ในประเทศ / องครักษ์ คือเกราะกำบัง พวกพ้อง

ในประเทศ

 

องครักษ์

คือเกราะกำบัง

พวกพ้อง

 

“สุจริต คือเกราะกำบัง ศาสตร์พ้อง”

คือสิ่งที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประกาศว่า จะเป็นหลักในการชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้น

สอดคล้องกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มีชื่อถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเช่นกันว่า “ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร พูดแต่เรื่องจริงก็จบแล้ว”

ซึ่งฟัง “หลัก” ที่ว่าแล้ว ก็น่าชื่นชมยินดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อไปดูความเคลื่อนไหวของพรรค พปชร.และวิปรัฐบาลแล้ว

ดูเหมือนจะไปอีกทาง

คือไปแบบ “องครักษ์ คือเกราะกำบัง พวกพ้อง” เสียมากกว่า

ไฉนจึงว่าเช่นนั้น

 

ก็เพราะพรรค พปชร.และวิปรัฐบาลได้เตรียมองครักษ์ช่วยรับมือการซักฟอกให้แก่ 6 รัฐมนตรีอย่างคึกคัก

มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล เป็นหัวหน้าทีม

มี ส.ส.กว่า 20 คนเข้าร่วม

เพื่อช่วยประท้วงกรณีฝ่ายค้านอภิปรายนอกประเด็น

ดังนั้น คนที่จะมาทำหน้าที่องครักษ์ จึงต้องแม่นข้อบังคับการประชุม ข้อกฎหมาย มีคุณวุฒิสูง และมีความน่าเชื่อถือ

อาทิ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น

รวมถึง ส.ส.จี๊ดจ๊าดอย่าง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี, นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ขณะเดียวกันดึงตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาร่วมวงด้วย

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) วางตัวนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช, นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง และนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช รวมถึงนายเทพไท เสนพงศ์ด้วย

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี และนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

มีรายงานข่าวระบุว่า วิปรัฐบาลจะมีการเข้าค่ายเตรียมตัวก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี

โดยนายชินวรณ์อธิบายว่า เพื่อศึกษาดูประเด็นต่างๆ ที่รัฐมนตรีจะต้องถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และหากมีส่วนไหนจะต้องเชิญรัฐมนตรีมาชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นนั้นๆ จะต้องเชิญมาร่วมหารือ เพื่อใช้สำหรับการชี้แจงในที่ประชุมสภา

พร้อมชี้ว่า การอภิปรายครั้งนี้ไม่ได้สู้ด้วยคะแนนเสียง ถึงอย่างไรฝ่ายค้านก็ไม่ได้ชนะอยู่แล้ว

แต่จะสู้กันด้วยข้อเท็จจริงที่มีอยู่

นี่จึงเป็นความเข้มข้นของศึกซักฟอก และจะเป็นภารกิจที่องครักษ์จะต้องเตรียมตัวเพื่อช่วย 6 รัฐมนตรี

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกตัวว่า

“ผมไม่ใช้คำว่าองครักษ์ เพราะผมเองก็พร้อมที่จะตอบในหลักการและเหตุผลในทุกประเด็นที่ถูกอภิปราย” ก็ตาม

 

บทบาทขององครักษ์ที่ตั้งขึ้นนี้

มิได้หมายความว่าจะไปทำหน้าที่เฉพาะช่วงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเท่านั้น

แต่ได้เริ่มแสดงบทบาทให้เห็นแล้ว

เริ่มจากล็อบบี้วันอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ต้องการให้มีน้อยวันที่สุด

โดยตั้งเป้า 3 วัน และลงมติ 1 วันเท่านั้น

จึงชงให้คณะรัฐมนตรีกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงก่อนการปิดสมัยประชุมสภา

โดยให้อภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 25 กุมภาพันธ์ จนถึงเที่ยงคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และเว้นไปลงมติในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ก่อนที่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ ต้องปิดสมัยประชุมสภา

ไม่สามารถ “ยื้อ” เวลาออกไปได้อีก

ซึ่งคณะรัฐมนตรีและ พล.อ.ประยุทธ์ก็ขานรับ

ทำให้นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แสดงความไม่พอใจนัก

โดยชี้ว่า เป็นความพยายามของฝ่ายรัฐบาลที่จะบล็อกวันอภิปรายให้ชนกับวันปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ปิดประชุมตามกำหนด

ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญต้องให้ฝ่ายค้านอภิปรายจนครบถ้วน

หากอภิปรายตามที่ฝ่ายรัฐบาลกำหนด แล้ววันที่ 28 กุมภาพันธ์อภิปรายไม่จบจะทำอย่างไร ต้องเปิดการประชุมวิสามัญหรือไม่ เพราะถ้าอภิปรายไม่จบก็ปิดไม่ได้ จึงไม่น่าจะต้องใช้วิธีนี้

ดังนั้น วันที่เหมาะสม ควรจะเริ่มต้นเป็นวันที่ 19 กุมภาพันธ์เรื่อยไป จบเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น หรือจะเร็วกว่านั้นก็ได้ ฝ่ายค้านพร้อมตลอด

