ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม ในจอมคนป่าอสรพิษ (4)

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon
ภาพคนพื้นเมืองที่กลายเป็นทาส อดตายคาค่าย Putamayo

ภาพยนตร์เรื่อง Embrace of the Serpent พัฒนาเนื้อหาบางส่วนจากบันทึกของนักสำรวจเยอรมัน Theodor Koch-Grunberg ผู้เดินทางเข้าอเมซอนส่วนที่น่าจะเป็นโคลอมเบียปัจจุบันใน ค.ศ.1909 อันเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ Walter Hardenburg เดินทางในปี 1908 เข้าสู่อเมซอนส่วนที่คือเปรูในปัจจุบัน

บันทึกของฮาร์เดนเบิร์กจึงเป็นภาพสะท้อนสภาพคนพื้นเมืองที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มอันธพาลภายใต้การปกครองของ “เจ้ายาง”

หรืออีกแง่หนึ่งคือ “นายทาส” แห่งอุตสาหกรรมยางช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 20 ได้อย่างดี

บันทึกฮาร์เดนเบิร์กมีฉากหลังคือแม่น้ำปูตามาโยและอิยาราปารานาซึ่งมีชนพื้นเมืองตั้งรกรากโดยแทบไม่ได้ติดต่อกับโลกภายนอกสามพวก

พวกแรกคือ Witotas พวกที่สองคือ Boras พวกที่สามคือ Andoques

แต่ในปี 1890 รัฐบาลกลับให้สัมปทานเหนือดินแดนนี้แก่ ฆูลิโอ ซีซาร์ อารานา ซึ่งต่อมาจะสะสมความมั่งคั่งเป็น “เจ้ายาง” จนมีชีวิตราวกษัตริย์เหนือดินแดนนั้น

ส่วนชนพื้นเมืองก็จะค่อยๆ ถูกทำให้เปลี่ยนสถานะจากชนเผ่าที่มีอิสรภาพไปเป็นกรรมกรกรีดยาง หรืออีกนัยคือ “ทาส” ในราชอาณาจักรสวนยาง

ฮาร์เดนเบิร์กระบุในบันทึกว่าการล่ามนุษย์เป็นกลไกหลักที่ “เจ้ายาง” ใช้ทำให้คนพื้นเมืองเป็นกรรมกรกรีดยาง กระบวนการนี้เรียกว่า “orrer?as โดยผู้คุมซึ่งนำเข้าจากคาริบเบียนจะกระชากคนพื้นเมืองเข้าสู่เส้นทางของการเป็นทาสหรือนางบำเรอไปตลอดชีวิต

ผู้คุมจะบังคับให้ทาสเก็บน้ำยางให้ได้ 75 กิโลกรัม ทุก 3 เดือน โดยหน้าที่ในการแบกน้ำยางไปส่งนั้นเป็นของทาสและครอบครัวทั้งหมด

ส่วนทาสที่เก็บน้ำยางได้ต่ำกว่าเป้าก็จะถูกเฆี่ยนด้วยหวาย 50 ครั้ง, กรีดเนื้อเป็นชิ้นๆ หรือยิงให้บาดเจ็บเจียนตาย

ฮาร์เดนเบิร์กถูก “เจ้ายาง” ปล่อยตัวในปี 1909

จากนั้นเขาเดินทางไปอังกฤษ พิมพ์บันทึกของเขาในนิตยสารเล็กๆ ชื่อ Truth

ซึ่งต่อมาองค์กรเอกชน “สโมสรต่อต้านการค้าทาสและชนพื้นเมือง” (Anti-Slavery and Aborigines Society) หยิบยกประเด็นนี้ไปกดดันให้รัฐบาลอังกฤษสืบสวนเรื่องนี้ผ่านช่องทางกฎหมาย ซึ่งบริษัทของ “เจ้ายาง” คือ Anglo-Peruviann Amazon Rubber Co. จดทะเบียนที่อังกฤษ ซ้ำยังมีคณะกรรมการเป็นคนอังกฤษด้วย

