คำ ผกา : ฮีทำไมต้องแห้ง?

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 ธ.ค. 2557

ช่วงปลายปี 2557 สื่อทุกสื่อในเมืองไทยพร้อมใจกันลงข่าวเรื่อง “หญ้าฮียุ่ม” ซึ่งถ้าไปอ่านบทสัมภาษณ์ของ ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว อย่างละเอียด จะพบว่า ภญ.ผกากรอง พยายามจะให้บริบทแก่หญ้าชนิดนี้ทั้งในทางวัฒนธรรม การตั้งชื่อสมุนไพรของชาวบ้าน เช่น หญ้าชนิดนี้ ที่สตูลเรียกว่า “หมอยแม่ม่าย” ซึ่งไม่ได้สื่อถึงสรรพคุณของ “ฮียุ่ม” แต่อย่างใด ส่วนฉันเมื่อพยายามอ่านในรายละเอียดแล้วพบว่าหลักๆ คือเป็นส่วนหนึ่งของสมุนไพรที่เอาไว้ใช้อยู่ไฟสำหรับผู้หญิงหลังคลอดร่วมกับสมุนไพรตัวอื่นๆ ภญ.ผกากรองจึงพยายามจะบอกว่าอย่าเพิ่งไปตื่นซื้อหญ้านี้ในราคาแพงๆ มาปลูก เพราะยังมีสมุนไพรตัวอื่นๆ เช่น เพชรสังฆาต หรือว่านชักมดลูก ที่นำมาใช้ในลักษณาการเดียวกัน (http://www.thairath.co.th/content/448495)

สําหรับฉันในฐานะผู้หญิง คำว่า “ฮียุ่ม” ที่สื่อนำมาเป็นจุดขาย -ทั้งขายข่าวและขายสมุนไพร- สร้างความกระอักอ่วนใจอยู่เล็กน้อย แต่ยังไม่สามารถอธิบายความกระอักกระอ่วนใจของตัวเองออกมาได้

ไม่ได้กระอักกระอ่วนตรงคำว่า “ฮี”

แต่กระอักกระอ่วนตรงที่เรา “ผู้หญิง” ถูกเรียกร้องให้ต้อง “ยุ่ม” “ฮี” ของเรา ทั้งด้วยการฝึกขมิบช่องคลอด ทั้งด้วยการใช้สมุนไพร หรือสารเคมีอื่นๆ

คอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศที่ฉันอ่านมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กทุกคอลัมน์จากทุกนิตยสาร พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้หญิงต้องฝึกขมิบช่องคลอดให้ฟิตกระชับเสมอเพราะช่องคลอดที่กระชับคือช่องคลอดที่ถือว่ามีสุขภาพดี อีกนัยหนึ่งคือผัวจะรักจะหลง

แถมยังจำได้แม่นว่ามีจดหมายจากคุณผู้อ่านฉบับหนึ่งเขียนมาในคอลัมน์เพศๆ ว่า ตนได้พยายามล้างช่องคลอดด้วยสารส้มเพื่อให้ช่องคลอดกระชับ (ฝืด) เพื่อสามีจะได้ไม่บ่นว่า ช่องคลอดของภรรยาหลวมโพรก หมดอายุ

จากจุดนี้ หากเราตั้งหลักคิดอีกนิด เราคงจะมีคำถามว่า

– ช่องคลอดที่หลวมบ่งบอกสุขภาพหรือเป็นสัญญาณบอกโรคภัยที่ผู้หญิงควรระมัดระวังหรือไม่?

– ช่องคลอดที่ฟิต เป็นคนละเรื่องกับช่องคลอดที่ฝืดและแห้งใช่หรือไม่?

– การแก้ปัญหาช่องคลอดหลวม (จากการคลอดลูกหรือเป็นไปตามธรรมชาติ) ด้วยการไปทำให้มันแห้งและฝืด เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดหรือไม่?

– ความปรารถนาในช่องคลอดที่ฟิต แห้ง หอม เป็นโรคทางกายหรือทางวัฒนธรรม

– ผู้หญิงรู้สึกอย่างไรกับการถูกคาดหวังให้มีทั้งซอกจั๊กแร้ที่ขาว หอม แห้ง ลามปามมาถึง การมี “ฮี” ที่ขาว หอม แห้ง (โฆษณาน้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นบอกสรรพคุณไว้เช่นนี้)?

– ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย แยกการมี “ฮี” ที่ ขาว หอม แห้ง กับการมีน้ำหล่อลื่นขณะร่วมเพศออกจากกันอย่างไร เพราะสองอย่างนี้อาจขัดแย้งกัน ในกรณีทีผู้หญิงมีอารมณ์ทางเพศมากก็อาจมีน้ำหล่อเลี้ยงออกมามาก ก็ย่อมส่งผลให้ฝ่ายชายรู้สึกราวกับว่าของผู้หญิงนั้น “หลวม” ทีนี้เราแยกความ “หลวม” ออกจากความ “ลื่น” อย่างไร?

และเราสามารถอธิบายความ “หลวม” ว่าเกิดจากอวัยวะเพศของฝ่ายชายที่ “เล็ก” ซึ่งแปลว่า “ของชั้นไม่ได้หลวมแต่ของเธอมันเล็ก” ได้หรือไม่?

สรุปคือ ผู้หญิงรู้สึกว่า การถูกเรียกร้องให้มี “ฮี” ฟิตตลอดเวลานั้น เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนคนเราต้องแปรงฟัน หรือคิดว่า เฮ้ย แม่ง ทำไมตรูต้องมานั่งกระชับ “ฮี” เพื่อพลีสผู้ชาย??????

ผู้หญิงพยายามกระชับ “ฮี” เพื่อพลีสผู้ชาย มีนัยแห่งการพึ่งพิง ไม่อยากถูกผู้ชายทิ้ง ไม่อยากถูกละเลย ส่อความหมายว่าผู้หญิงไม่อาจมีชีวิตตามลำพังได้โดยปราศจากผู้ชาย?

ส่วนผู้ชายกินยาม้ากระทืบโรง ไม่ได้กินเพื่อพลีสผู้หญิง แต่คำว่า “ม้ากระทืบโรง” ส่อนัยความหมายของผู้กระทำไม่ได้กระทำอย่างธรรมดาแต่กระทำอย่างก้าวร้าวด้วยคือคำว่า “กระทืบ”

กิริยา “กระทืบ” บอกถึงการสำแดงพลัง อำนาจ ความรุนแรง ความยิ่งใหญ่ของผู้กระทืบ

ผู้กินยาม้ากระทืบโรง ไม่ใช่เพื่อพลีสคู่นอน แต่เพื่อบอกว่า กูใหญ่ กูเก่ง กูสามารถ กูทำได้หลาายครั้ง ซึ่งอาจหมายถึงทำได้หลายคน สะท้อนวัฒนธรรมผัวเดียวหลายเมีย ซึ่งอีกด้านหนึ่งผู้ชายถูกเรียกร้องว่าถ้ารักจะมีเมียหลายคนก็ต้องสามารถมีพลังทางเพศให้ความสุขทางกามารมณ์กับเมียทุกคนได้

ถ้า หญ้าฮียุ่ม สะท้อนความพยายามผูกติดตนเองไว้กับผู้ชายเพียงคนเดียวของผู้หญิง

ม้ากระทืบโรงก็สะท้อนความพยายามขยายขอบเขตทางอำนาจของผู้ชายไปยังผู้หญิงอีกไม่จำกัดจำนวน
เรื่องแบบนี้ไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมไทย บทความที่ชื่อ “Dry sex : Women at pains to please” จากเพจ Thisisafrica.me ไม่เพียงแต่ทำให้เรารู้ว่า ประเด็นนี้เกิดขึ้นในหลายสังคม แต่ยังทำให้เราตระหนักว่า “ฮี” แห้ง กับ “ฮี” เปียก เป็นเรื่องของวัฒนธรรม

คุณหมอชาวดัตช์ ชื่อ Dr.Van Andel ออกมาเตือนว่า บรรดาผู้หญิงที่อยู่ใน “วัฒนธรรม” “ฮี” แห้ง ทั้งหลายโปรดระวังความปลอดภัย เนื่องจากภาวะ “ฮี” แห้ง ขณะร่วมเพศ อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อต่างๆ นานา ไปจนถึงการเสี่ยงที่จะติดเชื้อ HIV เพราะการที่มันแห้งก็อาจทำให้ฉีกขาด มีบาดแผล เชื้อโรคต่างๆ ก็เข้าไปกับบาดแผลได้

ไม่เพียงเท่านั้น คุณหมอยังออกมาเตือนว่า สตรีที่อยู่ในวัฒนธรรม “ฮี” แห้ง มักจะมีการใช้ยา ใช้สมุนไพร ทั้งทา ทั้งรม ทั้งสอด เพื่อให้ช่องคลอดฝืดและแห้ง โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้ชายรู้สึกว่าตนเองมี “รูฟิต”

