ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม ใน Embrace of the Serpent (6)

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

The Mission มีโครงเรื่องหลักเกี่ยวกับบาทหลวงเยซูอิตบากบั่นเผยแผ่ศาสนาสู่ชนพื้นเมือง จากนั้นกองทัพโปรตุเกสรุกรานจนบาทหลวงตายขณะปกป้องชนพื้นเมืองไปด้วย แต่ถ้าจัดประเภทตัวละครตามเผ่าพันธุ์ ก็จะพบว่าหนังมีตัวละครสองกลุ่ม

กลุ่มแรก คือคนผิวขาวในกองทัพโปรตุเกสและบาทหลวง

ส่วนกลุ่มสอง คือชนเผ่ากูราอานี่ โดยความสัมพันธ์เป็นแบบกลุ่มแรกอยู่เหนือกลุ่มหลังทั้งหมด นั่นคือเป็นความสัมพันธ์แบบครอบครองในกรณีกองทัพ และเป็นความสัมพันธ์แบบครอบงำในกรณีบาทหลวง

พูดง่ายๆ ถ้ามองจากมุมของอำนาจเมื่อเทียบกับคนพื้นเมือง บาทหลวงกับทหารก็แทบไม่ต่างกัน หรืออาจจะต่างกันแค่นิดเดียว ถึงแม้นักบวชจะมีความสัมพันธ์กับชนพื้นเมืองอย่างมีมนุษยธรรมมากกว่าทหารที่ทำแต่การจับเป็นทาสก็ตาม

แม้ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์และในภาพยนตร์เรื่องนี้จะสะท้อนว่ากองทัพกับบาทหลวงมีท่าทีต่อคนพื้นเมืองผิดกัน

นั่นคือกองทัพปราบคนพื้นเมืองด้วยกองกำลังติดอาวุธ

ส่วนบาทหลวงเผยแผ่ศาสนาบนพื้นฐานที่เคารพชนเผ่ากูราอานี่จนสื่อสารกับพวกเขาในภาษากูราอานี่ตลอดเวลา

แต่หนังมีเพดานของการพูดถึงชนเผ่าพื้นเมืองแค่นี้ ไม่มีอะไรมากกว่านั้นในแง่อัตลักษณ์

รวมทั้งไม่มีร่องรอยของศักยภาพที่จะกำหนดตัวเองเมื่ออยู่ต่อหน้าคนขาว

พูดในทางกลับกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงคนพื้นเมืองว่ามีทางเลือกในการดำรงชีวิตขณะพบพานคนผิวขาวสามแบบ

แบบหนึ่ง คือเป็นเชลยให้กองทัพโปรตุเกสจับไปส่งต่อให้นายทาส

แบบที่สอง คือเป็นคริสต์ศาสนิกชนในบ้านของพระเจ้า หรือไม่ก็คือการหนีเข้าป่าลึกขึ้นไปอีกอย่างที่เด็กๆ ชนเผ่าพื้นเมืองทำในฉากสุดท้าย นั่นคือออกไปอยู่ในโลกใหม่ซึ่งไม่ต้องเกี่ยวข้องกับคนขาวอีกเลย

ซึ่งอีกนัยคือไม่มีทางสายกลางที่คนพื้นเมืองจะอยู่กับคนขาวได้อย่างมีอัตตาณัติ (Autonomy) ในการเลือกและกำหนดชีวิตตัวเอง

จริงอยู่ว่า The Mission นำเสนอภาพชนพื้นเมืองอย่างงดงามตั้งแต่ฉากที่พวกเขาซาบซึ้งเสียงเป่าโอโบของบาทหลวง และยิ่งภาพยนตร์เดินหน้าต่อไป ความใสๆ ของชนเผ่าก็ถูกขับเน้นด้วยการสร้างภาพตัวแทนของพวกเขาผ่านประพันธกรระดับ เอนโญ มอริโคเน่ จนเกิดเป็นเด็กและผู้หญิงในคณะคอรัสรูปลักษณ์ราวเทวทูตซึ่งมีสุ้มเสียง Angelic Voice ที่จุติเพื่อประโลมมนุษย์ ถึงแม้ความบริสุทธิ์ทางภาพและเสียงจะไม่ได้กลบความจริงที่ชนเผ่ามีทางเลือกในชีวิตน้อยมากทันทีที่คนขาวพบพานก็ตาม

