จรัญ พงษ์จีน : วิบากกรรมประชาธิปัตย์ยุครัฐบาลประยุทธ์

จรัญ พงษ์จีน

ช่วงนี้ “พรรคประชาธิปัตย์” มีประเด็น “เลือดไหล” มาให้เคลียร์กันไม่หยุดหย่อนแบบรายวัน ก่อนหน้านี้ กระเป๋าใบเขื่องของพรรค “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ผู้หาญกล้าลงท้าดวล ชิงหัวหน้าพรรค และแพ้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ไปแค่เส้นยาแดงผ่าแปด ประกาศไขก๊อกออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ และสมาชิกพรรค

พักเบรกได้แค่ประเดี๋ยวประด๋าว “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มือเศรษฐกิจ ผู้สมัครชิงดำหัวหน้าพรรคอีกคน แม้จะสังกัดกันคนละขั้วกับเจ้าแรก ได้ประกาศลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทิ้งประชาธิปัตย์ไปอีกราย จากนั้นตามหลังไปติดๆ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” อดีต ส.ส.หลายสมัย

ไม่นับรวมกับที่หนีไปเจริญศีลและภาวนาก่อนล่วงหน้าที่พรรคพลังประชารัฐและล้วนได้ดิบได้ดีกันยกเข่ง อันประกอบไปด้วย “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม “สกลธี ภัททิยกุล” เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ดังนั้น หากนับรวมข้าวต้มมัด กับชาวประชาธิปัตย์ที่เคยเคลื่อนไหวร่วมอุดมการณ์กับกลุ่ม กปปส. ที่มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำเข้าไปด้วยแล้ว

เท่ากับว่าสมาชิกขาเก่าขาแก่ของประชาธิปัตย์ “ไหลออก” รวมกันแล้วเกือบ 30 คน ถือว่า “ผิดปกติ” มากสำหรับพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ยั่งยืนมากที่สุดของประเทศไทย แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเจอสภาพเช่นนี้

ล่าสุดยังไม่หยุด มีอดีตผู้สมัคร ส.ส.ในภาคอีสาน ตบเท้ายื่นใบลาออกจากประชาธิปัตย์อีก 8 คน ประกอบด้วย 1.นายปรีชา ฉ่ำมณี อุบลราชธานี 2.นายบุญสอน สามัคคี อุบลราชธานี 3.นายบุญรักษา พรมวัง สกลนคร 4.จ.อ.ประธาน สุทธิคีรี สกลนคร 5.นายปฏิณญา วิเชฏฐพงษ์ ขอนแก่น 6.นายภูมบดี วิเชฏฐพงษ์ ขอนแก่น 7.นางกมลวรรณ มณีศรี มหาสารคาม และ 8.นายอดุลย์วิชญเดช ติยะบุตร เลย

แม้ทั้ง 8 ผู้สมัครจะไม่เคยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แค่ผู้สมัครเจ็บระดับ “ยุงกัด” ดูไปแล้วไม่น่าจะกระเทือนซางอะไร แต่โดยภาพรวมกับคำจำกัดความว่า “เลือดไหล” ถือว่าเสียยี่ห้อ “ประชาธิปัตย์”

พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ มีสมาชิกจดแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองมากถึง 2.8 ล้านคน มีโครงสร้างที่เข้มแข็งดุจผนังทองแดงกำแพงเหล็ก เป็นจุดเด่นมากสุดคือ มีสาขาพรรคทุกพื้นที่ทั่วประเทศจำนวน 175 สาขา ซึ่งพรรคการเมืองอื่นทำไม่ได้

 

พรรคประชาธิปัตย์เสียรังวัดมากกับการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหลังสุดเมื่อปี 2562 ได้ ส.ส.เขตต่ำกว่าเป้าหมายมากชนิดน่าใจหาย เข้าป้ายมาเป็นลำดับที่ 4 เพียง 33 ที่นั่ง จาก 350 เขตทั่วประเทศ โชคดีที่แฟนคลับเก่ายังมาช่วยเติมเต็ม กอปรกับมีจุดลงตัวพอดิบพอดี ภายใต้ร่มเงาของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้อนุเคราะห์เหมือนบุญเก่าโหนผ้าเหลือง จึงได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมามากที่สุด 18 ที่นั่ง เท่าเทียมกับพรรคพลังประชารัฐ

