เปลี่ยนผ่าน : เจาะลึก! ทำไม ตม.เกาหลีใต้ ส่งนักท่องเที่ยวไทยกลับประเทศมากที่สุด?

AFP PHOTO / Ed Jones

โดย เบญจพร ศรีดี

กระแสความนิยมซีรี่ส์เกาหลีเรื่อง “Descendants of the sun” ที่ปรากฏในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าในปัจจุบัน สื่อและวัฒนธรรมของเกาหลีใต้มีอิทธิพลต่อบ้านเรา

จนถือเป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวตามรอยซีรี่ส์ที่ตัวเองชื่นชอบ อีกทั้งชื่นชมบรรยากาศวัฒนธรรมต่างๆ หรือซื้อเครื่องสำอาง

แต่หลายคนก็เลือกบินไปดินแดนในฝัน เพื่อไปทำงาน เนื่องจากค่าตอบแทนสูง แต่การเดินทางไปทำงานนั้น มีทั้งไปแบบถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมาย

โดยไทยกับเกาหลีใต้มีข้อตกลงร่วมกันว่านักท่องเที่ยวของแต่ละประเทศสามารถเดินทางไปมาระหว่างกันได้ โดยไม่ต้องมีวีซ่า และอาศัยได้นานถึง 90 วัน ในการเข้าเมืองแต่ละครั้ง หลายคนจึงใช้ช่องทางนี้ลักลอบเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมาย

ปัญหานี้ถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกาหลีใต้เข้มงวดและปฏิเสธการเข้าเมืองของคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง เหนือประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

 

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทย พบว่าในแต่ละปี มีคนไทยเดินทางไปเกาหลีใต้ ประมาณ 400,000 คนต่อปี แต่จากข้อมูลในปี 2558 พบว่าเกาหลีใต้ปฏิเสธการเข้าเมืองของคนไทยมากที่สุดถึง 28,750 คน

ประเทศอันดับรองลงมา ที่ปฏิเสธการเข้าเมืองของคนไทย คือ สิงคโปร์ (5,753 คน) ฮ่องกง (1,689 คน) ญี่ปุ่น (1,588 คน) และอันดับ 5 คือ (มาเลเซีย 345 คน)

ในปีนี้ (2559) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 6 มีนาคม เพียงแค่ 2 เดือนกว่า มีคนไทยถูกเกาหลีใต้ปฏิเสธการเข้าเมืองถึง 5,860 คน ทั้งผู้ที่เดินทางไปด้วยตัวเอง รวมถึงผู้ที่เดินทางไปกับกรุ๊ปทัวร์

จากการสอบถามบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ราคาทัวร์ไปเกาหลีใต้ เริ่มต้นที่หลักหมื่นบาทจนถึงหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่จะเดินทางไป และจำนวนวันท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางเกือบทุกครั้งจะมีผู้ถูกปฏิเสธการเข้าเมือง เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้สงสัยว่าคนคนนั้นอาจจะเข้ามาเพื่อลักลอบทำงาน และอาจอยู่เกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ทำให้ต้องถูกส่งตัวกลับประเทศไทยทันที ไม่มีโอกาสได้ท่องเที่ยวทั้งที่เดินทางไปถึงแล้ว

กรณีเช่นนี้ บริษัททัวร์จะไม่คืนเงินให้ผู้เสียหาย เนื่องจากมีการซื้อตั๋วเครื่องบินพร้อมเตรียมเอกสารการเดินทางให้ครบถ้วนแล้ว แต่เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ที่จะพิจารณานักท่องเที่ยวเป็นรายบุคคลไป

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทย พยายามสอบถามปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวชาวไทยซึ่งถูกปฏิเสธการเข้าเมืองโดยเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ เพื่อรวบรวมข้อมูล แต่บางคนก็อายที่จะให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่

 

ในทางกลับกัน พลตำรวจโทณัฐธร เพราะสุนทร ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระบุว่า ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุด เมื่อปี 2558 คือชาวจีน เป็นจำนวนกว่า 8 ล้านคน

ขณะที่ชาวเกาหลีใต้เดินทางเข้าไทย 1,456,825 คน หรือเดือนละ 121,402 คน วันละ 3,991 คน และถูกทางการไทยปฏิเสธการเข้าเมืองเพียง 797 คน รองลงไป ได้แก่ ญี่ปุ่น และอินเดีย ตามลำดับ

จะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้เข้ามาในประเทศไทย มากกว่าที่คนไทยเดินทางไปเกาหลีใต้ถึง 3 เท่า แต่เมื่อคนไทยไปถึงเกาหลีใต้ กลับเป็นประเทศที่เราถูกปฏิเสธการเข้าเมือง ทั้งการถูกปฏิเสธที่หน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด รวมถึงถูกส่งตัวกลับมา เนื่องจาก “โอเวอร์สเตย์” หรืออยู่เกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ กระทั่งถูกขึ้นแบล็กลิสต์

