จิตต์สุภา ฉิน : วิธีสำรวจเทคโนโลยีแบบซนๆ ของคนวัยรุ่น

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

จู่ๆ ฉันก็นึกขึ้นมาว่าเป็นเรื่องตลกดีที่เทคโนโลยีที่อยู่ในมือของคนกลุ่มหนึ่งจะถูกนำไปใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิงเมื่ออยู่ในมือของคนอีกกลุ่ม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือกลุ่มวัยรุ่น และผู้ใหญ่

ลองให้เทคโนโลยีอะไรสักอย่างกับคนสองกลุ่มไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ รูปแบบของการนำไปใช้ก็อาจจะแตกต่างกันชนิดที่อีกกลุ่มหนึ่งคิดไม่ถึงเลยทีเดียว

สิ่งที่ทำให้นึกถึงขึ้นมาก็คือการใช้บริการออนไลน์ที่ทุกวันนี้ชีวิตการทำงานของฉันขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว อย่าง Google Docs

 

Google Docs ก็คล้ายๆ กับ Microsoft Words ที่ผู้ใหญ่อย่างเราใช้กันจนถนัดมือนั่นแหละค่ะ มันก็คือโปรแกรมการจัดการเอกสารที่มีจุดเด่นก็คือการเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับคลาวด์ ทำให้เราสามารถเข้าถึงเอกสารเดียวกันได้ ไม่ว่าจะใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเครื่องไหนก็ตาม ขอแค่ให้เราล็อกอินด้วยชื่อบัญชีผู้ใช้งานชื่อเดียวกันก็พอ

และอีกข้อดีก็คือการเปิดให้คนอื่นสามารถเข้ามาทำงานบนเอกสารเดียวกันได้ไปในเวลาพร้อมๆ กัน ใครกำลังดูเอกสารอยู่บ้างก็จะมีชื่อขึ้นโชว์ไว้ให้เห็น แต่ละคนจะมีเคอร์เซอร์เป็นสีของตัวเองทำให้รู้ว่าตอนนี้ใครกำลังจิ้มส่วนไหนของเอกสารอยู่

ผู้ใหญ่อย่างเราก็ใช้ประโยชน์ของ Google Docs กันในแบบที่ Google เขาตั้งใจให้ใช้นั่นแหละ ก็คือการทำงานร่วมกัน อัพเดตเอกสารแล้วให้เห็นพร้อมกันในเวลาเดียวกัน

หรือคอมเมนต์แก้ไขถูกผิดไปพร้อมๆ กัน

 

แต่สำหรับเด็กวัยรุ่น พวกเขากลับดึงเอาอีกฟีเจอร์ที่ไม่ได้โดดเด่นเท่ามาใช้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งก็คือฟีเจอร์การแชตกันบนหน้าเอกสารนั่นแหละ

ด้วยความที่ Google Docs อัพเดตแบบเรียลไทม์ ทำให้เวลาใครสักคนพิมพ์อะไรลงไป คนอื่นๆ ที่อยู่บนเอกสารเดียวกันก็จะเห็นไปพร้อมๆ กัน เด็กวัยรุ่นสมัยใหม่ก็เลยเปลี่ยนฟีเจอร์นี้ให้กลายเป็นโปรแกรมส่งข้อความแชตได้แบบเนียนๆ

ไม่มีอีกต่อไปแล้วที่จะต้องคอยเขียนโน้ตใส่กระดาษ ขยำๆ ให้เป็นก้อนเล็กๆ แล้วปาไปที่โต๊ะเพื่อนด้วยความหวังว่าคุณครูจะไม่คว้าไปอ่านเองเสียก่อน

เพราะตอนนี้เด็กๆ เขาหันมาแชตผ่านหน้าจอกันแล้ว โดยที่ดูผิวเผินคุณครูอาจจะนึกว่าเด็กๆ กำลังก้มหน้าก้มตาช่วยกันพิมพ์เอกสารอย่างขะมักเขม้น แถมในบางคาบที่ครูห้ามไม่ให้หยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาใช้

นี่ก็กลายเป็นวิธีแชตที่ทดแทน LINE หรือ Facebook Messenger ได้เป็นอย่างดี

 

จริงๆ แล้ววิธีแชตบน Google Docs มีหลายทาง นอกจากการพิมพ์ลงไปบนเอกสารโต้งๆ แล้ว ก็ยังมีทั้งฟีเจอร์ให้แชตกันได้แบบตรงๆ เพียงแค่กดปุ่มครั้งเดียวก็จะเป็นการเพิ่มห้องแชตเข้ามาข้างๆ เอกสาร และกดปุ่มเดิมซ้ำก็จะปิดห้องแชตนั้นไปอย่างรวดเร็ว

หรือจะใช้วิธีการเพิ่มกล่องคอมเมนต์ให้เข้ามาพิมพ์ต่อๆ กันลงไปเรื่อยๆ เป็นเธรดยาวๆ

และเมื่อไหร่ที่คุณครูเดินผ่าน ก็แค่กดยุบเธรดทั้งหมดกลับเข้าไปเก็บไว้

ข้อความแชตทั้งหมดก็จะถูกซ่อนได้แบบเนียนๆ

 

