คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : พระราชพิธีตรีปวาย ตรียัมปวาย ว่าด้วยเรื่อง “ช้าหงส์” คืออะไร มาจากไหน?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ทําไมจึงต้องเป็น “หงส์” สำหรับส่งเสด็จพระเป็นเจ้า ทำไมถึงไม่ใช้เทพพาหนะอื่น

เราทราบกันว่า ในเทวตำนาน หงส์เป็นพาหนะของพระพรหม หนึ่งในเทพชุดตรีมูรติ แต่หงส์ยังเป็นสัญลักษณ์ของพระเทวีสุรัสวดีอันเป็นเทวีแห่งปัญญาญาณและการศึกษาด้วย

และบางตำนานก็ว่าเป็นพาหนะของพระวิศวกรรม หรือที่เรารู้จักกันว่าพระวิษณุกรรม

ผมคิดว่า การที่หงส์เป็นพาหนะของพระพรหมไม่ได้เป็นเหตุผลหรือเกี่ยวกับพิธีช้าหงส์ส่งพระเป็นเจ้าในพระราชพิธีตรีปวาย ตรียัมปวายดอกครับ

แต่ด้วยเหตุผลอื่นมากกว่า ซึ่งอาจเป็นเหตุผลภายในประเพณีและวัฒนธรรมของเราเอง

ก่อนอื่นผมขอย้อนไปดูในอินเดียว่า หงส์มีความสำคัญทางศาสนา หรือเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมอย่างไรบ้าง

 

“หงส์” ในภาษาสันสกฤตเขียน “หํส” ออกเสียงคล้ายฮัมสะหรือหังสะ (Hamsa) มีการกล่าวถึงสัตว์ชนิดนี้ตั้งแต่สมัยพระเวท แต่นักภารตวิทยาถกเถียงกันว่า “หงส์” เป็นสัตว์ประเภทใดกันแน่ระหว่าง “หงส์” (swan) หรือ “ห่าน” (goose)

นักวิชาการบางท่านคิดว่า ห่านเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ง่ายกว่า รวมทั้งในภาพเขียนยุคโบราณในถ้ำอชันตาซึ่งวาดเรื่องหงส์ชาดก ก็วาดเป็น “ห่านหัวลาย” มันจึงควรหมายถึงห่านมากกว่า

ในวรรณคดีเก่าของเราอย่างโองการแช่งน้ำก็เรียกพระพรหมว่า “เจ้าคลี่บัวทอง ผยองเหนือขุนห่าน” ก็นับว่าเข้าเค้าสนิทกันดี

ผมคิดว่าจะหงส์หรือห่านก็เป็นสัตว์ในตระกูลเดียวกัน ดังนั้น ตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่

จึงขอเรียกหงส์ตามชื่อสันสกฤตไปก่อน

 

ชาวอินเดียโบราณมีความเชื่อว่าสัตว์ชนิดนี้มีความสามารถพิเศษ คือสามารถแยกน้ำโสมที่เจือด้วยน้ำได้ คือมันสามารถดื่มเฉพาะน้ำโสมทั้งๆ ที่เจือกับน้ำ

หรือในเวลาต่อมามักกล่าวกันว่ามันสามารถแยกนมกับน้ำที่ระคนกันได้ เช่นเดียวกับน้ำโสม อีกทั้งมีความสง่างามในตัวเอง ร่อนไปอยู่เหนือผิวน้ำโดยไม่เปียกน้ำ ราวกับลอยอยู่เหนือโลก

ความสามารถในการแยกแยะนี้ ทำให้มีการตีความว่า มันจึงสมควรเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาญาณ เพราะปัญญาเป็นเครื่องแยกระหว่างสิ่งจริงกับสิ่งลวง หงส์จึงถูกนำไปเป็นพาหนะของพระสุรัสวดี เทวีแห่งปัญญาตามคติฮินดู

นอกจากนี้ มันยังถูกเอาไปใช้ในเชิงสัญลักษณ์ในทางโยคะและเวทานตะ โดยถือว่าหงส์เป็นสัญลักษณ์ของความจริงแท้ ที่เรียกว่า “พรหมัน” หรือสัจธรรมสูงสุด อันไม่เกาะเกี่ยวด้วยสิ่งใด (เหมือนหงส์ลอยบนน้ำ)

ท่านว่าในทางโยคะ ลมหายใจของคนเราก็คือหงส์นี่แหละครับ เพราะเสียงหายใจเข้าของเราดังว่า “หัง (ฮัม)” หายใจออกดัง “สะ” เมื่อได้ติดตาม หัง-สะไปเรื่อยๆ หังสะนั้นก็จะพาเราโบยบินไปถึงพรหมันหรือความจริงแท้ได้ (คือการภาวนาด้วยปราณนั่นเอง)

 

