ไทย ‘จิ้มก้อง’ จีน ต้นเหตุจากจีนขยายอำนาจ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

จีนสมัยก่อนต้องการขยายอำนาจยาตราทัพยึดครองบ้านเมืองที่มีในไทยสมัยโบราณ ขณะนั้นคือ สยาม (สุพรรณบุรี) กับละโว้ (ลพบุรี) แล้วยึดครองหมดทั้งแถบทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะบ้านเมืองบนคาบสมุทรมลายู

แต่ขุนนางจีนสมัยนั้นทัดทานและคัดค้านว่ายากลำบากสิ้นเปลืองโดยไม่คุ้ม เพราะเป็นบ้านเมืองน้อยๆ ไม่มีความสำคัญ จึงพากันเสนอวิธีเกลี้ยกล่อมให้บ้านเมืองเหล่านั้นยอมอ่อนน้อมอยู่ในอำนาจจีนโดยไม่ต้องรบราฆ่าฟันเสียเลือดเนื้อ

จักรพรรดิจีนเห็นพ้องกับข้อแนะนำของขุนนาง แล้วให้ส่งทูตเกลี้ยกล่อม พบในเอกสารจีน ดังนี้

 

“(จักรพรรดิ) ทรงปรึกษาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หารือเรื่องการจัดทัพไปปราบเสียน (สยาม) หลอหู (ละโว้) หม่าปาเอ๋อร์ (เปโป้ยยี้) จี้หลัน (กู้น้ำ) และซูมู่ตาลา (สุมาตรา)

แต่ขุนนางชื่อเจียหลู่น่าต๋าซือ กราบทูลว่า ‘อาณาจักรเหล่านั้นเป็นอาณาจักรเล็กที่ไม่มีความสำคัญอะไร แม้ว่า (จีน) จะได้ (อาณาจักรเหล่านั้น) มาเป็นเมืองขึ้น ก็หาประโยชน์มิได้ (นอกจากนั้น) การที่จะจัดทัพไปปราบอาณาจักรเหล่านั้น ยังเป็นการทำลายชีวิตประชาชนโดยใช่เหตุ ควรส่งทูตไปชี้แจงบาปบุญคุณโทษ (และ) ชักชวน (ให้อ่อนน้อม) จะเหมาะสมกว่า ถ้า (อาณาจักรเหล่านั้น) ไม่ยอมอ่อนน้อมก็ยังไม่สายเกินไปที่จะไปโจมตีได้’

จักรพรรดิทรงเห็นชอบด้วย และรับสั่งให้เอียลาเยหนูเตอมี่และคณะ จัดการส่งทูตตามข้อเสนอดังกล่าว (ปรากฏผลว่า) กว่า 20 อาณาจักรยอมนอบน้อม”

[จากหนังสือ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน พ.ศ.1825-2395 (แปลจากเอกสารทางราชการของจีน) โดย คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทย เกี่ยวกับจีนในเอกสารภาษาจีน สำนักนายกรัฐมนตรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2523]

เรือมหาสมบัติของเจิ้งเหอที่ส่งไปสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ-การเมือง ต่อบ้านเมืองทางทะเลใต้ รวมถึงดินแดนคาบสมุทรซึ่งมีไทยอยู่ด้วย น้ำหนักเรือประมาณ 3,100 ตัน 1.ห้องพักเจิ้งเหอ 2.แท่นบูชาประจำเรือ 3.ห้องสินค้า 4.ความสูงของเรือ 4 ชั้น 5.ท้ายเรือชั้นบนเป็นหอสังเกตการณ์ ต้นหนเฝ้าสังเกตดวงดาวทิศทางลม

ไทย “จิ้มก้อง” จีน

ไทยสมัยอยุธยาเริ่มประเพณี “จิ้มก้อง” จีน มีเหตุจากจีนทำตามนโยบายเกลี้ยกล่อม ขณะเดียวกันเมื่อได้โอกาสก็ขยายอำนาจเข้าควบคุมทางการเมือง

เริ่มด้วยเกลี้ยกล่อมเครือข่ายสยาม (เอกสารจีนเรียก เสียน) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่รัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) หลังจากนั้นหนุนหลังรัฐสุพรรณภูมิยึดครองรัฐอยุธยา [ขณะนั้นอยู่ในอำนาจกษัตริย์วงศ์ละโว้ (ลพบุรี)] ราวหลัง พ.ศ.1950

นับแต่นั้นมารัฐอยุธยาอ่อนน้อมยอมตามจีนทางเศรษฐกิจ-การเมือง และต้อง “จิ้มก้อง” ถวายเครื่องราชบรรณาการต่อจักรพรรดิจีน

[ต่อมาถูกปรับเข้ากับระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย จิ้มก้อง (คำจีน สำเนียงแต้จิ๋ว) หมายถึงเอาของมีค่าไปกำนัลผู้มีอำนาจเหนือกว่าเพื่อหวังผลตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีมากกว่า ซึ่งโน้มไปทางติดสินบน]

ก่อนสยามจากสุพรรณยึดอยุธยา พ.ศ.1952 จีนส่งกองเรือนำโดยแม่ทัพขันทีเจิ้งเหอ (หรือซำปอกง) ยกกองเรือท่องสมุทร (ครั้งที่ 3) ผ่านอ่าวไทย เท่ากับใช้กองเรือกดดันซึ่งจงใจมีส่วนสนับสนุนการยึดอยุธยาของสยามแห่งรัฐสุพรรณภูมิ [หลักฐานและคำอธิบายมีในหนังสือ เจิ้งเหอ ซำปอกง อุษาคเนย์ ของ สืบแสง พรหมบุญ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก เมษายน พ.ศ.2549]

 

สำเภาจีน กระตุ้นความเป็น “ไทย”

จีนค้าสำเภาถึงอ่าวไทยตั้งแต่หลัง พ.ศ.1500 ผลักดันภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้าในการเคลื่อนย้ายขนถ่ายสินค้าและทรัพยากรจากดินแดนภายในลงสู่รัฐใกล้ทะเลเพื่อค้าขายกับจีน โดยเฉพาะส่งให้รัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี)

ด้วยผลประโยชน์ทางการค้า กระตุ้นให้คนร้อยพ่อพันแม่ที่พูดภาษาต่างๆ กลายตนเป็นคนพูดภาษาไทย ในที่สุดเรียกตัวเองว่าไทย พบครั้งแรกในรัฐอยุธยา ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ภาษาไทย [ตระกูลไต-ไท หรือ ไท-กะได] มีรากเหง้าเก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว อยู่มณฑลกวางสี [ต่อเนื่องกับมณฑลกวางตุ้ง] ทางภาคใต้ของจีน แล้วต่อเนื่องกับภาคเหนือของเวียดนาม

ทุกวันนี้ในมณฑลกวางสี มีกลุ่มคนมากกว่า 10 ล้านคนเรียกตนเองว่า “จ้วง” ในตระกูลภาษาพูดไต-ไท

ภาษาไทย [ตระกูลไต-ไท] เป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายในภาคพื้นทวีปนับพันปีมาแล้ว ทำให้มีพลังเคลื่อนไหวทั่วภูมิภาคตามเส้นทางการค้าของดินแดนภายใน เป็นบริเวณกว้างใหญ่ทางภาคใต้ของจีน ต่อเนื่องภาคเหนือของเวียดนาม, ลาว, ไทย, พม่า เข้าถึงลุ่มน้ำพรหมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

[สรุปจาก หนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2559]