เกษียร เตชะพีระ | “รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย-สันติวิธี” (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

“มีประชาธิปไตยของประเทศใดบ้างที่ได้มาโดยสันติวิธี?”

คำถามของอาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง ทางหน้าเฟซบุ๊กของท่านเมื่อ 29 ธันวาคม ศกก่อน ทำให้ผมหวนนึกถึงคำถามทำนองเดียวกันที่เพื่อนนักข่าวคนหนึ่งถามผม และโดยฉุกละหุกกะทันหัน ผมนึกคำตอบไม่ออก แม้จะมั่นใจว่าเคยอ่านค้นคว้าเรื่องนี้ผ่านตามา

จนกระทั่งในงานอภิปราย “อดีต ปัจจุบัน และอนาคตรัฐธรรมนูญไทย” ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 16 ธันวาคม ศกก่อน เผอิญอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้เอ่ยอ้างถึงเนื้อหาข้อสรุปของงานวิจัยที่น่าจะเป็นชิ้นเดียวกับที่ผมเคยอ่านพบมาพอดีในการตอบคำถามผู้ฟัง ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่า :

“ประชาธิปไตยของประเทศส่วนใหญ่ได้มาโดยสันติวิธี!”

มันมาจากงานวิจัยเรื่อง “How Freedom Is Won : From Civic Resistance to Durable Democracy” (ทำอย่างไรจึงช่วงชิงเสรีภาพมาได้ : จากการต่อต้านของพลเมืองไปสู่ประชาธิปไตยที่คงทน, ค.ศ.2005) ค้นคว้าเขียนขึ้นโดย Adrian Karatnycky and Peter Ackerman แห่งสถาบัน Freedom House ของสหรัฐอเมริกา https://freedomhouse.org/sites/default/files/How%20Freedom%20is%20Won.pdf

ซึ่งผมเคยใช้เป็นเอกสารอ่านประกอบให้นักศึกษาปริญญาเอกในวิชาสัมมนาการเมืองเปรียบเทียบเมื่อสิบปีก่อน

สําหรับข้อสรุปสำคัญของงานวิจัยจากการค้นคว้าการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมไปสู่เสรีประชาธิปไตยในระดับต่างๆ กันของ 67 ประเทศ คณะผู้วิจัยพบว่า (ดูตารางหมายเลข 4 ด้านบนประกอบ) :

ในส่วนใหญ่ 47 ประเทศ การต่อสู้ของฝ่ายค้านในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างไม่รุนแรงหรือส่วนใหญ่แล้วไม่รุนแรง

ขณะที่มี 20 ประเทศซึ่งฝ่ายค้านใช้ความรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญหรืออย่างสูง

นอกจากนี้ยังปรากฏความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่าง [การต่อต้านของพลเมืองด้วยวิธีการไม่รุนแรง] -> [ระดับเสรีประชาธิปไตยที่มากและคงทน] หลังการเปลี่ยนผ่านแล้วด้วย

ข้อค้นพบสำคัญในงานวิจัยชิ้นดังกล่าวมีดังต่อไปนี้ :

“ในไม่กี่เดือนหลังของปี ค.ศ.2005 การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั่วโลกโดดเด่นยิ่งขึ้นในกิจการระหว่างประเทศ

งานศึกษาชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า บ่อยครั้งกว่าที่เข้าใจกันทั่วไปอักโข ตัวการเปลี่ยนแปลงคือการต่อต้านของพลเมืองอย่างไม่รุนแรงที่มีฐานมวลชนกว้างขวาง ซึ่งใช้ยุทธวิธีต่างๆ อาทิ การคว่ำบาตร ชุมนุมประท้วง ปิดล้อม นัดหยุดงานและอารยะขัดขืนเพื่อบั่นทอนความชอบธรรมของผู้ปกครองอำนาจนิยมและกร่อนเซาะฐานสนับสนุนของพวกเขา

รวมทั้งกร่อนเซาะความภักดีของกองกำลังติดอาวุธที่ปกป้องพวกเขาด้วย

ข้อสรุปใจกลางของงานศึกษาชิ้นนี้คือ ประเด็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมเกิดขึ้นอย่างไร และชนิดของพลังต่างๆ ที่เข้าร่วมกดดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่ว่านั้น ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของการปฏิรูปประชาธิปไตย

