ต่างประเทศ : “มือเฆี่ยนหญิง” ทีมแรกแห่งอาเจะห์

เป็นอีกครั้งที่จังหวัดอาเจะห์ จังหวัดบนเกาะสุมาตรา ทางตะวันตกสุดของประเทศอินโดนีเซีย กลายเป็นที่พูดถึงโดยเฉพาะในหน้าสื่อตะวันตก

โดยเฉพาะบทลงโทษอย่างการ “เฆี่ยน” ตามกฎหมาย “ชารีอะห์” กฎหมายศาสนาที่ยังคงเข้มงวด ที่โลกพัฒนาแล้วมองว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนโหดร้าย

ทว่า “การเฆี่ยน” ในอาเจะห์เอง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนบางส่วนยังคงมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อคงไว้ซึ่งระเบียบทางสังคม และนับว่าเป็นบทลงโทษที่ “ปรานี” มากแล้ว ในการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายศาสนา

ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความรักของหนุ่ม-สาวในที่สาธารณะ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน การร่วมเพศของคนเพศเดียวกัน เรื่อยไปจนถึงความผิดทั่วๆ ไปอย่างการพนัน รวมถึงการดื่มสุรา เป็นต้น

แน่นอนว่าการลงโทษลักษณะดังกล่าวส่งผลให้เกิดเสียงวิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชน เกิดการวิจารณ์ผ่านสื่อ ไม่เว้นแม้แต่นักการเมืองอินโดนีเซียเอง

แม้ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเองก็เรียกร้องให้เลิกการเฆี่ยนในที่สาธารณะลง แต่ก็พูดถึงจังหวัดอาเจะห์ จังหวัดที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมอย่างลึกซึ้งอยู่น้อยมาก

ส่วนหนึ่งเนื่องจากกฎหมายศาสนาในอาเจะห์นั้น เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเปิดทางให้จังหวัดอาเจะห์ปกครองตนเองเมื่อปี 2005 สิ้นสุดการก่อความไม่สงบเพื่อแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ที่กินเวลาหลายสิบปีลง

ล่าสุด หน่วยงานปกครองบันดาห์ อาเจะห์ เมืองเอกของจังหวัดอาเจะห์ มีพัฒนาการด้านการ “เฆี่ยน” มากขึ้นด้วยการตั้ง “ทีมเฆี่ยน” ที่เป็นผู้หญิงทั้งหมดขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพื่อทำหน้าที่ “เฆี่ยน” ผู้กระทำผิดหญิง แทนที่มือเฆี่ยนชายที่ทำหน้าที่นี้มาโดยตลอด

 

ภาพเผยแพร่ผ่านสื่ออย่างเอเอฟพี แสดงให้เห็นหญิงใส่หน้ากาก พร้อมด้วยชุดเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวสีน้ำตาลปิดบังตัวตน ถือไม้เรียวก้านยาวหนาลงมือเฆี่ยนหญิงผู้กระทำผิดในที่สาธารณะเป็นครั้งแรกในเมืองบันดาห์ อาเจะห์ เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา

“ผมว่าเธอทำได้ดีนะ เทคนิคของเธอดีทีเดียว” ซัควัน ผู้บัญชาการตำรวจชารีอะห์ฝ่ายสืบสวนเมืองบันดาห์ อาเจะห์ระบุ

เหตุผลหนึ่งของการตั้งทีมเฆี่ยนที่เป็นผู้หญิง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้กระทำผิดที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น ผลจากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ทำให้โลกแคบลงในยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การที่จะโน้มน้าวให้ผู้หญิงเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจชารีอะห์ในอาเจะห์ต้องใช้เวลานานนับปี ก่อนที่จะรวมทีมผู้หญิง 8 คนเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเรียนรู้เทคนิคการเฆี่ยนที่ถูกต้อง รวมไปถึงเรียนรู้แนวทางการเฆี่ยนเพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิดได้รับบาดเจ็บมากจนเกินไป

“เราฝึกพวกเขาเพื่อทำให้แน่ใจว่าพวกเขาพร้อมทั้งด้านจิตใจและมีเทคนิคการเฆี่ยนที่ถูกต้อง” ซัควันระบุ และว่า ความลับของการเฆี่ยนที่สำคัญที่สุดคือการข้ามอุปสรรคทางจิตใจ นั่นก็คือ ต้อง “ไร้ปรานีกับผู้ที่ละเมิดกฎของอัลเลาะห์”