คุณบุญเกียรติ ซึ่งเป็นพราหมณ์พัทลุงเล่าให้ผมฟังว่า มีพราหมณ์พัทลุงรุ่นเก่าอยู่ท่านหนึ่งชื่อพราหมณ์จันทน์ คนเชื่อกันว่า ท่าน “สำเร็จหงส์” อันหมายถึงบรรลุสิทธิอำนาจบางอย่างจากการภาวนา “หงส์” จึงทำให้รู้วันตายของตนเองอย่างแม่นยำ

อันนี้น่าสนใจว่า ยังมีร่องรอยวิชาทางโยคศาสตร์ปรากฏอยู่ในประเพณีพราหมณ์พื้นบ้านของเราด้วย

นักบวชสันยาสีในอินเดียในระดับสูงสุดเรียกว่า ปรมหงฺสะ หรือบรมหงส์ ที่มีชื่อเสียงก็เช่น ท่านสวามีรามกฤษณะปรมหงส์ เป็นอาจารย์ของสวามีวิเวกานันทะผู้นำศาสนาฮินดูไปยังโลกตะวันตก หรือปรมหงสโยคานันทะ นักปราชญ์ที่เขียนงานนิพนธ์ไว้ ในปัจจุบันได้รับการแปลเป็นภาษาไทยไว้พอสมควร

หงส์มีนัยสำคัญในศาสนาฮินดูถึงขนาดนี้ แต่ผมคิดว่า ก็ยังไม่ใช่คำอธิบายว่าทำไมในพิธีของเราถึงใช้หงส์เป็นชิงช้า เพราะในทางประเพณีและพิธีกรรม ในอินเดียผมยังไม่เคยเห็นเขาใช้หงส์เป็นชิงช้าถวายพระเจ้าสักครั้งเดียว และยังค้นไม่เจอ

ที่ผมเจอก็คือใช้หงส์เป็นเครื่องแห่แหนแทนรถ เรียกว่าหงสวาหนะ เขาจะทำเป็นรูปหงส์และเอาเทวรูปขึ้นแห่ แต่เทวรูปทรงหงส์โดยมากก็เป็นพระสุรัสวดีตามตำนานในปุราณะ และมีที่พิเศษอยู่ที่เดียวคือพระวิษณุในรูปพระเวงกเฏศวร (อันมีเทวสถานใหญ่ที่เขาติรุมาลา อันธรประเทศ) จะทรงรถหงส์ในเทศกาลใหญ่ประจำปีที่เรียกว่าพรหโมสวะ (เทศกาลแห่งพรหม) อยู่หนึ่งราตรี

เทศกาลนี้มีไฮไลต์อยู่ที่การออกแห่ทุกวันทั้งเก้าวันในเวลาเช้าและเย็นโดยใช้รถทรงแตกต่างกันไป เช่น ช้าง (คชวาหน) ม้า (อัศววาหน) สิงห์ (สิงหวาหน) หนุมาน (หนุมานวาหน) ฯลฯ ในวันที่สองช่วงเย็น จะทรง “หงสวาหน” (หงส์พาหนะ) ออกแห่

การทรงหงส์ของพระเวงกเฏศนี้มิได้แสดงนัยพิเศษอะไรที่เกี่ยวกับประเพณีของเรา ที่ทรงรถพาหนะต่างๆ ก็ดุจพระเป็นเจ้าหรือพระราชาเสด็จออกด้วยพระราชพาหนะทั้งหมดที่มี อันแสดงถึงพระเกียรติยศมากกว่า

 

ทีนี้ ในกรณีโล้ชิงช้าของอินเดีย (ซึ่งไม่มีหงส์) ผมพยายามค้นว่ามีพิธีการโล้ชิงช้าแบบไหนบ้าง จะได้นำมาเทียบกับของเราซึ่งได้เคยเขียนไว้บ้างแล้วในมติชน (โปรดอ่านฉบับรวมบทความ ภารต-สยาม? ผีพราหมณ์พุทธ? ยังมีจำหน่ายอยู่ครับ) แม้ทางอินเดียจะมีพิธีการโล้ชิงช้าหลายลักษณะ เช่น ชาวบ้านโล้กันเองในพิธีชาวบ้าน หรือแม้การโล้พระเป็นเจ้าในเทวสถาน อย่างที่ท่านพราหมณ์ ปส.ศาสตรีเล่าถึงพิธี “มาฆวิธานัม” ก็ยังดูไม่สนิทสนมกับพิธีโล้ชิงช้าของเราอยู่ดี

