มุกดา สุวรรณชาติ : ปัญหาไวรัสโคโรนา จะส่งผลกระทบทั้งประเทศ

มุกดา สุวรรณชาติ

โรคระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้นในจีนขณะนี้จำนวนคนติดเชื้อถึง 2 หมื่นกว่า คนอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 20% คาดว่าน่าจะเพิ่มถึง 100,000 คนได้

ตัวเลขสะสมของผู้เสียชีวิตตอนนี้เกินกว่า 500 คน และครั้งนี้น่าจะทำลายสถิติโรคซาร์สที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 800 คน ทีมวิเคราะห์ประเมินว่าครั้งนี้ต้องเป็นหลักพันคน

ถ้าดูการแก้ปัญหาของจีนซึ่งเป็นประเทศใหญ่ที่สามารถระดมสรรพกำลังมาจากทุกมณฑลไปช่วยทำงานเมื่อเขารู้ว่าศูนย์กลางของโรคระบาดและผู้ติดเชื้ออยู่ในมณฑลหูเป่ยแถวเมืองอู่ฮั่น กำลังทุกฝ่ายก็ถูกระดมเข้ามาเหมือนมีอีก 20 ประเทศเข้ามาช่วยผู้ป่วย

แต่ถ้าประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีศักยภาพ เกิดมีคนป่วยเป็นโรคติดต่อแม้เพียง 1 ใน 10 ของจีนก็จะมีคนป่วยเป็นหลายพันคน แล้วประเทศเล็กๆ จะรับมือได้หรือไม่ จะมีอุปกรณ์เพียงพอหรือไม่ จะช่วยป้องกันการติดเชื้อของประชาชนได้หรือไม่

โรคระบาดครั้งนี้ไม่เพียงทำลายชีวิต แต่จะทำลายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ตอนนี้แม้แต่คนทำสวนทุเรียนยังกังวล

การแก้ปัญหาครั้งนี้จึงต้องมองยาว

ทีมวิเคราะห์มีโอกาสถามความเห็นคุณจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ ในปัญหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ระบาดมาถึงไทยบ้างแล้ว ว่าควรทำอย่างไร?

เรื่องไวรัสนี้มีหลายมิติ ทั้งสุขภาพและชีวิตของประชาชน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็ต้องคิดแบบเชื่อมโยงกัน

แต่หัวใจของเรื่องนี้คือเรื่องสุขภาพและชีวิตของประชาชน จะคิดอะไรก็ตัดสินชี้ขาดอยู่ที่ต้องให้ประชาชนปลอดภัยไว้ก่อนแล้วคิดควบคู่ไปกับเรื่องอื่นๆ

เรื่องเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดใหม่นี่ ต้องอาศัยผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ก็ต้องระดมมาให้พร้อมและต้องอาศัยเขามากๆ ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศก็ควรอาศัย

ผมเคยทำงานแบบนี้โดยมีตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศมาร่วมประชุมตลอด ถามเขาเป็นระยะๆ แต่เวลาตัดสินใจ เราต้องตัดสินใจเอง

เรื่องใหญ่ๆ แบบนี้ต้องทำความเข้าใจว่า ขนาดของปัญหาอาจใหญ่มากทั้งเรื่องชีวิตคนและเศรษฐกิจ

ที่แน่ๆ ความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเราอาจเป็นแสนล้าน แต่เรื่องชีวิตคนนั้นประเมินเป็นเงินไม่ได้

เพราะฉะนั้น ต้องกล้าใช้งบประมาณ อย่าเสียน้อยเสียยาก ถ้าจะต้องสร้างห้องแล็บทดลองใช้งบฯ สัก 100-200 ล้านๆ ต้องถือว่าเป็นเรื่องเล็ก

อีกอย่างก็คงเป็นเรื่องต้องเร็ว ทันการณ์ และต้องดักปัญหาล่วงหน้า ไม่ใช่คอยตามปัญหาที่เกิดขึ้น จะแก้ยาก

ตอนนี้ก็หวังว่าจะคิดค้นยารักษาและไวรัสได้เร็ว มิฉะนั้นคงเสียหายอีกมาก

แต่โรคที่แพร่ระบาดง่ายแบบนี้ สำคัญต้องควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดให้ดีที่สุด นี่ก็ยุทธศาสตร์ครับ

ที่ผมเคยเสนอไว้หลายข้อนั้นอยากจะขยายความให้ฟังสักหน่อย ความจริงข้อเสนอนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากประสบการณ์ในอดีตที่เคยทำเรื่องเกี่ยวกับอุบัติภัยมาก่อน

 

