คำ ผกา | วิกฤตในวิกฤต

คำ ผกา

เศรษฐกิจซบเซา เงินหายาก คนยากจนลง หนี้ครัวเรือนพุ่งไม่หยุด ค่าเงินบาทแข็ง ส่งออกทรุด ท่องเที่ยวซึม วิกฤตทรัพยากร ดิน น้ำ อากาศ ไวรัสโคโรนา ปารีณา ธรรมนัส วิษณุ ฯลฯ

หันหน้าไปทางไหนก็มีแต่คนพูดว่า ปีนี้เผาจริง ความรู้สึกที่ว่าปีนี้เผาจริง มีข้อเท็จจริงรองรับแค่ไหนไม่มีใครรู้ แต่อย่างน้อยมันสะท้อนอารมณ์ของคนในสังคมที่มองไปทางไหนก็ไม่เห็นความหวัง และมันคงเป็นครั้งที่ล้านที่ฉันจะเขียนว่า “เราจะอยู่กันอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไหร่?”

และสิ่งที่อยากรู้มากกว่านั้นคือ บรรดาคนที่รังเกียจการปกครองแบบประชาธิปไตย พากันออกมาขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วระริกระรี้อยากให้กองทัพออกมาทำรัฐประหาร ณ วันนี้ ได้สำนึกแล้วหรือยังว่าตัวเองทำอะไรลงไป ในวันที่ประเทศได้เผชิญกับภาวะตกต่ำในทุกมิติอยู่ตอนนี้

สำหรับฉัน สิ่งที่เป็นสุดยอดวิกฤตของสังคมไทยมีสองเรื่อง เรื่องแรกคือ วิกฤตสลิ่ม

ความพยายามจะทำรัฐประหารของกองทัพในยุคหลังสมัยใหม่ (ที่โลกทั้งใบได้สรุปบทเรียนไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีประเทศไหนภายใต้รัฐบาลทหารที่กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจดี ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข) ด้วยตัวของมันเอง ยังไม่น่าละอายเท่า ประเทศไทยมีกลุ่มคนที่ไม่น่าจะโง่ เพราะล้วนแต่ได้เรียนหนังสือกันพอสมควร จำนวนมากเป็นคนมีชื่อเสียง มีหน้ามีตาในสังคม และจำนวนมากเป็นนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ

แทนที่คนกลุ่มนี้จะเป็นแนวหน้าในการผลักดันประชาธิปไตยในประเทศให้แข็งแรงขึ้น พวกเขากลับทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการทำลายระบบเลือกตั้งเสรี ทำลายประชาธิปไตย และเฝ้าคร่ำครวญหากองทัพให้ออกมาทำรัฐประหารด้วยเชื่อว่าเป็นหนทางเดียวของการกอบกู้วิกฤตของชาติ

(ซึ่งเป็นวิกฤตที่พวกเขาล้วนแต่จินตนาการเอาเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนักการเมืองขายชาติ หรือความอันตรายของระบอบทักษิณ)

ปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้เรารู้ว่าสังคมไทยมีวิกฤตสลิ่มที่มีประเด็นทางสมอง สติปัญญา ความรู้ การศึกษา

ชัดเจนว่า การศึกษาไทยถูกออกแบบมาให้คนเห็นผิดเป็นชอบ เห็นถูกเป็นผิด เห็นดำเป็นขาว เห็นว่าเผด็จการดีกว่าประชาธิปไตย

ถ้าแก้ไขระบบสมอง ความคิด สติปัญญา การศึกษาทั้งสิ้นทั้งปวงของไทยตรงนี้ไม่ได้ก็เห็นว่าประเทศไทยจะตกอยู่ในภาวะ “ประเทศห้ามพัฒนา” ไปอีกนานแสนนาน

เรื่องที่สองคือ วิกฤตที่ความเหลื่อมล้ำเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอำนาจนิยม

พูดกันอย่างกำปั้นทุบดิน เหตุของความเหลื่อมล้ำเกิดจากการขาดอำนาจทางการเมือง การขาดอำนาจทางการเมืองทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจทางการเมืองเหนือคนอื่นๆ

ผูกขาดการครอบครองทรัพยากรที่เป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐาน เช่น ที่ดิน น้ำ แรงงาน

มิหนำซ้ำคนกลุ่มนี้ยังเป็นผู้ผลิต ความเชื่อ ความศรัทธา ผลิตองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมที่เอาไว้กดทับบรรดามนุษย์ที่ขาดอำนาจทางเมืองให้จำนนต่อภาวะไร้อำนาจนั้น เช่น ทำให้คนเหล่านั้นเห็นว่า “โลกมันก็เป็นเช่นนี้เอง” เราเกิดมาเพื่อเป็นทาส เราเกิดมาเพื่อเป็นคนจน ฯลฯ

พูดอย่างกำปั้นทุบดินต่อไปอีกว่า แม้มนุษยชาติในหลายสังคมจะไม่จำนนและต่อสู้ทางการเมืองมาจนสามารถปลดแอกจากระบอบนาย และทาส มาสู่อารยะแห่งวิถีประชาธิปไตย ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้หายไปไหน และมีความรุนแรงในระดับที่ต่างๆ กันออกไป

