จรัญ มะลูลีม : “ปรัชญามุสลิม” จุดเริ่มต้นการพัฒนาความคิดในยุโรปยุคกลาง

จรัญ มะลูลีม

อิทธิพลทางด้านปรัชญาของชาวมุสลิม ที่มีต่อยุโรป (1)

ในตอนปลายศตวรรษที่ 11 ยุโรปเริ่มสนใจปรัชญาของมุสลิม การปกครองของมุสลิมในสเปน สงครามครูเสด โรงเรียนสอนธรรมะในซิซิลี ความไม่พอเพียงของระบบวิชาการและวิทยาศาสตร์ของตะวันตกเก่าและความหนาแน่นของประชากรและความแออัดภายในทำให้ตะวันตกต้องติดต่อกับโลกอิสลาม

ในเมืองโทเลโด (Toledo) ชาวคริสเตียนกับชาวมุสลิมอยู่เคียงข้างกัน ที่นี่เอง Raymond ที่ 1 ผู้เป็นอาร์กบิชอปของเมืองหลวงในแคว้นนั้น (ระหว่าง ค.ศ.1130-1150) ได้สร้างสำนักแปลขึ้นเพื่องานชิ้นเอกๆ ที่เป็นภาษาละติน

ในฝรั่งเศสโดยเฉพาะในนอร์มังดีได้มีแนวโน้มทางวิทยาศาสตร์ปรากฏแก่พวกพระเป็นครั้งแรก Robert กษัตริย์ฝรั่งเศสแห่งราชวงศ์ เคปเตียนทรงเป็นมิตรกับความพยายามในด้านวิทยาศาสตร์ของมุสลิมตอนที่พระองค์รุกรานอิตาลีได้คือคาลาเบรียและซิซิลีและเนเปิลส์

จึงนับได้ว่าเป็นสื่อเชื่อมระหว่างวิทยาศาสตร์ของอิสลามกับตะวันตก

 

การถ่ายทอดความคิดของมุสลิมมายังตะวันตกในสมัยกลางได้ผ่านขั้นตอนเหล่านี้มาคือ ในตอนแรกนักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้เดินทางไปยังประเทศมุสลิมและทำการศึกษาเป็นส่วนตัว Constantine แห่งแอฟริกาและ Adelhard ทำการศึกษาแบบนี้เป็นครั้งแรก

คอนสแตนตินได้แปลงานภาษาอาหรับจากหนังสือของ Hippocratus และ Galen มาเป็นภาษาละตินเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สมัยกลาง

หลังจากนั้นก็ได้มีนักศึกษาจากอิตาลี สเปนและฝรั่งเศสตอนใต้มาเข้าวิทยาลัยมุสลิมเพื่อศึกษาคณิตศาสตร์ ปรัชญา การแพทย์ จักรวาลวิทยา และวิชาอื่นๆ

และต่อมาได้กลายเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยตะวันตกซึ่งสร้างตามแบบวิทยาลัยของมุสลิม

 

ขั้นตอนที่สองเริ่มตั้งแต่มีการสร้างมหาวิทยาลัยตะวันตกแห่งแรก ตัวอาคารหลักสูตรและวิธีการสอนก็ตามแบบวิทยาลัยมุสลิมจริงๆ ครั้งแรกคือวิทยาลัยชาร์เลอในราชอาณาจักรเนเปิลส์ มีสอนไวยากรณ์ ศิลปะการพูด ตรรกวิทยา เลขคณิต ดนตรี เรขาคณิตและจักรวาลวิทยา

หนังสือของอริสโตเติลและหนังสือที่เกี่ยวกับการตีความความงามของเขาก็ถูกนำมายังอิตาลี พระมหาจักรพรรดิ Frederick ได้ชื่อว่าเป็นผู้อุปถัมภ์วิทยาศาสตร์ของมุสลิม ทรงสั่งให้แปลงานของอริสโตเติลเป็นภาษาละติน ทรงติดต่อกับอิบนุ สะบีน ในเรื่องปรัชญา