แต่ดูเหมือนทีมองครักษ์ไม่ยอม กระทั่งที่สุดก็ยอมเพื่อลดความกดดันโดยจะเริ่มเร็วขึ้น 1 วัน คือ 24 กุมภาพันธ์ ทำให้ฝ่ายค้านพอใจขึ้น

 

แต่ยังรุกต่อไปอีกประเด็นหนึ่ง

เมื่อวิปรัฐบาลนำโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ในฐานะประธาน ส.ส.พปชร. พร้อม ส.ส. 8 คน

ร่วมลงชื่อเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ขอให้ฝ่ายค้านแก้ไขถ้อยคำในการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล

เนื่องจากใช้ข้อความอันเป็นเท็จ และไม่เหมาะสม

ใน 2 กรณี

กรณีแรก ในการเสนอญัตติปรากฏข้อความว่า

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ที่ไม่ยึดมั่นและศรัทธาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ล้มล้างรัฐธรรมนูญ กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ละเมิดหลักนิติธรรม และสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างกว้างขวาง”

เป็นการใช้ข้อความเท็จอันจะก่อให้เกิดความสำคัญผิดในข้อเท็จจริง และส่งผลให้เกิดความสับสนต่อประชาชน

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นนายกฯ

เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศตามกระบวนการในทางกฎหมายของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญทุกประการ

กรณีที่สอง ในการเสนอญัตติดังกล่าวปรากฎข้อความว่า

“พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำประเทศที่กร่าง เถื่อน ปิดปากผู้ที่มีความเห็นต่าง ชอบก่นด่าเมื่อถูกซักถาม”

ถือว่าใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ไม่สุภาพ เสียดสี อันไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน

จึงเสนอประธานสภา สั่งให้ผู้เสนอญัตติแก้ไขข้อบกพร่องในญัตติดังกล่าวก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภา

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ขู่ว่าหากฝ่ายค้านไม่ทบทวนก็จะมีการประท้วงตั้งแต่เริ่มอภิปราย อันจะทำให้การประชุมไม่ราบรื่น

แต่นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านโต้ว่า ไม่เห็นว่าญัตติดังกล่าวเป็นเท็จได้อย่างไร

เพราะถ้าคิดว่าเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ฉีกรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเท็จ

ฝ่ายรัฐบาลต้องเป็นคนบอกมาว่าใครเป็นคนฉีกรัฐธรรมนูญ

มันเป็นความจริง แต่รัฐบาลไม่ยอมรับความจริง

ถ้าไม่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนล้มล้างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่รู้จะไปกล่าวหาใคร

ประเด็นนี้ ฝ่ายค้านไม่แก้แน่

และนายชวนก็ชี้ขาดแล้วที่จะปล่อยให้เรื่องนี้ไปถกกันในที่ประชุม คงไม่สั่งให้ฝ่ายค้านแก้

จึงมีแนวโน้มว่าฝ่ายองครักษ์คงจะใช้เป็นประเด็นนี้ “ประท้วง” ในการอภิปรายอย่างแน่นอนทำให้ฝ่ายค้านผ่อนปรนบ้างหลังหารือกับฝ่ายรัฐบาลโดยจะหลีกเลี่ยงการอ่านถ้อยคำหรือประโยคที่แรงๆ ในญัตติเสีย

 

ประเด็นที่องครักษ์เตรียมประท้วงอย่างเต็มที่อีกประเด็น

นั่นก็คือ จะไม่ยอมให้ฝ่ายค้านอภิปรายย้อนหลังไปถึงรัฐบาลก่อน ที่เป็นคนละชุดกับปัจจุบันที่บริหารประเทศมาไม่ถึง 6 เดือน

ดังที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ในฐานะที่ปรึกษาวิปรัฐบาล ตีกรอบไว้ว่า รัฐบาลนี้ทำงานมาได้ 6 เดือนก็หวังว่าข้อมูลที่จะอภิปรายน่าจะมาจากการทำงานของรัฐบาลในชุดนี้

แต่นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ก็โต้ว่า หลายเรื่อง สารตั้งต้นมาจากยุค คสช. จำเป็นต้องย้อนไปบ้าง และเป็นความผิดในช่วงรัฐบาลนี้แน่นอน

เช่นเดียวกับนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภา ระบุว่า ตลอด 6 ปี รัฐบาลต่อท่ออำนาจมาจาก คสช.ตลอด

มีการใช้อำนาจพิเศษที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อเนื่องมาจนกระทั่งรัฐบาลชุดปัจจุบัน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดปัจจุบันจึงมิอาจหลีกเลี่ยงที่ต้องเชื่อมโยงกับรัฐบาลชุดก่อนได้

ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย โต้เดือดว่าคนที่ออกมาพูดว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายย้อนหลังไม่ได้นั้น น่าสมเพช เอาสมองส่วนไหนคิด รัฐบาลกำลังปากกล้าขาสั่น ในทางการเมืองถ้าบริสุทธิ์ ไม่ต้องกลัว