ข้อค้นพบหลักของงานวิจัย 4 ข้อได้แก่ :

1) ขบวนการ “อำนาจประชาชน” หรือ “อำนาจชาวบ้าน” (“people power” movements) มีความสำคัญเพราะพลังพลเมืองที่ไม่รุนแรงเป็นต้นตอหลักของแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชี้ขาดในการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมส่วนใหญ่

2) การเปลี่ยนผ่าน “จากบนลงล่าง” ซึ่งเปิดฉากและนำโดยชนชั้นนำนั้นส่งผลเชิงบวกน้อยนิดโดยเปรียบเทียบต่อเสรีภาพ

3) การดำรงอยู่ของพันธมิตรพลเมืองที่ไม่รุนแรงซึ่งเป็นปึกแผ่นเข้มแข็งคือปัจจัยสำคัญที่สุดในบรรดาปัจจัยทั้งหลายเท่าที่เราตรวจสอบในการอุทิศคุณูปการให้แก่เสรีภาพ

4) ข้อมูลบ่งชี้ว่าลู่ทางสำหรับเสรีภาพถูกเพิ่มพูนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อฝ่ายค้านไม่ใช้ความรุนแรงเสียเอง

ฉะนั้น ข้อมูลของเราจึงบ่งชี้ว่ากิจกรรมการเคลื่อนไหวของพันธมิตรไม่รุนแรงที่แข็งแกร่งช่วยลดทอนแรงดึงดูดใจให้ฝ่ายค้านใช้ความรุนแรงลง และขณะเดียวกันก็นำไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวกยิ่งขึ้นสำหรับเสรีภาพ

กล่าวสั้นๆ ก็คือ พันธมิตรประชาธิปไตยที่มีฐานมวลชนกว้างขวางสามารถปลูกฝังหลักการและประสบการณ์ให้แก่บรรดาผู้นำและนักเคลื่อนไหวซึ่งช่วยให้ธรรมรัฐแบบประชาธิปไตยประสบความสำเร็จ”

ผมควรเสริมเติมต่อท้ายว่าการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีในประเทศส่วนใหญ่ (47 จาก 67 ประเทศ) ของงานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นในเงื่อนไขหลังสงครามเย็นช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 ถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 2000

สิบห้าปีให้หลัง เงื่อนไขการเมืองและเศรษฐกิจโลกปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะหลังวิกฤตหนี้ซับไพรม์และเศรษฐกิจโลกถดถอยใหญ่ปี ค.ศ.2008 และการผงาดขึ้นของทุนนิยมแบบอำนาจนิยมของจีน (the China model of authoritarian capitalism) ในฐานะตัวแบบทางเลือกการพัฒนาต่างหากจากทุนนิยมแบบเสรีประชาธิปไตยของตะวันตกซึ่งกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจชะงักงันลากยาวยากแก่การฟื้นตัว

ความเหลื่อมล้ำขยายตัวสุดโต่ง และการผงาดขึ้นของพลังประชานิยมทางการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายขวาแผ่กว้างออกไป

ท่ามกลางกระแสก่อการร้ายทางการเมืองบนฐานความแตกต่างขัดแย้งทางศาสนาและเชื้อชาติผิวสีทั้งโดยรัฐและโดยกลุ่มทยอยเกิดขึ้นไม่ขาดสายทั่วโลก

อาจกล่าวได้ว่าทั้งระบอบการเมืองเสรีประชาธิปไตยและอำนาจนิยม (liberal democracy & authoritarianism) รวมทั้งแนวทางเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberal capitalism) กำลังประสบวิกฤตความชอบธรรมรอบด้านทั่วโลก

มิอาจสะกดมวลชนให้สยบยอมรับดังก่อน จนนับวันมันจะถูกปฏิเสธมากขึ้นเรื่อยๆ นำ ไปสู่การลุกฮือขึ้นกบฏของเยาวชนคนหนุ่มสาวกระจายกว้างหลายประเทศทั่วทุกทวีป

ในเงื่อนไขใหม่ปัจจุบันข้างต้น การต่อสู้เปลี่ยนผ่านจากเผด็จการอำนาจนิยมไปสู่เสรีภาพและประชาธิปไตยโดยสันติวิธีดูลางเลือนและถูกท้าทายซึ่งหน้าตรงไปตรงมาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนหลังสงครามเย็น