วรศักดิ์ มหัทธโนบล : เส้นทางการช่วงชิง กว่ามาเป็นจักรพรรดินี

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน (ต่อ)

เรื่องของนางในคนหนึ่ง

ห้วงที่เกิดปัญหารัชทายาทและถังไท่จงทรงป่วยหนักอยู่นั้น ได้มีนางในที่เป็นสนมระดับล่างคนหนึ่งชื่อ อู่เจ้า (ค.ศ.624-705) เข้าถวายการดูแลถังไท่จงอยู่เคียงข้างตลอด1

อู่เจ้ามีภูมิหลังที่น่าสนใจไม่น้อย

กล่าวคือ บิดาของเธอมีบทบาทสนับสนุนหลี่ยวน (ถังเกาจู่) เมื่อครั้งกบฏต่อราชวงศ์สุย โดยก่อนหน้านั้นบิดาของเธอเคยเป็นนายวาณิชย์ที่มีรูปร่างอุ้ยอ้าย ครั้นเข้าร่วมกบฏก็มีบทบาทสำคัญในการเข้ายึดเมืองหลวงของสุย

จนถังเกาจู่ตั้งให้มีตำแหน่งเป็นผู้ปกครองสองจังหวัดใหญ่เป็นความดีความชอบ และได้เลือกหญิงสกุลหยังในราชวงศ์สุยให้เป็นภรรยาคนที่สองของเขา

และอู่เจ้าก็ถือกำเนิดจากภรรยาคนที่สองนี้

ด้วยกำเนิดดังกล่าว ภูมิหลังของอู่เจ้าจึงเป็นที่ถกเถียงกันว่า ควรจัดเธอให้ในอยู่กลุ่มการเมืองใดในยุคถัง

โดยกลุ่มหนึ่งเห็นว่าอู่เจ้าสังกัดชนชั้นพ่อค้า แต่เป็นพ่อค้าที่ปรากฏขึ้นใหม่ในยุคนั้นที่ต่างจากพ่อค้าทั่วไป

คือมีพื้นเดิมเป็นศึกษิตและเป็นขุนนางชั้นสูงในท้องถิ่น ทั้งยังมีพี่น้องเป็นข้าราชการในสมัยสุยอีกด้วย

อีกกลุ่มหนึ่งจัดให้อู่เจ้าอยู่ในกลุ่มสามบูรพา (ซันตงจี๋ถวน) ที่มีถิ่นฐานอยู่ในสามมณฑลทางตะวันออกคือ เหอเป่ย เหอหนัน และซันตงในปัจจุบัน และเป็นกลุ่มที่ต่อต้านกลุ่มอำนาจอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มด่านเทือกเขาหล่ง (กวานหล่งจี๋ถวน) ที่มีถิ่นฐานอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือที่ปัจจุบันคือมณฑลสั่นซี ซันซี และกันซู่2 และทรงอิทธิพลในต้นราชวงศ์ถัง

เพราะภูมิหลังของเธอมีความใกล้ชิดกับกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มด่านเทือกเขาหล่ง ถึงแม้เธอจะมีมารดาเป็นเชื้อพระวงศ์สุย ซึ่งเป็นผู้ดีที่มีอิทธิพลในภาคตะวันตกเฉียงเหนือก็ตาม ข้อถกเถียงนี้จะมีผลต่อบทบาทของอู่เจ้าที่จะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า

กลุ่มด่านเทือกเขาหล่งเป็นกลุ่มที่เรืองอำนาจมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์เว่ยตะวันตก (ในยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ) และเป็นเสนามาตย์ชั้นสูงในยุคสุยมาจนถึงถังและเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูง ทั้งยังสืบทอดอำนาจต่อๆ กันไปยังลูกหลานโดยไม่ต้องผ่านการสอบตำแหน่งขุนนาง

และยังใกล้ชิดกับสกุลหลี่ (ที่ก่อตั้งราชวงศ์ถัง) ผ่านการแต่งงานอีกด้วย กลุ่มนี้จึงถือตัวและหยิ่งในฐานะของตนจนดูแคลนกลุ่มอำนาจอื่น

ส่วนกลุ่มซันตงมีพื้นเพเดิมเป็นสามัญชน และได้เป็นเสนามาตย์โดยการสอบบัณฑิต มิได้ใช้อภิสิทธิ์ดังกลุ่มแรกและถูกกลุ่มแรกดูแคลนในพื้นเพเดิม แต่ด้วยพื้นเพเดิมนี้เช่นกันที่ทำให้กลุ่มสามบูรพาใกล้ชิดกับราษฎรมากกว่ากลุ่มด่านเทือกเขาหล่ง

ทั้งสองกลุ่มนี้จึงเป็นปฏิปักษ์กันโดยธรรมชาติทางการเมือง

 

อู่เจ้าเข้ามาเป็นสนมยังราชสำนักถังในราว ค.ศ.640 และเข้ามาถวายงานแก่ถังไท่จงใน ค.ศ.646 อันเป็นช่วงเดียวกับที่รัชทายาทหลี่จื้อได้เข้ามาถวายงานเช่นกัน ทำให้ทั้งสองได้รู้จักกัน

