ได้เวลาทวงคืนประเทศจากระบอบประยุทธ์สักที : ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ปี 2563 กำลังจะผ่านห้าสิบวันแรกไปพร้อมกับความนิยมต่อพลเอกประยุทธ์ที่ดิ่งเหวทุกวิถีทาง ข่าวใหญ่ช่วงท้ายปีเก่าคือโพลทุกสำนักอยากให้ธนาธรเป็นนายกมากกว่าพลเอกประยุทธ์ , เชื่อมั่นพรรคอนาคตใหม่มากกว่าพลังประชารัฐ รวมทั้งประธานสภา “ชวน หลีกภัย” เสนอว่าทหารไม่ควรเป็นสมาชิกวุฒิสภา

ถ้าคำนึงว่าธนาธรถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินพ้นสภาพ ส.ส.ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน และอนาคตใหม่ก็โดนคดียุบพรรคเยอะไปหมด ผลโพลคือเครื่องบ่งชี้ว่าประชาชนเอือมระอาประยุทธ์ถึงขั้นโหวตหนุนฝ่ายตรงข้ามประยุทธ์อย่างธนาธรไปแล้ว แม้ในความเป็นจริงทั้งธนาธรและพรรคจะไม่มีอำนาจอะไรเลยก็ตาม

หลังจากผลโพลที่แสดงความรังเกียจพลเอกประยุทธ์ผ่านไป ทุกวันในปีนี้ล้วนเต็มไปด้วยข่าวร้ายซึ่งตอกย้ำให้ประชาชนเอือมระอานายกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง , ยอดปิดโรงงานพุ่ง, ฝุ่นพิษ PM 2.5, ส.ส.รัฐบาลลงมติแทนกัน , รัฐบาลไม่แก้ปัญหาไวรัสโคโรนา หรือเหตุทหารคลั่งกราดยิงประชาชน

โดยปกตินั้นปีใหม่คือช่วงเวลาที่คนจะลืมความขุ่นข้องหมองมัวเก่าๆ เพื่อเดินหน้าสู่อนาคตที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ทุกอย่างที่พลเอกประยุทธ์ทำหลังจากฟอกตัวเองผ่านการเลือกตั้งจนได้เป็นนายกในปี 2562 ล้วนทำให้ไม่มีวันไหนในปี 2563 ที่ประชาชนตื่นมาพร้อมกับข่าวดีเกี่ยวกับรัฐบาลแม้แต่ข่าวเดียว

ผลเลือกตั้งปี 62 ที่พรรคเพื่อไทยมี ส.ส.มากที่สุดสะท้อนว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ใช่นายกจากความต้องการของประชาชน และเมื่อถึงปี 2563 สัญญาณการเมืองต่างๆ ก็แสดงความถดถอยขององค์กรที่มีส่วนให้คุณประยุทธ์มีอำนาจ ตัวอย่างเช่นคำขานรับของสังคมต่อข้อเสนอคุณชวนเรื่องว่าทหารไม่ควรอยู่ในวุฒิสภา

พรรคพลังประชารัฐจัดตั้งขึ้นไม่ถึงปี แต่ภายใต้ความเบื่อหน่ายที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล พรรคซึ่งควรเป็นนั่งร้านให้พลเอกประยุทธ์อ้างว่ามาจากประชาชน กลับทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายพลเอกประยุทธ์ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมีแต่เรื่องฉาวอย่าง ส.ส.รุกป่า, ลงมติแทนกัน, ป่วนสภา, โชว์กร่าง ฯลฯ จนไม่เหลืออะไรให้สังคมนับถือเลย

อดีตประธานองคมนตรีเคยระบุในปลายปี 2561 ว่าพลเอกประยุทธ์แทบไม่เหลือกองหนุนเลย แต่เมื่อถีงปี 2563 องค์กรและสถาบันซึ่งเคยเป็น “กองหนุน” ประยุทธ์กลับถดถอยจนเอาตัวไม่รอดกันแล้ว ปัญหาของพลเอกประยุทธ์ในปี 2563 จึงไม่ใช่กองหนุนยังหนุนหรือไม่ แต่เป็นปัญหากองหนุนเองก็อ่อนกำลังลงไป

กปปส.แปลงร่างเป็นสถาบันทิศทางไทยและหมอวรงค์ แต่วิธีปลุกระดมมวลชนซึ่งวนเวียนอยู่กับการโจมตีคนส่วนใหญ่ว่า “ถูกหลอก” และ “ชังชาติ” ทำให้แกนนำของการปลุกปั่นเป็นตัวตลกในสังคมร่วมสมัย กองหนุนนายกมีภาพลักษณ์เป็นมวลชนคลั่งชาติที่พูดเรื่องชาติแบบหลงยุคราวคนตาขวางตลอดเวลา