เรื่องแรก คือต้องร่วมมือกับจีนในทุกเรื่องที่ทำได้

ช่วยเหลือรัฐบาลและประชาชนจีนอย่างเต็มที่

เช่น เปิดห้องแล็บร่วมกับจีนและ WHO เพื่อค้นคว้าวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ในการรับมือกับโรค สร้างวัคซีนและยารักษาโรค

วางระบบแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย

จัดหาอุปกรณ์ที่จีนขาดแคลนส่งไปให้จีน เริ่มด้วยหน้ากากอนามัย ส่งเสริมให้คนไทยรักษาความมีมิตรจิตมิตรใจกับนักท่องเที่ยวจีน และคนจีนที่อยู่ในไทยอย่างที่มีตลอดมา ดูแลรักษาคนจีนที่มาป่วยในเมืองไทยอย่างดี แม้จะใช้มาตรการจำกัดคนเข้าเมืองชั่วคราว แต่ยังไงก็ยังมีชาวจีนอยู่ในไทยจำนวนมาก

เรื่องการร่วมมือกับจีนและการช่วยเหลือจีนนั้น ผมทราบดีว่าระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับไวรัสและโรคอุบัติใหม่นี่มีขีดความสามารถสูงและมีประสบการณ์ขนาดเป็นที่ยอมรับระดับโลก ทั้งยังมีการประสานร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศด้วย

ถ้าเราส่งเสริมจริงจัง ประเทศไทยสามารถพัฒนาห้องแล็บเพื่อค้นคว้าวิจัยยาและวัคซีนก็ได้

อีกอย่างเรามีเหตุผลความจำเป็นเต็มที่ที่จะต้องร่วมมือกับจีนอย่างใกล้ชิดเพราะเรารับนักท่องเที่ยวจากจีนมากที่สุด ผู้ติดเชื้อก็มากเป็นอันดับต้นๆ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ร่วมกันมาก

แล้วเราก็ควรช่วยทั้งรัฐบาลและประชาชนจีน ทั้งทางเทคนิควิชาการ

อุปกรณ์ที่เราผลิตได้ เช่น หน้ากาก เจลล้างมือ เครื่องมือแพทย์ ก็ควรช่วยให้เต็มที่

ผมเสนอว่าในขั้นต้นส่งหน้ากากไปสัก 1 ล้านชิ้น แต่พอดูขนาดของปัญหาแล้ว น่าจะเริ่มจาก 10 ล้านชิ้น เป็นต้น

เรื่องงบประมาณไม่ต้องเสียดาย นี่เป็นเรื่องช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ งบฯ ที่ใช้อย่างมากก็เป็นหลายร้อยล้านพันล้าน แต่ถ้าปล่อยให้เสียหายบานปลาย อาจเป็นแสนล้าน

เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าเป็นปัญหาภัยพิบัติของมนุษยชาติ ก็ต้องช่วยเหลือกัน เห็นอกเห็นใจกัน

ทําไมต้องยกเลิก visa on arrival และกำหนดเงื่อนไขคนจีนเข้าไทยใหม่ชั่วคราว

ต้องเข้มข้นต่อผู้มาจากพื้นที่เสี่ยง อนุญาตผู้ที่จำเป็น

แต่ชะลอการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนเป็นการชั่วคราว ทุกประเทศเขาต้องทำอย่างนี้ นี่เป็นมาตรการการป้องกันโรคระบาดแบบสากล แม้แต่จีนเขาก็ไม่อยากให้คนของเขาข้ามเขตไปมาทั้งในและต่างประเทศ

เรื่อง visa on arrival นี่ผมเสนอให้ยกเลิกมาแต่ต้นเพราะการคัดกรองที่สนามบินหรือที่ด่านชายแดนไม่มีทางทำได้ ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการแต่แพร่เชื้อได้ วัดไข้อย่างเดียวมีประโยชน์น้อยมาก

เพราะฉะนั้น ต้องให้ขอวีซ่าจากสถานทูต สถานกงสุลในจีนและควรอนุญาตเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องมา งดรับนักท่องเที่ยวชั่วคราว

จะเห็นว่าหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่าไทย ความเสี่ยงต่ำกว่าไทยเขายังห้ามชาวต่างชาติที่มาจากจีนหรือผ่านจีนมาเข้าประเทศด้วยมาตรการที่เข้มงวดมาก รวมทั้งยกเลิกเที่ยวบิน ปิดชายแดน เป็นต้น ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์

จำนวนผู้ติดเชื้อที่รับการรักษาเพิ่มขึ้นวันละ 20% ใน 3-4 วันเพิ่มเป็นสองเท่าครั้งหนึ่ง สมมุติว่าลดลงบ้าง เป็นเพิ่มวันละ 15% ก็ 4-5 วันเป็นสองเท่า ถ้ายังไม่มียาดีก็น่าเป็นห่วง