ส่งผลให้ยอด ส.ส.โดยรวม กระโดดค้ำถ่อมาลำดับที่ 4 ต่อจากพรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และอนาคตใหม่

แต่ถือว่าประชาธิปัตย์เสียรังวัดเอามากไม่น้อยทีเดียว เพราะพื้นที่เลือกตั้งที่เคยเข้มแข็ง ได้แก่สนามปักษ์ใต้ ที่เคยถูกยกย่องว่าได้รับความนิยมสูงสุด ส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครยังได้รับเลือกตั้ง

แต่เลือกตั้งรอบนี้ “พลิกความคาดหมาย” เสาไฟฟ้าล้มระเนระนาด ถูกพรรคพลังประชารัฐกับภูมิใจไทยตีที่หมายแตกกระเจิดกระเจิง หนักหนาสาหัสกว่าเจอมรสุมเงินในฝันพรรคกิจสังคม เมื่อการเลือกตั้งปี 2522

สถิติที่เสียความรู้สึก ถือว่า “ห่วยแตก” มากกว่าพื้นที่ไหนคือสนามเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่ายี่ห้อแชมป์เก่าอย่างประชาธิปัตย์ ถูกถอนรากถอนโคนไม่เหลือแม้แต่ตอ ไม่มี ส.ส.แม้แต่คนเดียว ผู้สมัครของพรรคสอบตกกราวรูด บางพื้นที่กรรมการบริหารพรรคเกือบจะเสียสติ เมื่อพบว่าคะแนนของผู้สมัครเข้าป้ายมาในลำดับที่ 4 หลายเขต แพ้พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และอนาคตใหม่

แม้ว่าหลังศึกเลือกตั้งใหญ่ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แสดงสปิริต ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค พร้อมทิ้งตำแหน่ง ส.ส. มีการเปลี่ยนมือผู้นำทัพมาเป็น “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์”

พร้อมยกเครื่องกรรมการบริหารพรรคยกชุด นอกจากผ่องถ่าย “รองระดับภาค” บางส่วนซึ่งประกอบด้วย “นราพัฒน์ แก้วทอง” ภาคเหนือ “ไชยยศ จิรเมธากร” ภาคอีสาน “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ภาคใต้ “องอาจ คล้ามไพบูลย์” กทม. “สาธิต ปิตุเตชะ” ภาคกลาง

เสริมใยเหล็กด้วยรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ ซึ่งประกอบด้วย “นิพนธ์ บุญญามณี-คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช-อลงกรณ์ พลบุตร-สรรเสริญ สมะลาภา-สามารถ ราชพลสิทธิ์-กนก วงษ์ตระหง่าน-ปริญญ์ พานิชภักดิ์” ดูประหนึ่งเหมือนจะดูดี แต่กลับไม่ดี เพราะเลือดยิ่งไหลแรงมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าจะมีแกนนำจำนวนไม่น้อยพากันตบเท้าลาออก ทิ้งทั้งตำแหน่งสมาชิกพรรค และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบไม่สนใจไยดีแล้ว

กลุ่ม ก๊ก และมุ้งที่ยังดำรงอยู่ บางส่วนพากันแหกด่านมะขามเตี้ย “แตกแถว” ไปยืนคนละมุม มองสวนกับมติพรรค

นับเป็นประเด็นที่น่ากังวลและตกใจยิ่ง ที่พรรคประชาธิปัตย์ พิมพ์นิยมของคนการเมือง ลูกพรรคยึดหลักการ มติพรรคเหนือเหตุผลและมิติทางความคิดของตนเองเป็นใหญ่

ถึงเวลาแล้วที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องถอดเสื้อคุยกัน เอาสิ่งที่เห็นตรงกันมาเป็นแบบแผน สร้างกติการ่วมกันใหม่ได้ เอาความแตกต่างมาเป็นปัจจัยในการแสวงหาความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคกลับคืนมา

ไม่เช่นนั้นแล้ว “เราเชื่อว่า” ประชาธิปัตย์จะประสบชะตากรรมเดียวกับ “พรรคกิจสังคม” ที่ค่อยๆ หายออกจากสารบบทางการเมือง…อย่าหาว่าหล่อไม่เตือนนะจะบอกให้