พลเอกอภิรัชต์และกองทัพถูกมอบหมายให้เป็นนั่งร้านค้ำยันอำนาจรัฐบาล แต่หลังเหตุทหารคลั่งกราดยิงประชาชนที่โคราชจนมีผู้เสียชีวิตราว 30 และบาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน เสียงด่ากองทัพดังกึกก้องจนพลเอกอภิรัชต์ต้องใช้ยุทธการบีบน้ำตาเรียกร้องความเห็นใจ แต่นั่นก็ไม่สามารถทำให้เสียงก่นด่ากองทัพยุติลง

ท่ามกลางความเสื่อมสลายและถดถอยของกองหนุนประยุทธ์ทั้งหมด โอกาสที่พลเอกประยุทธ์จะจรรโลงอำนาจต่อไปบนความยอมรับของประชาชนนั้นแทบไม่มีเลย

โดยพื้นฐานแล้วพลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกเพราะแย่งอำนาจประชาชน พล.อ.ประยุทธ์สร้างรัฐธรรมนูญที่ทำให้ตัวเองตั้งญาติพี่น้องและพวกเป็นวุฒิสมาชิกไปเลือกตัวเองเป็นนายก การสืบทอดอำนาจปี 2562 คือการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากคนส่วนใหญ่จนเป็นรอยร้าวระหว่างประชาชนกับรัฐบาลจนปัจจุบัน

ประเทศไทยในปี 2548 เคยมีการบัญญัติคำว่า “ระบอบทักษิณ” เพื่อโจมตีนายกซึ่งชนะเลือกตั้งติดกันห้าปี แต่ในเมื่อตอนนี้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกปีที่ 6 ทั้งจากการยึดอำนาจปี 2557 และเลือกตั้งกำมะลอในปี 2562 เราย่อมสามารถเรียกระบอบการปกครองตอนนี้เป็น “ระบอบประยุทธ์” ได้เช่นกัน

อะไรที่ใช้คำว่า “ระบอบ” ย่อมหมายถึงระบบและโครงสร้างที่ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล และถ้าคำว่า “ระบอบทักษิณ” หมายถึงวิธีการและกระบวนการที่อดีตนายกทักษิณใช้จนได้เป็นนายกอย่างต่อเนื่อง คำว่า “ระบอบประยุทธ์” ก็น่าจะหมายถึงวิธีการและกลไกที่พลเอกประยุทธ์ทำจนได้เป็นนายกจนปัจจุบัน

ถ้าประยุทธ์ 1 คือการจัดตั้งคณะรัฐบาลจากคณะรัฐประหารโดยใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ ประยุทธ์ 2 ก็คือการตั้งรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองและวุฒิสภาจากเครือข่ายประยุทธ์ 1 เป็นผู้สนับสนุนทั้งหมด การเปลี่ยนผ่านจากประยุทธ์ 1 เป็นประยุทธ์ 2 จึงมีแกนกลางอยู่ที่การจรรโลงอำนาจแกนนำคณะรัฐประหารต่อไป

สื่อจำนวนมากเรียกผู้นำ ค.ส.ช.อันประกอบด้วยพลเอกประยุทธ์, พลเอกประวิตร และพลเอกอนุพงษ์ว่า “สาม ป.” และที่จริงการจัดตั้งรัฐบาลในประยุทธ์ 1 และประยุทธ์ 2 ก็ล้วนมี “สาม ป.” เป็นศูนย์กลางของคณะรัฐมนตรีผ่านการควบคุมกลาโหม, มหาดไทย และทำเนียบรัฐบาล

ไม่ว่าประเทศไทยจะมีเลือกตั้งหรือปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อไร ผลการจัดตั้งรัฐบาลต้องมีแกนกลางอยู่ที่ “สาม ป.” จนอาจกล่าวได้ว่า “ระบอบประยุทธ์” หมายถึง “ระบอบ ค.ส.ช.” ซึ่งถีงที่สุดแล้วคือ “ระบอบ สาม ป.” ที่คนกลุ่มนี้ต้องมีอำนาจคุมกองทัพ, คุมตำรวจ และคุมกลไกการปกครองทั้งหมดตลอดเวลา

หากถักทอภาพรวมของสถานการณ์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน ประเทศไทยวันนี้คือประเทศที่โครงสร้างส่วนบนอยู่ภายใต้ “ระบอบประยุทธ์” ที่คนหน้าเก่าไม่เกินห้าคนผูกขาดการคุมกระทรวงเพื่อคุมอำนาจรัฐโดยตรงอย่างเข้มงวด ขณะโครงสร้างส่วนล่างคือพรรคกับมวลชนนั้นถดถอยจนยากจะฟื้นความนิยมขึ้นมา

มองในแง่นี้ “ระบอบประยุทธ์” กำลังเป็นระบอบการปกครองที่ขาลอยและไม่มีฐานสนับสนุนในความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าสงสัยว่าระบอบอาจไม่มีที่มั่นอะไรในสังคมอีกเลย นอกจากการควบคุมข้าราชการและการใช้กำลังทหารตำรวจเป็นเครื่องมือในการจรรโลงอำนาจทางการเมืองและการปกครอง

เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่พรรคฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และถึงแม้การอภิปรายรอบนี้จะเป็นการอภิปรายรายบุคคล แต่รัฐมนตรีที่ฝ่ายค้านเลือกอภิปรายอย่างวิษณุ-ดอน-ธรรมนัส ฯลฯ แสดงถึงยุทธศาสตร์ใหญ่ที่ต้องการสั่นคลอน “ระบอบประยุทธ์” หรือ “ระบอบ สาม ป.” อย่างถึงรากถึงโคน

คุณวิษณุเป็นรองนายกด้านกฎหมายของพลเอกประยุทธ์ตั้งแต่ยุค ค.ส.ช. การอภิปรายคุณวิษณุจึงเป็นการตีแผ่ว่ารัฐบาลประยุทธ์ 1 และ 2 ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจต่างๆ ซึ่งทั้งหมดจะมีผลให้ประชาชนเห็นการปกครองที่ปราศจากหลักนิติธรรมของรัฐบาลโดยตรง

คุณธรรมนัสและคุณดอนคุมหน่วยงานที่ไม่สำคัญทางการเมือง แต่ทั้งคู่มีภาพลักษณ์ติดลบจนอภิปรายได้ง่าย โดยเฉพาะคุณธรรมนัสซึ่งมีปัญหาส่วนบุคคลที่อาจเป็นเหตุให้พรรคร่วมรัฐบาลลงมติไว้วางใจต่ำกว่ารัฐมนตรีคนอื่น การถล่มคุณธรรมนัสจึงมีโอกาสทำให้คุณธรรมนัสลาออกจนรัฐบาลเผชิญปัญหาการเมือง

แกนนำที่แท้จริงของรัฐบาลคือกลุ่มพลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตร และพลเอกอนุพงษ์ และถึงแม้ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งสามคน ตัวญัตติกลับพูดถึงข้อบกพร่องของพลเอกประยุทธ์ทั้งในแง่บุคคลและแง่คุณสมบัติอย่างดุเดือด เป้าหมายที่แท้จริงของกลุ่ม “สาม ป.” จึงอยู่ที่ตัวพลเอกประยุทธ์เอง

ควรสังเกตว่าฝ่ายค้านยื่นอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล พลเอกประยุทธ์ในฐานะนายกจึงต้องตอบคำถามฝ่ายค้านทุกเรื่องตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจ, การทุจริตเชิงนโยบาย , ความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารราชการ ฯลฯ ซึ่งเท่ากับบีบให้พลเอกประยุทธ์ตอบคำถามที่พลเอกประยุทธ์แทบไม่มีทางจะตอบได้เลย

ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในเรื่องที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี คำถามคือพลเอกประยุทธ์ที่เป็นทั้งหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจจะตอบคำถามยากๆ อย่างค่าเงินบาทแข็งตัว-ผลกระทบต่อการส่งออก-นโยบายดอกเบี้ย หรือปัญหาอื่นๆ ได้หรือไม่ และจะเกิดอะไรหากตอบไม่ได้เลย

แน่นอนว่าพรรคฝ่ายค้านมี ส.ส.น้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล และภายใต้มาตรการดูด 13 ส.ส.งูเห่าจากฝ่ายค้านอย่างอนาคตใหม่-เพื่อไทย-ประชาชาติ-เศรษฐกิจใหม่ โอกาสที่ฝ่ายค้านจะคว่ำรัฐบาลในสภาจึงมีน้อยกว่าน้อย แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการอภิปรายของฝ่ายค้านจะทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลในสายตาประชาชน

ด้วยความสำเร็จของฝ่ายค้านในการอภิปรายงบประมาณและนโยบายรัฐบาล มีความเป็นไปได้ที่ประยุทธ์ 2 จะถดถอยทางการเมืองจนความนิยมหดหายลงไปอีก โพลที่แสดงความเสื่อมศรัทธาต่อรัฐบาลเกิดหลังประชาชนฟังฝ่ายค้านอภิปรายมาสองครั้งแล้ว ไม่มีเหตุผลที่การอภิปรายรอบนี้จะมีบทสรุปที่ต่างออกไป

ระบอบประยุทธ์ 2 กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติศรัทธาซึ่งมีโอกาสลุกลามเป็นวิกฤติการณ์ทางการเมือง และหากเปรียบเทียบรัฐบาลกับตลาดหุ้น พลเอกประยุทธ์ก็คือหุ้นที่มีแต่ข่าวอื้อฉาวจนการลงทุนคือหนทางสู่หายนะจนทางออกที่ดีที่สุดได้แก่การตัดขายหุ้นเหมือนตัดนิ้วร้ายในร่างกายคนเรา

ได้เวลาทวงคืนประเทศจากระบอบประยุทธ์มาเป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่จริงๆ สักที