ดร.โกร่งกับเบื้องหลัง การบ้านการเมืองครั้งหนุ่มแน่น | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

ผมพบปะกับ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ “ดร. โกร่ง” คราใด ก็ได้ความรู้และแรงบันดาลใจทุกครั้งไป

เพราะเราจะถกแถลงกันเรื่องการบ้านการเมืองที่กำลังเป็นกระแส

ยิ่งอายุมาก ดร.โกร่งของผมก็ยิ่ง “หัวร้อน”

ช่วงหลังนี้ อ่านคอลัมน์ที่แกเขียนใน “มติชนรายวัน” และ “ประชาชาติธุรกิจ” วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็ร้องซี้ดซ้าดทุกครา

ล่าสุดพาดหัวของคอลัมน์แกอ่านได้ความว่า “ทำไมแบงก์ชาติจึงปัญญาเบา”

แถมกระซิบผมว่า “พาดหัวนี่แก้ให้เบาลงจากพาดหัวเดิมแล้วนะ”!

เหตุที่มีความเห็นพรั่งพรูอย่างนี้ก็คงเป็นเพราะ ดร.โกร่งเห็นมามาก ผ่านมามาก เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีหลายท่าน

ที่ดูเหมือนจะยังตราตรึงความทรงจำอยู่ไม่เสื่อมคลายก็คือตอนที่เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

โดยเฉพาะในช่วงต้องตัดสินใจลดค่าเงินบาทในยุคที่คุณสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคุณนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นผู้ว่าการการธนาคารแห่งประเทศไทย

เพียงหนึ่งเดือนกับอีก 21 วัน หลังจากที่คุณสมหมายทำฟ้าผ่าวงการเงินด้วยการปลดคุณนุกูลออกจากตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ปู่สมหมาย” ก็สร้างปาฏิหาริย์ด้วยการประกาศลดค่าเงินบาทโดยใช้คำพูดที่สละสลวยว่า “เปลี่ยนแปลงค่าเงิน” ในวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2527

ดร.โกร่งอยู่ในเหตุการณ์นั้นตลอด เพราะนายกฯ เปรมต้องการฟังทุกฝ่ายก่อนที่จะตัดสินใจลดค่าเงินบาทซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีความอ่อนไหวต่อการเมืองอย่างยิ่ง

“ป๋าเปรมเรียกผมไปเพื่อจะขอความเห็นเรื่องค่าเงินบาท ผมก็อธิบายถึงเหตุผลที่ควรจะตัดสินใจลดค่าเงินบาท ป๋าก็ให้ผมไปอธิบายเรื่องนี้กับปู่สมหมาย จากนั้นป๋าก็คุยกับปู่สมหมาย และกับรัฐมนตรีท่านอื่นๆ…”

ดร.โกร่งเล่าว่า วันหนึ่ง ป๋าเปรมฟังความเห็นของแกแล้ว มีความขุ่นเคืองอะไรบางอย่างก็ไม่รู้ได้ บอกให้ออกจากบ้านไปอย่างฉับพลัน

“ผมจำได้ว่าป๋าโกรธอะไรสักอย่าง ถึงกับไล่ผมออกจากบ้าน…

วันรุ่งขึ้น ป๋าให้รัฐมนตรีศุลี (มหาสันทนะ) ประจำสำนักนายกฯ โทร.มาปลอบใจผม บอกว่าไม่มีอะไร ป๋าเข้าใจ ให้ทำงานต่อไปตามปกติ” ดร.โกร่งเล่าไปหัวเราะเสียงดังกังวานตามสไตล์

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เรายังจำได้อย่างแม่นยำคือกรณีการถกประเด็นนโยบายข้าวของรัฐบาลป๋าเปรม

ดร.โกร่งในฐานะที่ปรึกษาเศรษฐกิจไม่เห็นด้วยกับนโยบายค่าพรีเมียมข้าวของคุณโกศล ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีพาณิชย์สมัยนั้น

ทั้งสองยืนอยู่คนละข้างกันอย่างชัดเจน ป๋าเปรมในฐานะนายกฯ จะต้องตัดสินว่าจะเดินหน้านโยบายข้าวอย่างไร

วันประชุมคณะรัฐมนตรีมาถึง ป๋าเปรมให้เอาประเด็นนี้เป็นวาระสำคัญ ให้รัฐมนตรีพาณิชย์โกศลกับที่ปรึกษาวีรพงษ์นำเสนอความคิดเห็นที่ขัดกันเพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณาและตัดสินว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ผมได้พูดคุยกับทั้งสองท่านไว้ล่วงหน้าเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงเบื้องลึกและเบื้องหลังอย่างแท้จริง

ทั้งรัฐมนตรีโกศลและ ดร.โกร่งบอกผมว่า เล่าให้ฟังถึงเหตุผลของตนได้ แต่ต้องไม่อ้างชื่อว่าใครเป็นคนพูด

อย่างนี้ภาษานักข่าวเรียกว่า background briefing ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญกับการเอาเนื้อหามานำเสนอสาธารณชนโดยไม่จำเป็นต้องระบุว่าใครเป็นคนพูด

