จิตต์สุภา ฉิน : หุ่นยนต์ที่พึ่งทางอารมณ์

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Service animal คือสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการฝึกฝนมาให้ช่วยเหลือผู้พิการ

อย่างเช่น สุนัขที่คนตาบอดจูงไว้ให้ช่วยนำทาง สัตว์ที่ถูกฝึกมาให้ช่วยฟังเสียงแทนเจ้าของที่หูหนวก หรือสื่อสารแทนเจ้าของที่เป็นใบ้

ซึ่งในประเทศที่มี service animal ทำงานอยู่เยอะ คนทั่วไปก็จะรู้กันดีว่านี่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่จะขอเข้าไปลูบหัวหรือหยอกล้อเล่นได้

ในขณะที่ emotional support animal แม้จะมีความคล้ายกับ service animal คือเป็นสัตว์เลี้ยงที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าของเหมือนกัน แต่ก็จะมีการทำงานที่แตกต่างออกไป

หน้าที่ของสัตว์เลี้ยงเหล่านี้คือการเป็นที่พึ่งทางอารมณ์ให้กับเจ้าของที่อาจจะมีความบกพร่องทางกาย ทางใจ หรือทางสติปัญญา

ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นหมาหรือแมวเท่านั้น จะเป็นสัตว์ประเภทอื่นๆ ก็ได้ ตราบใดที่สามารถทำหน้าที่ในการผ่อนคลายอารมณ์ให้เจ้าของได้

ที่ผ่านมาเราก็มักจะได้ยินข่าวหรือได้เห็นคนนำสัตว์เลี้ยงขึ้นไปนั่งข้างๆ บนเครื่องบินด้วยบ่อยๆ เพราะสำหรับคนจำนวนหนึ่งแล้วการโดยสารบนเครื่องบินมาพร้อมกับความตึงเครียดที่อาจนำไปสู่อาการกระวนกระวายได้

สายการบินต่างๆ จึงอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงที่เป็น emotional support animal ขึ้นไปบนเครื่องด้วยได้ ตราบใดที่มีหนังสือรับรองที่ถูกต้องจากสัตวแพทย์

 

แต่ขึ้นชื่อว่าคนก็ย่อมหาช่องโหว่ของทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ก็เลยมีการฉกฉวยโอกาสใช้นโยบายนี้ในการนำสัตว์เลี้ยงของตัวเองขึ้นไปบนเครื่องโดยปกปิดอยู่ภายใต้ข้ออ้างว่าเป็น emotional support animal โดยที่บางตัวไม่ได้รับการฝึกฝนมาด้วยซ้ำ สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปดม หรือเห่าใส่

ซึ่งสุนัขที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีจะไม่ทำ และมีแม้กระทั่งการนำนกยูงขึ้นไปบนเครื่องด้วย

จนทำให้ล่าสุดกระทรวงคมนาคมของสหรัฐต้องออกมาชงกฎหมายว่า ต่อไปนี้ emotional support animal จะไม่อยู่ภายใต้หมวดหมู่ของ service animal อีกต่อไป ดังนั้น จะห้ามนำขึ้นไปโดยสารร่วมกับคนอีก และ service animal ที่เข้าข่ายนำขึ้นไปนั่งบนเครื่องด้วยได้จะต้องเป็นสุนัขที่ผ่านการฝึกฝนให้ปฏิบัติภารกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางใดทางหนึ่งแล้วเท่านั้น ไม่นับรวมถึงสัตว์ประเภทอื่น

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นแมวหรือม้าแคระก็ถือว่าเป็นอันตกไป

 

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เพื่อปูทางไปสู่ความเป็นไปได้ว่าหลังจากนี้อีกไม่นานหน้าที่ของการเป็นที่พึ่งทางอารมณ์อาจจะถูกโอนย้ายถ่ายทอดจากสัตว์เลี้ยงมาสู่หุ่นยนต์ก็ได้

เว็บไซต์ MIT Technology Review พูดถึงเรื่องหนึ่งไว้ได้อย่างน่าสนใจค่ะ

บทความเล่าถึงนักบินอวกาศที่แน่นอนว่าจะต้องเป็นหนึ่งในอาชีพที่ต้องฟิตที่สุดไม่ว่าจะทั้งทางกายหรือว่าทางใจ

แต่การออกไปทำงานในอวกาศนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะนอกจากจะต้องรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายอยู่ตลอดเวลา

การไปใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศในที่แคบๆ นอนที่เดิม ข้างๆ คนเดิมเป็นเวลาหลายเดือน หลายปี ก็น่าจะทำให้เกิดความเครียดได้ไม่น้อย

นอกจากนี้ก็ยังต้องเผชิญกับผลกระทบที่เกิดจากสภาพไร้แรงโน้มถ่วงที่ส่งผลต่อมวลกระดูกและกล้ามเนื้ออีก

ดังนั้น ก็จินตนาการได้ไม่ยากว่านี่ก็น่าจะเป็นอาชีพที่ต้องการที่พึ่งทางอารมณ์มากที่สุด แต่การที่จะนำเอา service animal ขึ้นไปบนอวกาศด้วยนั้นก็ไม่น่าจะเป็นไปได้

