ไวรัสโคโรน่า : วิกฤติแห่งการบริหารวิกฤติของรัฐบาลประยุทธ์ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ปี 2563 คือปีที่คนจำนวนมากเชื่อว่าประเทศจะเต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวาย และถึงแม้เข็มนาฬิกาจะเดินหน้าจนปีใหม่เพิ่งผ่านไปได้เดือนเดียว ความระส่ำระสายทางการเมืองก็มีมากจนไม่มีข่าวดีเกี่ยวกับรัฐบาลปรากฎให้เห็น มีก็แต่ข่าวร้ายซึ่งสะสมให้ประชาชนเกิดความรู้สึกติดลบต่อรัฐบาลมากขึ้นทุกวัน

ถ้าห้าปีแรกของพลเอกประยุทธ์คือการถูกประชาชนครึ่งประเทศรังเกียจเพราะความเป็นเผด็จการ พลเอกประยุทธ์ในปีที่หกกำลังถูกประชาชนเมินหน้าหนีเพราะความล้มเหลวในการบริหารงานแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ ความยากจน คุณภาพชีวิต ฝุ่นพิษ PM2.5 และไวรัสโคโรน่าในปัจจุบัน

ด้วยวิถีทางที่พลเอกประยุทธ์ใช้กระบอกปืนตั้งตัวเองเป็นนายกตั้งแต่ปี 2557 คนที่ต้องการประชาธิปไตยย่อมมีความรู้สึกลบกับพลเอกประยุทธ์อยู่แล้ว และถ้ายอมรับว่าความล้มเหลวในการบริหารประเทศทำให้พลเอกประยุทธ์มีคนเกลียดเพิ่มขึ้น ก็เป็นไปได้ที่บัดนี้พลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกที่คนส่วนใหญ่ชิงชัง

แน่นอนว่าการที่นายกมีคนชังเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในกรณีพลเอกประยุทธ์ ปริมาณของประชากรที่จงชังกลายเป็นปัญหาการบริหารประเทศไปแล้ว เพราะความจงชังนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่น และความไม่เชื่อมั่นนำไปสู่การไม่ยอมรับการนำแทบทั้งหมด หรืออีกนัยคือพลเอกประยุทธ์เป็นนายกที่พูดอะไรคนก็ไม่ฟัง

ล่าสุด การดำเนินการของรัฐบาลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่ากำลังเผชิญปัญหาจากความไม่เชื่อมั่นในพลเอกประยุทธ์มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่น่าเป็นห่วงพลเอกประยุทธ์จะเป็นอุปสรรคของรัฐบาลยิ่งกว่าจะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปอย่างแท้จริง

หมอท้้งที่เป็นผู้ปฏิบัติงานและเป็นอาจารย์แพทย์พูดตรงกันเรื่องไวรัสโคโรน่าไม่ทำให้ใครตาย คนส่วนหนึ่งที่ตายได้แก่คนสูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอจนไวรัสทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ส่วนคนที่ร่างกายปกติก็ให้แพทย์รักษาตามอาการไปได้ สักพักภูมิต้านทานในร่างกายก็จะต่อสู้กับไวรัสจนปลอดเชื้อในบั้นปลาย

ถ้าข้อมูลที่อธิบดีกรมควบคุมโรคและหลายอาจารย์แพทย์พูดเป็นความจริง สิ่งที่ต้องเร่งทำในเวลานี้คือการควบคุมประชากรเพื่อควบคุมการระบาด เพราะการระบาดย่อมทำให้ไวรัสกระจายสู่ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอจนโรคแทรกซ้อนได้ง่าย จากนั้นผู้ป่วยก็มีโอกาสทวีคูณถึงจุดที่ระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหวต่อไป

Photo by Hector RETAMAL / AFP) / TO GO WITH China-health-virus-death,SCENE by Leo RAMIREZ and Sebastien RICCI

หลังจากไวรัสระบาดไม่กี่วัน จีนประกาศสร้างโรงพยาบาลเพื่อรับผู้ติดเชื้อกว่า 1,000 คน นโยบายนี้จึงเป็นหลักฐานว่าไวรัสรักษาได้ ติดแล้วไม่ตาย เพราะไม่อย่างนั้น จีนคงเอาเงินไปสร้างเมรุมากกว่าโรงพยาบาล และทิศทางของเรื่องนี้ต้องเริ่มต้นด้วยการกักกันผู้ติดเชื้อและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสเท่านั้นเอง

