คุยกับทูต ยะอ์ฟัร อัครามี สัมพันธ์อิหร่าน-สหรัฐ จากพันธมิตรสู่ศัตรูคู่ปรปักษ์ (จบ)

เราจะไม่สามารถเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านในปัจจุบันเพียงแค่ดูเหตุการณ์ล่าสุด เพราะนั่นเป็นผลสืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ 70 ปี

ก่อนอื่น ลองมาดูลำดับเหตุการณ์ของความขัดแย้งโดยสรุป

เริ่มจากองค์กร CIA ของสหรัฐที่ใช้ชื่อว่า “ปฏิบัติการอาแจ็กซ์” (Operation Ajax) และหน่วย MI6 ของสหราชอาณาจักร ที่ใช้ชื่อว่า “ปฏิบัติการบูต” (Operation Boot) ประสานการทำรัฐประหารในอิหร่านปี 1953 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลนายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด โมซัดเดกห์ (Mohammad Mossadegh) จากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (National Front) ที่ต่อต้านชาติตะวันตก

โดยเฉพาะอังกฤษซึ่งเข้ามารุกรานและสูบน้ำมันไปจากอิหร่านมาหลายทศวรรษ และแต่งตั้งพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์เลวี (Mohammed Reza Pahlevi) ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ

เป็นจุดเริ่มต้นของความโกรธแค้นและไม่ไว้วางใจสหรัฐในหมู่ประชาชนชาวอิหร่าน

การกระทำของสหรัฐได้เปลี่ยนอิหร่านจากประเทศประชาธิปไตย ไปสู่ประเทศเผด็จการ เพื่อให้พระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ของพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์เลวี แข็งแกร่งขึ้น

นับเป็นปฏิบัติการแรกของสหรัฐที่โค่นล้มรัฐบาลต่างประเทศในช่วงสงครามสงบ

ในระหว่างปี 1957-1973 ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) เริ่มต้นมิตรภาพโดยการริเริ่มเผยแพร่ความรู้เรื่องเทคโนโลยีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งอิหร่าน พร้อมๆ กับอิสราเอลและปากีสถาน

สหรัฐและอิหร่านได้บรรลุข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยการใช้นิวเคลียร์ Cooperation Concerning Civil Uses of Atoms อย่างสันติ

พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์เลวี ก็ได้ทรงก่อตั้งศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ขึ้นที่มหาวิทยาลัยเตหะราน อิหร่านจึงเริ่มรับแร่และเทคโนโลยีจากสหรัฐรวมทั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 5 เมกะวัตต์ โดยอิหร่านลงนามในสนธิสัญญายืนยันว่าจะไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และได้รับอนุญาตให้พัฒนาโครงการด้านนิวเคลียร์ในระดับพลเรือนต่อไป

ในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) มีข้อตกลงกับพระเจ้าชาห์ โดยเปิดโอกาสให้อิหร่านสามารถซื้ออาวุธสงครามตามที่ต้องการ เพื่อแลกกับการรับประกันผลประโยชน์และความมั่นคงของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ในระหว่างนั้นเอง อะยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Ruhollah Khomeini) ผู้นำทางศาสนาที่ถูกเนรเทศออกไปในปี 1964 และมีถิ่นพำนักในตุรกี อิรัก และฝรั่งเศส เริ่มแสดงการต่อต้านพระเจ้าชาห์และสหรัฐ ผ่านการเทศนาในมัสยิด

มีการประท้วงครั้งใหญ่เกิดขึ้นที่จัตุรัสจาเละห์ในกรุงเตหะรานปี 1978 กองทหารของรัฐบาลอิหร่านได้กราดยิงใส่ประชาชนเสียชีวิตไปหลายร้อยคน เป็นช่วงที่สหรัฐกำลังยุ่งกับสงครามอาหรับ-อิสราเอล