การโอเวอร์สเตย์ของคนไทยในเกาหลีใต้ ถือเป็นต้นตอของปัญหา ที่ทำให้เกาหลีใต้ปฏิเสธการเข้าเมืองของคนไทย

นอกจากการอยู่เกินกำหนด เพื่อลักลอบทำงานในเกาหลีใต้ ซึ่งมีกรณีทำนองนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยตัดสินใจโอเวอร์สเตย์ หลังอยู่ในเกาหลีใต้ครบ 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด

กล่าวคือ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้อยู่ติดทะเล นักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งต้องการจะอยู่นานเกิน 3 เดือน จึงไม่สามารถเดินทางออกไปประเทศที่สาม แล้วกลับเข้ามาใหม่ได้ ครั้นจะบินกลับมาประเทศไทย แล้วบินกลับไปเกาหลีใต้อีกครั้ง ก็เปลืองค่าตั๋วเครื่องบินโดยใช่เหตุ พวกเขาจึงยอมเสี่ยงโอเวอร์สเตย์เพื่อท่องเที่ยวต่ออย่างประหยัดค่าใช้จ่าย

แตกต่างจากคนเกาหลีใต้ที่เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งสามารถเดินทางต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านของเรา แล้วจึงค่อยกลับเข้ามาประเทศไทยใหม่ได้อีกครั้ง

 

จากปัญหานี้ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระบุว่า ส่วนตัวให้ความเคารพต่อกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติของเกาหลีใต้

แต่เพื่อจะหาทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ขณะนี้ จึงกำลังติดต่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ เพื่อขอทราบหลักเกณฑ์และบรรทัดฐานการตรวจคนเข้าเมือง ว่านักท่องเที่ยวชาวไทยต้องปฏิบัติตัวและเตรียมเอกสารหรือสิ่งใดบ้าง ที่จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้

เพื่อป้องกันการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทั้งค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ ค่าจองโรงแรมที่จะต้องเสียฟรีๆ และเพื่อลดจำนวนผู้ถูกปฏิเสธเข้าเมือง ทำให้ไม่มีโอกาสท่องเที่ยวตามที่ตั้งใจไว้

โดยเบื้องต้น สิ่งที่ทำได้ขณะนี้ คือการสร้างความรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่จะต้องเตรียมตั๋วเครื่องบินขากลับ รายละเอียดการจองโรงแรม

และที่สำคัญคือ แผนการท่องเที่ยว ตลอดจนเตรียมตอบคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดการเดินทางต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้มั่นใจว่าเป็นการเดินทางมาท่องเที่ยว

ไม่ใช่เข้ามาเพื่อลักลอบทำงาน

 

สําหรับการเดินทางเข้ามาในบ้านเราของชาวต่างประเทศ แม้ไทยจะต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกชาติ และในแต่ละปีมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ก็อาจมีอาชญากรข้ามชาติแอบแฝงเข้ามาด้วย

ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จึงได้มีมาตรการต่างๆ อาทิ มาตรการ “โอเวอร์สเตย์แบล็กลิสต์” ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559 โดยให้คนต่างด้าวที่อยู่เกินกำหนดเข้ามามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ หากอยู่เกินกว่าที่ได้รับอนุญาต 90 วัน ในการเดินทางครั้งต่อไป จะห้ามเข้าประเทศตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

อาทิ อยู่เกินกว่า 1 ปี ห้ามเข้าประเทศไทย 3 ปี อยู่เกินกว่า 3 ปี ห้ามเข้า 5 ปี อยู่เกินกว่า 5 ปี ห้ามเข้า 10 ปี แต่ก็ไม่ได้ห้ามเข้าไทยตลอดชีวิต

ส่วนชาวต่างชาติที่อยู่เกินเวลาเพียงเล็กน้อยไม่กี่วัน ก็จะถูกปรับขั้นต่ำ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท

มาตรการดังกล่าวสามารถลดจำนวนนักท่องเที่ยวโอเวอร์สเตย์ลง จาก 800,000 กว่าคน เหลือเพียง 400,000 กว่าคน หรือลดลงเกือบร้อยละ 40 และสามารถเก็บเงินค่าปรับได้กว่า 300 ล้านบาท

ถือเป็นตัวชี้ชัดได้ว่ามีชาวต่างชาติจำนวนมากอยู่ในประเทศไทยเกินกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด และมาตรการโอเวอร์สเตย์แบล็กลิสต์ ก็สามารถลดปัญหานี้ได้

รับชมคลิปวิดีโอประกอบรายงานข่าวชิ้นนี้ได้ทางเว็บไซต์ยูทูบ โดยเสิร์ชหาข้อความ “matichontv + คนไทยไปเกาหลีใต้”