และในที่สุดรัฐบาลอังกฤษก็ตั้งคณะสอบสวนเรื่องนี้ขึ้นมา

ปี 1910 รัฐบาลอังกฤษส่งเซอร์โรเจอร์ เคสเมนต์ ไปรวบรวมข้อเท็จจริงเรื่องนี้ และถึงแม้ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเคสเมนต์จะได้แก่กงสุลอังกฤษประจำกรุงริโอ เดอ จาไนโร แต่ตำแหน่งที่ไม่ทางการคือเขาเป็นนักการทูตผู้ทำรายงานในปี 1904 เปิดโปงว่ากษัตริย์ลีโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม เกี่ยวพันกับการฆ่า, คว้านอวัยวะเพศหญิง, ลักพาตัว และทรมานคนพื้นเมืองคองโกจำนวนมหาศาล

การตัดสินใจส่งบุคคลที่มีประวัติการทำงานแบบนี้ไปเปรู จึงสะท้อนว่าอังกฤษเวลานั้นเอาจริงกับเรื่องนี้อย่างไร

รายงานของเคสเมนต์บรรยายสภาพคนพื้นเมืองในอุตสาหกรรมยางคล้ายคลึงกับที่ฮาร์เดนเบิร์กบันทึกไว้

คนคู่นี้พูดตรงกันเรื่องคนพื้นเมืองถูกล่า ถูกล่ามโซ่ และถูกขายให้กับ “เจ้ายาง”

จากนั้นก็จะถูกผู้คุมบังคับให้ทำงานวันละ 16 ชั่วโมง ถูกคุมตัวให้อยู่ในบริเวณค่ายกักกัน ถูกทรมานให้ทำงานหนักขึ้น ถูกทิ้งให้อดอาหารตายในกรณีที่ทำงานไม่ไหวแล้ว หมู่บ้านถูกเผา ผู้หญิงถูกข่มขืน และแม้กระทั่งลูกหลานคนพื้นเมืองก็ถูกฆ่าเพื่อข่มขู่ให้คนพื้นเมืองเป็นทาสด้วยความหวาดกลัว

ด้วยรายงานของเคสเมนต์ สภาผู้แทนอังกฤษก็ตัดสินใจตั้งคณะกรรมการพิจารณาประเด็นนี้ต่อจนเป็นชนวนของการออกกฎหมายต่อต้านการค้าทาสในที่สุด และเมื่อถึงปี 1913 ศาลอังกฤษก็ปิดกิจการของ “เจ้ายาง” รายนี้แบบที่ผู้ถือหุ้นแทบไม่เหลืออะไร อย่างน้อยก็ในแง่ที่เป็นทางการ

อาจพูดเล่นๆ ได้ว่าฮาร์เดนเบิร์กทำหน้าที่เหมือนสำนักข่าวภูเก็ตหวานผู้เปิดโปงการค้ามนุษย์และแรงงานทาสกรณีโรฮิงญาในไทย ส่วนเคสเมนต์นั้นเทียบได้กับสหภาพยุโรปที่หยิบประเด็นแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงของไทยไปหาทางลงโทษนายทุนซึ่งปฏิบัติกับผู้ใช้แรงงานเยี่ยงทาสและไม่เป็นธรรม

แม้ภาพยนตร์เรื่อง Embrace of the Serpent จะเกี่ยวข้องกับตัวละครและพื้นที่ซึ่งแตกต่างจากบันทึกฮาร์เดนเบิร์กและรายงานเคสเมนต์ แต่บันทึกและรายงานดังกล่าวก็ช่วยให้เข้าใจสถานภาพของคนพื้นเมืองในอุตสาหกรรมยางซึ่งเป็นฉากหลังของภาพยนตร์ได้แจ่มชัด เหตุผลคือภาพยนตร์พัฒนาขึ้นจากบันทึกของนักสำรวจเยอรมันที่เดินทางเข้าอเมซอนไล่เลี่ยกับฮาร์เดนเบิร์ก

บันทึกจึงช่วยให้เข้าใจว่าทำไมตัวละครฝ่ายคนพื้นเมืองทั้งหมดจึงได้รับผลกระทบจาก “เจ้ายาง” ถึงขั้นบางคนแสดงอาการคล้าย PTSD ออกมา