เมื่อชนเผ่าแสนบริสุทธิ์และบาทหลวงทุ่มเทเผยแพร่ศาสนาขนาดนี้ ผู้ชมที่จิตปกติย่อมสะเทือนใจที่ทหารกราดยิงตัวละครทั้งสองกลุ่มอย่างถึงที่สุด กองกำลังที่ทำขนาดฆ่าพระกับคนมือเปล่ากลางวัดนั้นอำมหิตเทียบเท่ามารฆ่าบุตรของพระเจ้าอยู่แล้ว

การขับเคลื่อนความอาดูรในหนังทำงานบนตรรกะว่าชนพื้นเมืองกับบาทหลวงในอาณาจักรสวรรค์ถูกฆ่าทิ้งกลางป่าแบบนี้ไม่ได้ หรือกล่าวอีกนัยคือการฆ่าเป็นโศกนาฏกรรม เพราะผู้ถูกฆ่าคือชนเผ่าที่กำลังถูกนักบวชขัดเกลาในอาณาจักรแห่งพระบิดา ถึงจุดนี้ โศกนาฏกรรมในภาพยนตร์เป็นส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่มีเบื้องล่างคือโลกทรรศน์ซึ่งจัดคนออกเป็นชนชั้นที่มีลำดับสูงต่ำตาม “อารยธรรม” อย่างถึงที่สุด

เผ่ากูราอานี่ซึ่งแต่เดิมมีชีวิตในสภาพที่ จิออร์จิโอ อแจมเบน เรียกว่า “ชีวิตเปลือยเปล่า” (Bare Life) จึงไม่มีคุณค่าในตัวเอง แต่คุณค่าเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาเคลื่อนตัวผ่าน “รอยต่อ” จากภาวะเปลือยเปล่าสู่ความเป็นมนุษย์ซึ่งแสดงออกผ่านการนุ่งห่มแบบฝรั่ง รู้ภาษา และเรียนพระคัมภีร์

หรืออีกนัยคือมี “อารยธรรม” ซึ่งมีความหมายตั้งแต่ดนตรี, ศาสนา และวัฒนธรรม

มองในภาพกว้างออกไป มุมมองที่พิจารณาว่าชนเผ่าเป็นสิ่งที่ต้องถูกทำให้มี “อารยธรรม” คือมุมมองที่ทำให้สภาวะอาณานิคมเป็นเรื่องธรรมดาไปในที่สุด สรุปสั้นๆ คือมุมมองนี้เชื่อว่าคนในสภาวะธรรมชาติจะวิวัฒนาการเป็น “มนุษย์” ก็ต่อเมื่อครอบครองคุณสมบัติบางอย่างของอารยธรรม ผลก็คือการเกิดวาทกรรมว่า “มนุษย์” ที่มีอารยธรรมย่อมมีภาระทางศีลธรรมที่จะปัดเป่าสภาพป่าเถื่อนของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะด้วยการเผยแพร่อารยธรรมสู่สังคมชนเผ่าเพื่อยกระดับพวกเขาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

นักมานุษยวิทยาและนักโบราณคดีรู้ดีว่าไม่มีสังคมไหนไร้อารยธรรม แต่สิ่งที่สังคมหนึ่งถือว่าคืออารยธรรมอาจถูกสังคมอื่นมองว่า “ไม่ใช่” อารยธรรมก็เป็นได้

สาระสำคัญจึงอยู่ที่ “อารยธรรม” ถูกนิยามว่าอะไร

ตัวอย่างเช่น มิชชันนารีสเปนในคริสต์ศตวรรษ 16 นิยามว่าอารยธรรมตามการมีอักขระอักษร ผลก็คืออินเดียนในอเมริกาถูกมองเป็นพวกไร้อารยธรรม ต่อมาอารยธรรมถูกนิยามว่าหมายถึงความรู้วิทยาศาสตร์ จากนั้นจีนและอาหรับก็กลายเป็นพวกไร้ “อารยธรรม” ถึงจะมีตัวอักษรมานับพันปีก็ตาม

ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่แล้ว หนังสือ The Clash of Civilization นิยามอารยธรรมตามศาสนา ผลก็คือแม้ศาสนาอิสลามจะถูกนิยามว่าเป็นอารยธรรมอิสลาม แต่น้ำเสียงที่ผู้เขียนหนังสืออย่าง Samuel Huntington พูดถึงอิสลามตลอดหนังสือเล่มนี้ก็ดูจะทำให้ “อารยธรรมอิสลาม” เข้าใกล้กันมากกับความ “ไร้อารยธรรม”

ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองวาระทางการเมืองและภูมิปัญญาของผู้เขียนในการบอกว่าอารยธรรมคริสเตียนต้องร่วมกันต่อต้านอารยธรรมอิสลามที่เพิ่งทำลาย World Trade Center หลังเหตุการณ์ 9/11

นิยามที่ลื่นไหลของคำว่าอารยธรรมแบบนี้เป็นหลักฐานในตัวเองอยู่แล้วว่า “อารยธรรม” ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติเหมือนอากาศหรือพื้นดิน แต่อารยธรรมคือแนวคิดที่ถูกสร้างขึ้นด้วยภาษาซึ่งนิยามว่าอะไรคืออารยธรรม และอะไรไม่ใช่อารยธรรม “อารยธรรม” จึงสัมพันธ์กับอำนาจ เช่นเดียวกับสภาวะ “ไม่มีอารยธรรม” หรือ “ไร้อารยธรรม” ก็ย่อมเป็นผลผลิตของอำนาจด้วย Alain Grosrichard จึงสาธิตไว้นานแล้วในหนังสือสำคัญของเขาว่ากระบวนการทำให้ไร้อารยธรรมนั้นทำอย่างไร

แม้งานเขียนของ Grosrichard เรื่อง The Sultan”s Court จะไม่โด่งดังเท่า Orientalism ของ เอ๊ดเวิร์ด ซาอิด แต่การศึกษาการสร้างภาพจักรวรรดิอ๊อตโตมันในตะวันตกช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ให้เต็มไปด้วยเรื่องลึกลับท่ามกลางวงล้อมของปุโรหิต, ขุนศึก, คนแคระ, ขันที, นางสนม ฯลฯ ก็ทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของการเห็นว่าอาหรับและมุสลิมเท่ากับความป่าเถื่อน รุนแรง บ้าเซ็กซ์ อารมณ์เป็นใหญ่ ฯลฯ และโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้สัมพันธ์โดยตรงกับการสร้างความเป็นอื่นของมุสลิมเพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบว่าตะวันตกคือสังคมแห่งความมีเหตุมีผลอย่างไร

ภาพยนตร์เรื่อง The Mission ไม่ได้โจมตีว่าชนพื้นเมืองไร้อารยธรรม แต่ภาพยนตร์ทำงานบนไวยากรณ์ทางภาพและเสียงที่ทำให้คนดูรู้สึกถึงความเขลาของคนป่าจนเห็นว่าเป็นธรรมดาที่บาทหลวงต้องสอนให้ไปสู่อารยะ

ตรรกะของภาพยนตร์ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบาทหลวงกับชนพื้นเมืองซึ่งเป็นเรื่อง “ไม่เป็นธรรมชาติ” ถูกกำกับเข้าลู่ของความสัมพันธ์ที่ฝ่ายหนึ่งอยู่เหนืออีกฝ่ายราวกับเป็นเรื่องธรรมชาติ และในที่สุดก็ทำให้การกลืนกลายชนเผ่าพื้นเมืองเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ของอารยธรรมเป็นทิศทางที่ต้องเป็นไป

น่าสนใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างบาทหลวงกับชนพื้นเมืองอย่างที่ปรากฏใน The Mission เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในภาพยนตร์ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้อย่าง Ftizcarraldo และ Embrace of the Serpent ด้วย

เพียงแต่ขณะที่ภาพยนตร์ The Mission ให้น้ำหนักกับบทบาทของบาทหลวงในการยืนหยัดเคียงข้างชนพื้นเมืองจนตายด้วยน้ำมือกองทัพที่กวาดต้อนคนพื้นเมืองไปเป็นทาส

