ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ชาวโรมันดวงตกในอียิปต์ กับประวัติศาสตร์ของทาสแมว

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในหมู่ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ทาสแมว” นั้น มักจะมีการยกประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งที่ชวนให้เชื่อกันว่า มนุษย์นั้นเป็นทาสของแมวมานานแล้ว

โดยเรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า มีชาวโรมันดวงตกคนหนึ่ง ได้พลั้งมือทำแมวตัวหนึ่งตายลงไป ประเด็นสำคัญก็คือ ชาวโรมันไม่ทราบทั้งเพศและอายุคนนี้เผลอไปทำให้แมวตายที่ไหนไม่ทำ ดันไปทำเอาที่อียิปต์ ในยุคที่ยังปกครองกันด้วยระบบฟาโรห์นี่แหละ

ทีนี้ก็เป็นเรื่องเลยสิครับ เพราะพวกอียิปต์โบราณเขามีธรรมเนียมปฏิบัติว่า ถ้ามนุษย์หน้าไหนกล้าดีไปทำให้ “แมว” เสียชีวิตแล้วละก็ โทษนั้นคือ “ตาย” สถานเดียวเท่านั้น

และก็เป็นด้วยเหตุผลเช่นนี้เอง ที่ทำให้มวลมหาประชาชนชาวอียิปต์ในยุคนั้น ได้ทำการรุมประชาทัณฑ์ชาวโรมันคนที่ว่ากันจนเสียชีวิตตามแมวไปภายในบ้านของเขาเองนี่แหละ

 

ในช่วงเวลานั้น อียิปต์มีกษัตริย์ผู้ปกครองที่ทรงพระนามว่า ฟาโรห์ทอเลมีที่ 12 (Ptolemy XII, ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.463-492) ซึ่งไม่ได้มีบรรพชนเป็นชาวอียิปต์แต่อย่างใด เพราะสืบเชื้อสายความเป็นกรีก

มาจากมาซิดอน (Macedon, คือบริเวณประเทศมาซิโดเนียในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นปริมณฑลทางวัฒนธรรมของกรีกโบราณ) อันเป็นลูกหลานของนายพลคนสนิทของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great, ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.207-220) ที่ได้รับความไว้วางพระทัยให้ปกครองอียิปต์ ต่างพระเนตรพระกรรณ หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงยึดครองอียิปต์ได้ จนสืบทอดอำนาจต่อมากลายเป็น “ราชวงศ์ทอเลมี” (Ptolemy dynasty) ในที่สุด

ดังนั้น ฟาโรห์ทอเลมีที่ 12 จึงอาจจะไม่ได้ทรงพระ “อิน” กับวัฒนธรรมการบูชาแมว และบรรดาสัตว์ทั้งหลายของชาวอียิปต์เมื่อครั้งกระโน้นเท่าไหร่นัก

เมื่อเกิดเหตุรุนแรงดังนี้เข้า พระองค์จึงทรงพยายามที่จะเข้ามาแทรกแซง โดยส่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาไกล่เกลี่ย

แต่ก็ไม่เป็นผลหรอกครับ เจ้าหน้าที่นายนั้นเองก็คงจะทำได้แต่นิ่งงันในสถานการณ์ เพราะสุดท้ายชาวโรมันคนนั้นก็ต้องตายตามแมวตัวนั้นไปอยู่ดี

 

เหตุการณ์ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้มาจากปากคำของนักประวัติศาสตร์เชื้อสายกรีกรุ่นเก่า ระดับเก๋ากึ้กอีกคนหนึ่งที่ชื่อ ดิโอดอรุส ซิคุลุส (Diodorus Siculus, พ.ศ.453-513)

โดยท่านได้บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนา ระดับคัมภีร์มหากาพย์ ที่ชื่อว่า “Bibliotheca historica” หรือที่รู้จักในโลกภาษาอังกฤษว่า “Historical Library” โดยอาจจะแปลหนังสือชื่อเป็นภาษาไทยได้ว่า “ห้องสมุดประวัติศาสตร์”

ซิคุลุสยังย้ำไว้ด้วยว่า เหตุการณ์ประชาทัณฑ์สะเทือนขวัญที่ว่านี้ เป็นสิ่งที่ท่านได้เห็นมากับตาของตัวเอง ระหว่างที่ท่องเที่ยวอยู่ในอียิปต์อีกด้วย

