เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | รินรัก-รินศรัทธา

“เขียนกลอนทุกวันนะ วันละบท”

คุณหทัยรัตน์ จตุรวัฒนา ใช้นามปากกว่า “รินศรัทธา กาญจนวดี” หรือน้องลูกหมู ผู้พิการทางสายตา คือตาบอดทั้งสองข้าง ตอนอยู่มัธยมเข้าอบรมยุวกวี เธอถามว่า อยากเขียนกลอนให้ดีจะต้องทำอย่างไร ตอบเธอไปว่า “เขียนทุกวัน วันละบท” สิบกว่าปีต่อมา เธอจบปริญญานิเทศศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

สำคัญคือ ยังเขียนกลอนเป็นประจำจนรวมเล่มได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊ก ชนะเลิศด้วยผลงานกวีของเธอที่ชื่อ “ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ”

เธอยืนยันความเป็นกวีของเธอด้วยวรรคกลอนดังยกมาขึ้นต้นว่า เธอเขียนวันละบท ตั้งแต่นั้นมาจนวันนี้ อาจเป็นบทละสี่วรรคหรือบทละ เป็นลักษณะ “บทเรื่อง” คือเรื่องละหลายบทก็ตาม แต่เธอเริ่มเขียนตั้งแต่ได้รับคำแนะนำมาตลอด คือ

“เขียนกลอนทุกวันนะวันละบท

เริ่มปรากฏแตกใบเห็นเป็นต้นกล้า

หยดน้ำค้างหยาดน้อยค่อยหล่นมา

จิบคุณค่าวรรณคดีกวีกานท์”

จากกลอนวันละบทของ “รินศรัทธา” มาถึงกาพย์วันละบทของ ด.ญ.รินรัก เธอชื่อ ด.ญ.รินรัก แซ่โค้ว อายุ 8 ปี เริ่มเขียนกลอนหรือกาพย์ยานี 11 มาเมื่อปีที่แล้ว พ.ศ.2562 อายุได้ 7 ปี เขียนทุกวันเหมือนกัน บทล่าสุดที่ส่งมาให้ดูเป็นประจำบทนี้ แต่งเมื่อวันครู 16 มกราคมที่ผ่านมา

วันครูได้มาถึง

ครูเป็นหนึ่งในใจหนู

คุณครูให้ความรู้

ครูเป็นผู้สอนวิชา

ครูไทยนั้นรักศิษย์

ท่านนั้นคิดพัฒนา

ตัวหนูสุดศรัทธา

มอบกลอนมาบูชาครู

ผู้แต่ง รินรัก แซ่โค้ว

16 มกราคม 2563

กลอนลำดับที่ 309

เป็นลายมือเขียนด้วยดินสอตัวโตเต็มบรรทัด มีลำดับที่ประจำกลอนด้วย

พ่อของรินรักเป็นครู ชื่อทนงศักดิ์ แซ่โค้ว สอนอยู่โรงเรียนอนุบาลสุโขทัย เล่าให้ฟังว่า

“เริ่มให้หัดท่องกลอนตอนอายุประมาณ 5-6 ขวบ เพราะอยากสร้างเขาให้เป็นคนกลอน เพราะเห็นว่ากลอนน่าจะช่วยให้เขานิ่งขึ้น และเชื่อว่า บทกลอนจะช่วยขัดเกลาจิตใจ และอยากมีลูกเป็นนักเขียนเพราะมีความเชื่อว่า ในอนาคตหุ่นยนต์สามารถจะทำแทนมนุษย์ได้ทุกอย่าง ยกเว้นสิ่งเดียวที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้คือจินตนาการ”

“เริ่มเขียนกลอนเองราวๆ ปี 2562 แต่ยังต้องช่วยเขาในบางคำ และเริ่มบันทึกบทกวีพร้อมลงหลักฐานวันที่ 3 มีนาคม 2562 คือบทชื่อ ความรัก เพราะจะได้เริ่มต้นจากรัก ซึ่งตรงกับชื่อของรินรัก เขียนมาแล้ว 309 วัน ติดต่อกัน 309 บท”