แต่อย่างน้อยที่สุด ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ยังมีหลักประกันว่าด้วยอำนาจทางการเมืองที่เป็นของประชาชนทุกคน อำนาจและสิทธิทางการเมืองนี้เป็นหลักประกัน

หรืออย่างน้อย เป็นความหวังของคนในสังคมว่า ตราบเท่าที่อำนาจเป็นของเรา เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

การขยับขับเคลื่อนสังคมมันอยู่ในมือเรา ไม่ใช่อยู่ในมือของสมองแปดหมื่นสี่พันเซลล์ที่ไหนก็ไม่รู้

สังคมไทยก็เช่นกัน ในยุคที่เราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบสลับเผด็จการมาหลายทศวรรษ เราได้สะสมปัญหาความเหลื่อมล้ำมาอย่างหนักหนาสาหัส

รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เอื้อให้เรามีประชาธิปไตยเต็มใบ มีนายกฯ และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

การกระจายอำนาจ ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเลื่อนชั้นทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ไม่นับนโยบายประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เปลี่ยนโฉมหน้าสังคมไทย

ในขณะเดียวกัน นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ของรัฐบาลในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ความพยายาม privatized มหาวิทยาลัย และกิจการของรัฐ ก็สร้างความกังวลเรื่องความเหลื่อมล้ำ และ modern poverty ในแบบที่ประเทศเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่อื่นๆ กำลังเผชิญ

แต่อนิจจา ยังไม่ทันที่ประเทศไทยจะได้เรียนรู้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากแนวการพัฒนาเศรษฐกิจของสกุลเศรษฐกิจ เสรีนิยมใหม่

เรากลับถูกกระชากลงมาให้เผชิญกับวิกฤตความเหลื่อมล้ำแบบโลกศตวรรษที่ 18-19

นั่นคือ เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบโลกเก่ามากๆ

นั่นคือ เป็นความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากการขาดซึ่งอำนาจทางการเมืองโดยสิ้นเชิง

ถ้าความเหลื่อมล้ำจากเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่คือการที่มนุษย์ในสังคมประชาธิปไตยถูกทำให้รู้สึกและเชื่อว่า เรามีความฝัน

เราจะรวยได้ถ้าเราทำงานหนักพอ โอกาสเป็นของทุกคน แต่ยิ่งทำงานหนัก คนที่รวยขึ้นเรื่อยๆ คือนายทุน ไม่ใช่เรา

ทว่า มันก็มีความสำเร็จเล็กๆ บางอย่างในชีวิต คือ การเข้าถึงความสะดวกสบายบางอย่างที่จับต้องได้ เพื่อให้เรายังเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ และการเมืองแบบนี้อยู่

แต่ความเหลื่อมล้ำของโลกเก่าในแบบที่สังคมไทยถูกกระชากลงมาในรอบ 20 ปี หนักสุดคือ คือ 10 ปีให้หลัง เป็นความเหลื่อมล้ำชนิดที่ทำให้คนในสังคมส่วนใหญ่ ไม่คิด ไม่เชื่อว่าตัวเองมีความเป็น “คน” เท่ากับคนอื่นด้วยซ้ำไป

จากความเป็นคนที่มีความเชื่อ มีความหวัง เป็นความหวัง ระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะค่อยๆ ทำให้คนจนแปรสภาพเป็นผู้ขอและผู้รับส่วนบุญจาก

“รัฐบาลท่านอุตส่าห์เมตตาทำงานหนักและเจียดงบฯ แผ่นดินมาดูแลเรา”

หน้าที่ของรัฐบาลในการบริหารหน่วยงานราชการในความรับผิดชอบของตนเองเพื่อขับเคลื่อนประเทศ และมอบคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดให้กับประชาชนเจ้าของประเทศ ถูกแปรรูปเปลี่ยนร่าง กลายเป็นว่า รัฐบาลและ ครม. คือ เจ้าของประเทศร่วมกับนายทุนที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้รัฐบาล

หน่วยงานราชการและข้าราชการทั้งหมดถูกแปรรูปให้เป็นเพียงหน่วยธุรการรับใช้คณะบุคคลในรัฐบาล

หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ต้องพูดถึง

ป่านนี้ยังไม่ได้เลือกตั้งและถูกทอนกำลังลงไปมหาศาลจนหมดสภาพ

แทนที่จะได้ทำงานพัฒนาท้องถิ่นอย่างที่มุ่งหวังตอนนี้ ทำได้แค่กวาดถนน เก็บขยะ

ความง่อยเปลี้ยเสียขาเช่นนี้ ทำให้การบริหารประเทศที่ควรจะต้องทำกันอย่างมืออาชีพ

แทนที่เราจะมีรัฐบาลที่มีนโยบายดีๆ ส่งต่อหน่วยงานภาครัฐนำนโยบายไปออกแบบให้เกิดการปฏิบัติได้จริง มีการติดตามผล รู้ว่างานไหน งานอะไร อยู่ในความรับผิดชอบของใครอย่างชัดเจน เพื่อที่ในเวลาที่เกิดปัญหา จะได้ติดตามกันได้ถูกว่างานนี้ใครรับผิดชอบ

