี 1942 โดยเกิบเบิลส์ ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อกำกับควบคุมอุตสาหกรรมภาพยนตร์เยอรมัน

เอกสารชิ้นหนึ่งที่ถูกจัดทำและส่งให้พรรคนาซี บรรยายถึงคุณลักษณะของบาวเออร์เอาไว้ว่า เขาเป็น “บุคลากรที่กระตือรือร้นของเอสอา” ผู้มี “ทัศนคติทางการเมืองอันสมบูรณ์แบบ”

“อัลเฟร็ด บาวเออร์” ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินเมื่อปี 1951 และทำงานนี้จนกระทั่งเกษียณอายุในปี 1976

ที่ผ่านมา หลายคนทราบเพียงว่าบาวเออร์เคยทำงานในสำนักงานภาพยนตร์แห่งไรช์ ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาลนาซีในช่วงทศวรรษ 1940 แต่ไม่มีข้อมูลที่ระบุชัดเจนว่าเขาเป็นผู้ปฏิบัติงานรายสำคัญและมีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพรรคนาซี

อย่างไรก็ตาม หลักฐานเอกสารที่ถูกค้นพบในหอจดหมายเหตุแห่งชาติเยอรมนีและหอจดหมายเหตุเมืองเบอร์ลิน ล้วนชี้ว่าบาวเออร์ได้รับมอบหมายจากพรรคนาซีให้ทำหน้าที่เป็นสปายคอยตรวจสอบทัศนะและพฤติกรรมของบรรดานักแสดง, ผู้กำกับฯ และบุคลากรแขนงอื่นๆ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เยอรมันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ลาฟ ดิแอซ กับรางวัลอัลเฟร็ด บาวเออร์ ไพรซ์ (Bernd Von Jutrczenka / POOL / AFP)

คาดการณ์กันว่านักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งเทศกาลหนังเบอร์ลิน น่าจะมีความพยายามอย่างยิ่งยวดและเป็นระบบ ในการทำลายอดีตอันเกี่ยวข้องกับพรรคนาซีของตนเอง ภายหลังสงครามยุติลง

ระหว่างมีชีวิตอยู่ บาวเออร์เคยอธิบายว่าตัวเขานั้นเป็นฝ่ายคัดค้านต่อต้านระบอบนาซีอยู่เงียบๆ

ขณะที่บทความใน “ดี ไซต์” ได้เปิดเผยว่า เขามักพูดเท็จเกี่ยวกับบทบาทของตัวเองในช่วงสงคราม

รวมทั้งปกปิดความจริงที่ว่าตนเองเป็นสมาชิก (แบบจ่ายเงินอุดหนุนพรรค) ของพรรคนาซี

รางวัล “อัลเฟร็ด บาวเออร์ ไพรซ์” ถูกก่อตั้งขึ้นโดยเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินในปี 1986 หลังบาวเออร์เสียชีวิตลง เพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตผู้อำนวยการเทศกาลยุคบุกเบิก และเพื่อส่งเสริมคนทำหนังที่ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ของศิลปะภาพยนตร์

ทันทีที่รับทราบรายงานข่าวของ “ดี ไซต์” เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินได้ออกมาแถลงจุดยืนว่า เมื่อบาวเออร์เคยมีบทบาทสำคัญและมีความสัมพันธ์กับพรรคนาซีลึกซึ้งกว่าที่คนส่วนใหญ่คาดคิด ทางเทศกาลจึงตัดสินใจที่จะระงับการมอบรางวัล “หมีเงิน อัลเฟร็ด บาวเออร์ ไพรซ์” ในทันที

นอกจากนั้น เทศกาลภาพยนตร์ฯ ยังจะเริ่มทำการสำรวจตรวจสอบที่มาของตนเองให้กระจ่างแจ้ง ด้วยการลงมือศึกษาค้นคว้าเชิงลึกถึงประวัติศาสตร์ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญภายนอกต่อไป

ปักชานวุก กับรางวัลอัลเฟร็ด บาวเออร์ ไพรซ์ (JOHN MACDOUGALL / AFP)

ทั้งนี้ เคยมีคนทำหนังชื่อดังหลายรายที่ได้รับรางวัล “อัลเฟร็ด บาวเออร์ ไพรซ์” รวมถึงผู้กำกับภาพยนตร์ระดับต้นๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่าของทวีปเอเชีย อาทิ “จางอี้โหมว” (จีน) “ไฉ้หมิงเลี่ยง” (ไต้หวัน) “ปักชานวุก” (เกาหลีใต้) และ “ลาฟ ดิแอซ” (ฟิลิปปินส์) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ทางเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินได้ออกมายืนยันว่าประวัติด่างพร้อยของ “อัลเฟร็ด บาวเออร์” นั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับตัวรางวัลและผู้ได้รับรางวัลตลอดช่วงกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา

“เราขอเน้นย้ำว่าจุดมุ่งหมายของรางวัลนี้คือการสนับสนุนผลงานที่ช่วยเพิ่มมุมมองใหม่ให้แก่วงการภาพยนตร์ รางวัลนี้คือการแสดงความยอมรับต่อผลงานของคนทำหนังเหล่านั้นในมิติดังกล่าว

“ถึงแม้ว่าชื่อของรางวัลจะมีนามของ “อัลเฟร็ด บาวเออร์” ปรากฏอยู่ แต่ก็ไม่มีสายสัมพันธ์ข้องเกี่ยวใดๆ ระหว่างตัวเขาในฐานะบุคคลคนหนึ่ง กับนิยามความหมายอันเป็นแก่นแท้ของตัวรางวัล”

ข้อมูลจาก

https://www.theguardian.com/film/2020/jan/30/berlin-film-festival-suspends-prize-after-nazi-past-of-director-revealed-alfred-bauer

https://www.indiewire.com/2020/02/berlinale-alfred-bauer-nazi-accusations-1202208278/

Berlin Film Festival Writes To Alfred Bauer Silver Bear Winners Following Nazi Revelations

https://en.wikipedia.org/wiki/Alfred_Bauer_Prize