ฟังเล่าแล้วก็ขอกราบอกพ่อเลย

นี่แหละพ่อแท้จริง เป็นมิ่งเป็นขวัญของลูกเราทุกคน

ฟังต่ออีกบทล่าสุด ต่อจากวันที่ 16 มกราคม เธอส่งบทวันที่ 17 มกราคม เป็นลำดับที่ 310 ดังนี้

วันพ่อขุน

ฉันไปเที่ยวเมืองเก่า

มีรักเรา แม่และป๊า

ตัวฉันสุขหนักหนา

ที่ได้มางานพ่อขุน

ได้รู้ถึงเรื่องราว

ที่เขากล่าวถึงบุญคุณ

เพราะท่านเคยเกื้อหนุน

มีบุญคุณต่อพวกเรา

รินรักมีน้องสาวชื่อ “รักเรา” ดังมีชื่ออยู่ในวรรคสองนั้น และเธอเรียกพ่อว่า “ป๊า” น้องรักเราอายุย่าง 5 ขวบ

ฟังกลอนที่รินรักเขียนถึงน้องสาวเธอเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562 ลำดับที่ 195 ชื่อ

อุบัติเหตุ

น้องถูกประตูหนีบ

เพราะหนูรีบปิดประตู

ตัวหนูก็ไม่รู้

ว่าน้องอยู่ข้างหลังฉัน

ตัวน้องนั้นร้องไห้

แทบขาดใจสิ้นชีวิน

ตัวน้องบอกกับฉัน

ว่าน้องนั้นปวดอุรา

พ่อเล่าว่า

“รินรักเริ่มต้นจากการที่ฟังผมอ่านกลอนต่างๆ ให้ฟัง แล้วหลังจากนั้นก็แต่งกลอนตลกๆ ล้อเขาจนเขาเริ่มชอบ เริ่มสนุกตั้งแต่ชั้นอนุบาลประมาณอายุ 5-6 ขวบ แล้วพอเขาขึ้น ป.1 จึงเริ่มมีความคิดอยากเก็บกลอนของเขารวมเล่มให้เขา พอดีเริ่มอ่านได้และเขียนได้ จึงเริ่มบันทึก”

อยากบอกคุณพ่อว่า รีบพิมพ์บทกวีของน้องรินรักเป็นเล่มได้เลย ด้วยงานของรินรักเหล่านี้แหละคืองานกวีบริสุทธิ์ มีค่ามหาศาลเกินจะประเมินด้วยมาตรใดๆ ท่านเขมานันทะ หรือโกวิท อเนกชัย ศิลปินผู้ล่วงลับเคยบอกว่า

งานศิลปะของเด็กนั้นมีค่านัก เพราะเป็นงานที่ทำจากความรู้สึกบริสุทธิ์ล้วนๆ ด้วยชีวิตจิตใจที่ทุ่มเทให้ทั้งชีวิต ผิดจากของผู้ใหญ่ที่มักจะทำจากความคิด

ความรู้สึกบริสุทธิ์หมดจดนี่แหละคือคุณค่ามหาศาลของกวีรินรัก

พ่อของรินรักบอกมาท้ายสุดว่า

“ที่ให้รินรักมาเขียนบทกวีเพราะจะได้ให้รินรักกลั่นกรองความรู้สึกของเขา และที่สำคัญผมอยากให้รินรักเป็นผู้สืบสานบทกวีให้อยู่ต่อไป เพราะเสียดายกลัวหายไป และที่สำคัญว่าทำไมให้รินรักเริ่มตั้งแต่อายุน้อยๆ ก็ต้องการสื่อสารว่า กลอนไม่ใช่เรื่องยาก เด็กน้อยๆ ก็แต่งได้ ทุกคนจะได้หันมาแต่งกลอน”

อยากให้พ่อ แม่ ครูและผู้อยู่ในวงการศึกษาได้ฟังความนี้จัง

ทำไงดี