สมัยก่อนผมไม่ได้แยกพิธีโล้ชิงช้าออกเป็นสองอย่าง ที่จริงในพระราชพิธีตรีปวายตรียัมปวายของเรามีการโล้ชิงช้าอยู่สองแบบนะครับ คือกระทำที่เสาชิงช้า (ในปัจจุบันได้เลิกไปแล้ว) ใช้คนจริงๆ ขึ้นไปโล้ กับการโล้ชิงช้าภายในเทวสถาน คือโล้พระเทวรูปหรือการ “ช้าหงส์” นั่นเอง หากแยกออกเป็นสองอย่างนี้ก็อาจได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น

การโล้ภายนอกเทวสถานนั้น มีผู้สันนิษฐานไว้มากแล้วว่าเป็นประเพณีพื้นบ้านของเรา ไม่น่าจะใช่ของอินเดีย

ผมพยายามนึกถึงการโล้คนในอินเดียอย่างพิธีโอนัม หรือการโล้ในพิธีแต่งงานของอินเดียใต้ก็ยังไม่แนบสนิทกับพิธีของเราแต่อย่างใด แม้อาจเป็นเค้าลางได้บ้าง

ส่วนการโล้ชิงช้าในเทวสถานหรือการช้าหงส์นั้นเป็นอีกอย่าง แม้ดังที่บอกไปแล้วว่าในอินเดียยังไม่เจอ “ชิงช้าหงส์” อย่างของไทยเรา

แต่การโล้ชิงช้าให้เทวรูปเป็นพิธีที่กระทำในเทวสถานอยู่เนืองๆ และเป็นพิธีพราหมณ์ซึ่งมีเหมือนกัน

 

การโล้ชิงช้าถวายเทวรูปนี้ นิยมกันมากในอินเดียใต้มีชื่อเฉพาะว่า “โฑโลสวะ” (โฑล แปลว่าชิงช้า ในภาษาสันสกฤต บวกคำว่า อุสวะ แปลว่างานฉลอง หรือสมโภชน์) หรือบางครั้งเรียกว่า “โฑลเสวา” (โฑล – ชิงช้า, เสวา – การปรนนิบัติรับใช้) หรือบางถิ่นเรียก อุนจัลเสวา (unjal แปลว่าเปล)

พิธีโล้ชิงช้ามีสองแบบ

แบบแรก คือทำอยู่เป็นนิจศีล เช่นที่ติรุมาลา เขาจะเชิญพระเป็นเจ้าหลังจากสรงสนานเทวรูปในเวลาค่ำ ไปเสด็จขึ้นชิงช้า ไกวไปเรื่อยๆ พร้อมพราหมณ์ขับบทสวดจากพระเวทหรือฉันท์สรรเสริญต่างๆ แล้วมีดนตรีประโคม เชื่อกันว่าเป็นช่วงเวลาที่พระเป็นเจ้ารื่นรมย์พระทัยเป็นพิเศษ

ใครไปสักการะทอดทัศนะก็ได้รับพร มีแต่ความสุขความเจริญ

นิกายไวษณวะหรือนิกายที่นับถือพระวิษณุ ดูเหมือนจะชื่นชอบพิธีนี้เป็นพิเศษ เพราะตำนานเกี่ยวกับพระวิษณุหรือพระกฤษณะ มักกล่าวถึงความรักและความรื่นรมย์ใจของพระเจ้าเสมอๆ เมื่อได้ขึ้นชิงช้าพร้อมกับชายาของพระองค์

กระนั้นเทพเจ้าองค์อื่นๆ ไม่ว่าพระเทวี พระศิวะ ฯลฯ ก็มีการโล้ชิงช้าอยู่บ้าง แต่มักทำในอีกแบบ คือทำเฉพาะในเทศกาลสำคัญๆ เช่น พิธีศิวโฑโลสวะ ในเดือนไจตระ (ตกราวปลายมีนาคม- ต้นเมษายน) จะมีการโล้ชิงช้าถวายพระศิวะ

พิธีนี้ทำในวันขึ้นสามค่ำเดือนไจตระ อันเป็นวันถือพรตที่เรียกว่าเคารีตฤตียา (สามค่ำของเจ้าแม่เคารี) เป็นพิธีของหญิงสาวที่ยังไม่มีลูก ทำพิธีเพื่อจะขอให้มีบุตร พระศิวะในปางเด็ก (พาลศิวะ) จะถูกนำมาโล้ชิงช้าแบบเดียวกับพระกฤษณะวัยเด็ก บางพื้นที่ไม่ได้โล้พระศิวะ แต่เป็นพระรามแทน

จึงเรียกว่า รามโฑโลสวะ

 

แม้จะเริ่มเห็นเค้าว่ามีพิธีการโล้ชิงช้าในเทวสถานของอินเดียเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ต่างกันกับช้าหงส์ของเรา

คืออย่างแรก การโล้ชิงช้าในเทวสถานของอินเดียนั้น “ไม่ใช่การส่งเสด็จ” แต่เป็นการถวาย “ความบันเทิง” (entertain) แก่เทพเจ้า ไม่ว่าจะไกวกล่อมทารก ไกวกล่อมคู่รัก หรือปรนนิบัติ (เสวา) ก่อนพระบรรทม ฯลฯ

