วางบิล /เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /กรรมการและอำนาจหน้าที่

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์   

กรรมการและอำนาจหน้าที่

 

หลังจากสำนักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งที่ 34/2550 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยจดแจ้งการพิมพ์ ด้วยเหตุผลพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินประกาศใช้บังคับมานาน ทั้งบทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์อีกหลายฉบับรองรับไว้เพียงพอต่อการคุ้มครองประโยชน์ของรัฐ

สมควรยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการพิมพ์และคำสั่งของคณะปฏิรูปดังกล่าว และให้มีกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการรับจดแจ้งเป็นหลักฐานให้ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงเห็นสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ขึ้นคณะหนึ่ง มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่

ดังนี้

 

1.องค์ประกอบ

1.1 นายวัฒนา รัตนวิจิตร ประธานกรรมการ

1.2 นายกมลชัย รัตนสกาววงศ์ รองประธานกรรมการ

กรรมการประกอบด้วย 1.3 ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1.4 ผู้แทนสำนักอัยการสูงสุด 1.5 ผู้แทนกรมการปกครอง 1.6 ผู้แทนสภาทนายความ 1.7 นายมานิจ สุขสมจิตร 1.8 นายสุวัฒน์ ทองธนากุล 1.9 นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ 1.10 นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี 1.11 นายเธียรชัย ณ นคร 1.12 นายณรงค์ ใจหาญ 1.13 นางสาววิลาสินี พิพิธกุล

1.14 นายวรรณชัย บุญบำรุง กรรมการและเลขานุการ

1.15 นางสาวนริศรา แดงไผ่ 1.16 ผู้แทนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

  1. อำนาจหน้าที่

2.1 พิจารณาจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยจดแจ้งการพิมพ์ให้มีเนื้อหาที่สมบูรณ์ครอบคลุมประเด็นสำคัญในทุกด้าน

2.2 ระดมความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายจดแจ้งการพิมพ์

2.3 เชิญผู้แทนหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือผู้แทนภาคเอกชนมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ข้อคิดเห็น รวมทั้งเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา

2.4 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมาย

2.5 ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

  1. องค์ประชุมคณะกรรมการ

การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม

ทั้งนี้ ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอำนวยความสะดวกแก่คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลที่คณะกรรมการแต่งตั้งเพื่อช่วยปฏิบัติงาน รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ สถานที่และงบประมาณ สำหรับการดำเนินงานของคณะกรรมการ

สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ.2547 และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (ถ้ามี) ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 / พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี

 

จากนั้น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2550 มีจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องขอลาออกจากคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ อ้างถึงคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 34/2550 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ ลงนามโดยนายกรัฐมนตรีซึ่งแต่งตั้งให้ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 4 คน ได้แก่

  1. นายมานิจ สุขสมจิตร 2.นายสุวัฒน์ ทองธนากุล 3.นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ และ 4.นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เป็นกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าว

ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนตามรายชื่อข้างต้นได้เข้าร่วมการพิจารณากฎหมายดังกล่าวรวม 8 ครั้ง พบว่าการพิจารณาและความเห็นของกรรมการส่วนใหญ่ต่อการยกร่างกฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้หารือในเบื้องต้นกับรองศาสตราจารย์ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะทำงานด้านวิชาการสนับสนุนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยผู้แทนองค์กร วิชาชีพสื่อมวลชน 6 องค์กรจึงมีมติให้ผู้แทนองค์กรสื่อมวลชนตามรายชื่อข้างต้นลาออกจากการเป็นกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ พร้อมทั้งขอขอบพระคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้กรุณาให้ความสำคัญแก่ข้อเสนอแนะขององค์กรสื่อมวลชนมาโดยตลอด และหวังว่าจะได้ร่วมมือกับรัฐบาลในการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวมในโอกาสต่อไป

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขานุการคณะทำงานด้านวิชาชีพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

โดยมีสำเนาถึงรองศาสตราจารย์ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวัฒนา รัตนวิจิตร ประธานคณะกรรมการร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์

 

ขณะมีจดหมายลาออกจากคณะกรรมการร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2550

เพื่อความเข้าใจและประโยชน์ของประชาชน และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พร้อมยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและประชาชนว่า จะดำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ให้เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน

และสนับสนุนการลาออกของผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนครั้งนี้