มองบ้านมองเมือง /ปริญญา ตรีน้อยใส /ซอยสวนพลูที่เปลี่ยนไป

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

ซอยสวนพลูที่เปลี่ยนไป

 

หลายคนอาจจะบ่นว่า กรุงเทพฯ นั้นเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถติดหรือน้ำท่วม

แต่ในความเป็นจริง กรุงเทพฯ นั้นไม่เหมือนเดิม

สองสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ คอนโดมิเนียมหลังใหญ่และสูง ที่ปรากฏมาพร้อมระบบขนส่งมวลชนระบบราง ทั้งลอยฟ้าและใต้ดิน ที่พาดผ่านพื้นที่ทั่วพระนคร

สองสิ่งดังกล่าว นอกจากทำให้ทัศนียภาพกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปแล้ว ยังส่งผลให้วิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปด้วย

เมื่อก่อน จะมีคนตื่นตีสี่ตีห้า ขับรถหรือนั่งรถตามทางด่วนหรือถนนธรรมดาจากบ้านเข้ามาเรียน เข้ามาทำงานในเมือง พอเย็นย่ำก็กลับบ้านด้วยวิธีเดิม

ตอนนี้จะมีคนตื่นหกเจ็ดโมง รีบเดิน วิ่ง ซ้อนวินมอเตอร์ไซค์ไปสถานีรถไฟฟ้า ยืนเบียดเสียด เปลี่ยนรถไฟฟ้าไปหลายสถานี จนถึงที่ทำงาน

ตอนเย็นเลิกงานก็สังสรรค์ ดื่มกาแฟ ชาไข่มุก แวะออกกำลังกาย กินอาหารเย็นใกล้ๆ ที่ทำงาน เพื่อรอให้คนน้อยลง ค่อยนั่งรถไฟฟ้ากลับบ้าน

เมื่อก่อนจะคุ้นตากับระบบบ้านจัดสรรกระจายไปทั่วชานเมือง ตอนนี้จะเปลี่ยนเป็นภาพอาคารสูง รุมล้อมสถานีรถไฟฟ้า

ภาพบ้านหลังเล็กหลังน้อยอยู่กลางสนามหญ้าแคบหน้าบ้าน ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นห้องเล็กๆ ซ้อนทับกันหลายชั้น ในตึกสูง มีต้นไม้บ้างตามซอกมุมตึก

ภาพบริเวณทางเข้าหมู่บ้านจัดสรร จะมีปั๊มน้ำมัน ร้านค้า ร้านอาหาร รองรับคนขับรถยนต์ที่อาศัยอยู่ข้างใน

เปลี่ยนเป็นบริเวณรอบๆ คอนโดมิเนียมสูง จะมีร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร

หากพื้นที่ดังกล่าวมีกิจกรรมอื่น หรือผู้คนกลุ่มอื่นร่วมอยู่ด้วย เช่น นักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ หรือนักเที่ยวกลางคืน ยิ่งจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวเปลี่ยนไปจากเดิม

 

อย่างเช่น ซอยสวนพลู ถิ่นที่อยู่ของผู้เขียน

ชื่อนี้คนรุ่นเบบี้บูมจะรู้จักดี เพราะเป็นชื่อคอลัมน์ดังของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ผู้มีบ้านพักอยู่ในซอยพระพินิจ ที่แยกย่อยออกจากซอยสวนพลู

ที่จริงซอยสวนพลูไม่ได้อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า ทั้งลอยฟ้าหรือใต้ดิน แต่ก็ยังได้รับอิทธิพลและแปรเปลี่ยนไป

เดิมที ซอยนี้และบริเวณใกล้เคียงจะเป็นบ้านพักคหบดี ที่ต่อมาก็สร้างบ้านสร้างตึกให้คนต่างชาติทำงานสถานทูตใกล้ๆ อยู่ สองฟากของซอยสวนพลูจะเป็นร้านค้าตึกแถวให้บริการผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะชาวบ้านที่อาศัยในชุมชนหนาแน่น อยู่ลึกเข้าไปในซอย

ทุกวันนี้ บ้านคหบดีที่มีพื้นที่กว้างขวาง จะแปรเปลี่ยนเป็นอาคารพักอาศัยรวม แบบขาย คือ คอนโดมิเนียม และแบบเช่า คือ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ หรือเป็นโรงแรมทั้งแบบรายวันและแบบรายเดือน หรือที่พักแรมทั้งระดับหรูห้าดาว และระดับประหยัดโฮสเทล เตียงสองชั้น

แม้ว่าห้องแถวริมซอยจะไม่เปลี่ยนสภาพ แต่กิจการในตึกแถวก็ผันไป จากขายผัดไทย กลายเป็นขายสปาเกตตี

จากขายเนื้อแดดเดียว เป็นขายสเต๊กโทมาฮอด

จากขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อ เป็นขายแฮมเบอร์เกอร์

จากขายกาแฟโบราณ เป็นคาเฟ่ โคเวิร์กกิ้งสเปซ จากขายขนมหวานและน้ำหวาน กลายเป็นขายบิงซู อาฟเตอร์ยู และชาไข่มุก จากขายของชำ กลายเป็นร้านเซเว่น หรือเดลิคาเตซี แม้แต่ร้านกาแฟปากตรอก ยังกลายเป็นบาร์แจ๊ซชื่อดัง

บรรยากาศอาจไม่แปรเปลี่ยนไป ยังคึกคักเหมือนเดิม แต่ที่แน่ๆ ผู้คนให้บริการและรับบริการ ดูจะเปลี่ยนไป

 

ทุกวันนี้ซอยสวนพลูจะเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างชาติ นักเที่ยวกลางคืน รวมทั้งนักท่องเที่ยว

แต่คงไม่ใช่เฉพาะซอยสวนพลูเท่านั้นที่แปรเปลี่ยนไป สุขุมวิทซอยต่างๆ ลาดพร้าว ราชเทวี ปทุมวัน และอื่นๆ ล้วนแปรเปลี่ยนไป

ปรากฏการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นที่ถนนรัชดา ซอยทองหล่อ ห้วยขวาง เตาปูน ฯลฯ

ที่จริง หลายคนปรับตัว ปรับใจ ไปตามกระแสเรียบร้อยแล้ว

จะมีแต่นักวิชาการ ที่ฝันหวานเรียกหาย่าน ตามตำราฝรั่ง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ที่ยังยึดมั่นเชื่อมั่น ไม่สนใจพื้นที่ที่เป็นอยู่ใกล้ตัว

รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สภากรุงเทพฯ และผู้แทนเขต ที่ยังไม่รู้ว่า ที่มาคะแนนเสียงนั้น แปรเปลี่ยนไปแล้ว