ในช่วงนี้เองที่แหล่งข้อมูลเดิมได้กล่าวเป็นนัยว่า ทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมขณะที่ถังไท่จงยังทรงพระชนม์อยู่ ครั้นถังไท่จงสวรรคตแล้วแหล่งข้อมูลนี้ยังกล่าวอีกว่า อู่เจ้าได้ออกจากวังไปเพื่อบวชชีตามประเพณีที่สนมทุกคนต้องปฏิบัติ เพื่อมิให้ไปมีความสัมพันธ์กับชายอื่น

อันจะทำให้จักรพรรดิที่ล่วงลับเสื่อมเสียเกียรติ

จนคราวหนึ่งที่ถังเกาจงได้เสด็จไปยังอารามที่อู่เจ้าบวชอยู่ เพื่อทำพิธีครบรอบวันสวรรคตของถังไท่จง พระองค์ก็ทรงได้พบกับอู่เจ้าที่มาเฝ้ารับเสด็จ การพบกันครั้งนี้กระตุ้นให้ถังเกาจงแสดงอาการถวิลหาถึงวันคืนที่เคยอยู่ร่วมกับอู่เจ้า

แต่อาการนี้หาได้รอดพ้นสายตาของมเหสีหวัง (ค.ศ.628-655) ที่โดยเสด็จ ที่ขณะนั้นกำลังเศร้าใจที่ถังเกาจงทรงหลงใหลในสนมเซียว (มรณะ ค.ศ.655) ทั้งสนมผู้นี้ยังมีโอรสกับถังเกาจงซึ่งอาจทำให้ตำแหน่งมเหสีของพระนางได้รับผลกระทบอีกด้วย

แต่เมื่อได้เห็นอาการถวิลหาของถังเกาจงเช่นนั้นจึงคิดได้ว่า น่าที่จะนำอู่เจ้ากลับเข้าวังเพื่อให้นางดึงถังเกาจงออกจากสนมเซียว

เรื่องราวตอนนี้มีข้อมูลที่สับสน ด้วยบันทึกเรื่องนี้ในสมัยซ่งได้ระบุว่า อู่เจ้าได้กลับเข้าวังหลวงใน ค.ศ.654 แต่ในห้วงนั้นมีหลักฐานว่าอู่เจ้ามีโอรสกับถังเกาจงแล้ว นักวิชาการในปัจจุบันจึงเห็นว่า เป็นไปได้ที่อู่เจ้าอาจไม่ได้บวชชี แต่ถูกถังเกาจงเรียกตัวให้เข้ามาในวังหลวงหลังถังไท่จงสวรรคต

ถึงแม้จะเป็นการกระทำที่ผิดประเพณีก็ตาม

 

แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร สิ่งที่มีหลักฐานชัดเจนก็คือว่า อู่เจ้าได้มีโอรสกับถังเกาจงใน ค.ศ.652 อีกทั้งอาจมีถึงสององค์แล้วด้วยซ้ำไป ความจริงข้อนี้ในด้านหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อตำแหน่งของมเหสีหวัง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้อู่เจ้ากลายเป็นคู่แข่งของสนมเซียวไปด้วย

แผนสกัดกั้นอู่เจ้ามิให้ได้ดีโดยมเหสีหวังจึงเกิดขึ้น แต่โชคกลับมิได้เข้าข้างพระนาง เพราะด้วยภูมิหลังที่เป็นชนชั้นสูงที่ถือเคร่งกับฝ่ายในนั้น ได้ส่งผลให้นางในในวังมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับพระนาง

และทำให้อู่เจ้าใช้เป็นโอกาสในการสร้างความใกล้ชิดกับนางในเหล่านั้น จนสามารถติดสินบนนางในบางคนให้สืบหาข้อมูลของมเหสีหวังมาให้ และทำให้อู่เจ้ามีความได้เปรียบในการขับเคี่ยวโดยมีตำแหน่งมเหสีเป็นเดิมพัน

ความเข้มข้นและรุนแรงของการขับเคี่ยวดังกล่าวได้เดินมาถึงจุดสำคัญในวันหนึ่ง เมื่ออู่เจ้าได้มีธิดาให้กับถังเกาจง ธิดาองค์นี้เป็นที่โปรดปรานของถังเกาจงและมเหสีหวัง จนวันหนึ่งมเหสีหวังได้เสด็จมาเยี่ยมธิดาองค์นี้ดังที่เคยทำเป็นปกติ

อู่เจ้าซึ่งรู้กิจวัตรนี้ดีได้หลบออกจากห้องของธิดาพร้อมกับนางในอื่นๆ โดยให้มเหสีหวังอยู่กับธิดาตามลำพัง เมื่อทรงสำราญกับธิดาแล้วจึงเสด็จกลับ ในจังหวะนี้อู่เจ้าได้ลอบมาในห้องแล้วอุดจมูกธิดาของเธอจนสิ้นลมแล้วหลบออกไป