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สหรัฐและอิหร่านเริ่มแตกกันในปี 1979 เพราะเกิดการปฏิวัติอิหร่าน หรือเรียกว่าการปฏิวัติอิสลาม มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบบกษัตริย์มาเป็นระบอบสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน รัฐบาลอิหร่านที่มีรูฮอลเลาะห์ โคไมนี เป็นผู้นำสูงสุดในขณะนั้นได้ยึดสัมปทานน้ำมันและกิจการต่างๆ ที่มีสหรัฐเป็นผู้ควบคุมอยู่มาเป็นของตัวเอง ส่งผลให้สหรัฐเกิดความไม่พอใจและมีปัญหากับอิหร่านมาจนถึงทุกวันนี้

ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เกิดวิกฤติชาวอเมริกันถูกกักเป็นตัวประกันในสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะรานถึง 444 วัน ทำให้ความสัมพันธ์แตกหักจากมิตรสู่ศัตรู

เพราะในสมัยนั้น ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) อนุญาตให้พระเจ้าชาห์ที่ประชวรด้วยโรคมะเร็ง เดินทางไปรับการรักษาอาการที่สหรัฐเพื่อแสดงออกถึงความมีมนุษยธรรม

แต่ชาวอิหร่านที่สนับสนุนการปฏิวัติไม่พอใจ ตัวประกัน 52 คนสุดท้ายถูกปล่อยให้เป็นอิสระในเดือนมกราคมปี 1981 ซึ่งเป็นวันที่ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) เข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่ง

ส่วนชาวอเมริกันอีก 6 คนที่หลบหนีออกจากสถานทูตนั้นถูกลักลอบนำออกจากอิหร่านโดยกลุ่มคนที่อยู่ในทีมผู้สร้างภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ปี 2012

ปี1980-2000 เป็นทศวรรษของความขัดแย้งและสงคราม

อิหร่านเริ่มสงครามกับอิรัก สหรัฐจึงส่งกองกำลังช่วยเหลืออิรักทั้งในด้านข้อมูล ทหาร และอาวุธ เพราะอิรักแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่ออิหร่านอย่างชัดเจน

และในปี 1984 เรือรบสหรัฐในอ่าวเปอร์เซียได้ยิงเครื่องบินแอร์บัส A300 ของสายการบินอิหร่านแอร์ (Iran Air) เที่ยวบินที่ 655 คร่าชีวิตเหล่าผู้ศรัทธา 290 คน ที่กำลังเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ซาอุดีอาระเบีย โดยสหรัฐอ้างว่าเข้าใจผิด คิดว่าเป็นเครื่องบินรบ F-14

ต่อมาไม่นาน ทั่วโลกค้นพบว่าอิหร่านร่ำรวยด้วยแร่ยูเรเนียมจำนวนมหาศาล แต่อิหร่านยืนยันว่าใช้แร่เหล่านี้ในด้านพลังงานนิวเคลียร์เท่านั้น ไม่ใช่อาวุธ อิหร่านและสหรัฐได้เดินหน้าเจรจาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์กันมาโดยตลอด แต่ไม่เคยได้มาถึงจุดที่บรรลุข้อตกลงที่ชัดเจน

กระทั่งปี 2015 อิหร่าน สหรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสหภาพยุโรป ได้บรรลุข้อตกลง แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (Joint Comprehensive Plan of Action : JCPOA) เพื่อวางกรอบควบคุมโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน เพื่อจำกัดไม่ให้อิหร่านสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่ และกิจกรรมใดๆ ที่ใช้ยูเรเนียม ซึ่งอิหร่านก็ถอยและยอมตกลง

แต่ยังคงมีเรื่องกระทบกระทั่งระหว่างกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติได้คุกรุ่นลุกเป็นไฟขึ้นมาทันที เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐปี 2017 และประกาศว่าอิหร่านคือผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มหัวรุนแรงทั่วโลก ทรัมป์ฉีกสัญญาข้อตกลงด้านอาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่านปี 2018 ระบุว่า อิหร่านยังคงมีโครงการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์และข้อตกลงที่ว่านั้น ไม่สามารถยับยั้งความแข็งกร้าวของอิหร่านได้เลย