ควรระบุด้วยว่าบันทึกของฮาร์เดนเบิร์กถูกพูดถึงเป็นพิเศษเพราะเกี่ยวพันกับกรณี Putamayo Atrocities หรือ “อาชญากรรมที่แม่น้ำปูตามาโย” ซึ่งทุกวันนี้มีผู้ประเมินว่า “เจ้ายาง” ทำให้คนพื้นเมือง 7 เผ่า คือ Witotos, Okaina, Bora, Uinona, Mirana, Nomuya และ Andokes เสียชีวิตราว 100,000 คน และมีผลสะเทือนระดับประธานาธิบดีโคลัมเบียและเปรูต้องออกแถลงการณ์ขอโทษชนพื้นเมืองในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.2012 รวมทั้งขอให้พวกเขาอภัยที่ทั้งสองประเทศเคยก่อ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ต่อบรรพบุรุษของพวกเขาเมื่อหนึ่งคริสต์ศตวรรษที่ผ่านไป

แน่นอนว่า ปูตามาโยไม่ใช่ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” กรณีเดียวที่เกิดขึ้นเมื่ออุตสาหกรรมยางโลกขยายตัวจนความต้องการแหล่งน้ำยางสูงขึ้นอย่างคลุ้มคลั่งในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในทางตรงข้าม มี “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ขนาดเล็กหลายกรณีเกิดขึ้นโดยมีคนพูดถึงไม่มากนัก เช่นเดียวกับมีชนเผ่าพื้นเมืองบางส่วนพอใจกับค่าแรงที่ได้จากการเป็นทาส

แต่โดยภาพรวมแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างคนพื้นเมืองกับ “เจ้ายาง” ก็เป็นไปในรูปของ “ทาส” และ “นายทาส” อย่างที่กล่าวไป

ถึงตรงนี้ เราอาจสรุปได้ว่า Embrace of the Serpent มีฉากหลังอยู่ที่อเมริกาใต้ ยุค “ตื่นยาง” ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับคนพื้นเมืองที่สำคัญสามระดับ

หนึ่ง คือ เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการผลิตให้คนพื้นเมืองอิสระเป็นแรงงานทาสของ “เจ้ายาง”

สอง คือ คุมร่างกายของชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในสภาพใกล้ “สภาวะธรรมชาติ” เป็นห่วงโซ่ระดับล่างสุดของระบบทุนนิยมโลก

และสาม คือ เปลี่ยน spatial practices ของภูมิประเทศจาก “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” เป็น “พื้นที่ธรรมชาติ” และ “พื้นที่เศรษฐกิจ” สนองระบบทุนนิยม

มองผ่านมุมนี้ ความขัดแย้งและความอัดอั้นตันใจที่ตัวละครทั้งหมดระเบิดออกมาขณะเดินทางเข้าป่าลึกล้วนเป็นตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงสามเรื่องนี้ทั้งสิ้น

การปรากฏของความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบใหม่ทำให้คาราคามาเต้ผู้วิเศษพื้นเมือง มองนักสำรวจว่ามีกมลสันดานไม่ต่างจากนายทาสฝรั่ง, ประสบการณ์คราวเป็นทาสทำให้ลูกหาบมาดุงก้าสติแตกยามเห็นหลุมศพทาสนับสิบราย

ส่วนการเดินทางเข้าป่าก็ทำให้เกิดการปะทะของ spatial practices ในรูปความตึงเครียดระหว่างคาราคามาเต้ ซึ่งมองป่าเป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” กับฝรั่งที่มองป่าเป็น “พื้นที่ธรรมชาติ” และ “พื้นที่เศรษฐกิจ” ตลอดเวลา

ในแง่ประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์ Embrace of the Serpent มักถูกเทียบเคียงกับ Fitzcarraldo ผลงานของผู้กำกับ Werner Herzog ผู้โด่งดัง เพราะผลงานและวิธีทำงานที่แทบไม่มีใครเหมือน เหตุผลคือภาพยนตร์สองเรื่องนี้คล้ายคลึงกันหลายอย่าง

อย่างแรก คือสร้างขึ้นจากเรื่องจริงของ “เจ้ายาง” เหมือนกัน

อย่างที่สอง คือพูดถึงเหตุการณ์ในเงื่อนเวลาและเงื่อนไขที่ใกล้เคียงกัน อย่างที่สามคือเป็นเรื่องในเขตอเมซอนตรงกันด้วย แต่ภาพยนตร์คู่นี้กลับเล่าเรื่องทำนองเดียวกันด้วยมุมมองราวกับมาจากภพที่ไม่มีวันบรรจบกัน