จนเมื่อถังเกาจงเสด็จมาเยี่ยมธิดาดังเคย อู่เจ้าจึงได้ปรากฏตัวออกมารับเสด็จแล้วเข้าไปอุ้มธิดาออกมา จากนั้นก็แสร้งทำเป็นตกใจเมื่อรู้ว่าธิดาสิ้นลมไปแล้ว ถังเกาจงทรงกริ้วกับเรื่องนี้และให้ทำการสอบสวนในทันที

เหล่านางในที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างให้การตรงกันว่า มเหสีหวังคือผู้ที่อยู่กับธิดาเป็นคนสุดท้าย

 

พระนางจึงถูกสงสัยว่าเป็นผู้ก่ออาชญากรรมนี้ขึ้น

แต่ข้อสงสัยนี้ถังเกาจงทรงไม่ให้เปิดเผย

แต่ก็ทรงมีดำริที่จะลดชั้นของมเหสีหวังลงแล้วให้อู่เจ้าขึ้นมาแทน ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของเหล่าเสนามาตย์ซึ่งคือ กลุ่มด่านเทือกเขาหล่ง

กลุ่มด่านเทือกเขาหล่งมีแกนนำอยู่สี่คนโดยมีผู้นำกลุ่มคือ จั่งซุนอู๋จี้ ที่ถังไท่จงทรงวางใจจนต้องฝากฝังราชวงศ์ให้ช่วยดูแลก่อนสิ้นพระชนม์

และเป็นเหตุให้ถังเกาจงทรงต้องฟังความเห็นของเสนามาตย์กลุ่มนี้ในเรื่องที่สำคัญมาตลอด

—————————————————————————————————

(1) ที่ว่าเป็นสนมระดับล่างนี้คือเป็นสนมในตำแหน่งที่เรียกว่า ไฉเหญิน โดยทั่วไปแล้วสนมของจีนมีอยู่สี่ตำแหน่งคือ เจ้าอี้ กุ้ยผิน ไฉเหญิน และกุ้ยเฟย การแบ่งชั้นสูงต่ำในแต่ละตำแหน่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในแต่ละราชวงศ์แต่ละสมัย กล่าวเฉพาะในสมัยถังแล้วชั้นสูงสุดคือ กุ้ยเฟย ซูเฟย เต๋อเฟย และเสียนเฟย โดยมีชั้นที่รองลงมาอีกเจ็ดชั้น รวมแล้วมีแปดชั้น แต่ละชั้นยังแบ่งลงไปอีกหลายตำแหน่งและมีจำนวนไม่เท่ากัน แต่ละตำแหน่งล้วนถูกกำหนดระดับสูงต่ำ เมื่อรวมทั้งแปดชั้นแล้วจะมีสนมอยู่กว่า 80 นางโดยไม่รวมนางในที่ไร้ตำแหน่งใดๆ ส่วนตำแหน่งไฉเหญินของอู่เจ้าเมื่อตอนเข้าถวายการดูแลถังไท่จงในเวลานั้นจัดอยู่ในชั้นที่ห้า

(2) คำว่า กวาน ในพยางค์แรกมาจากคำว่า กวานจง ที่เป็นที่ราบภาคกลางที่สำคัญของการเมืองจีนในอดีต ด้วยถือเป็นด่านชั้นใน (within the passes) ที่อยู่ตรงข้ามกับด้านตะวันออกหรือกวานตง (east of the pass) ส่วนคำว่า หล่ง ในพยางค์ที่สองมาจากคำว่า หล่งซี ที่เป็นชื่อเมืองในสมัยนั้นซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกันซู่ นอกจากนี้ก็ยังเป็นชื่อภูเขาที่ตั้งเป็นรอยต่อระหว่างมณฑลสั่นซีกับกันซู่ และเป็นอีกชื่อหนึ่งของมณฑลกันซู่อีกด้วย ในที่นี้จึงเรียกกลุ่มนี้ในคำไทยว่า กลุ่มด่านเทือกเขาหล่ง อนึ่ง กลุ่มสามบูรพาในที่นี้ได้เคยกล่าวไปแล้วในตอนที่ถังไท่จงทรงให้วางหลักเกณฑ์ทางชนชั้นเพื่อให้การเชิดชูและอภิสิทธิ์ แล้วทรงกริ้วที่ร่างหลักเกณฑ์ที่ออกมาจัดให้ให้สกุลที่มาจากกลุ่มสามบูรพาอยู่ในอันดับหนึ่ง จนต้องมีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ โดยเมื่อย้อนกลับไปเมื่อคราวที่หลี่ยวน (ถังเกาจู่) ก่อกบฏโดยมีฐานที่มั่นที่เมืองไท่หยวนนั้น ทำให้บางที่เรียกกลุ่มสามบูรพาว่าสำนักไท่หยวน (Taiyuan family) แต่ในยุคที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ถูกเรียกว่า สำนักไต้เป่ย (Dai-bei)