ประการที่สอง การโล้ชิงช้าในพระเทวสถานนั้น ใช้เปล หรือชิงช้า ที่ไม่มีหงส์แต่ประการใด จะมีหงส์บ้างก็ใช้เป็นราชพาหนะในพิธีออกแห่ ซึ่งไม่ได้เป็นการส่งเสด็จกลับสวรรค์ แต่มีลักษณะเสด็จเลียบให้สาธุชนเฝ้าแหนอย่างพระราชา

แล้วปริศนา “ช้าหงส์” ของเรามาจากไหน จะตอบอย่างไร

ผมมีข้อสันนิษฐานดังนี้ครับ

 

ผมคิดว่า การช้าหงส์เป็นการนำพิธีและสัญลักษณ์พื้นเมืองมาผนวกพิธีพราหมณ์อินเดีย แล้วถือเอาความหมายตามความเชื่อพื้นเมืองเราเอง

คนในอุษาคเนย์นับถือ “นก” มีนกส่งวิญญาณ หรือเกี่ยวข้องกับวิญญาณ ผมขอยกข้อเขียนของ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทน์ มาดังนี้

“ฟ้าคือสวรรค์ นกจึงเป็นสัตว์ที่สามารถส่งผีขวัญขึ้นไปบนฟ้าได้ ทำให้การทิ้งศพให้นกกินศพเป็นหนึ่งในประเพณีการปลงศพ เมื่อพัฒนาเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ นกศักดิ์สิทธิ์เช่นหงส์ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีถวายพระเพลิง ดังปรากฏเป็นเพลงเช่นปี่พาทย์นางหงส์ หรือกลายเป็นนกหัสดีลิงค์ประกอบพระเมรุ เป็นต้น

ร่องรอยความเชื่อเรื่องนกส่งผีขวัญนี้สามารถย้อนกลับไปได้เกิน 2,500 ปี ดังปรากฏภาพนกบินบนหน้ากลองมโหระทึก”

ส่วนคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ท่านว่า เรามีปี่พาทย์ “นางหงส์” ใช้บรรเลงในพิธีศพ แม้จะเปลี่ยนมาเป็นพุทธและปลงศพด้วยการเผาแล้วยังมีร่องรอยหลงเหลือ จะเรียกแร้งกาที่เกี่ยวกับศพแต่โบราณว่าหงส์หรือนางหงส์ก็เป็นการยกย่องมากขึ้นนั่นเอง

หงส์ ในพิธีช้าหงส์จึงไม่ใช่หงส์เดียวกับหงส์ของฮินดูหรือของพระพรหม แต่เผอิญผสานกันได้พอดีระหว่างความนับถือนกของเรากับหงส์แขก คือบวชนกเราให้เป็นแขกยิ่งขึ้น

เหมือนอย่างเราแรกนาขวัญใช้วัว ทั้งๆ ที่เราใช้ควายทำนา คติการนับถือนกจะถูกทำให้ดูแขกๆ ขึ้นด้วยหงส์ก็ไม่แปลกอะไร และในเมื่อนกเป็นพาหนะส่งวิญญาณต่างๆ ไปสวรรค์ได้ ทำไมจะส่งพระเป็นเจ้าไปสวรรค์ไม่ได้

 

ดังนั้น การโล้ชิงช้าสำหรับเทวรูปของเรา ผมขอเสนออย่างนี้ว่า เราได้รับเอารูปแบบการบูชาตามคติพราหมณ์อินเดียคือ เมื่อสรงสนานเทวรูปตามพิธีแล้ว ก็เอาขึ้น “ชิงช้า” ปรนนิบัติตามพิธี “โฑลเสวา” ซึ่งต้องไกวชิงช้าขับกล่อมด้วยมนตร์เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในอินเดีย (หากไปดูขั้นตอนพระราชพิธี จะเห็นว่าเป็นไปตามลำดับเช่นเดียวกัน)

แต่แทนที่เราจะถือการไกวเปลหรือช้าหงส์เป็น “การปรนนิบัติ” พระเป็นเจ้าอย่างคติอินเดีย เราก็ใส่ความหมายอื่นเข้าไปแทนตามคติความเชื่อพื้นเมืองของเราคือ “การส่งเสด็จ” กลับสู่สวรรค์ชั้นฟ้า เช่นเดียวกับนกส่งวิญญาณนั่นเอง

นี่ยังเป็นเพียงคำตอบแบบข้อสันนิษฐานนะครับ ใครมีอะไรดีๆ มีข้อมูลเพิ่มเติม วานบอก

ช่วยๆ กันทำมาหากินครับ