ผมนำเอาเนื้อหาสาระของความเห็นที่ยืนอยู่คนละขั้วมาเขียนลงหนังสือพิมพ์ The Nation เช้าวันนั้น

ผมรายงานว่ารัฐมนตรีโกศลเตรียมจะเสนอแนวทางอย่างนี้ และ ดร.โกร่งก็จะตอบโต้ด้วยเหตุผลของตนอย่างนั้น

รายงานหน้าหนึ่งเรื่องนั้นบอกกล่าวให้รู้ว่าแนวคิดของสองด้านต่อนโยบายสำคัญเช่นนี้จะไปทางไหนบ้างเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบถึงเบื้องลึกของการถกแถลงในระดับสูงของรัฐบาลว่าอย่างไร

บรรยากาศการประชุมในคณะรัฐมนตรีเช้านั้นเคร่งเครียดพอสมควร พอเริ่มประชุม ป๋าเปรมก็หยิบหน้าหนึ่งของ The Nation ขึ้นมาให้คณะรัฐมนตรีดู พร้อมกับประกาศว่า

“เราไม่จำเป็นต้องประชุมเรื่องนโยบายข้าวแล้ว หนังสือพิมพ์ The Nation เขารู้รายละเอียดทั้งหมดแล้วว่าใครจะพูดอะไรอย่างไร เขารู้หมดก่อนที่เราจะประชุมด้วยซ้ำไป…”

ห้องประชุมเงียบกริบ รัฐมนตรีต่างมองหน้ากัน ว่าแล้วป๋าเปรมก็สั่งให้อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้นว่า

“ตำรวจควรจะต้องจัดการแจ้งความเพื่อหาคนที่ออกข่าวนี้ในข้อหาเอาความลับราชการมาเปิดเผย”

อธิบดีกรมตำรวจท่านนั้นรู้ว่าป๋าเปรมโกรธไม่นานก็หายเพราะท่านรู้ดีว่าการรายงานข่าวสะท้อนความเห็นของแต่ละฝ่ายนั้นย่อมไม่เข้าข่าย “ความลับทางราชการ” แต่อย่างใด

เพียงแต่ “ป๋า” ต้องการจะเตือนรัฐมนตรีทั้งหลายทางอ้อมว่าอย่าได้ออกข่าวก่อนที่จะถกกันในคณะรัฐมนตรี

แต่อธิบดีอีกกรมหนึ่งไม่ได้เข้าใจเช่นนั้น อาจจะเพราะต้องการจะเอาใจป๋าเป็นพิเศษ วันรุ่งขึ้นจึงไปแจ้งความบรรณาธิการ The Nation ในข้อหาเอา “ความลับทางราชการ” มาเปิดเผย

เรื่องของเรื่องก็จบลงเมื่อวันต่อมาป๋าไม่ได้สอบถามเรื่องนี้อีก

นโยบายเรื่องข้าวก็สรุปลงด้วยการใช้นโยบายที่ไม่ทำให้พ่อค้าคนกลาง, ผู้ส่งออกและเจ้าของโรงสีเอาเปรียบชาวไร่ชาวนาต่อไป

ดร.โกร่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ลงพื้นที่หาข้อมูลจริงเพื่อนำมาวางแนวทางเสนอเป็นนโยบายระดับชาติ มิได้พึ่งพิงแต่เพียงหลักวิชาการจากตำรา

ผมเคยตาม ดร.โกร่งไปนอนที่ “ท่าข้าวกำนันทรง” ที่นครสวรรค์เพื่อทำความเข้าใจกับวิธีการซื้อขายข้าวในตลาดจริง สัมผัสกับชีวิตจริงของชาวนาและเจ้าของโรงสีรวมถึง “ผู้มีส่วนได้เสีย” ทุกๆ ฝ่าย

ดร.โกร่งได้ข้อมูลไปวิเคราะห์เป็นนโยบายของรัฐบาล, ผมได้สาระมาเขียนเป็นข่าวและบทวิเคราะห์เพื่อตีพิมพ์ให้ประชาชนได้อ่านและเข้าใจความเป็นไปที่แท้จริง

(ขณะนั้นมีแต่หนังสือพิมพ์อย่างเดียว, ยังไม่มีรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ ไม่ต้องพูดถึงการสื่อสารผ่านมือถือซึ่งต้องรออีกกว่า 30 ปีจึงมาถึง)

อีกกิจกรรมหนึ่งที่เราทำร่วมกันเพื่อการกลั่นกรองข้อมูล, วิเคราะห์ และนำเสนอหนทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม (บ่อยครั้งก็ต้องลามถึงการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้)

ยุคนั้น โรงแรมอิมพีเรียล ถนนวิทยุของคุณอากร ฮุนตระกูล เป็นสถานที่นัดพบของคนทำข่าว, นักวิชาการ, นักธุรกิจและมืออาชีพด้านต่างๆ ในวัยใกล้ๆ กัน

วลีทองยุคสงครามเวียดนามขณะนั้นคือ “อย่าไว้ใจคนอายุเกิน 30”

กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นัดเจอเพื่อจิบเหล้าถกการบ้านการเมืองที่โรงแรมอิมพีเรียลแม้หลายคนจะอายุเกิน 30 แต่เราก็อ้างว่าเราเป็นคนทันยุคทันสมัย

ผมตั้งกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์, รัฐศาสตร์, การเงินและอื่นๆ เพื่อถกประเด็นปัญหาบ้านเมืองเป็นประจำเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและเสนอทางออกเป็นประจำ

เราเรียกกลุ่มนี้ว่า Nation Panel of Economists ปิดห้องถกหัวข้อในกระแสของบ้านเมืองอย่างเผ็ดร้อนแต่มีสาระ เพราะเราตั้งกฎกติกาว่าแค่วิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองไม่น่าจะพอ เราต้องนำเสนอทางออกด้วยจึงจะถือว่าทำหน้าที่ “พลเมืองผู้รับผิดชอบ” ร่วมกันด้วย

สมาชิกของกลุ่มนี้ล้วนเป็นนักวิชาการและนักธุรกิจที่เป็นห่วงบ้านเมือง ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา กล้าพูดความจริง นำเสนอทางเลือกให้กับประเทศชาติในยามที่บ้านเมืองกำลังก้าวจากเผด็จการทหารสู่ประชาธิปไตยในช่วงหลังการลุกฮือของนักศึกษาและประชาชน 14 ตุลาคม 2514

สมาชิกขาประจำก็มี ดร.โกร่งเป็นตัวยืน (เพราะไม่เจอเพื่อนแล้วเหงา ยิ่งถ้าไม่ได้จิบเบียร์ด้วยกันจะรู้สึกอ้างว้างมาก)

แน่นอนว่า “ขาประจำ” เสาหลักที่ขาดไม่ได้คือคุณขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ

นอกนั้นเท่าที่จำได้ก็มีหลายๆ ท่านที่ต่อมามีตำแหน่งสำคัญๆ ระดับชาติมากมาย เช่น ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา, ดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ (เสียชีวิตแล้ว), ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์, ดร.สมภพ มานะรังสรรค์, ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี, ดร.อัมมาร สยามวาลา, ดร.สมศักดิ์ ชูโต, ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล, ดร.อาณัติ อาภาภิรม และนักการเมือง นักการทหารรุ่นใหม่คนอื่นๆ ที่ชักชวนกันมาอย่างคึกคักตลอดเวลา

วิธีการที่จะทำให้การถกแถลงได้ประโยชน์และได้น้ำได้เนื้อจริงๆ โดยไม่ต้องห่วงว่าความเห็นบางเรื่องอาจจะ “แรงเกินไป” หรือไปแตะหัวข้อที่ “ละเอียดอ่อน” ก็คือการให้ทุกคนได้พูด แต่ในรายงานที่ตีพิมพ์นั้นจะไม่บอกว่าใครเป็นคนแสดงความเห็นอย่างไร

หัวใจของการนำเสนอความเห็นในลักษณะ “ถังความคิด” หรือ Think Tank อิสระเช่นนี้คือการกลั่นของเนื้อๆ และสรุปเป็นข้อหัวต่อรัฐบาลและสังคม

ผมมารู้ภายหลังว่า ที่อังกฤษเขามีกติกาแบบนี้เหมือนกัน เรียกว่า Chatham House Rule

หรือที่เรียกว่า “กฎชัทแธมเฮาส์” อันหมายถึงระบบการจัดโต้วาทีและการอภิปรายแบบคณะเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นที่ถกเถียง

ชื่อของกฎนี้ตั้งตามชื่อสำนักงานใหญ่ของ “สถาบันกิจการต่างประเทศของอังกฤษ” ตั้งอยู่ที่ชัทแธมเฮาส์ กรุงลอนดอนตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2470

ภายใต้ “กฎชัทแธมเฮาส์” นี้ผู้ร่วมประชุมทุกคนสามารถใช้ข้อมูลจากการอภิปรายอย่างเสรี แต่ไม่สามารถเปิดเผยว่าใครเป็นคนให้ความเห็นอย่างไร

เป้าหมายของการออกกฎเช่นนี้ก็เพื่อให้ถกแถลงกันอย่างเปิดกว้างและอย่างเป็นอิสระ

ผมกับ ดร.โกร่งไม่รู้หรอกว่าฝรั่งเขาทำมาก่อน แต่เราทำของเราเพราะไม่ต้องการให้สมาชิกคงแก่เรียนและไม่กลัวจะไม่คงทนในหน่วยงานของตนเองจะได้พูดจากันอย่างร้อนแรงและตรงไปตรงมา

เจอกับ ดร.โกร่งคราใดเราก็ย้อนคิดถึงช่วงระยะเวลาแห่งความร้อนแรงแห่งบรรยากาศการบ้านการเมืองที่ทุกวันนี้หายากขึ้นทุกวัน

ยิ่งได้ยินเสียงหัวเราะก้องกังวานอันเป็นบุคลิกส่วนตัวที่ใครเลียนแบบไม่ได้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งรู้สึกมีความอบอุ่นและคึกคักทุกครั้งไป!