กษัตริย์อัลฟองโซที่ 10 แห่งคาสไตน์และลีออง (มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.1252-1284) ทรงสั่งให้ทำตารางดาราศาสตร์หลังจากได้ศึกษางานของชาวอาหรับ ในระยะนี้ได้มีวิทยาลัยสำคัญๆ สร้างขึ้นอีกในเมืองปาตัจ ตูลูส และลีออง

ในที่สุดวิทยาศาสตร์ของมุสลิมก็ได้รับการถ่ายทอดมายังฝรั่งเศสและประเทศตะวันตกอื่นๆ โดยผ่านมาทางอิตาลี วิทยาลัยโบโลญญาและ Montpellier สร้างในตอนต้นศตวรรษที่ 7 หรือฮิจญ์เราะฮ์ที่ 13 มหาวิทยาลัยปารีสก็เปิดให้สอนในภายหลัง

ในสมัยนั้นโรงเรียนออกซ์ฟอร์ดและ Koin ถูกสร้างขึ้นในแบบเดียวกัน ดังนั้น วิทยาศาสตร์ใหม่จึงถูกถ่ายทอดไปยังอังกฤษและเยอรมนี

 

ในระหว่างศตวรรษที่ 13 โรงเรียนออกซ์ฟอร์ดได้กลายเป็นศูนย์การแปลและการตีความ ที่นี่นับเป็นครั้งแรกที่ Alexander Nickam แปลหนังสือ “เรื่องสวรรค์” และ “เรื่องวิญญาณ” ของอริสโตเติลจากภาษาอาหรับ และ Michael Scot แปลหนังสือของอัล-ปิฏรูญี เรื่องจักรวาลวิทยา และหนังสือหลายเล่มโดยอิบนุ สินา และอิบนุ รุชด์ เป็นภาษาละติน

Robert Grosseteote แปลงานด้านปรัชญาของกรีกและมุสลิม Roger Bacon (มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.1214-1292) ได้ทำการวิจัยในเรื่องภาษา คณิตศาสตร์ ชีววิทยา จนถูกกล่าวหาว่าเป็นนักใช้คาถาอาคมแห่งสมัยกลางจึงถูกประหาร

ในมหาวิทยาลัยปารีส ตั้งแต่เริ่มต้นมาเมื่อปี 1215 ได้มีการให้ความสำคัญอย่างมากแก่งานของอริสโตเติลและการตีความเป็นภาษาอาหรับ จากปี 1231 เป็นต้นมา โป๊ป Gregory ที่ 9 ได้เปลี่ยนคำสั่งในการสอนงานของอริสโตเติลเสียใหม่ และการกระทำของเขาที่มีต่อมหาวิทยาลัยก็เข้มงวดมากขึ้น

นักปรัชญาหลายคนถูกจับ รวมทั้งพวกที่นิยมมอเวอโรสและห้ามอ่านหนังสือของพวกเขา

 

การกระทำอันเข้มงวดนี้มีต่อไปจนถึงปลายศตวรรษที่ 14 มาตรการอันเข้มงวดนี้มีรากเหง้าด้านอุดมการณ์ด้วย โดยทั่วไปเป็นปฏิกิริยาที่มีอยู่ต่อลัทธินิยมอริสโตเติล แนวโน้มของลัทธิเพลโตนิยมและลัทธิอริสโตเติลนิยมและลัทธินิยมการทดลองก็ถูกปลุกขึ้นอีก

ปรัชญาของมุสลิมไม่สามารถจะสนองความต้องการของตะวันตกได้ในเรื่องการสนทนาของเพลโตเพราะมุสลิมไม่รู้จักอยู่หลายอย่าง ที่รู้จักก็ไม่สมบูรณ์ ในปลายศตวรรษที่ 15 การจัดพิมพ์หนังสือภาษาละตินที่แปลจากภาษาอาหรับมีอยู่มากมายจนทำให้คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลและหนังสือเล่มนั้นก็แพร่ไปทุกแห่งอย่างรวดเร็ว

