นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ปฏิรูปจากข้างบนหรือข้างล่าง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

โฮเซ่ ริซาล (Jose Rizal) แห่งฟิลิปปินส์ วีรบุรุษของอาจารย์เบน แอนเดอร์สันเขียนแถลงการณ์เป็นชิ้นสุดท้ายในชีวิต ก่อนถูกตัดสินประหารชีวิตในปลายปีค.ศ.๑๘๙๖ มีความตอนหนึ่งว่า

“… ยิ่งกว่านี้ ข้าพเจ้าได้เคยเขียน (และคำพูดนั้นก็ถูกกล่าวซ้ำเสมอ) ว่า การปฏิรูปจะบังเกิดผลได้ ก็ต่อเมื่อมาจากข้างบน เพราะว่าการปฏิรูปที่มาจากข้างล่างจะไม่เป็นปรกติและเป็นความสั่นสะเทือนที่ไม่[รู้ผลกระทบ]แน่ชัด” (จาก Under Three Flags ของอาจารย์เบน)

อาจารย์เบนอธิบายไว้ด้วยว่า ตอนที่ริซาลเขียนแถลงการณ์นี้ เขาไม่รู้สถานการณ์โลกสักเท่าไร เพราะถูกจับไปควบคุมตัวไว้บนเกาะแห่งหนึ่งใกล้มินดาเนามา ๔ ปีแล้ว แทบไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์อะไรมากนัก เช่นถึงรู้ว่ามีสงครามกู้เอกราชในคิวบา แต่ก็ไม่รู้ว่าสงครามนั้นมีระดับความรุนแรงกว้างขวางมาก ขนาดที่เสปนต้องทุ่มเทกำลังทหารเป็นแสน เพื่อเข้าไปปราบปราม ดังนั้นเมื่อเกิดการเคลื่อนไหว”กาติปูนัน” ต่อต้านสเปนด้วยกำลังในฟิลิปปินส์ขณะนั้น จึงนับเป็นโอกาสอันดีในการลุกขึ้นสู้อยู่เหมือนกัน เพราะสเปนนั้น อ่อนแอแตกแยกภายในและจนเกินกว่าจะมีกำลังทหารส่งมาปราบปรามกบฏในฟิลิปปินส์ได้มากนัก

แม้กระนั้น เนื้อความในแถลงการณ์ของริซาลก็ไม่ได้แสดงว่า ไม่ควรขจัดอำนาจเสปนออกไปจากฟิลิปปินส์ เพียงแต่เห็นว่าสังคมฟิลิปปินส์ยังไม่พร้อมด้วยเหตุต่างๆ เท่านั้น เนื้อความระหว่างบรรทัดเช่นนี้ ศาลทหารเสปนก็อ่านออกเหมือนกัน จึงพิพากษาประหารชีวิตริซาล อย่างน้อยก็ใช้เป็นเหตุขจัดริซาล ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก แต่ไม่น่าไว้วางใจแก่สเปน

ดังนั้น”ข้างบน”ในแถลงการณ์ของริซาลจึงไม่ชัดว่าหมายถึงคนกลุ่มใดกันแน่ ชัดเจนแต่เพียงว่าไม่จำเป็นต้องหมายถึงสเปนหรืออำนาจที่ดำรงอยู่เท่านั้น อาจหมายถึงชาวฟิลิปปินส์พื้นเมืองซึ่งตื่นตัวทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ, และสังคมอยู่แล้วก็ได้ เพียงแต่เข้าไม่ถึงอำนาจทางการเมืองเท่านั้น

ผมเข้าใจว่า ปัญหาปฏิรูปจากข้างบนหรือข้างล่างนี้ เป็นปัญหาที่ปัญญาชนไทยถกเถียงอภิปรายกันมานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ผมยังหนุ่ม

หาก”ข้างบน”ของริซาล หมายถึงอำนาจที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น (The power that is) ผมเข้าใจว่าตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในทุกสังคม ไม่เคยมี”ข้างบน”ตามความหมายนี้ นำการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นที่เรียกว่าปฏิรูปเข้าสู่สังคมตนเองเลย ก็ระบบที่เป็นอยู่เอื้อต่อประโยชน์และสถานะของพวกเขาอยู่แล้ว เรื่องอะไรที่เขาจะไปเปลี่ยนมัน

นอกจากถูกกดดันจนหลีกเลี่ยงไม่ได้

การปฏิรูปในศตวรรษที่ ๑๙ ของสยาม ซึ่งนักวิชาการฝรั่งมักเรียกว่า”ปฏิรูปจักรี” เกิดขึ้นจากแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอก ภายในคือการสูญเสียพระราชอำนาจของราชบัลลังก์ลงตามลำดับ จนเกือบจะเป็นเพียงหุ่นเชิดของขุนนางบางตระกูลที่รวบอำนาจไว้ในตระกูลเกือบหมด ส่วนแรงกดดันจากภายนอก ก็อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าจักรวรรดินิยมตะวันตกกำลังหากำไรจากราชอาณาจักรโบราณของเอเชีย ในที่ใดซึ่งการเอาเป็นอาณานิคมให้กำไรสูงสุด ก็เอาเป็นอาณานิคม สยามจะเอาตัวรอดได้ก็แต่โดยการทำให้จักรวรรดินิยมได้กำไรตามต้องการ โดยไม่ต้องตกเป็นอาณานิคม

ด้วยแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอกเช่นนี้แหละ เราก็อาจอธิบายการปฏิรูปของซาร์ปีเตอร์แห่งรัสเซีย และเฟรดเดอริคแห่งปรัส?เซียได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ การปฏิรูปของอำนาจที่ดำรงอยู่หรือชนชั้นนำตามจารีต ยังมักมีจุดประสงค์ที่จำกัด คือตอบสนองต่อแรงกดดันเฉพาะหน้า มากกว่านำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง เพื่อทำให้หลายๆ ส่วนในสังคมได้พัฒนาไปจนสุดศักยภาพของตน เช่นดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การสร้างระบบราชการแบบใหม่ขึ้นในสมัยร.๕ นั้น ตราบจนสิ้นยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบราชการดังกล่าวมีการสอบเข้ารับราชการเพียงครั้งเดียว แล้วก็งดไปไม่ทำอีกเลย ยังคงสงวนอำนาจแต่งตั้งไว้ในมือของราชบัลลังก์ตามแบบเดิม จึงจะนับระบบราชการที่เกิดขึ้นเป็นระบบราชการของรัฐสมัยใหม่ไม่ได้อย่างเต็มที่ เพราะโดยสาระสำคัญแล้ว ก็ยังคงเป็นระบบราชการของรัฐราชสมบัติสมัยอยุธยานั่นเอง ยกเว้นแต่มีออฟฟิส, โต๊ะทำงาน, และเอกสารซึ่งต้องพิมพ์หรือเขียนขึ้นจำนวนมากเท่านั้น

(ระบบราชการแบบใหม่มีความสำคัญแก่รัฐอย่างไร ดู Francis Fukuyama, Political Order and Political Decay)

ยังมีข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งของการปฏิรูปจาก”ข้างบน”ซึ่งการสอนประวัติศาสตร์ในเมืองไทยมักทำให้มองไม่เห็น นั่นก็คือชนชั้นนำในทุกสังคมมักไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนัก ระบอบอำนาจที่ดำรงอยู่ประกอบขึ้นจากผลประโยชน์และอุดมการณ์ของคนหลายกลุ่มหลายเหล่า มิได้หลอมรวมอยู่ภายใต้ผู้นำคนเดียวหรือกลุ่มเดียว (เช่นพระเจ้าปราสาททอง, พระนารายณ์, ราชวงศ์บ้านพลูหลวง, พระเจ้าตากสิน, หรือพระพุทธยอดฟ้า ฯลฯ) ดังนั้นจึงต้องมีการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์และอำนาจระหว่างกัน จนลงตัวกลายเป็นระบอบปกครองอันหนึ่ง

ความเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงอาจกระทบต่อดุลย์แห่งอำนาจและผลประโยชน์ที่รองรับเสถียรภาพของระบอบได้ กลายเป็นข้อจำกัดของความเปลี่ยนแปลงทุกชนิดที่เกิดขึ้น ยกเว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในองค์ประกอบของชนชั้นนำ ได้พลังจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งจนทำให้มีพลังอำนาจล้นพ้นประมาณแก่ฝ่ายอื่นจะต่อรอง ข้อจำกัดของความเปลี่ยนแปลงจึงบรรเทาลง (แต่ก็ไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง)

ในกรณีประวัติศาสตร์ไทย ผมอยากฟันธงว่า อำนาจอันล้นพ้นประมาณของอังกฤษใน”กรณีวังหน้า”เมื่อต้นรัชกาลที่ ๕ ทำให้ทุกฝ่ายเห็นอย่างปราศจากความกังขาว่า อังกฤษอยู่ฝ่ายเดียวกับราชบัลลังก์อย่างมั่นคง จึงเปิดโอกาสให้พระราชาหนุ่มในขณะนั้น สามารถนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบได้ด้วยข้อจำกัดที่น้อยลง

อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นว่า”ข้างบน”ต้องหมายถึงเฉพาะชนชั้นนำตามจารีตซึ่งกุมอำนาจทางการเมืองอยู่เท่านั้น ลูกน้องซึ่งเกิดความตื่นตัวทางการเมืองอย่างเป็นอิสระจาก”นาย”ที่อยู่ข้างบน ก็อาจเป็นผู้นำของการปฏิรูปได้

การปฏิรูปเมจิเป็นตัวอย่างอันดีของความสำเร็จในการปฏิรูปจาก”ข้างบน” แต่นอกจากเงื่อนไขที่กล่าวแล้ว คือเกิดความตื่นตัวที่เป็นอิสระจาก”นาย” เช่นลักลอบไปเล่าเรียนความรู้ตะวันตก สร้างความสัมพันธ์ข้ามสถานะทางชนชั้นตามประเพณี โดยเฉพาะกับตระกูลพ่อค้า ฯลฯ ยังมีเงื่อนไขสำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือลูกน้องที่เป็นผู้นำการปฏิรูปต้องยึดอำนาจทางการเมืองจาก”นาย”ได้อย่างเด็ดขาดด้วย ซามูไรระดับกลางถึงต่ำเหล่านี้ คือผู้ที่เข้าไปได้อำนาจทางการเมืองจากโชกุนและไดเมียวของแคว้นต่างๆ อย่างเด็ดขาดด้วย เพราะแม้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นหลังจากได้อำนาจแล้ว ก็เป็นความขัดแย้งระหว่างกัน ไม่ใช่ความขัดแย้งที่เกิดจาก”นาย”พยายามแย่งอำนาจคืน ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายใดชนะในที่สุด ก็ไม่มีวันหวนคืนสู่ระบอบเก่าของ”นาย”อีกอย่างแน่นอน

เกิดชนชั้นอำนาจใหม่ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากชนชั้นอำนาจเดิมอย่างสิ้นเชิง อาศัยความชอบธรรมใหม่, จุดมุ่งหมายใหม่, และการรวมกลุ่มใหม่ คนเหล่านี้สามารถนำความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร้ขีดจำกัด หรือด้วยขีดจำกัดน้อย เปลี่ยนญี่ปุ่นไปจากเดิมอย่างแทบจะพูดได้ว่าพลิกฝ่ามือ

เมื่อมองการปฏิรูปเมจิแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่าหากการปฏิรูปในเมืองไทยกระทำโดยตระกูลบุนนาค แทนที่จะเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ สยามจะแตกต่างไปจากที่เรารู้จักอย่างไร (ยกเรื่องความเป็นไปได้ในทางประวัติศาสตร์ออกไปก่อน)

แม้อาจไม่ได้ขจัดอำนาจของชนชั้นนำชั้นบนสุดออกไปอย่างเด็ดขาด แต่สามารถสร้างเงื่อนไขที่จำกัดอำนาจของชนชั้นนำชั้นบนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชนชั้นนำระดับรองก็ยังอาจประสบความสำเร็จในการนำการปฏิรูปได้

การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษเป็นตัวอย่างอันดี เหล่าเจ้าที่ดินหรือ gentry ซึ่งกำลังแปลงทุนของตนไปสู่การพานิชย์อย่างเต็มที่ คนเหล่านี้นั่งอยู่ในสภาล่างซึ่งจะถือว่าเป็นชนชั้นนำในระบบอยู่แล้วก็ได้ ตัดสินใจเชิญเจ้าชายวิลเลียมแห่งเนเธอร์แลนด์และเจ้าหญิงแอนน์ กลับมาครองราชบัลลังก์อังกฤษ ทั้งสองพระองค์คือคนแปลกหน้าในวงการเมืองอังกฤษ แทบไม่มีบริวารของตนเองอยู่เลย จะไปต่อรองอะไรกับสภาล่างได้ ดังนั้นจึงเกิดการ”ปฏิวัติ”สถาบันทางการเมืองโดยไม่ผ่านการนองเลือดขึ้นได้

ยังมีอีกสองเรื่องที่ผมคิดเมื่อได้อ่านแถลงการณ์ของโฮเซ่ ริซาล หนึ่งคือการปฏิรูปจากข้างล่าง และโอกาสอันควรแก่การปฏิรูป แต่เนื่องจากเนื้อที่ไม่พอเสียแล้ว จึงขอผัดไปครั้งหน้า

(ยังมีต่อ)