ม.44 โละทิ้ง “บิ๊กรถไฟ” ปมสนองนโยบายรัฐบาลอืด ถูกครหาไม่โปร่งใส-ล็อกสเป๊ก

หลายหน่วยงานเริ่มร้อนๆ หนาวๆ ขึ้นมาทันที เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยระบุว่า เป็นการสมควรปรับปรุงการบริหารงานของ ร.ฟ.ท.

ดังนั้น หัวหน้า คสช. จึงได้อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. พ้นจากตําแหน่ง พร้อมกับแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ขึ้นมา โดยมี นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ เป็นประธาน

ขณะเดียวกัน ยังมีคำสั่งให้ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. พ้นจากตำแหน่ง และให้ไปดํารงตําแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐประจําสํานักนายกรัฐมนตรี

พร้อมตั้ง นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) และอดีตกรรมการบอร์ดชุดที่แล้ว รักษาการตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. แทน

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์

สาเหตุหลักที่มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำสั่งปลดแบบไม่ทันให้ตั้งตัวครั้งนี้ ถูกมองเชื่อมโยงไปถึงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ตามแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง 2559 หรือแอ๊กชั่นแพลนระยะแรก 5 เส้นทาง ที่ไม่สามารถลงมือก่อสร้างได้ตามเป้าหมาย คือ

1. เส้นทางช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร (ก.ม.) วงเงินลงทุน 17,290.63 ล้านบาท ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2559 ตอนนั้นตั้งเป้าหมายจะเปิดประกวดราคา เพื่อหาผู้รับเหมาก่อสร้างให้ได้ในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน 2559 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ตัวผู้รับเหมา

2. ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 ก.ม. วงเงินลงทุน 29,449.31 ล้านบาท ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2559 เดิม ร.ฟ.ท. ตั้งเป้าหมายจะเสนอ ครม. ให้ได้ในเดือนมิถุนายน ขายซองประกวดราคาเดือนกรกฎาคม 2559 แต่เนื่องจากเดินหน้าช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพรไม่ได้ ทำให้ล่าช้าตามไปด้วย

3. ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 ก.ม. วงเงินรวม 24,722.28 ล้านบาท

4. ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 ก.ม. วงเงินลงทุนรวม 20,046.41 ล้านบาท

และ 5. ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 ก.ม. วงเงินลงทุนรวม 10,239.58 ล้านบาท ทั้ง 3 ช่วงดังกล่าว ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 แต่ก็ยังก่อสร้างไม่ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังถูกมองว่าการดำเนินโครงการอาจจะไม่โปร่งใส ล็อกสเป๊ก มีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย หรือมีการตั้งราคากลางสูงเกินความเป็นจริง เป็นต้น

ทำให้รัฐบาลเป็นห่วงว่าจะเดินหน้าโครงการได้ไม่ราบรื่น เพราะในปี 2560 นี้ ยังมีรถไฟทางคู่ภายใต้แอ๊กชั่นแพลน ระยะที่ 2 อีก 9 เส้นทาง ที่จะต้องเดินหน้าต่อ คือ

1.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 2.ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา 3.ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 4.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 5.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ 6.ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 7.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 8.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี และ 9.ช่วงบ้านไผ่-นครพนม

และนี่จึงกลายเป็นที่มาของการใช้ ม.44 มาปลดล็อกปัญหาที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจ้าง (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) ขึ้นมากำกับดูแลโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไปทุกโครงการของรัฐ

เพื่อให้กระบวนการต่างๆ มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

ซึ่งการตรวจสอบของซูเปอร์บอร์ด นอกจากมีรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ที่อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคาเพื่อพิจารณาว่าจะให้เดินหน้าต่อไปหรือเริ่มกระบวนการใหม่แล้ว ซูเปอร์บอร์ดจะเข้าไปดูโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2 เส้นทางด้วย

คือ ทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 ก.ม. ที่แบ่งก่อสร้างเป็น 2 สัญญา โดยสัญญา 1 งานก่อสร้างช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-วิหารแดง และช่วงบุใหญ่- แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง ระยะทาง 97 ก.ม. ดำเนินการโดยบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันคืบหน้า 25.18%

และสัญญา 2 งานก่อสร้างช่วงวิหารแดง-บุใหญ่ ระยะทางรวม 9 ก.ม. รวมอุโมงค์ 1.2 ก.ม. ดำเนินการโดยบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด ปัจจุบันคืบหน้า 34.59%

และทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 ก.ม.

ดำเนินการโดยกิจการร่วมค้าซีเคซีเอช ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้า 19.89%

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า สาเหตุการปรับปรุงบอร์ด และให้นายวุฒิชาติ พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงที่โครงการก่อสร้างของ ร.ฟ.ท. เริ่มเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติ และประกวดราคา ซึ่งปีนี้จะมีงานมากทั้งรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น

ดังนั้น จำเป็นต้องปรับปรุงบอร์ดให้มีบุคลาการที่หลากหลายเข้ามาช่วยทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลโครงการ

ส่วนการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. นั้น ที่ผ่านมาโครงการทางคู่ 5 เส้นทาง เกิดความล่าช้ามานานหลายเดือนแล้ว โดยกรรมการคัดเลือก แจ้งว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมการประมูล ส่วนโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น ทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ก็พบปัญหาการร้องเรียนจากชาวบ้าน แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมาผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ทำงานได้ในระดับหนึ่ง

แต่รัฐบาลต้องการให้บอร์ดและตัวผู้ว่าการลงไปดูแลงานให้ใกล้ชิดมากขึ้น และไม่มีนอกมีใน

นายพิชิต อัคราทิตย์

ด้าน นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า คำสั่งดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจ้างภาครัฐ ในระยะ 2 ปีข้างหน้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อจัดจ้างของ ร.ฟ.ท. ที่มีงบประมาณในการลงทุนมากถึง 90% ของงบฯ ลงทุนทั้งประเทศ โดยในช่วง 2 ปี คือปี 2559-2560 มีงบฯ ลงทุนรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างอาจทำให้โครงการล่าช้าไปบ้าง แต่หากช้าลงแล้วมีความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้นก็ถือว่าคุ้มค่าในการดำเนินโครงการ

โดยเชื่อว่าจะไม่ซ้ำซ้อนกับการทำงานตรวจสอบของหน่วยงานเดิมๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หรือซูเปอร์บอร์ดของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากชุดใหม่ที่ คสช. ตั้งขึ้นจะกำกับดูแลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้น

นายพิชิตระบุอีกว่า เบื้องต้นรัฐบาลจะนำกลไกดังกล่าว มาบังคับใช้กับโครงการของ ร.ฟ.ท. ก่อนเป็นหน่วยงานแรก เริ่มจากโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง และอีก 2 เส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง

ส่วนการปลดผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ออกจากตำแหน่งนั้น เพราะรัฐบาลต้องการให้บอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่ที่ คสช. แต่งตั้งขึ้น ทำงานได้อย่างอิสระเต็มที่ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการภายในและการจัดซื้อจัดจ้างในอนาคต ซึ่งการให้ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.คนเดิมพ้นจากตำแหน่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะทำให้บอร์ดใหม่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

จากนี้ไปจะเห็นทุกโครงการของรถไฟวิ่งฉิวแบบไร้ข้อครหาตามที่รัฐบาลคาดหวังหรือไม่ ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด!!