ในหนังสือ “ห้องสมุดประวัติศาสตร์” ของซิคุลุสนั้น บันทึกเหตุการณ์เรื่องชาวโรมันดวงตกที่ไปทำเอาแมวตายคนนี้ไว้ในบรรพแรก จากจำนวน 40 บรรพของหนังสือเล่มนี้ และบรรพแรกที่ว่านี้ก็คือ บรรพที่ว่าด้วย อียิปต์ นั่นเอง

การที่ซิคุลุสยกเอาเรื่องราวของอียิปต์ขึ้นไว้เป็นบรรพแรกของหนังสือเล่มนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของอียิปต์ในสายตาของกรีก และน่าจะหมายรวมไปถึงชนชาติอื่นๆ ในยุคคลาสลิคของยุโรป โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาต่อไปว่าบรรพอื่นๆ ที่เหลือของหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย บรรพที่ 2 ซึ่งว่าด้วยเรื่องของ เอเชีย (เนื้อหาส่วนใหญ่อุทิศให้อัสสิเรีย), บรรพที่ 3 ว่าด้วยแอฟริกา (เอธิโอเปีย, ลิเบีย, เหมืองทองในอียิปต์ และอ่าวเปอร์เซีย), บรรพที่ 4 เทพปกรณ์ต่างๆ ของกรีก, บรรพที่ 5 ยุโรป ซึ่งคุณทวดก็ได้พรรณนาถึงภูมิศาสตร์ของยุโรปทั้งในส่วนของภาคพื้นแผ่นดิน และหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คาบสมุทรไอบีเรีย คาบสมุทรอิตาลี และรวมถึงเกาะอังกฤษ, บรรพที่ 6-10 ว่าด้วยสงครามกรุงทรอย และประวัติศาสตร์กรีกโบราณ ส่วนหลังจากบรรพที่ 11-40 นั้น ว่าด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ช่วงหลัง พ.ศ.63 เป็นต้นไป

จะเห็นได้ว่า ช่วงบรรพแรกๆ ในตำราประวัติศาสตร์เล่มดังกล่าว พูดถึงแอ่งอารยธรรมใหญ่ๆ ในสายตาของพวกกรีกยุคโน้น

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ซิคุลุสจะพยายามรวบรวมเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับอารยธรรมเหล่านั้น รวมถึงเรื่องชาวโรมันดวงตกที่ว่า มารวมอยู่ในบรรพที่ว่าด้วยอียิปต์

ทั้งๆ ที่ถ้าจะนับกันจากปีศักราชที่เกิดเหตุนั้น เหตุการณ์นี้ก็ไม่น่าจะไปโผล่อยู่ในบรรพแรกสุดได้ เพราะเป็นเรื่องในสมัยของฟาโรห์ทอเลมีที่ 12 อันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลัง พ.ศ.63 (ซึ่งหากไล่เรียงตามลำดับเวลาแล้ว ก็ควรอยู่ในบรรพที่ 11 ลงมา มากกว่าจะเขียนไว้ในบรรพแรกสุด) มากถึง 400 ปีเศษเลยทีเดียว

ดังนั้น ซิลิคุสจึงพาดพิงเรื่องของชาวโรมันคนดังกล่าว เพื่อทำให้เห็นถึงภาพรวมของความเป็นอียิปต์ มากกว่าที่จะเล่าถึงมันในฐานะอื่นใด เพราะในหนังสือห้องสมุดประวัติศาสตร์เอง ก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์รุมประชาทัณฑ์ที่ว่ามากไปกว่านี้

 

แน่นอนว่าความเป็นอียิปต์ในกรณีนี้ก็คือ ความแปลกประหลาดพิกลของชาวอียิปต์ที่บูชาสัตว์ต่างๆ ราวกับเป็นเทพเจ้า โดยเฉพาะ เจ้าแมวตัวน้อย แต่เอาเข้าจริงแล้ว ชาวโรมันคนนั้นจะต้องตายเพราะไปทำเจ้าเหมียวตัวหนึ่งตายเพียงเท่านี้จริงๆ หรือครับ?

