วิถีวงดนตรีเปลี่ยน “นักร้องนำ” ปัจจัยอะไรทำให้ “รุ่ง” หรือ “ร่วง”?

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่ามีวงดนตรีชื่อดังเปลี่ยนตัวนักร้องนำมาอย่างต่อเนื่อง

บางวงเรตติ้งดีขึ้น แต่บางวงกลับแย่ลง และอาจถึงขั้นยุบวงก็มี เนื่องด้วยปัจจัยหลายด้าน ทั้งการยอมรับจากแฟนเพลง รวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุนว่าจะยังคงสนับสนุนต่อหรือไม่

“ฟองเบียร์-ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม” โปรดิวเซอร์, นักแต่งเพลงชื่อดัง และผู้บริหารค่ายมีเรคคอร์ดส ในเครือมิวสิกมูฟเอนเตอร์เทนเมนต์ ยอมรับว่า นักร้องถือเป็นหน้าตา และกระบอกเสียงสำคัญของวงดนตรี

หากวงที่สร้างฐานคนฟังมาจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้วเสียนักร้องคนเดิมไป ความนิยมอาจจะตกลงทันที

แต่อย่าลืมว่าวงดนตรีไม่ได้มีแค่คนเดียว ทุกตำแหน่งสำคัญหมด ขาดนักร้องไป 1 คน คำว่าวงยังคงอยู่กับสมาชิกที่เหลือ

“(นักร้องนำ) คงใหญ่ที่สุดในทุกตำแหน่ง แต่มันไม่ได้ถึงขนาดทำให้วงวงนั้นต้องตายไป แค่ใช้คำว่า วงดนตรี ความสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่คนคนเดียว เพราะมันไม่ใช่ศิลปินเดี่ยว ทุกคนสำคัญหมด ไม่ว่าจะเป็นกีตาร์ เบส กลอง คีย์บอร์ด ทุกคนสำคัญหมด

“แต่ละวง ปัญหาอาจไม่เหมือนกัน ก็ต้องหาวิธีแก้กันไป เพราะบางวงอาจจะนักร้องเดิม แต่ถ้าเปลี่ยนมือกีตาร์ไปอาจจะร่วงเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น เขา (นักร้อง) ก็สำคัญ แต่ไม่ได้สำคัญที่สุด ถึงขนาดว่าวงต้องแตกสลาย ถ้าไม่มีนักร้องคนนั้น” ฟองเบียร์กล่าว

 

เช่นเดียวกับ “นอ-นรเทพ มาแสง” มือเบส, หัวหน้าวง “พอส” และ “เครสเชนโด” ที่มีประสบการณ์เปลี่ยนนักร้องนำมาแล้วทั้ง 2 วง ซึ่งยอมรับว่า การเปลี่ยนนักร้องทำให้วงถอยหลังลง และต้องกลับไปเริ่มใหม่ทุกครั้ง

“การปรับเปลี่ยนตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง โดยเฉพาะนักร้องมันทำให้วงถอยหลังลง แน่นอนก็ต้องกลับไปเริ่มอะไรใหม่ๆ มันเป็นเรื่องที่ผมเองก็ไม่ได้อยากให้เกิด แต่เป็นเรื่องที่พอมันเกิดขึ้นไปแล้ว วงที่เหลือ คนที่เหลือ ก็ต้องดำเนินต่อไป” นอกล่าว

ย้อนกลับไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีวงดนตรีชื่อดังของไทยเปลี่ยนนักร้องนำมาแล้วหลายราย ทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ อาทิ ไมโคร, ฟลาย, โปเตโต้, เครสเชนโด และบิ๊กแอสส์

รวมถึงล่าสุดในกรณีการเกิดขึ้นของวง “โกสต์” ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งใหม่ของอดีตสมาชิกวงร็อกชื่อดังอย่าง “เอบี นอร์มัล”

และในช่วงปีที่ผ่านมาวง “ซิลลี่ฟูลส์” ได้เปิดตัวนักร้องนำคนที่สาม หลังจาก “เบนจามิน จุง ทัฟเนล” นักร้องนำลำดับที่สองประสบอุบัติเหตุจากการเล่นฟุตบอล จนทางวงต้องประกาศหานักร้องคนใหม่

ขณะเดียวกัน วง “พอส” ก็ประกาศเปิดตัวนักร้องใหม่ โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง หลังจากทางวงได้สูญเสียนักร้องเสียงทองอย่าง “โจ้-อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์” ไปเมื่อปี 2545

จนสมาชิกในวงตัดสินใจยุติการทำเพลงภายใต้ชื่อ “พอส” ทันที

การเปิดตัวนักร้องนำของทั้งสองวงครั้งนี้ สร้างความแตกต่างจากวงอื่นๆ จนกลายเป็นจุดสนใจแก่แฟนเพลง เพราะนักร้องนำคนใหม่มีโทนเสียงที่คล้ายคลึงกับนักร้องคนเก่า/คนแรก

และดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงนักร้องนำรูปแบบนี้จะทำให้วงดนตรีชื่อเดิมสามารถไปได้ดีอีกครั้ง จนเกิดคำถามว่าการเปลี่ยนนักร้องนำรูปแบบดังกล่าวดีกว่ารูปแบบอื่นหรือไม่? อย่างไร?