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์โดรนสังหาร พล.ต.คัสเซม โซไลมานี อิหร่านก็ได้ตอบโต้ทางการทหารต่อสหรัฐ

โดยยิงขีปนาวุธหลายลูกเข้าถล่มฐานทัพอากาศสหรัฐที่อิรักเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา

มร. ยะอ์ฟัร อัครามี (Mr. Jafar Akrami Abarghouee) อัครราชทูตที่ปรึกษา/รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต แห่งสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย ซึ่งในวันนี้ทำหน้าที่แทนเอกอัครราชทูตเล่าถึงสถานการณ์ต่อมาว่า

“สมาชิกรัฐสภาอิรักได้ลงมติขับไล่กองทัพสหรัฐออกไปจากอิรัก หลังสหรัฐใช้โดรนถล่มขบวนรถสังหารนายพลคัสเซม โซไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษของอิหร่านในต่างแดน พร้อมด้วยนายอาบู มาห์ดี อัล มูฮันดิส (Abu Mahdi al-Muhandis) ผู้นำกองกำลังอัล-ฮัชดุซะอุบิ และนายทหารอื่นๆ อีก 9 นาย ที่สนามบินกรุงแบกแดด เมื่อ 3 มกราคม”

กองทัพสหรัฐมีทหารในอิรักจำนวน 5,200 นาย ประจำการอยู่ทั่วประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังผสมนานาชาติเพื่อสนับสนุนกองกำลังของอิรักต่อสู้กับกองกำลังรัฐอิสลามหรือไอเอส ที่รัฐบาลอิรักเชิญมาประจำการในปี 2014 แต่สถานการณ์ล่าสุดทำให้ ส.ส.อิรักที่มีสัมพันธ์อันดีกับอิหร่านไม่ต้องการให้สหรัฐประจำอยู่ที่อิรักต่อไป และเห็นว่าไม่มีข้ออ้างเรื่องไอเอสอีกแล้ว

“นี่เป็นขั้นตอนแรกซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว คือกองกำลังทหารอเมริกันต้องออกไปจากประเทศอิรัก เพื่อความปลอดภัยในภูมิภาค”

ตอนหนึ่งในคำแถลงของสภาอิรักระบุว่า รัฐบาลอิรักต้องยุติการแทรกแซงของกำลังต่างชาติบนแผ่นดินอิรัก และห้ามกองทัพของต่างประเทศใช้น่านฟ้า น่านน้ำ และแผ่นดินของอิรักเพื่อปฏิบัติการทางทหารในทุกกรณี

ปฏิบัติการสังหารนายพลโซไลมานีนับเป็นการละเมิดอธิปไตยของอิรักอย่างรับไม่ได้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรี อะเดล อับดุล เมห์ดี จะดำเนินการต่อไปอย่างไร เนื่องจากมีข้อกำหนดว่าต้องให้เวลาเตรียมการหนึ่งปี หากว่ามีการถอนทหาร รวมถึงต้องคำนึงถึงผลกระทบหากไม่มีทหารอเมริกันในอิรัก

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ขู่ตอบโต้อิรักด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรขั้นรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน หากอิรักสั่งขับทหารอเมริกันออกจากประเทศโดยไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างฐานทัพอากาศหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

มร. ยะอ์ฟัร อัครามี กล่าวว่า

“จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา เราได้รับการสนับสนุนให้กำลังใจอย่างมากมายจากนานาประเทศรวมทั้งประเทศไทย เพราะทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ต่างศาสนาหลายคน เดินทางมาที่สถานทูตของเราเพื่อแสดงความไว้อาลัยด้วยการวางดอกไม้ จุดเทียน และลงนามในสมุดแสดงความอาลัย เรารู้สึกซาบซึ้งใจและขอบคุณเป็นอย่างมาก นี่เป็นเรื่องราวสำหรับคนทั้งโลก ที่ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจกันอย่างมากมายจากคนที่แตกต่างกัน และหลายคนก็แสดงความโกรธในการกระทำของผู้ก่อการร้ายอเมริกัน”

