The Leftover เติมชีวิตให้ของเหลือใช้ด้วยแรงบันดาลใจแห่งศิลปะ (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
นิทรรศการ The Leftover หอศิลป์ ARTIST+RUN

เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่โดดเด่นเป็นเอกอย่างยิ่งมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย นิทรรศการนี้มีชื่อว่า

The Leftover

นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งใหญ่ในรอบหลายปีของศิลปินร่วมสมัยระดับแนวหน้าผู้ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศไทยและในระดับสากล

ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์

เจ้าของผลงานจิตรกรรมนามธรรมอันโดดเด่นด้วยสีสันสดใส สนุกสนาน ฝีแปรงอิสระรุนแรง เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวไร้ขีดจำกัด และไม่ยึดติดกับขนบธรรมเนียมเดิมๆ ของศิลปะ

เขาสร้างผลงานขึ้นบนวัสดุหลากหลาย ทั้งผืนผ้าใบ แผ่นไม้ โลหะ ผ้ากระสอบ กระดาษลัง ฯลฯ

ไทวิจิตยังสร้างสรรค์ผลงานสามมิติรูปทรงแปลกตา ที่เป็นได้ทั้งประติมากรรมและงานดีไซน์เปี่ยมฟังก์ชั่น ประกอบสร้างขึ้นจากวัสดุเหลือใช้อย่างท่อเหล็ก ตะแกรงลวด เหล็กดัด เศษไม้ ปูนซีเมนต์ หรือเศษชิ้นส่วนของอุปกรณ์ เครื่องจักร หรือเฟอร์นิเจอร์เก่าๆ ฯลฯ

จนกลายเป็นผลงานเปี่ยมเอกลักษณ์ยากจะหาใครเสมอเหมือน

และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นหลังอย่างมากมาย

เขามีนิทรรศการแสดงเดี่ยวและกลุ่มทั้งในและต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เยอรมนี, อิตาลี, โปแลนด์, ออสเตรเลีย และฮ่องกง เป็นอาทิ

สิ่งที่น่าสนใจประการแรกของนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของไทวิจิตครั้งนี้ก็คือ ด้วยพลังในการสร้างสรรค์อันท่วมท้นของศิลปินผู้นี้ ทำให้พื้นที่ในหอศิลป์เพียงแห่งเดียวไม่อาจรองรับผลงานทั้งหมดของเขาได้

นิทรรศการครั้งนี้จึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน และจัดแสดงในหอศิลป์ถึงสองแห่ง

แต่อย่าเพิ่งกังวลว่าจะต้องเทียวไปเทียวมาหรือถ่อไปที่ไหนไกลๆ ตั้งสองที่

เพราะอันที่จริงหอศิลป์ทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ละแวกเดียวกันน่ะนะ

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือ ผลงานศิลปะทั้งหมดทั้งมวลในนิทรรศการนี้ ล้วนแล้วแต่ทำขึ้นจากสิ่งที่เป็นเหมือนชื่อนิทรรศการ “Leftover” หรือวัตถุข้าวของเก็บตกเหลือใช้ทั้งหลายนั่นเอง

โดยไทวิจิตกล่าวถึงผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของเขาว่า

“วัตถุเหล่านี้ถึงแม้จะเป็นของเหลือใช้ในสายตาคนอื่น แต่ผมมองว่าสิ่งของเหล่านี้ยังไปไม่ถึงที่สุดของคุณค่าของมัน ยังมีพื้นที่ให้เราใช้งานอีกตั้งเยอะ ถ้าเรามองเห็น มันก็จะให้ประโยชน์อะไรกับเราได้ ผมมองเห็นความงามจากความเก่า ความเป็นสนิม สีที่หลุดลอกเป็นชั้นๆ สิ่งเหล่านี้ให้อารมณ์ความรู้สึก และบอกสัจธรรมบางอย่างกับเราว่า ท้ายที่สุดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

PLAYGROUND UP&DOWN (2019)

สำหรับผม คำว่า Leftover (ของเหลือทิ้ง) มีหลายระดับนะ ของเหลือทิ้งบางคนก็อาจยังเป็นของใหม่อยู่เลย ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อย่างถุงพลาสติกก็อาจจะเป็น Leftover ก็ได้

หรือถ้ามองในเชิงเปรียบถึงสังคมบ้านเรา ระบบการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน หรือระบบการบริหารประเทศที่ไม่ประสานกัน ไม่มีประสิทธิภาพ จนทำให้เราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการทำงาน ที่จริงๆ ควรจะทำให้เกิดประโยชน์แก่คนส่วนรวม แก่ประชาชน

สิ่งเหล่านี้ก็เป็น Leftover อย่างหนึ่งได้เหมือนกัน เพราะเราได้เสียโอกาส หรือเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์”

ผลงานในนิทรรศการส่วนแรก จัดแสดงในหอศิลป์ ARTIST+RUN เมื่อดูเผินๆ เป็นผลงานภาพวาดนามธรรมเปี่ยมสีสันสดใส เต็มไปด้วยพลังความเคลื่อนไหวสนุกสนาน