 

ฟองเบียร์ระบุว่า ตลอดชีวิตการทำเพลงให้ศิลปิน เขาเคยทำเพลงให้วงดนตรีที่เปลี่ยนนักร้องนำมาแล้ว 5 วง รวมถึง “ซิลลี่ฟูลส์” และ “พอส”

โดยยอมรับว่าเสียงของนักร้องใหม่ที่คล้ายคลึงกับคนเก่าสามารถสร้างความประหลาดใจได้ไม่น้อย แต่หากมองว่าการหานักร้องหน้าใหม่ที่เสียงคล้ายกับคนเก่า จะเป็นรูปแบบในการทำเพลงต่อไปของวงดนตรีในไทย ก็คง “ไม่ใช่” เพราะการเลือกนักร้องนำต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเรื่องอื่นๆ ของวงดนตรีนั้นๆ ด้วย

“คือมันไม่ได้มีโจทย์ตั้งแต่ต้น ว่าเราต้องไปหาคนที่เสียงเหมือนคนเก่ามา แต่ว่าพอเรามาได้ยินเสียงแบบนั้น มันทำให้เราตัดสินใจไม่ยาก”

ฟองเบียร์กล่าว

 

ด้าน “เฟ้น-ประภาพ ตันเจริญ” หนุ่มหน้าใสผู้ได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็นนักร้องนำคนใหม่ของวง “พอส” เผยว่า ตอนแรกรู้สึกกดดัน เพราะต้องมาร้องแทนพี่โจ้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทำผลงานดีๆ ไว้มากมาย และพี่โจ้ยังเปรียบเสมือนไอดอลของตัวเอง

ส่วนวิธีการร้องนั้น เฟ้นยืนยันว่าเขาไม่ได้เลียนแบบโจ้ เพราะตัวเองมีน้ำเสียงแบบนี้อยู่แล้ว

“ดีใจนะที่เขาบอกว่าเราเหมือนพี่โจ้ ก็โอเคขอบคุณครับ แต่เราก็ทำตรงนี้อยู่กับพี่ๆ ทำเพลงออกมาให้มันดีที่สุด เพราะตอนนี้ก็รู้สึกว่าอยู่กับพี่ๆ แล้วมีความสุข แล้วก็อยากทำเพลงต่อไป เลยไม่ได้สนใจในจุดนั้นว่ามันจะเป็นยังไง” เฟ้นเผยความรู้สึก

แต่สำหรับ “บิ๊กแอสส์” หนึ่งในวงร็อกชั้นนำของไทย ซึ่งเปลี่ยนนักร้องนำไปเมื่อปี 2554 จนกลับมาเป็นที่นิยมในหมู่แฟนเพลงอีกครั้ง กลับมีวิธีการปรับเปลี่ยนตัวเองแตกต่างออกไป

โดยทางวงไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนนักร้องนำเป็น “เจ๋ง-เดชา โคนาโล” เท่านั้น แต่ยังเลือกที่จะเปลี่ยนวิธีการทำงานของสมาชิกที่เหลือด้วย เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และแน่นอนย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา

“ประมาณครึ่งต่อครึ่ง (คำวิจารณ์) มันก็มีทั้งดีทั้งไม่ดีปนเข้ามา ก็มีท้อบ้าง … เพราะว่าเราเข้ามาตรงนี้คือเราเริ่มใหม่ เรานับหนึ่งใหม่ เราสร้างใหม่ ทำใหม่ คือตรงนี้มันทำให้เรารู้สึกว่า เออ เราไม่ได้มาแทนที่ใคร เราแค่มาทำหน้าที่ของเราในรูปแบบใหม่ ในวงยุคใหม่ ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้” เจ๋ง บิ๊กแอสส์ กล่าว


คําถามสำคัญ คือ ปัจจัยที่จะทำให้วงดนตรีซึ่งเปลี่ยนตัวนักร้องนำประสบความสำเร็จมีอะไรบ้าง?