จึงเป็นที่มาของการที่ NASA ทำงานร่วมกับบริษัทที่พัฒนาผู้ช่วยดิจิตอลหลายแห่งเพื่อคิดค้นหุ่นยนต์ที่สามารถทำหน้าที่เป็นที่พึ่งพาทางอารมณ์ให้กับนักบินอวกาศได้ คาดเดาได้ว่านักบินอวกาศจะต้องการอะไร และเข้าแทรกแซงได้ทันท่วงทีถ้าหากเห็นความเสี่ยงว่าสุขภาพจิตของนักบินอวกาศเริ่มถดถอยจนเป็นอันตราย

 

หุ่นยนต์ที่ทดลองใช้งานจริงในสถานีอวกาศนานาชาติแล้วก็อย่างเช่น CIMON หุ่นยนต์ขนาดเท่าลูกบอลของ IBM ที่ออกแบบมาให้ช่วยนักบินอวกาศปฏิบัติภารกิจและเป็นที่พึ่งทางอารมณ์ ซึ่งทีมนักบินอวกาศทดลองใช้งานมาแล้วสามปี แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ยังไม่ค่อยน่าพอใจเท่าไหร่เพราะรู้สึกว่าจะกลายเป็นการไปสร้างความรำคาญให้นักบินอวกาศเสียมากกว่า

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ หุ่นยนต์ในเวอร์ชั่นปัจจุบันนั้นยังไม่มีความฉลาดทางด้านอารมณ์

ก็ไม่น่าแปลกใจที่มันจะไม่สามารถเป็นที่พึ่งทางอารมณ์ให้มนุษย์ได้

แต่ NASA ก็ไม่ได้ยอมแพ้ และหันไปทำงานร่วมกับ Akin บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติออสเตรเลียนเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ที่จะช่วยดูแลจิตใจให้นักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จให้ได้

โดยที่ CEO ของบริษัทนี้บอกว่าเป้าหมายของการพัฒนา AI นี้ไม่ได้จะเอามาให้ช่วยเตือนความจำหรือทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เหมือนกับที่ Alexa หรือ Siri ทำได้

แต่จะต้องทำหน้าที่เป็นเพื่อนคู่คิดที่จะคอยเข้าใจอารมณ์ของมนุษย์ได้เสมอ และเมื่อรู้ว่ามนุษย์มีความเครียดก็จะต้องช่วยจัดการผ่อนคลายความเครียดนั้นลงให้ได้

 

วิธีการช่วยลดความเครียดให้กับนักบินอวกาศที่ทำกันในปัจจุบันก็คือ การให้นักบินอวกาศพูดคุยกับจิตแพทย์บนโลกเพื่อคอยสำรวจอาการอยู่เรื่อยๆ

แต่ข้อจำกัดก็คือ จะทำให้ได้หากนักบินอวกาศอยู่ในวงโคจรต่ำของโลกเท่านั้น หลุดไปกว่านั้นก็ใช้วิธีนี้ไม่ได้แล้ว

ดังนั้น การมีหุ่นยนต์ที่พึ่งทางใจเดินทางไปด้วยกันบนยานอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นทางออก

หุ่นยนต์ที่พึ่งทางอารมณ์อาจจะมาได้ในหลากหลายรูปแบบ บางตัวอาจจะมีล้อให้เคลื่อนที่ไปไหนมาไหนเองได้

ในขณะที่บางตัวก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีรูปร่างทางกายภาพอะไรเลย และเป็นเพียงแค่ระบบที่ติดตั้งอยู่กับยานอวกาศก็ได้ และเมื่อทำได้สำเร็จก็จะขยายการใช้สอยของมันออกไปให้กว้างขึ้น นอกจากอวกาศแล้วก็อาจจะนำไปใช้ในพื้นที่ห่างไกลอย่างแอนตาร์กติกา

หรือนำไปใช้ช่วยดูแลผู้สูงวัยหรือคนพิการได้

 

แต่ก็นั่นแหละค่ะ ความท้าทายที่เราจะยังคงต้องเจอกันต่อไปก็คือ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจอารมณ์ของมนุษย์ได้

สิ่งที่มันเข้าใจคือความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลง แต่มันไม่สามารถมองเข้าไปอ่านอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของเราได้ สิ่งที่มันพอจะทำได้ก็คือการอ่านสีหน้า อากัปกิริยา ท่าทางของร่างกาย และน้ำเสียงในโทนต่างๆ ของเรา และแปลค่าว่าสิ่งที่เห็นน่าจะหมายถึงอารมณ์แบบไหน และมันจะรับมือกับอารมณ์แบบนั้นอย่างไร

เมื่อวันที่หุ่นยนต์กลายเป็นที่พึ่งทางอารมณ์ของเราได้เมื่อไหร่ ก็คงจะไม่แปลกอะไรที่เราจะเห็นคนนำหุ่นยนต์ emotional support robot ติดตัวไปด้วยทุกที่

คล้ายๆ กับการมีนักจิตบำบัดในเวอร์ชั่นเบสิกข้างกายเพื่อคอยประเมินและรับมือกับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของเราตลอดเวลา

แต่เราจะถ่ายโอนความรู้สึกผูกพันในแบบเดียวกับที่เรามีให้สัตว์เลี้ยงไปสู่หุ่นยนต์มากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็น่าจะตอบยากในตอนนี้ค่ะ