ARTIST+RUN (2018)

แต่เมื่อพิศดูใกล้ๆ ก็พบว่างานเหล่านี้ไม่ได้ถูกทำลงบนผืนผ้าใบแคนวาสเรียบๆ เหมือนงานจิตรกรรมตามปกติ หากแต่เป็นงานจิตรกรรมที่ทำลงบนวัสดุข้าวของเหลือใช้ต่างๆ ปะติดปะต่อทับซ้อนกันจนกลายเป็นพื้นผิวขรุขระหยาบกระด้าง ที่ทำปฏิกิริยากับสีสันและฝีแปรงเปี่ยมความเคลื่อนไหวได้อย่างละลานตาน่าตื่นใจ

PLAYGROUND UP&DOWN (2019) รายละเอียดผลงาน

บางพื้นที่ในผลงานจิตรกรรมบางชิ้นยังเหลือร่องรอยตัวหนังสือของวัสดุเดิมให้สืบเค้าที่มา บ้างก็ล้อไปกับลวดลายตัวหนังสือที่ไทวิจิตขีดเขียนในงานอย่างน่าเพลินตา

อีกทั้งผลงานภาพวาดบนเศษวัสดุบางชิ้นยังถูกขึงบนกรอบที่ทำจากเหล็กเหลือใช้อย่างเว้าแหว่งไม่เต็มกรอบ

เหลือพื้นที่ว่างๆ เกินกว่าครึ่งที่กระตุ้นให้ผู้ชมอย่างเราตั้งคำถามว่าศิลปินยังทำงานไม่เสร็จ หรือจงใจเหลือทิ้งเอาไว้แบบนี้กันแน่?

LEFTOVER PAINTING (2018)
LEFTOVER PAINTING (2018) รายละเอียดผลงาน

“งานในชุดนี้ส่วนใหญ่ผมทำลงบนวัสดุเหลือใช้ อย่างกระสอบใช้แล้ว ผมไปซื้อกระสอบมือสอง กระสอบพริกบ้าง กระสอบข้าวสารบ้างนำมาใช้ใหม่ เหล็กที่ใช้ทำงานก็เป็นเหล็กเก่าเหลือทิ้ง แต่ก็มีเหล็กใหม่มาเสริมบ้างในโอกาสที่จำเป็น เพราะบางครั้งงานก็ต้องการความแข็งแรง ด้วยความที่ของเก่ามีความเสื่อมสภาพและด้อยคุณลักษณะด้านประโยชน์ใช้สอย แต่โดยส่วนใหญ่ผมก็ใช้ของเก่าทำงานเป็นหลัก

ส่วนภาพวาดที่ไม่เต็มกรอบถือเป็นงานที่เป็นจุดเริ่มของต้นงานใหม่ในระยะต่อไปของผม ผมตั้งชื่องานชิ้นนี้ตรงกับชื่อนิทรรศการว่า “Leftover Painting” ด้วยความที่มันใช้วัสดุเหลือใช้ ซึ่งเป็นของเหลือจากที่อื่น และโดยปกติภาพวาดทั่วไปมักจะขึงผ้าใบเต็มกรอบ แต่งานชิ้นนี้ผมทำให้ดูเหมือนเกิดความเสียหายกับภาพวาดจนเหลือผ้าใบแค่บางส่วน แต่อย่างน้อยมันก็ยังเหลือร่องรอยให้ได้ศึกษาต่อจากซากที่หลงเหลืออยู่ ไม่ต่างอะไรกับการชันสูตร การเปิดพื้นที่ว่างในภาพเองก็มีความเป็นนามธรรมให้คนตีความต่อได้ ว่าทำไมถึงหายไป? หรืออาจจะจินตนาการต่อได้ว่าภาพที่ขาดหายไปน่าจะเป็นอย่างไร

CLASSIC TRAP (2019)

อีกอย่าง ผมต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นจิตรกรรมที่ผ่านช่วงเวลามายาวนาน แต่ในหลายยุคหลายสมัยก็จะมีคำกล่าวที่ว่า “Painting Was Dead” (จิตรกรรมตายแล้ว) ศิลปินหลายคนหันเหไปทำงานในลักษณะอื่น อย่างงานศิลปะจัดวางหรือสื่อใหม่ๆ อะไรก็ตาม แต่สำหรับผม งานจิตรกรรมคือ The Leftover (สิ่งที่เหลืออยู่) มันมีความเป็นอมตะ และมีพื้นที่ให้แสดงศักยภาพและความหมายใหม่ๆ ออกมาได้อยู่เสมอ”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

นิทรรศการ The Leftover จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม – 14 มีนาคม พ.ศ.2563 ที่หอศิลป์ ARTIST+RUN และหอศิลป์เว่อร์ (Gallery VER) N22 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected], https://www.artistrun2016.com/

ขอบคุณภาพจากหอศิลป์ ARTIST+RUN