ฟองเบียร์ หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลัง “วงดนตรีเปลี่ยนนักร้อง” มากที่สุดของประเทศไทย เปิดเผยว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งคุณภาพเพลง, นิสัยของคนในวง, การโปรโมต, สถานการณ์บ้านเมือง, เศรษฐกิจ และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือดวง

“พอทุกคนเปลี่ยนเสร็จ เขาทำงานออกมาหนึ่งชิ้น ทุกคนก็จะบอกว่าดีหมด คือศิลปินเขาจะบอกว่าดีแล้ว ชอบแล้ว อยากปล่อยเพลงแล้ว ผมได้นักร้องคนนี้มาผมโอเคแล้ว ไม่โอเคผมจะเอามาอยู่วงทำไม เพลงดีร้องมาผมอินเลย ภาพลักษณ์แบบนี้ผมชอบแล้ว แต่ไม่มีใครตอบได้เลยว่าออกไปแล้วมันจะดีจริงหรือเปล่า?

“หรือคือความชอบแค่ของพวกคุณ มันอยู่ที่ดวงคุณด้วยส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะทำงานยังไงกันก็ได้แล้วมาพึ่งดวงนะ เพราะถ้าต้องพึ่งดวง 100 เปอร์เซ็นต์ เราก็ไม่ทำงานด้วย มันก็ต้องดีในระดับหนึ่ง คือถ้านักร้องร้องดีแล้ว ที่เหลือก็ต้องโชคช่วยแล้วกัน” ฟองเบียร์กล่าว

ด้าน “กบ-ขจรเดช พรมรักษา” มือกลองวง “บิ๊กแอสส์” มองว่า ความเชื่อคือส่วนประกอบสำคัญของการทำวงดนตรี ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมาพบเจอกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แต่สิ่งที่จะทำให้วงเดินต่อไปได้คือความเชื่อที่มีให้กันของคนในวง

“มันอาจจะผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ ผ่านความกดดัน ผ่านคำดูถูกถากถางมากมาย แต่สุดท้ายแล้วถ้ามองมันเป็นลบ มันก็จะบั่นทอน แต่ชีวิตยิ่งโดนพวกนี้มันยิ่งแกร่งขึ้น แล้วก็อยู่ที่เราจะเอาคำพวกนี้มาปรับใช้กับชีวิตยังไง

“สุดท้ายเราก็เอามาเป็นแรงบันดาลใจพิสูจน์ตัวเอง สักวันนึงเวลาก็ทำหน้าที่ของมัน แล้วมันจะบอกว่าสิ่งที่เราเลือกมันถูกหรือผิด แล้วก็ความเชื่อคือสิ่งสำคัญที่สุด ในการเปลี่ยนแปลง” กบกล่าว

 

แต่สำหรับนอ นักดนตรีผู้เคยผ่านประสบการณ์การเปลี่ยนนักร้องนำมาแล้วถึง 5 ครั้ง ยอมรับว่า การกลับมาทำวงดนตรีภายใต้นักร้องใหม่ถือเป็นเรื่องยาก แม้จะกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง แต่ในแง่การยอมรับภาพรวมของวง อย่างไรเสียก็ไม่เหมือนเดิม

“จริงๆ อันนี้เป็นเรื่องสะใจผมนะ ผมรู้สึกว่าผมก็กลับมาจุดเดิมได้ทุกครั้ง วัดจากยอดความภักดี ยอดขาย อย่างสมัย “พอส” จำได้ว่าพีกสุดหน่วยกิตอยู่ที่ 130,000 ม้วนเทป แต่ “เครสเชนโด” ชุดแรกก็ 130,000 ม้วนเทปเหมือนกัน

“…คุณบีตอนนั้นดังมาก ตอนสมัยความจริงในใจ, ดินแดนแห่งความรัก พอเปลี่ยนมาเป็นคุณนัท ใจกลางความเจ็บปวด, กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม ดังเหมือนกัน แต่คนไม่รู้ว่านี่คือ “เครสเชนโด” เพราะจะจำว่า “เครสเชนโด” คือเสียงคุณบี พีระพัฒน์

“ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าคนไทยฟังคนร้องเยอะจริงๆ พอเปลี่ยนเป็นคุณนัท หลายคนยากที่จะจำว่าคุณนัทคือ “เครสเชนโด” แต่ส่วนที่บังคับไม่ได้ก็ต้องปล่อยไป” นอกล่าว

แม้การเปลี่ยนนักร้องนำจะไม่ใช่เรื่องที่ดีนักสำหรับวงดนตรีวงหนึ่ง เนื่องจากต้องพยายามเริ่มต้นใหม่ด้วยความคาดหวังที่มากกว่าปกติ แต่ในเมื่อพวกเขายืนยันที่จะทำงานของตนเองต่อ กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความเชื่อ ความหวัง และความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว