ต่างประเทศ : ปม “แอร์บัส” ติดสินบน สะเทือนถึงบินต้นทุนต่ำยักษ์เอเชีย

การตกลงยอมจ่ายเงินค่าปรับก้อนโตเป็นจำนวน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 124,000 ล้านบาท ของบริษัทแอร์บัส ผู้ผลิตอากาศยานและระบบป้องกันประเทศยักษ์ใหญ่ของยุโรปเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ในความตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทกับสำนักงานอัยการในฝรั่งเศส อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวหาแอร์บัสว่ากระทำการทุจริตติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลใดๆ เพื่อให้บริษัทตนได้รับประโยชน์จากการมียอดสั่งซื้อเครื่องบินในตลาดเพิ่มขึ้นนั้น

จะทำให้แอร์บัสสามารถหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหานี้ได้

ที่หากมีการเดินหน้าต่อไป ก็อาจจะเป็นผลให้แอร์บัสจะไม่ได้รับสัญญาจากภาครัฐในตลาดธุรกิจการบินทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐในอนาคตได้

 

แต่แม้แอร์บัสจะเอาตัวรอดไปได้เปลาะหนึ่งจากการยอมจ่ายเงินเพื่อระงับคดี

ทว่าการสอบปมทุจริตติดสินบนดังกล่าวของแอร์บัส ได้ส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นไปถึงเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลและบุคคลในแวดวงธุรกิจการบินในหลายประเทศ ที่ถูกทางการขยายผล ดำเนินการสอบสวนต่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตติดสินบนของแอร์บัสด้วยหรือไม่

เช่น ในประเทศโคลอมเบีย มีรายงานว่าสายการบิน Avianca ได้ว่าจ้างสำนักงานทนายความให้สอบสวนว่าสิ่งไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นกับทางสายการบินในการทำธุรกิจกับบริษัทแอร์บัสหรือไม่

หลังจากอัยการฝรั่งเศสกล่าวหาว่ามีการจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นจำนวนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับนายหน้าในการขายเครื่องบินเจ๊ตของแอร์บัสให้กับสายการบิน Avianca

หรือกรณีที่ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ของศรีลังกา สั่งการให้เจ้าหน้าที่สอบสวนอย่างเต็มที่ หลังจากสำนักงานตรวจสอบการฉ้อโกงร้ายแรง (เอสเอฟโอ) ของอังกฤษ รายงานอ้างว่าแอร์บัสได้ว่าจ้างภรรยาของผู้บริหารรายหนึ่งของสายการบินศรีลังกาแอร์ไลน์ ให้เป็นตัวกลางในการเจรจาซื้อขายเครื่องบินของแอร์บัสกับสายการบินดังกล่าวของศรีลังกา

อีกกรณีเกิดขึ้นในประเทศกานา ที่มีการกล่าวหาว่าแอร์บัสได้จ่ายเงินให้กับญาติของเจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบินลำเลียงทางทหารของกองทัพกานา

 

ล่าสุดปมร้อนนี้ลุกลามมาถึงตัวโทนี่ เฟอร์นันเดซ และคามารุดดิน เมรานัน สองซีอีโอหัวเรือใหญ่ของแอร์เอเชีย กรุ๊ป ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งดำเนินงานสายการบินแอร์เอเชีย และแอร์เอเชีย เอ็กซ์ สายการบินต้นทุนต่ำยักษ์ใหญ่ยอดนิยมของเอเชีย

โดยผู้บริหารทั้งสองคนกำลังถูกคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตของมาเลเซีย (เอ็มเอซีซี) ดำเนินการสอบสวน หลังจากสำนักงานตรวจสอบการฉ้อโกงร้ายแรง (เอสเอฟโอ) ของอังกฤษ กล่าวหาว่าผู้บริหารของแอร์เอเชียรับเงินสินบน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากบริษัทแอร์บัส เพื่อให้แอร์เอเชียทำการสั่งซื้อเครื่องบินจากแอร์บัส

โดยในเอกสารที่ยื่นต่อศาลซึ่งปรากฏบนเว็บไซต์ของเอสเอฟโอระบุว่า ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมปี 2013 ถึงเดือนมกราคมปี 2015 อีเอดีเอส ฟรานซ์ เอสเอเอส ที่ในภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นแอร์บัสกรุ๊ป เอสเอเอส ได้จ่ายเงินจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นค่าสปอนเซอร์ให้กับทีมแข่งรถฟอร์มูล่า 1 “Caterham” ซึ่งทีมแข่งรถดังกล่าวมีเฟอร์นันเดซและเมรานันเป็นเจ้าของทีมร่วมกันในช่วงเวลานั้น

อย่างไรก็ดี ในเอกสารของเอสเอฟโอระบุเพียงว่า ผู้บริหารคนที่ 1 และ 2 เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจของแอร์เอเชียและแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ซึ่งได้ให้สิ่งตอบแทนด้วยการสั่งซื้อเครื่องบินจากแอร์บัสจำนวน 180 ลำ

ขณะที่จากข้อมูลที่ปรากฏชี้ว่าเครื่องบินพาณิชย์ที่แอร์เอเชียมีให้บริการทั้งหมด 274 ลำนั้นเป็นเครื่องบินที่ผลิตโดยแอร์บัสทั้งหมด

 

ทั้งเฟอร์นันเดซที่ถือเป็นผู้บริหารมือทอง ผู้ปลุกปั้นสายการบินหางแดงแห่งนี้ จนผงาดเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาคเอเชีย และนายเมรานันได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธไม่ได้กระทำผิดใดๆ และทีมแข่งรถของพวกเขาที่ขณะนี้ได้ขายทิ้งไปแล้ว ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการติดสินบนของแอร์บัสแต่อย่างใด

โดยทั้งคู่ยังประกาศพักงานชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อเปิดทางให้ทางการมาเลเซียทำการสอบสวน

การถูกโยงเข้าไปพัวพันกับการทุจริตติดสินบนของแอร์บัส ไม่เพียงจะกระทบต่อภาพลักษณ์อันดีในความเป็นผู้บริหารมากความสามารถของซีอีโอแอร์เอเชียทั้งสองรายนี้เท่านั้น

หากแต่ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเลวร้ายของแวดวงธุรกิจสายการบินและการท่องเที่ยวที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์หนักจากการลุกลามระบาดไปทั่วโลกของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 492 ราย และมีผู้ติดเชื้อสะสมรวมเกือบ 24,000 ราย โดยมีศูนย์กลางแพร่ระบาดอยู่ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน ที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของผู้คนในทั่วโลกให้ลดฮวบลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การขาดหัวเรือใหญ่ไปถึง 2 คนของแอร์เอเชียครั้งนี้ ก็น่าจะมีผลสั่นสะเทือนต่อการกำหนดยุทธศาสตร์บริหารจัดการในช่วงสถานการณ์อันยากลำบากของสายการบินต้นทุนต่ำแห่งนี้ไม่มากก็น้อย…