ปัจจุบันตำรวจชารีอะห์ในอาเจะห์ยังคงลาดตระเวนต่อเนื่องตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะในบันดาห์ อาเจะห์ เมืองที่มีประชากรราว 200,000 คน

ตำรวจชารีอะห์มีอำนาจในการจับกุมชายและหญิงที่นั่งใกล้กันเกินไป มีดุลพินิจในการเลือกที่จะตักเตือนและปล่อยตัวไป หรือในบางกรณีสามารถนำตัวไปคุมขังหากเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เช่น การรวมตัวของชาย-หญิงในร้านกาแฟ

มุมมองของชาวบ้านในอาเจะห์ส่วนหนึ่งยังคงเห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว บางส่วนมองถึงขั้นว่ากฎหมายยังคงปรานีกับผู้กระทำผิดจนเกินไป

“ชารีอาะห์ในอาเจะห์ยังคงมีความปรานี” ไซฟูล เต็งกูห์ พลเมืองชาวอาเจะห์ระบุ และว่า “อาเจะห์ต้องมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่านี้ เช่น การปาหิน ไม่ใช่แค่การเฆี่ยน ใครที่ทำผิดอย่างการค้าประเวณีควรถูกปาหินสัก 100 ครั้ง”

ยิ่งกว่านั้น ผู้บริหารเขตปกครองจังหวัดอาเจะห์ จังหวัดที่มีประชากร 5 ล้านคนของอินโดนีเซียเองเคยเสนอโทษถึงขั้นตัดศีรษะสำหรับโทษร้ายแรง แต่รัฐบาลกลางอินโดนีเซียได้เบรกเอาไว้ก่อน

 

จังหวัดอาเจะห์ตกเป็นข่าวในเรื่องของการใช้กฎหมายศาสนาอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการออกฟัตวา หรือคำสั่งทางศาสนา แบนเกม PUBG เกมในสมาร์ตโฟนชื่อดัง รวมถึงการคัดค้านการจัดตั้งลีกฟุตบอลหญิงในประเทศ โดยเฉพาะการลงโทษด้วยการเฆี่ยนนั้นจะได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายศาสนาในอาเจะห์ระบุว่า ผู้กระทำผิดละเมิดกฎหมายศาสนาในอาเจะห์ส่วนใหญ่เลือกที่จะถูกเฆี่ยนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจำคุก

อย่างไรก็ดี กลุ่มสิทธิมนุษยชนมองว่าการเฆี่ยนนั้นอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นทำให้หมดสติ หรือต้องเข้าโรงพยาบาล โดยเฉพาะโทษหนักสำหรับการกระทำผิดรุนแรง ซึ่งรวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน อาจถูกเฆี่ยนได้มากถึง 150 ครั้งเลยทีเดียว

สำหรับผู้หญิง การตกเป็นผู้กระทำผิดนั้นอาจส่งผลร้ายแรงกว่า เนื่องจากสามารถนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศได้ ขณะที่การแจ้งความกรณีล่วงละเมิดดังกล่าวโดยไม่มีหลักฐานก็อาจทำให้ถูกเฆี่ยนเสียเองในข้อหาแจ้งความเท็จ

 

ด้านกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ รวมถึงองค์การนิรโทษกรรมสากล เคยประณามการลงโทษด้วยการเฆี่ยนเอาไว้ว่า เป็นความป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม และเป็นการลงโทษที่เทียบเท่ากับการทารุณกรรม

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของเมืองอาเจะห์ยังคงยืนยันว่าการลงโทษด้วยการเฆี่ยนในอาเจะห์นั้น ยังคงเบากว่าประเทศมุสลิมอนุรักษนิยมอย่างซาอุดีอาระเบียอยู่มาก

“เราไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อทำร้ายผู้คนด้วยการเฆี่ยนพวกเขา” ซาเฟรียดี เจ้าหน้าที่ปกครองของอาเจะห์ระบุ และว่า

“สิ่งสำคัญที่สุดคือผลลัพธ์จากความอับอายกับผู้กระทำผิด เช่นนั้นแล้วพวกเขาจะไม่ทำผิดอีก”