กล่าวให้รวบรัดที่สุด Fitzcarraldo เล่าเรื่องนักธุรกิจเชื้อสายไอริชผู้ทำโครงการรถไฟข้ามมหาสมุทรในเปรู แต่ล้มละลาย จนมุ่งเข้าสู่ธุรกิจยาง พร้อมความฝันจะสร้างโรงโอเปร่ากลางอเมซอนด้วย แต่เนื่องจากยางเวลานั้นเปรียบได้กับทองคำ รัฐบาลเปรูจึงไม่มีพื้นที่ป่าเหลือให้ใครได้สัมปทานกรีดยางอีก ยกเว้นป่าดงดิบในเขตนักล่าหัวคน

ผลก็คือนักธุรกิจผู้ฝันจะเป็น “เจ้ายาง” คิดค้นวิธีเข้าป่าที่ไม่มีใครคิดมาก่อน นั่นคือเขาจะลากเรือกลไฟตัดจุดที่เป็นคอคอดขึ้นภูเขาข้ามไปหลังแนวคนป่าเพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้าไปเลย

ขณะที่ตัวละครหลักหาสัมปทานและหาเงินซื้อเรือ ภาพยนตร์จะเผยให้เห็นความร่ำรวยของชนชั้นเจ้ายางในเปรูต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ว่าร่ำรวยระดับเหลือเชื่อ

หนังบอกว่าเปรูยุคนั้นคือเมืองที่มั่งคั่งที่สุดในโลก

เจ้ายางเชื้อสายโปรตุกีสส่งเสื้อผ้าจากเปรูไปซักรีดที่ลิสบอน เจ้ายางอีกรายประกาศว่าตัวเองมีทาสกรีดยางประมาณ 8,500 แต่วางแผนจะเพิ่มเป็น 10,000 คน

ขณะที่อีกคนเคยรวยระดับสร้างทางรถไฟตัดทวีปอเมริกาใต้จากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกไปฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก

Fitzcarraldo เป็นภาพยนตร์ที่ผู้สร้างบ้าคลั่งจนเกิดผลงานที่ผู้ชมย่อมไม่มีวันลืม ฉากสำคัญของเรื่องคือ “เจ้ายาง” เกณฑ์คนพื้นเมืองหลายสิบคนลากเรือกลไฟหนัก 320 ตัน ข้ามภูเขาที่ฝนตกและเฉอะแฉะกลางอากาศร้อน 40 องศา โดยมีเครื่องมือแค่กว้านไม้และเชือก

ความบ้าคลั่งระดับใช้คนพื้นเมืองลากเรือกลไฟข้ามภูเขาจริงแบบนี้เทียบได้กับจิตรกรอังกฤษ Joseph Turner ผู้ผูกตัวเองกับเสาเรือกลางพายุสี่ชั่วโมงเพื่อซึมซับความรู้สึกไปเขียนภาพ Snow Storm : Steam-Boat off a Harbour”s Mouth ที่โด่งดัง

เห็นได้ชัดว่า Fitzcarraldo มีทุกอย่างให้พูดถึงด้วยแนวคิดอาณานิคม ตัวละครเอกเป็นคนยุโรปที่ไปทำธุรกิจซึ่งเติบโตพร้อมกับการขยายตัวของอาณานิคมในอเมริกาใต้, ธุรกิจที่ทำคือ ยาง ซึ่งรุกพื้นที่ป่าของคนพื้นเมือง, เหตุผลที่ทำธุรกิจคือหาเงินจ้างนักร้องโอเปร่าไปแสดงกลางป่าลึก, อุปสรรคในการเข้าพื้นที่คือภูมิประเทศตามธรรมชาติและชนเผ่านักล่าหัวคน, “เจ้ายาง” ได้คนพื้นเมืองเป็นแรงงานจนฝ่าอุปสรรคได้สำเร็จ และในที่สุดคนพื้นเมืองชื่นชมโอเปร่าเหมือน “เจ้ายาง” ชื่นชม

ภาพยนตร์เรื่อง Fitcarraldo มีแรงขับจากมุมมองที่เห็นคนพื้นเมืองและความเป็นพื้นเมืองเป็นอุปสรรคจน “เจ้ายาง” ต้องควบคุม