สารเคมีหรือสมุนไพรเหล่านั้นจะไปฆ่าแบคทีเรียที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และอย่างที่เรารู้กันดีว่าแบคทีเรียตามธรรมชาติเหล่านั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายในแง่ของการจำกัดของเสียตามธรรมชาติอีกนั่นแหละ

เรื่องทางการแพทย์ผิดถูกอย่างไร คงต้องปล่อยให้เหล่าแพทย์ถกเถียงกันเอง

หรือ นักวิชาการที่สนใจเรื่อง “หลังอาณานิคม” อาจวิเคราะห์ต่อไปได้อีกว่านี่เป็นทัศนะของคนผิวขาวเจ้าอาณานิคม ทีมีอคติว่า practice ของชาวพื้นเมืองเป็นสิ่งที่ไม่อารยะ ผิดหลักการทางวิทยาศาสตร์ สมควรต้องได้รับการพัฒนา ปรับปรุง ให้การศึกษาใหม่

และเรื่องอะไรที่พวกคนผิวขาวจะมีหน้ามาบอกว่า วัฒนธรรม “ฮี” เปียก ของตัวเองดีกว่าวัฒนธรรม “ฮี” แห้ง ของคนอื่นๆ ชิ?

แต่สำหรับสตรีในกะลาแลนด์อย่างฉัน อ่านแล้วก็ถึงบางอ้อ พร้อมๆ กับคำถามหลายคำถามที่เขียนไปข้างต้นก็ได้รับการคลี่คลาย

 

ชัดเจนแล้วว่า ในขณะที่โลกตะวันตกผลิตน้ำยาหล่อลื่นช่องคลอดออกมามหาศาล และคอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศทั้งหลายก็พยายามไขปริศนาว่าทำอย่างไรจะให้ช่องคลอดสตรีชุ่มฉ่ำมีน้ำมีนวลอยู่เสมอ ภาวะ “ฮี” แห้ง บอกถึงความสุขสมในชีวิตทางเพศ อาการหนึ่งของภาวะเมนโนพอสที่ถือว่าต้องได้รับการเยียวยาคือช่องคลอดแห้งผาก

ทว่า ในอีกหลายภูมิภาคในโลกนี้ เช่น แอฟริกา บางส่วนของแอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นั้น อยู่ในวัฒนธรรม “ฮี” แห้ง

หลายปีมาแล้วได้อ่านหนังสือชื่อ Aman : A story of Somali girl ตอนหนึ่งของหนังสือพูดถึงประสบการณ์ “ขริบ” อวัยวะเพศของเธอที่เราอ่านแล้วต้องพลอย “ขมิบ” จิ๋มของเราไปด้วย เพราะความหวาดเสียว เพราะจินตนาการว่ามันต้องเจ็บมาก เสียเลือดมาก เสี่ยงมาก

แต่ Aman ซึ่งถือว่าเป็นผู้หญิงที่ขบถต่อวัฒนธรรมเก่าๆ ของสังคมแอฟริกันแล้ว ก็ยังยืนยันว่าอวัยเพศของผู้หญิงตะวันตกนั้นน่ารังเกียจ เพราะน่าจะเปียกชื้น เนื่องจากไม่ได้รับการขริบ สิ่งสกปรกน่าจะไปฝังอยู่ตามซอกหลืบอันซับซ้อนที่ไม่ได้ถูกเฉือนทิ้งไปอย่างอวัยวะเพศของสตรีแอฟริกันอย่างเธอ

อวัยวะเพศที่แห้ง ถูกปาดทิ้งไปจนเรียบ สะอาด คือสิ่งที่เธอภูมิใจ

 

คุณหมอ Van ชาวดัตช์ที่ออกมาเตือนเรื่อง “ฮี” แห้งนั้น เป็นผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรที่ผู้คนแถบแคริบเบียนไว้ทาถู สอด รม อวัยวะเพศให้แห้ง บอกว่า ส่วนใหญ่เป็นพืชที่มีสารแทนนินซึ่งให้รสฝาด เมื่อนำมาใช้กับอวัยวะเพศแล้วก็ทำให้เกิดการตึง ฝืด แห้ง ส่งผลให้มโนไปว่า ช่องคลอดเรานั้นกระชับ แต่จริงๆ แล้วมันคือภาวะขาดน้ำหล่อลื่น