ภาพยนตร์อีกสองเรื่องกลับชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ที่บาทหลวงเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นจะครอบงำชนพื้นเมืองตลอดเวลา

ในภาพยนตร์ Fitzcaralldo หนึ่งในฉากสำคัญที่คนพูดถึงน้อยเกิดขึ้นเมื่อ “เจ้ายาง” อยู่ระหว่างการเดินทางไปเก็บเกี่ยวน้ำยางจากยางป่า แต่จู่ๆ ก็แวะเยือนบาทหลวงที่เผยแพร่คริสต์ศาสนาในกระท่อมสภาพอนาถากลางป่าลึก

ในฉากนั้น “เจ้ายาง” ถามบาทหลวงว่าการปฏิบัติศาสนกิจเผชิญปัญหาอะไร

บาทหลวงตอบกลับว่าไม่มีปัญหาอะไรสักอย่าง ยกเว้นปัญหาเดียวคือชนเผ่าพื้นเมืองยืนยันที่จะใช้ภาษาพื้นเมืองอย่างไม่ยอมเลิกรา

คำถามคือคนพื้นเมืองอยากใช้ภาษาพื้นเมืองแล้วมันผิดตรงไหน?

ทำไมการที่คนพื้นเมืองไม่เลิกใช้ภาษาพื้นเมืองจึงเป็นปัญหาในสายตาของบาทหลวงขึ้นมา?

ในภาพยนตร์เรื่อง Embrace of the Serpent หนึ่งในฉากสำคัญเกิดขึ้นเมื่อผู้วิเศษคาราคามาเต้และนักสำรวจเยอรมันเข้าป่าลึกจนพบนิคมกลางป่าของบาทหลวงที่เอาเด็กชนเผ่ามาเลี้ยงคล้ายโรงเรียนกินนอน

บาทหลวงอธิบายว่าเด็กทุกคนกำพร้า หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นเด็กจากหมู่บ้านที่พ่อแม่ถูกกองกำลังของเจ้ายางจับไปกรีดยางทั้งหมด

โดยเมื่ออยู่ในนิคม เด็กจะได้เรียนหนังสือพร้อมอาหารและที่พักซึ่งไม่มีทางได้หากอยู่กับชนเผ่าแน่ๆ แต่เด็กก็เรียนศาสนาและแต่งกายแบบผู้รับศีลบวชตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้วิเศษและนักสำรวจอยู่ในนิคมต่อไป พวกเขาจะค่อยๆ ค้นพบว่าบาทหลวงเฆี่ยนโบยเด็กในนิคมอย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นคือบาทหลวงห้ามไม่ให้เด็กชนเผ่าพูดภาษาพื้นเมืองแม้แต่นิดเดียว จากนั้นคาราคามาเต้และคณะจะพบว่าเด็กบางคนถูกเฆี่ยนและมัดทิ้งไว้ตลอดดึกแค่เพราะเผลอพูดภาษาพื้นเมืองให้บาทหลวงได้ยินเท่านั้น

ส่วนเด็กจะเปิดเผยให้คาราคามาเต้และพวกรู้ว่าบาทหลวงรังเกียจภาษาพื้นเมืองระดับเปรียบเทียบว่าเป็นภาษาแห่งความชั่วร้ายที่ต้องกำจัดให้สิ้นซากไป

ในช่วงสุดท้ายของฉากนี้ คาราคามาเต้ซึ่งมีสมญาในหมู่คนพื้นเมืองว่า “ผู้เปิดโลก” จะกลายเป็นผู้นำการโค่นล้มบาทหลวงผู้รังเกียจภาษาพื้นเมืองอย่างเต็มที่

ผลก็คือบาทหลวงอยู่ในสภาพสอนศาสนาและสอนหนังสือต่อไปไม่ได้

ขณะเดียวกันก็บอกเด็กพื้นเมืองว่าอย่าทิ้งภาษาพื้นเมือง

หรืออีกนัยคือคนรุ่นใหม่ที่ไร้พ่อไร้แม่และไร้จุดเกาะเกี่ยวกับชนเผ่าต้องไม่หันหลังให้ความรู้และอัตลักษณ์พื้นเมือง