จริงอยู่ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นในจีนจาก 2,835 ในวันที่ 27 เป็น 11,791 ในวันที่ 1 ก.พ.เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แต่จำนวนคนไข้ที่หายติดเชื้อ 171 คน, จำนวนคนตายนอกอู๋ฮั่นราวๆ 10 และไม่มีคนตายในประเทศอื่นจากผู้เสียชีวิตทั้งหมด 259 ก็แสดงความสำเร็จของการควบคุมไม่ให้ไวรัสทำลายชีวิตผู้คนเช่นกัน

จากการประเมินของอาจารย์ยง ภู่วรวรรณ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาของไทย การกระจายของไวรัสขึ้นอยู่กับความรุนแรงและอำนาจในการกระจายของไวรัส แต่เมื่อถึงจุดที่ชุมชนเกิดผู้ติดเชื้อที่มีภูมิต้านทานอย่างน้อย 50% ไวรัสจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นและโรคประจำฤดูกาล แต่ไม่ใช่โรคระบาดต่อไป

หากถักทอข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกัน สิ่งที่รัฐบาลต้องทำได้แก่การควบคุมประชากรและการดึงผู้เสี่ยงติดเชื้อเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาลให้หมด เพราะผลลัพธ์ของสองเรื่องนี้คือการลดผู้ป่วยและอัตราการแพร่ระบาด หรืออีกนัยคือการควบคุมการติดเชื้อในสังคมให้ถึงจุดที่ร่างกายมนุษย์พัฒนาภูมิต้านทานได้นั่นเอง

ภาพของไวรัสระบาดในหนังทำให้คนฝังหัวถึงเหตุไวรัสลุกลามจนคนหลายสิบล้านตาย และถึงแม้ไวรัสจะขยายตัวในทุกประเทศระดับที่องค์กรอนามัยโลกเห็นว่า “ไม่เคยมีมาก่อน” จนต้องประกาศ “ภัยฉุกเฉินสากล” ดร.ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกก็ยืนยันว่าเรื่องนี้สามารถยุติลง

แม้อัตราระบาดและตายของไวรัสโคโรนาเวลานี้จะสูงกว่าซาร์ส แต่อัตราดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อกระบวนการจัดการของประเทศต่างๆ เพิ่งเริ่มต้นขึ้น แต่ถ้าคำนึงว่าโลกมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ยุติการระบาดของซาร์สและภัยฉุกเฉินสากลอื่น ความสำเร็จในการควบคุมไวรัสโคโรนาย่อมไม่ใช่ความฝันที่ไกลความจริง

ความกังวลว่าไวรัสจะระบาดทำให้คนไทยโจมตีรัฐบาลว่าไม่ทำอะไร แต่การไม่ปรากฎผู้เสียชีวิตและการระบาดคือหลักฐานว่ารัฐบาลทำอะไรสำเร็จหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงว่าไทยคือสนามบินที่คนจีนมาเป็นอันดับต้นของโลก ผู้ติดเชื้อราว 20 ก็เป็นเพียง 0.1% ของคนจีนที่เข้าไทยช่วงนั้น 20,000 คน

This aerial photo shows excavators and trucks at the construction site of a new hospital being built to treat patients from a deadly virus outbreak in Wuhan in China’s central Hubei province on January 27, 2020. – China is rushing to build a new hospital in a staggering 10 days to treat patients at the epicentre of a deadly virus outbreak that has stricken thousands of people, state media reported on January 24. (Photo by Hector RETAMAL / AFP)

มีสัญญาณทางสังคมหลายอย่างที่สะท้อนความสับสนและความตื่นตระหนกของคนไทย หนึ่งในเหตุที่ทำให้คนตระหนกคือความกังวลว่านักท่องเที่ยวจีนจะแพร่ไวรัสโคโรนาจะคนไทยได้รับผลกระทบไปด้วย นอกเหนือไปจากความเชื่อว่าไวรัสโคโรนาติดใครแล้วตายทันทีโดยไม่มีทางรอดได้เลย

แม้ความตระหนกในยามสังคมเผชิญวิกฤติจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในกรณีไวรัสโคโรนา ความตระหนกเป็นผลจากความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลที่ลุกลามเป็นความไม่เชื่อมั่นเจ้าหน้าที่และกลไกสาธารณสุขทั้งหมด

และในที่สุดทั้งหมดนี้ก็กลายเป็นเงื่อนไขให้ “ข่าวเท็จ” ขยายตัวจนคนฟังเรื่องเท็จมากกว่าข้อมูลจริง

ไวรัสโคโรนาคือภัยคุกคามมนุษย์รูปแบบใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นวิกฤติสังคม และถึงแม้แต่ละสังคมจะมีเครื่องมือฝ่าข้ามวิกฤติแตกต่างกันหลายต่อหลายอย่าง การมีผู้นำที่ประชาชนเชื่อถือคือหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่สุด แต่พลเอกประยุทธ์ไม่ใช่ผู้นำประเทศที่จะช่วยให้เรื่องนี้ผ่อนหนักเป็นเบาได้เลย