Arti Bebasari นักเขียนชาวอินโดนีเซีย บอกว่า ผู้ชายอินโดนิเซียกับผู้ชายตะวันตกคาดหวังสิ่งที่ตรงกันข้ามกันจากช่องคลอดของเธอ นั่นคือ ผู้ชายตะวันตกคาดหวังความเปียกชื้น แต่ผู้ชายอินโดนีเซียคาดหวังว่า แห้ง ฝืด

ผู้หญิงอินโดนีเซียพยายามทำช่องคลอดให้แห้งฝืด เพราะเวลาร่วมเพศ เมื่อฝืด เข้ายาก ผู้ชายจะภูมิใจว่าของตัวเอง “ใหญ่” นอกจากนี้การมีช่องคลอดเปียกลื่น เข้าง่ายออกง่าย สำหรับวัฒนธรรมอินโดนีเซียแล้ว มันแปลว่าผู้หญิงคนนี้ผ่านผู้ชายมาเยอะ เป็นผู้หญิงที่ “ไม่ดี” ผู้หญิงจำนวนมากจึงใช้ยาและสมุนไพรหลายอย่างเพื่อให้ช่องคลอดตัวเองฝืดและแห้ง

ยาที่ฮิตมากในอินโดนีเซียที่ช่วยให้ “ฮี” แห้ง โดยไม่ต้อง “ยุ่ม” ชื่อ Tongkat Madura ทำจากสมุนไพรรากไม้ต่างๆ รูปทรงเหมือนซิการ์ ใช้สอดเข้าไปในอวัยวะเพศ เชื่อว่าช่วยให้ “ฮี” แห้ง สะอาด และเพิ่มความปรารถนาทางเพศ

แถมในอินโดนีเซียยังมีอาหารต้องห้ามสำหรับผู้หญิง นั่นคือ แตงกวากับสับปะรด เพราะเชื่อว่ากินมากๆ จะให้ “ฮี” เปียก ลื่น หลวม อ่านถึงตรงนี้ ฉันถึงกับตบอก เพราะเคยโดนคนเฒ่าคนแก่ทักสมัยแตกเนื้อสาวว่าอย่ากินกระเจี๊ยบมอญเพราะจะทำให้ “ฮี” เปียก เมือกลื่น -กรี๊สสสสสสสส- หรือเราจะเป็นสังคมในโซนแห้ง????

ส่วนสังคมไทยจัดอยู่ในโซนเปียกหรือแห้ง?

 

คงเร็วเกินไปที่จะตอบ ทว่าประเด็นมันอยู่ตรงที่ ทั้งเปียกและแห้งก็เพื่อ “พลีส” ผู้ชาย ต่างกันตรงที่แห้งก็เจ็บหน่อย เปียกก็รอดจากการเจ็บตัว

ถ้าตั้งข้อสังเกตอย่างหยาบๆ สังคมในโซนเปียกส่วนใหญ่เป็นประเทศโลกที่หนึ่ง สังคมโซนแห้งอยู่ในประเทศโลกที่สาม อนุรักษนิยม และเคร่งศาสนาเป็นส่วนใหญ่ (อันนี้สังเกตแบบหยาบและอาจผิดที่สุด)

แต่จะแห้งหรือจะเปียกไม่สำคัญเท่ากับการรู้ตัวอยู่เสมอว่า ชีวิตประจำวันของเรานั้นหาได้เป็นไปตามธรรมชาติไม่ แม้แต่ความชอบ-ชัง ในรสสัมผัส ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมชาติที่สุด ยังเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่อุดมการณ์ที่สัมพันธ์กับอำนาจที่ไม่เท่ากันระหว่างเพศ ผิว ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ นับประสาอะไรกับเรื่องอื่นๆ ที่ใหญ่กว่านั้น เป็นการเมืองอย่างตรงไปตรงมามากกว่านั้น

เราอาจจะอยู่ในสภาวะแห่งความไร้อำนาจเกินกว่าจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่อย่างน้อยๆ สิ่งที่เราไม่ควรสูญเสียไปเลยคือ ภาวะ “รู้ตัว” ตลอดเวลาว่า แต่ละย่างก้าวของเราถูกกำกับไว้ด้วยอุดมการณ์ชุดไหน

ถ้าจะแห้งและเจ็บ ก็ขอให้แห้งและเจ็บแบบรู้ตัวว่า อ้อ…ทำไมเราต้องแห้ง ทำไมเราต้องเจ็บ และถ้าเราจะเปียกและหลวมท่ามกลางความแห้ง เราต้องสูญเสียอะไรบ้าง และเราพร้อมจะเสียหรือไม่

น่าจะดีกว่าแห้งและเจ็บโดยที่คิดว่ามันคือความถูกต้องเสถียรถาวร