อีกเรื่องที่ถือว่าวัยรุ่นสมัยนี้ปรับใช้เทคโนโลยีให้เข้ากับความต้องการของตัวเองได้อย่างมีหัวคิดสร้างสรรค์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับหูฟังไร้สาย AirPods ของ Apple

AirPods ถือเป็นสินค้าขายดีอันดับสองของ Apple ในปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่า Apple น่าจะขายไปได้ 65 ล้านชิ้น ทั้งที่ราคาขายต่อหน่วยที่หกพันกว่าบาทของมันนั้นถือว่าไม่ถูกเลย

แต่ AirPods กลายเป็นแก็ดเจ็ตยอดฮิตในกลุ่มวัยรุ่น หน้าตาเหมือนหูฟังที่เราทำสายขาดไปแต่ตัวหูฟังยังเสียบคารูหูเอาไว้ได้อย่างมั่นคงกลายเป็นเครื่องบอกสถานะที่ทำให้ AirPods ขายดีจน Apple แทบจะผลิตมาตอบสนองความต้องการไม่ทัน

Apple เคยโฆษณา AirPods เอาไว้ว่าเป็นหูฟังที่ทำให้เราสามารถแบ่งปันเสียงเพลงระหว่างเรากับคนข้างกายได้ในคลิปโฆษณา AirPods ช่วงเทศกาลคริสต์มาส ที่ทำให้ชายหนุ่มกับหญิงสาวสามารถตกหลุมรักกันได้หลังจากหญิงสาวถอดหูฟังข้างหนึ่งออกมาส่งให้ชายหนุ่มหยิบไปเสียบเข้ากับรูหูของตัวเอง

ดังนั้น ก็คงไม่น่าแปลกใจอะไรที่เด็กวัยรุ่นจะหยิบเอา AirPods มาทำอะไรคล้ายๆ กันบ้าง ด้วยการส่งหูฟังข้างหนึ่งให้กับเพื่อนที่นั่งอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน

จากนั้นก็ใช้แอพพลิเคชั่นอะไรก็ได้ที่มีฟีเจอร์ของ text to speech หรือการพิมพ์ให้โปรแกรมอ่านออกเสียงออกมา

อย่างเช่น Google Translate เป็นต้น

เมื่อโปรแกรมออกเสียงปุ๊บ คนสองคนที่แบ่ง AirPods กันใส่อยู่คนละข้างก็จะสามารถสื่อสารกันด้วยเสียงได้แบบที่ไม่ต้องขยับปากแม้แต่นิดเดียว

การแชตวิธีนี้น่าจะเพิ่มความตื่นเต้นและสนุกสนานให้กับเด็กๆ ในห้องเรียนไม่น้อยอยู่เหมือนกัน

ฉันก็ยังจำได้ว่าตอนยังอายุน้อยกว่านี้ ถ้าได้เล่นทริกอะไรใหม่ๆ ที่ไม่มีใครรู้และไม่ถูกจับได้ ก็ทำให้วันทั้งวันนั้นกลายเป็นวันที่สนุกกว่าปกติไปเลย

 

แต่ก็ต้องบอกดักไว้ก่อนเลยว่าวิธีนี้ไม่น่าทำสุดๆ เพราะ AirPods หรือหูฟังใดๆ ก็ตามเป็นแก็ดเจ็ตที่ค่อนข้างมีความเป็น “ของใครของมัน” สูง

แค่ของที่เราใช้ของเราคนเดียว บางทีเราก็ยังมีแอบรู้สึกหยะแหยงอยู่บ้าง นี่เล่นเอาหูฟังที่ผ่านรูหูของคนอื่นเข้ามาใส่ในหูเรา แค่คิดก็ขนลุกเกรียวไปหมดแล้ว

และทริกนี้ก็ไม่ได้เวิร์กได้กับทุกคน แต่ต้องเป็นคนที่มีผมยาวพอที่จะปิดหูไว้ไม่ให้ครูเห็นว่าแอบเสียบหูฟังอยู่ ซึ่งถ้าจะหยิบมาใช้แถวนี้บ้างก็จะกลายเป็นการจำกัดเพศไว้ว่าทำได้เฉพาะแค่นักเรียนหญิงเท่านั้น

ทั้งหมดที่บอกมาไม่ได้เป็นการชี้โพรงให้กระรอก หรือหากจะเป็นการชี้จริง โพรงที่ว่าก็ไม่ใช่โพรงที่จะก่อให้เกิดภัยร้ายแรงอะไร เป็นเพียงแค่การสำรวจเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ตอบโจทย์ความต้องการสนุกๆ เท่านั้น

หรือมองในแง่ดีก็เป็นการฝึกคิดนอกกรอบให้หาวิธีการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมในรูปแบบใหม่ๆ

นี่อาจจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้จากเด็กได้นะคะ