สำหรับหนทางที่อิหร่านและสหรัฐจะเป็นเพื่อนที่ดีในอนาคตนั้น มร. ยะอ์ฟัร อัครามี ตอบว่า

“จากด้านของเราค่อนข้างชัดเจนว่า เราต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศในโลก ซึ่งหมายถึงสหรัฐอเมริกาด้วย แต่สหรัฐควรเปลี่ยนทัศนคติที่ไม่เป็นมิตรต่ออิหร่าน เพราะสำหรับเราแล้วมันไม่สำคัญว่าใครจะขึ้นเป็นผู้นำที่มีอำนาจในการบริหาร ไม่ว่าในปัจจุบันหรือก่อนหน้านี้ แต่ทัศนคติและพฤติกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า น่าเสียดายที่ใน 40 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้รับสัญญาณว่าสหรัฐจะเปลี่ยนทัศนคติใหม่ จะมีก็แต่ทัศนคติที่ไม่เป็นมิตรต่ออิหร่าน”

“เราลงนามในข้อตกลงนิวเคลียร์ (JCPOA) ซึ่งได้มีการเจรจากันอย่างหนักหน่วงใน 1 ปีระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านและอีก 5 ประเทศ แต่น่าเสียดายที่สหรัฐได้เป็นฝ่ายถอนตัวออก”

“ข้อตกลง JCPOA นี้ได้รับการสนับสนุนและอนุมัติโดยมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ นั่นหมายถึง สหรัฐไม่เพียงแต่ละเมิด JCPOA เท่านั้น แต่ยังละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย ดังนั้น สหรัฐจึงสมควรต้องถูกตำหนิ”

ข้อตกลงนิวเคลียร์หรือข้อตกลงร่วมว่าด้วยแผนปฏิบัติการครอบคลุม (The Joint Comprehensive Plan of Action : JCPOA) เป็นข้อตกลงระหว่างอิหร่าน และ 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐ บวกเยอรมนี หรือที่รู้จักกันในกลุ่ม P5+1 และสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2015

ภายใต้ข้อตกลงนี้ อิหร่านจะจำกัดปริมาณการสะสมและการผลิตยูเรเนียมเสริมสมรรถนะซึ่งเป็นธาตุยูเรเนียมชนิดหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รวมถึงใช้ในอาวุธนิวเคลียร์เป็นเวลา 15 ปี

เพื่อแลกกับการที่ทางสหรัฐ สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่ใช้ต่ออิหร่านก่อนหน้านี้ โดยมีทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ทำหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์

แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศนำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018

มร. ยะอ์ฟัร อัครามี ซึ่งทำหน้าที่แทนเอกอัครราชทูตอิหร่านกล่าวตอนท้ายว่า

“ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก เราได้รับการสนับสนุนจากคนไทยมากมายที่ส่งจดหมายถึงเราและเดินทางมายังสถานทูต มารวมตัวกันเพื่อแสดงความเห็นใจต่อประเทศอิหร่าน เราซาบซึ้งในน้ำใจเป็นอย่างมาก”

“นอกจากนี้ เรายังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ในการส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลรักษาความปลอดภัยของสถานทูตและบุคลากรแห่งนี้”

“เราขอขอบคุณรัฐบาลไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวไทย และเรามีความสุขมากที่ประเทศของเราทั้งสองยังคงรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน ความสัมพันธ์นั้นมีอยู่ไม่เพียงแต่กับรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างประชาชนชาวไทยและชาวอิหร่านด้วย”