พอดูตัวเลขการกระจายของผู้ป่วยในจีนจะพบว่าช่วงหลังๆ ในมณฑลอื่นก็มีมาก เช่น บางวันมีผู้ป่วยกว่า 20,000 คน อยู่ในหูเป่ย 14,000 คน อยู่มณฑลอื่นๆ 6,000 กว่าคน บางเมืองที่ไม่ใช่อู่ฮั่น ก็มีผู้ติดเชื้อใกล้หลักพันแล้ว และตัวเลขเพิ่มก็เร็วในหลายมณฑล แสดงว่าพื้นที่เสี่ยงไม่จำกัดอยู่แค่อู่ฮั่น

สภาพที่เป็นจริงตอนนี้คือ เป็นความจำเป็นที่ WHO และหน่วยงานนานาชาติอื่นๆ ต้องระดมกำลังเข้าช่วยเหลือจีนในจุดที่มีปัญหามาก และเสนอมาตรการสกัดการแพร่กระจายแบบเข้มข้นไปยังเขตที่มีผู้ติดโรคแล้ว

การเปิดรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีนอย่างไม่จำกัดจึงเป็นนโยบายที่ประมาทและสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง ที่มีการให้เหตุผลว่าที่ไม่ห้ามคนเดินทางจากจีนเข้าประเทศเพราะกลัวเสียรายได้จากการท่องเที่ยวนั้นเป็นการมองปัญหาอย่างผิวเผิน เห็นแก่ได้แบบไม่เข้าใจข้อเท็จจริงเอาเลย นักท่องเที่ยวจีนลดลงมาก เหลือรายได้เพียงเล็กน้อย แต่นักท่องเที่ยวยังมามากพอที่จะเกิดความเสี่ยง นักท่องเที่ยวชาติอื่นก็ไม่กล้ามา กลายเป็นเสียหายต่อการท่องเที่ยวโดยรวม

ส่วนที่เกรงใจจีนนั้นยิ่งไม่มีเหตุผล หลายประเทศเขาคำนึงเรื่องสุขภาพและชีวิตของประชาชนก่อน และจีนก็เข้าใจ แต่ไทยเราอาจจะคิดแบบเราไปติดหนี้บุญคุณอะไรสักอย่าง วางตัวเป็นเบี้ยล่าง เสียภาพพจน์ในวงการการต่างประเทศเสียเปล่าๆ

 

เตรียมระบบรองรับปัญหาที่อาจลุกลามในไทย

เช่น บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ ห้อง อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องตรวจวัด คัดกรองและยา ฯลฯ พร้อมสำหรับกรณีที่ปัญหาลุกลามบานปลาย

ที่เร่งด่วนมากอย่างหนึ่งคือหน้ากากอนามัย กำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน รัฐบาลต้องมีสต๊อกเป็นล้านๆ ชิ้นโดยร่วมมือกับเอกชน ส่งเสริมให้โรงงานในประเทศเร่งผลิต ให้นำเข้าได้โดยยกเว้นภาษีทุกชนิด

รัฐบาลควรจะแจกหน้ากากนับล้านๆ ชิ้นแก่ประชาชนโดยอาจซื้อจากเอกชนที่ผลิตและที่ขายกันอยู่

สำหรับการเตรียมสถานที่ ห้อง เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเพราะเรากำลังรับมือกับโรคที่แพร่ระบาดได้ เวลาดูแลคนไข้ต้องแยกเป็นห้องละคน ทุกอย่างต้องปลอดภัย เวลาเจอปัญหาไม่ใช่จะทำขึ้นมาได้ทันที

บุคลากรและระบบที่รองรับต้องดี ซึ่งที่จริงระบบสาธารณสุขของเรารู้ว่าเวลาจะทำต้องทำยังไง แต่ถ้าไม่มีแผน ไม่มีงบประมาณรองรับก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

อย่างหน้ากากอนามัยนี่ เรามีประสบการณ์มาตั้งแต่ตอนรับมือไข้หวัดนก ตอนนั้นกลัวกันว่าจะมีการเผยแพร่จากคนสู่คน อยู่ระหว่างตรวจพิสูจน์กันอยู่ หมอก็บอกว่าต้องเตรียมหน้ากาก

เราให้คนติดต่อสิงคโปร์เพื่อหาเป็นช่องทางไว้ พอทราบว่าในเมืองไทยก็มีโรงงานผลิตอยู่ ก็เชิญเขามาขอให้ทำสต๊อกจำนวนมากไว้ แล้วเราจะจ่ายค่าสต๊อกให้เขา พอดีว่าปัญหาคลี่คลายไปก่อน ก็ไม่ต้องใช้