ร่องรอยสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรจะมองข้ามไปก็คือ การที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในรัชกาลของฟาโรห์ทอเลมีที่ 12 นี่เอง เพราะฟาโรห์องค์นี้ถูกมองว่าเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ เอาแต่พระทัยตนเอง ชมชอบในการเสวยน้ำจัณฑ์ และสนพระทัยแต่ในเรื่องของดนตรีการ

จนกระทั่งถูกตั้งพระฉายานามเป็นภาษากรีกอย่างเย้ยหยันว่า “อูเลเทส” (Auletes) แปลว่า “นักเป่าฟลุต” โดยสื่อถึงการใช้ชีวิตที่ห่วงแต่การเสวยสุขของพระองค์

แถมในช่วงระหว่างรัชกาลของพระองค์นั้น ฟาโรห์ทอเลมีที่ 12 ก็ทรงเคยลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่กรุงโรม และมีการขออำนาจของโรมให้ช่วยสนับสนุนพระองค์อีกด้วย

ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ฟาโรห์องค์นี้ยังทรงเป็นพระราชบิดาของฟาโรห์สาวสวย ที่มีชื่อเสียงที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์อียิปต์อย่าง “พระนางคลีโอพัตรา” (Cleopatra, ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.492-531 แต่บ้างก็ว่าครองราชย์ถึง พ.ศ.533)

ซึ่งหากใครพอทราบถึงประวัติของพระนางอยู่บ้าง ก็คงจะเห็นได้ชัดถึงอิทธิพลโรมันที่คุกคามเข้ามาในอียิปต์ ในช่วงรอยต่อระหว่างรัชสมัยของฟาโรห์ทอเลมีที่ 12 มาจนถึงสมัยของฟาโรห์สาวสวยคลีโอพัตรา

ดังนั้น เหตุการณ์รุมประชาทัณฑ์ชาวโรมันดวงตกคนนี้ จึงอาจจะไม่เกี่ยวกับการที่ชาวอียิปต์โบราณบูชาแมวเป็นเทพเจ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจจะมีนัยยะทางการเมืองที่ผสมผเสอยู่ด้วย

 

และอันที่จริงแล้ว ธรรมเนียมการชดใช้ชีวิตให้กับสัตว์ ซึ่งชาวอียิปต์ถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็ไม่ได้มีเฉพาะกับแมวเท่านั้นหรอกนะครับ พยานอยู่ในหนังสือ “Historiai” หรือที่รู้จักกันในโลกภาษาอังกฤษว่า “The Histories” ของบุคคลระดับที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์โลกอย่าง “เฮโรโดตุส” (Herodotus, พ.ศ.58-118) เพราะท่านได้บันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า

“สัตว์ทุกตัวนั้น พวกอียิปต์ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สัตว์บางชนิดอยู่กับคน บางชนิดไม่อยู่กับคน แต่ถ้าข้าพเจ้าจะพูดถึงเหตุผลว่า ทำไมสัตว์เหล่านี้จึงถูกเทิดทูนว่าศักดิ์สิทธิ์ ก็จะกลายเป็นการพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเทพยดาไป ซึ่งข้าพเจ้าประสงค์เป็นอย่างยิ่งที่จะไม่พูดถึงสิ่งเหล่านี้…ถ้าผู้ใดฆ่าสัตว์เหล่านี้แม้แต่ตัวเดียว โดยถ้ากระทำโดยเจตนาโทษก็คือความตาย แต่ถ้ากระทำโดยไม่เจตนา โทษก็จะถูกกำหนดตามแต่พวกนักบวชจะเห็นควร ส่วนผู้ใดที่ฆ่านกช้อนหรือฆ่าเหยี่ยว ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ โทษทัณฑ์จะมีแต่ความตายเพียงสถานเดียวเท่านั้น”

ดังนั้น ต่อให้เจ้าสัตว์ที่ชาวโรมันคนนั้นพลั้งมือฆ่าไปนั้นไม่ใช่แมว แต่เป็นหมู หมา กา ไก่ นกช้อน เหยี่ยว หรือสารพัดสัตว์ตัวไหน ชาวโรมันดวงตกคนนี้ก็คงไม่แคล้วที่จะโดนประชาทัณฑ์ไปได้อยู่ดี โดยเฉพาะเมื่อเหตุเกิดในช่วงเวลาที่อำนาจจากโรมได้ยื่นขยายเข้าไปในแผ่นดินอียิปต์

ในกรณีนี้เจ้าแมวตัวที่ตายจึงอาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับบังหน้า มากกว่าที่จะแสดงให้เห็นว่า มนุษย์นั้นเป็นทาสของแมวมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยอียิปต์ ยังปกครองกันด้วยฟาโรห์ไม่ใช่หรือครับ?