กลายเป็นว่าในระยะหลัง งานบริหารและแก้ไขปัญหาในประเทศ ถูกลดทอนให้เหลือเพียงงาน volunteer

เช่น น้ำท่วม ก็ส่งทหารไปช่วยซ่อมบ้าน หรือไปช่วยประชาชน เกิดปัญหาฝุ่นก็ใช้เฮลิคอปเตอร์ หรือทรัพยากรของกองทัพ ไปพ่นน้ำ งานทำความสะอาดคลองก็ส่งทหารมาทำ

แล้วทั้งหมดนี้ก็ถูกอธิบายว่าเป็น action แห่งความใส่ใจ กระตือรือร้นในการดูแลช่วยเหลือประชาชน

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว งานเหล่านี้มีหน่วยงานราชการที่มันควรจะ effective และมี accountability ทำตามหน้าที่

แต่เรื่องของเรื่องคือ ระบบนี้ไปทำลาย accountability แล้วแทนที่มันด้วย action แห่งการสงเคราะห์ ทำบุญ ทำทาน งานอาสาสมัคร

เมื่อเป็นงานที่คนเขามาทำเพราะอาสามาช่วย ก็ไม่มีเหตุให้ “ผู้รับความช่วยเหลือ” ต้องไปตรวจสอบ หรือ วิจารณ์ว่าทำได้ดีหรือไม่ได้ดี

เพราะแค่เขามาช่วย มาทำให้ มันก็ดีด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

นี่คือโครงสร้างของระบบบริหารราชการแผ่นดินที่ถูกบิดเบือน

ทำให้โครงสร้างานบริหารราชการที่ต้องมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ตรวจสอบได้ วิจารณ์ได้

กลายเป็นงานการกุศล งานบอกบุญ งานที่คนเขาอุตส่าห์มาช่วย นอกจากจะไม่ควรไปตั้งคำถาม วิจารณ์แล้ว ยังต้องคอยสำนึกในบุญคุณอีกด้วย

ด้วยระบบแบบนี้ “ความเหลื่อมล้ำ” จึงหลายเป็น “หน้าที่” ความเหลื่อมล้ำ คือสภาวะอันธรรมดาสามัญ ไม่มีความเหลื่อมล้ำสิแปลก มันถูกแล้วที่คนในประเทศนี้คนจะยิ่งโง่ ยิ่งจน

และรัฐบาลก็ยิ่งมีความหมายในฐานะผู้มาโปรดสัตว์ เพราะหากความเหลื่อมล้ำไม่ปรากฏตัว คนจนหายไป โครงสร้างอำนาจทางการเมืองแบบนี้จะอยู่ต่อไปไม่ได้

อำนาจทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องรักษาสังคมที่เหลื่อมล้ำเอาไว้ ต้องสร้างคนจน และต้องทำให้คนจนลงเรื่อยๆ แต่มีเงินแค่พอจะอุดหนุนสินค้า และบริหารของนายทุนท่อน้ำเลี้ยงรัฐบาล

และต้องทำให้คนหมดสภาพความเป็นคนเพื่อจะจำนนและศิโรราบต่ออำนาจที่บิดเบี้ยวนี้ไปนานเท่านาน

เป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศชาติเสียหาย ตกต่ำ รัฐบาลทำทุกอย่างตามอำเภอใจไม่เห็นหัวประชาชน เอาคนขี้โกงมาอยู่ในกรรมาธิการปราบโกง บอกว่า เสียบบัตรแทนกันคือการช่วยกันลงคะแนน และไม่เสียหาย ไม่มีความผิด

ไวรัสโคโรนาทำคนทั้งโลกแพนิก ประเทศไทยบอกชิลๆ รับมือได้

ปัญหาฝุ่นพิษก็นอนกระดิกตีนของลมพัดมาตามฤดูกาล รอหมดฤดูเผาอ้อย เผาข้าวโพดกันไปวันๆ ห้ามใช้ถุงพสาสติกแต่นำเข้าขยะพิษ ฯลฯ

มันเป็นไปได้อย่างไรที่รัฐบาลบ้อท่าขนาดนี้แต่กลับไม่สั่นคลอน ไม่สะเทือน มั่นใจ มั่นคง แถมยังมีทีท่าว่าจะอยู่ต่อไปอีกยาว

คำตอบก็อยู่ที่สองวิกฤตข้างต้น สลิ่มยินดีเชียร์รัฐบาลห่วย

ขออย่างเดียวอย่าให้ทักษิณกลับมา

อย่าให้ธนาธรเป็นนายกฯ

ส่วนคนจนถูกทำให้ยากจน อ่อนแอต่อเนื่อง เพราะการสร้างความจนและความอ่อนแอให้ประชาชนคืองานของเรา

เราจะออกจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร?

บอกตามตรง ฉันก็จนปัญญา