ภายใต้ความไม่เชื่อมั่นต่อนายกที่ลุกลามเป็นความไม่เชื่อมั่นต่อระบบรักษา สื่อมีส่วนทำให้สังคมรับรู้เรื่องนี้จนเข้าใจผิดทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น พาดหัวประเภท “ไวรัสมรณะ” , “สนามบินเลิกตรวจอุณหภูมิ” , การไม่รายงานยอดการรักษาหาย ฯลฯ สร้างความรับรู้ที่ผิดมากบ้างน้อยบ้างจนเกิดความตระหนกในสังคม

ด้วยการใช้คำว่าไวรัสมรณะ สื่อทำให้คนฟังคิดว่าไวรัสโคโรน่าติดแล้วตาย ด้วยพาดหัวว่าสนามบินเลิกตรวจอุณภูมิ สื่อทำให้ผู้อ่านคิดว่าคนป่วยทะลักเข้าไทยหมด ด้วยการรายงานแต่ยอดผู้ติดเชื้อ สื่อไม่พูดถึงยอดคนหายจนผู้รับสื่อคิดว่าเชื้อระบาดไม่หยุด หรือจีนทั้งประเทศติดเชื้อเท่าอู๋ฮั่น ทั้งที่บางพื้นที่มีไม่กี่คน

ล่าสุด แม้กระทั่งการค้นพบว่าแท็กซี่ชาวไทยติดไวรัสจากผู้โดยสารจีนจนเป็นหลักฐานแรกของการแพร่ระบาดจากคนสู่คนในประเทศไทย สื่อก็แทบไม่รายงานว่าสาธารณสุขไล่ตรวจผู้ที่สัมผัสแท็กซี่ทั้งหมด 13 คนจนพบว่าไม่มีใครติดเชื้อ ผลก็คือคนจำนวนมากจินตนาการไปว่าแท็กซี่ทำให้ไวรัสระบาดสู่สังคม

ประชาชนไม่ผิดที่ตระหนกเรื่องไวรัสจนเกินจริง แต่สื่อผิดที่ไม่ตระหนักว่าสังคมเผชิญวิกฤติที่ต้องใช้ความรอบคอบในการรายงานข่าวสูงเป็นพิเศษ ระบบราชการผิดที่ไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงให้มากกว่าการนั่งแถลงข่าวไปเรื่อยๆ และนายกผิดที่ปากพล่อยจนตำแหน่งผู้นำไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

น่าเสียดายที่รัฐบาลเป็นหน่วยงานที่มีงบประมาณและกลไกในการยุติความตระหนกกว่าคนทุกกลุ่มในสังคม แต่ทุกวันนี้แค่ความรู้ว่าไวรัสโคโรน่าไม่ได้ทำให้ทุกคนตายกลับมีคนรับรู้น้อยมาก เช่นเดียวกับการป้องกันไวรัสด้วยวิธีง่ายๆ อย่างกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เลี่ยงพื้นที่เสี่ยง ซึ่งยังแทบไม่มีใครทำเลย

ไวรัสโคโรนาเป็นภัยคุกคามความมั่นคงมนุษย์ แต่วิกฤติรอบนี้ชี้ชัดว่าพลเอกประยุทธ์ไร้ความเป็นผู้นำจนไม่สามารถบริหารความรู้สึกของสังคมในสถานการณ์แบบนี้ รัฐบาลไม่ได้ล้มเหลวในการปกป้องการแพร่ระบาดของไวรัส แต่พลเอกประยุทธ์ล้มเหลวในการแสดงให้ประชาชนเห็นว่าเป็นผู้นำที่เชื่อถือได้จริงๆ

ด้วยคำพูดของนายกที่แย่เสมอต้นเสมอปลาย ความพยายามของรัฐบาลกลายเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อถือไปหมด ต่อให้นายกจะผลักดันให้มีการขนคนไทยกลับจากอู่ฮั่นตั้งแต่สามสี่วันแรกที่จีนยอมรับเรื่องแพร่ระบาด คนก็ไม่เชื่อว่านายกช่วย กระทั่งโพสท์ของอาจารย์หมอที่ไม่มีอำนาจยังมีคนฟังกว่าคำพูดนายกรัฐมนตรี

วิกฤติไวรัสโคโรน่าเป็นอีกครั้งที่สะท้อนว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ใช่ผู้นำที่ดีที่สุดของประเทศ และคนไทยมีสิทธิจะคิดถึงนายกรัฐมนตรีที่ดีและเก่งกว่านายกคนปัจจุบัน