เวลานี้กลายเป็นหน้ากากอนามัยขาดตลาด ราคาก็แพง หาซื้อก็ไม่ได้ ทางราชการบอกว่ามีเป็นสิบๆ ล้าน ร้อยล้านชิ้น แต่ไม่ยักแจก ได้แต่ออกมาตรการควบคุมราคาซึ่งไม่ตรงจุด แถมยังเก็บภาษีนำเข้า ไม่ยอมยกเลิกอีกด้วย

เรามีปัญหาฝุ่น PM 2.5 อยู่ด้วย เอาสองเรื่องมารวมกัน วางแผนแจกหน้ากากให้ทั่วถึงเสียเลย

 

ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ

เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วยมาตรการทางการเงินและการคลังและมาตรการอื่นๆ ปัญหาไวรัสโคโรนาคราวนี้จะส่งผลเสียทางเศรษฐกิจอย่างมากเพราะการท่องเที่ยวจะถูกกระทบรุนแรงอย่างน้อยก็หลายเดือน เมื่อจีนเสียหายหนักก็จะมีผลต่อภาคการผลิตของจีนซึ่งโยงกับเศรษฐกิจทั่วโลกด้วย คงต้องประเมินและวางแผนล่วงหน้าให้ดีและคงต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก

ให้ความรู้ข้อมูลที่ถูกต้องทันการณ์แก่ประชาชนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติป้องกันโรคและไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก

เรื่องการให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนนี่เป็นหัวใจของการรับมือกับปัญหาภัยพิบัติที่ทุกคนต่างก็ยังขาดความรู้ ประชาชนต้องการรู้ว่าปัญหาร้ายแรงแค่ไหน จะปฏิบัติตัวระวังป้องกันยังไง พอข้อมูลสับสน ประชาชนก็หวาดผวา กับอีกอย่างคือประชาชนย่อมอยากรู้ว่ามีมาตรการอะไรรองรับดีหรือยัง ถ้าร้ายแรงกว่านี้รับมือไหวมั้ย ก็ต้องให้ข้อมูลทั้งสองส่วน

เวลานี้ปัญหาอาจไม่ใช่ตื่นตระหนก แต่สำหรับประชาชนคือหวาดผวา ในขณะที่ทางรัฐบาลกลับประมาท ประเมินต่ำ

การแก้ปัญหาเฟกนิวส์ ถ้ามีกรณีที่จะเป็นปัญหาชัดเจนก็ควรจัดการ แต่หลักยังอยู่ที่การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ปกปิดและต้องเปิดโอกาสให้คนแสดงความเห็นได้เต็มที่

ผมมักพูดเรื่องการบริหารยามวิกฤต หมายความว่ายังไง ความจริงคงมีคนเขียนเป็นตำราอยู่ แต่จากประสบการณ์ เวลาเรารับมือกับวิกฤต สิ่งแรกที่ต้องคิดถึงคือต้องนึกถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

นึกถึงสถานการณ์หลายๆ แบบ แล้ววางแผนรองรับ

ต้องรู้โจทย์ก่อนว่าเรื่องนี้คือปัญหาอะไร เกี่ยวกับเรื่องไหนบ้าง และเรื่องไหนสำคัญที่สุด เรื่องที่ยอมไม่ได้คืออะไร

 

ผลกระทบต่อไทย และภาระหน้าที่

ทีมวิเคราะห์มองว่าในเชิงสาธารณสุข เราต้องใช้มาตรการป้องกันซึ่งทำได้แน่นอน แม้มีหลุดเข้ามาบ้างก็ไม่เป็นปัญหาใหญ่ แต่ถ้าป้องกันไม่ดีมีการลุกลามจะแก้ไขยากมากเหมือนมณฑลหูเป่ย

แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าหนักแน่ และต้องเตรียมแก้ระยะยาว

จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าการแก้ปัญหาโรคระบาด เป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกเมือง ทุกประเทศที่ต้องร่วมมือกัน การป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อก็คือการปกป้องคนอื่นที่อยู่รอบข้าง ยิ่งติดเชื้อน้อยเท่าไรเมืองก็ปลอดภัย ถ้าเป็นมาก คุมไม่ได้จะกระจายไปทั้งประเทศ ดูบทเรียนเมืองอู่ฮั่น

ตอนนี้อะไรที่เป็นมาตรการป้องกันจึงต้องงัดขึ้นมาใช้ ประเทศที่ใช้มาตรการเข้มงวดไม่ใช่พวกเขาตื่นตระหนก แต่เขารู้ว่าถ้าเสี่ยง จะได้ไม่คุ้มเสีย