“อย่าออกมาขัดขวางแบบสุ่มสี่สุ่มหก ใช้สมองคิดบ้าง อย่าใช้หัวแม่เท้าคิด” ร.ต.อ.เฉลิมโต้อย่างดุเดือด

 

แต่ก็นั่นแหละ คงจะห้ามองครักษ์ไม่ให้ทำงานไม่ได้

ซึ่งเราคงเห็นการประท้วงกันอย่างวุ่นวายในศึกซักฟอกครั้งนี้แน่

นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ในฐานะประธาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ บอกว่ารัฐบาลได้ตั้งวอร์รูมไว้แล้ว

หากมีการอภิปรายบิดเบือน วอร์รูมของพรรคพร้อมที่จะตอบโต้ทันที

ขณะที่นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช ประกาศว่า

“เรามีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ผมพร้อมที่จะเป็นองครักษ์พิทักษ์ความถูกต้อง”

และขับเคลื่อนในท่วงทำนอง

     “องครักษ์ คือเกราะกำบัง เพื่อนพ้อง” อย่างแน่วแน่ แน่นอน!

……………………….

 

ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ประยุทธ์- 5 รัฐมนตรี

องครักษ์กล่าวหา เป็นเท็จ-ไม่สุภาพ!?!

 

  1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เป็นผู้ไม่ยึดมั่นและศรัทธาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ล้มล้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ

กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ใช้อำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม ละเมิดหลักนิติธรรมและสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างกว้างขวาง

เป็นผู้นำประเทศที่กร่าง เถื่อน มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู

ปิดปากผู้ที่มีความเห็นต่าง ชอบก่นด่าเมื่อถูกซักถาม

เมื่อได้อำนาจมาโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็สร้างกลไกในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อมุ่งสืบทอดอำนาจของตนเอง

ปล่อยให้มีการทุจริตเต็มบ้านเต็มเมือง

ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง บริวารและพวกพ้อง

เข้าข้างคนชั่วที่เป็นพวกโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม

บริหารราชการแผ่นดินโดยขาดความรู้ความสามารถ ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ขาดคุณธรรม จริยธรรม

แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรม

เรียกได้ว่าเป็นยุคยุติธรรมหมดตรง

บังคับใช้กฎหมายโดยเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นไปตามหลักความเสมอภาค

ไม่เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

ไม่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เปิดเผย

ไม่มีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม

มีการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์

มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง ใช้งบประมาณของรัฐสร้างคะแนนนิยมให้กับตนเองและพรรคการเมืองโดยมิได้คำนึงถึงภาระด้านงบประมาณของประเทศ เป็นยุคที่เงินกำลังจะหมดคลัง

ไม่ยึดตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ลุแก่อำนาจ ขาดภาวะผู้นำ

ไม่เสริมสร้างให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุก และสามัคคีปรองดองกัน แต่กลับสร้างความขัดแย้งให้ขยายวงกว้าง

ล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการดูแลด้านเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจกับประชาชนทุกภาคส่วน

จนก่อให้เกิดสภาพ “รวยกระจุก จนกระจาย” ประชาชนสิ้นหวัง

ให้ความสำคัญกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่าปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน

ล้มเหลวในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

หลอกลวงประชาชนไม่ทำตามนโยบายที่พรรคการเมืองที่สนับสนุนตนหาเสียงไว้ ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ราคาพืชผลทางการเกษตรและลดภาษีเงินได้

ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

การบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งผลกระทบและความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างกว้างขวาง

เป็นยุคที่ทุจริตเฟื่องฟู น้ำกำลังจะหมดเขื่อน มวลอากาศเป็นพิษเต็มเมือง เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง

หากปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไป

จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงจนประเทศถึงแก่ความล่มจมได้

 

2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่

แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและพวกพ้อง

ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง

มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ

จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

 

3. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

มีหน้าที่รับผิดชอบด้านกฎหมาย ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น

เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายด้านการเงินแก่รัฐจำนวนมาก

บังคับใช้และตีความกฎหมายโดยไม่ยึดหลักการและบรรทัดฐานที่ถูกต้อง

จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องของอภินิหาร

ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือและเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง

ชี้นำการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระ

และไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

 

4. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ

ขาดคุณธรรมและจริยธรรม

มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ ฉ้อฉล ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง

บริวารและพวกพ้องกลั่นแกล้งข้าราชการประจำ

ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ประจำของข้าราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง

ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างกว้างขวาง

จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ละเว้นไม่ดำเนินการตามกฎหมาย

ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

และไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

 

5. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ

ขาดคุณธรรมและจริยธรม

มีพฤติการณ์ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ประจำของราชการเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องโดยมิใช่อำนาจหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติ

แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามครรลองที่กำหนดไว้ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทข้ามชาติ

ส่อว่าจงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

นำพาชาติเข้าสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

และไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

 

6. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ

ขาดคุณธรรมและจริยธรรม

ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

เข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

      ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ปกป้องพวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