แม้แต่ภายนอกหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ในขณะที่แนวโน้มของจิตใจที่ไปสู่การทดลองนั้นบัดนี้กำลังต่อสู้กับปฏิกิริยาในแวดวงของอุดมการณ์ และการวิจัยเท่ากับมีการปูพื้นไปสู่สมัยปุณภพหรือสมัยฟื้นฟูวิทยาการ

การแปลงานของอบู บักร์ สะกะริยา อัร-รอซี ผู้สร้างปรัชญาธรรมชาติในอิสลามเป็นภาษาละตินนับเป็นก้าวสำคัญของการถ่ายทอดปรัชญาของมุสลิมไปสู่ตะวันตก อิทธิพลของอัร-รอซี มิได้มีอยู่แค่ในการแปลงานของเขาเป็นภาษาละตินเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่นักปรัชญามุสลิมคนอื่นๆ ด้วย เช่น อัล-ฟะรอบี อิบนุฮัยษัม อิบนุสินา

อิทธิพลของอิบนุสินาที่มีต่อตะวันตกนั้นสำคัญมากในระหว่างสมัยของการแปลเป็นภาษาละติน ทางตะวันตกได้รู้จักหนังสือของเขาเป็นจำนวนมาก เรื่องอัช-ซิฟาอันยิ่งใหญ่ของเขาถูกถ่ายทอดไปสู่ตะวันตกเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 11

ขบวนการแปลได้รับการกระตุ้นใจใหม่ในระหว่างต้นศตวรรษที่ 6 ด้วยงานที่ชื่อ ตะลาลัต อัล-ฮาอิรีน (ทางนำสำหรับผู้งวยงง) มัยโมนิกส์ได้แนะนำนักปรัชญามุสลิมโดยเฉพาะอิบนุ สินา (อวิเซนนา) ให้แก่ตะวันตกด้วยรายละเอียดมากมาย

ในศตวรรษเดียวกันนั้นได้เริ่มมีการถกเถียงระหว่าง Abriard และ St.Thomas ในโลกละติน บทแปลจากภาษาอาหรับเป็นละตินจำนวนมากมาย โดยเฉพาะงานของอัล-ฟะรอบีและอิบนุสินาได้เปิดขอบฟ้าแห่งความคิดขึ้นในตะวันตกอย่างฉับพลัน

 

ในระหว่างศตวรรษที่ 12 และ 13 ศูนย์กลางการแปลที่สำคัญจากภาษาอาหรับเป็นละตินคือเมืองโทเลโด เดอร์กอส (Durgos) ซิซิลีและเนเปิลส์ ที่สำคัญคือที่แปลโดย John แห่ง Seville และ Gundisalvus ยังมีบทแปลจากภาษาอาหรับเป็นภาษาโรมันฉบับแรกและฉบับที่สองคือจากภาษาโรมันเป็นภาษาละติน การแปลงานของนักปรัชญามุสลิมยังดำเนินต่อไปในระหว่างศตวรรษที่ 13 อิทธิพลของงานแปลเหล่านี้อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ

อิทธิพลที่เริ่มด้วยอิบนุสินาและอัล-ฟะรอบี นำไปสู่พัฒนาการของแนวโน้มของอวิเชนนา อิทธิพลที่มีต่อไปของข้อสรุปความคิดเห็นของอิบนุสินาและอัล-ฟะรอบีโดยอัล-ฆอซาลี บทแปลงานของอิบนุสินาและอัล-ฟะรอบีช่วยก่อตั้งปรัชญาของเซนต์ออกัสตินขึ้น อิทธิพลของอิบนุสินาต่อนักคิดคริสเตียนสมัยกลางมีความสำคัญมากเนื่องจากทำให้คนเหล่านั้นได้ประโยชน์จากความคิดของเขาโดยตรง แต่บางครั้งก็โจมตีความคิดของเขาอย่างรุนแรงเหมือนกัน

ในศตวรรษที่ 13 ได้มีความพยายามที่จะปรองดองความคิดของเซนต์ออกัสตินกับความคิดของอริสโตเติล เป็นการปรองดองที่ระบอบของอิบนุสินาเป็นพื้นฐานให้อย่างดีซึ่งนำไปสู่ขบวนการที่เรียกว่าออกัสติน-อวิเชนนา