เทศมองไทย : เศรษฐกิจไทย มี-ไม่มีไวรัสก็เหนื่อย!

รายงานว่าด้วยเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญหน้าปัญหาระลอกใหม่จากการแพร่ระบาดของไวรัสอู่ฮั่น ที่เผยแพร่เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บอกเอาไว้อย่างนั้นจริงๆ ครับว่า เศรษฐกิจไทยแม้ไม่มีไวรัสอู่ฮั่นก็ยังลำบากมากอยู่ก่อนแล้ว ยิ่งมีไวรัสตามเข้ามาสมทบก็ยิ่งเหนื่อยหนักเข้าไปใหญ่

เศรษฐกิจไทยล้าหลังเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันมาพักใหญ่แล้ว เพราะมีตัวถ่วงสำคัญอยู่หลายอย่างด้วยกัน บลูมเบิร์กชี้ว่า ไทยไม่ได้มีปัญหาแต่เฉพาะการเมืองในประเทศเท่านั้น ยังมีปัญหาประชากรสูงวัย, ปัญหาผลิตภาพย่ำแย่, ปัญหาการบริโภคภายในประเทศที่ไม่โงหัวกระเตื้องขึ้นมาสักที เรื่อยไปจนถึงหนี้ครัวเรือนมหาศาลครับ

บลูมเบิร์กบอกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเองประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีที่ผ่านมาน่าจะขยายตัวอยู่เพียงแค่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่ต่ำเกินคาดอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียด้วยซ้ำไป

การส่งออกในปี 2019 ก็หดตัวลง ยอดส่งออกรถยนต์ถดถอยลงเรื่อยๆ เพราะความต้องการในตลาดสำคัญๆ รวมทั้งจีนลดน้อยลง

ปัญหาใหญ่ถัดมาเป็นเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งโป๊กทั้งๆ ที่หลายฝ่าย รวมทั้ง ธปท.เองก็พยายามใช้มาตรการที่เหมาะสมในจังหวะเวลาที่เหมาะสมอยู่บ้าง

แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลมหาศาล, อัตราเงินเฟ้อแสนต่ำกับทุนสำรองที่ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยังคงดันค่าบาท/ดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้นตลอดทั้งปี

จะปล่อยไว้ทำนองนี้ผู้ส่งออกก็อ่วมอรทัย จะแทรกแซงมากไป เดี๋ยว ฯพณฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็พะยี่ห้อ “บิดเบือนค่าเงิน” เข้าให้อีก

สถานการณ์ทำนองนี้ทำให้มีโอกาสไม่น้อยที่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของไทยเราจะถูกกดลงสู่ระดับ 1 เปอร์เซ็นต์ในไม่ช้าไม่นานครับ

 

นั่นคือภาพรวมที่ทำให้บลูมเบิร์กระบุว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มต้นออกสตาร์ตปีใหม่ในสภาพย่ำแย่อยู่ก่อนแล้ว ถึงตอนนี้ ในประเทศมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อยู่มากถึง 25 ราย ยิ่งทำให้สถานการณ์โดยรวมหนักหนาสาหัสมากขึ้นไปอีก

บลูมเบิร์กชี้ว่า บรรดานักวิเคราะห์พากันคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาว่าจะไหลลง ตกอยู่ในสภาพ “ติดลบ” นั่นหมายความว่า หากไตรมาสแรกของปีใหม่นี้ ด้วยปัจจัยลบทั้งหลายทั้งปวงถล่มเข้ามาพร้อมๆ กัน ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะ “ถดถอยทางเทคนิค” คืออัตราการขยายตัวติดลบต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาสเอาได้ง่ายๆ

รายงานของบลูมเบิร์กบอกว่า ค่าบาทที่อ่อนค่าลง เป็นอานิสงส์เเรื่องเดียวของการที่ไวรัสระบาดหนักที่อู่ฮั่น

ไม่ต้องบอกต่อก็ได้ว่า ที่เหลือเห็นทีจะเป็นลบทั้งหมด

 

เริ่มตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลสะเทือนหนักหน่วงเป็นลำดับแรกสุด นั่นคือการท่องเที่ยว ที่ในเวลานี้มีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยทั้งหมดสูงถึงราวๆ 1 ใน 5 จำนวนนักท่องเที่ยวที่น้อยลงอยู่แล้วก่อนหน้านี้จากปัญหาแข็งค่าของเงินบาทและอื่นๆ กำลังทำให้มาตรการเข้มงวดของทางการจีนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดกลายเป็นมาตรการสร้างความเจ็บปวดให้กับการท่องเที่ยวไทยมากกว่าปกติ

ตั้งแต่ 24 มกราคมเรื่อยมา เอเยนซี่ท่องเที่ยวของจีนได้รับคำสั่งให้ยุติการขายแพ็กเกจทัวร์ในต่างแดนทั้งหมด บลูมเบิร์กชี้ว่า แม้ว่าตอนนี้คนจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างแดนด้วยตัวเองมากขึ้น แต่ที่ยังมีอีกราวครึ่งหนึ่งทีเดียวที่ยังคงต้องการเดินทางเป็นกลุ่มแบบกรุ๊ปทัวร์

สำหรับไทยแล้ว นั่นไม่ใช่ข่าวดีแน่นอน นักท่องเที่ยวจีนคือกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติใหญ่ที่สุด เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมาจำนวนชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีมากถึง 11 ล้านคน ใช้จ่ายเงินรวมกันถึงเกือบ 18,000 ล้านดอลลาร์

รายงานวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ป ซึ่งเคยคาดการณ์เอาไว้ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทยในปี 2020 เพิ่มมากขึ้น 6.5 เปอร์เซ็นต์

ตอนนี้หั่นประมาณการลงเหลือเพียงแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

 

นอกจากผลกระทบโดยตรงที่ว่านี้แล้ว ยังมีผลกระทบทางอ้อมอีกหลายๆ อย่างที่ยากประเมินและยากวัดได้ในตอนนี้

อย่างเช่น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมในกรณีที่เศรษฐกิจจีนตกต่ำหรือชะลอตัวลงมากๆ

หรือในกรณีที่เศรษฐกิจรวมของโลกได้รับผลกระทบเติบโตลดลง

และผลกระทบที่การระบาดก่อให้เกิดขึ้นกับการค้าระหว่างประเทศที่ส่งผลสะเทือนต่อไทยเป็นต้น

ยิ่งคิดต่อไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งเหนื่อยหนักข้อละครับ