ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มกราคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
เผยแพร่ |
“Parasite” ภาพยนตร์แนว “แบล็กคอเมดี้” โดย “บงจุนโฮ” คือผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในระดับนานาชาติ
เริ่มต้นด้วยการคว้ารางวัลปาล์มทองคำที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์เมื่อกลางปี 2019 ต่อด้วยการกวาดรางวัลจำนวนมากตั้งแต่ปลายปีเดียวกันเป็นต้นมา
ล่าสุด หนังเรื่องนี้เพิ่งได้รับรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม บนเวทีลูกโลกทองคำ
และจะมีลุ้นต่อ ด้วยการมีชื่อเสนอเข้าชิงรางวัลบาฟตา (ออสการ์อังกฤษ) 4 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม
ตามด้วยการเข้าชิง 6 รางวัลออสการ์ ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม และลำดับภาพยอดเยี่ยม
ถ้าได้รางวัลออสการ์ “Parasite” จะเป็นหนังเกาหลี (ใต้) เรื่องแรกสุด ที่สร้างประวัติศาสตร์หน้านี้ ทั้งยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความนิยมอันพุ่งทะยาน และความสำเร็จของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีในระดับนานาชาติ
ความสำเร็จที่ยืนยันอีกทางหนึ่งได้ด้วยตัวเลขในปี 2018 ซึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีมีมูลค่าส่งออก 41.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกิน 1 พันล้านบาท) เช่นเดียวกับที่เกาหลีใต้มีสถานะเป็นตลาดภาพยนตร์ใหญ่อันดับห้าของโลก (วัดจากรายได้ของการจำหน่ายตั๋ว)
รองจากสหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร
“บงจุนโฮ” เพิ่งให้สัมภาษณ์แก่นิวยอร์กไทม์สไว้อย่างน่าจับใจว่า
“”Parasite” ไม่ใช่ภาพยนตร์ซึ่งไร้ที่มา วงการภาพยนตร์เกาหลีมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และ “Parasite” ก็ถือเป็นความสืบเนื่องต่อจากหนังเกาหลีเรื่องอื่นๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมาก่อนหน้า หนังเรื่องนี้คือส่วนต่อขยายในประวัติศาสตร์ของพวกเรา
“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสุดที่วงการภาพยนตร์เกาหลีพุ่งผงาดขึ้นมาได้ในลักษณะนี้ หนังเรื่อง “The Handmaiden” ของ “ปักชานวุก” เคยได้รับรางวัลบาฟตามาแล้ว
“ขณะที่เมื่อปีก่อน “Burning” (โดย “อีชางดง”) ก็มีรายชื่อผ่านเข้าสู่รอบชอร์ตลิสต์ (หนัง 9 เรื่องที่มีโอกาสเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ แต่ไม่สามารถผ่านเข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้ายได้สำเร็จ)
“แล้วเราก็ยังมีภาพยนตร์สั้นแอนิเมชั่นจากเกาหลี ที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์
“พัฒนาการทั้งหมดทั้งมวลตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้ผลิดอกออกผลมาเป็นความสำเร็จของ “Parasite” ในวันนี้”
บทสัมภาษณ์ของ “บงจุนโฮ” มีความสอดคล้องกับบทความหัวข้อ “An Oscar for Parasite? The global rise of South Korean film” (รางวัลออสการ์สำหรับ Parasite? การพุ่งผงาดในระดับโลกของภาพยนตร์เกาหลีใต้) ที่เขียนโดย “อกาทา ลุลคอว์สกา” อาจารย์สาขาวิชาการผลิตภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยสแตฟฟอร์ดเชียร์ สหราชอาณาจักร
ลุลคอว์สกาเท้าความถึงรากฐานอันยาวไกล ก่อนที่วงการหนังเกาหลีจะประสบความสำเร็จในวันนี้
ในบริบทนอกวงการบันเทิง เกาหลีเคยถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นนานกว่าสามทศวรรษ ตามมาด้วยการเกิดสงครามเกาหลี ที่มีข้อตกลงหยุดยิงตอนต้นทศวรรษ 1950
สู่การพัฒนาเศรษฐกิจจากทศวรรษ 1960 ถึง 1990 กระทั่งเกาหลีใต้กลายเป็น 1 ใน 4 เสือแห่งเอเชีย และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นเบอร์สี่ของภูมิภาคนี้ ณ ปัจจุบัน
ในแง่พัฒนาการของธุรกิจภาพยนตร์ ปลายทศวรรษ 1980 เกาหลีใต้ยังเผชิญหน้ากับยุคสมัยแห่งการเซ็นเซอร์ ขณะเดียวกัน การยกเลิกมาตรการจำกัดการนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศ ก็ส่งผลให้หนังฟอร์มยักษ์ฮอลลีวู้ดบุกเข้ามาตีตลาด พร้อมกับความตกต่ำของอุตสาหกรรมหนังในประเทศ
เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมศิลปะของตนเอง และการมีความจำเป็นต้องปรับตัวท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปลายทศวรรษ 1990 รัฐบาลเกาหลีได้ได้ริเริ่มหลายนโยบายสำคัญ หนึ่งในนั้น คือ การมุ่งโปรโมต “วัฒนธรรมเกาหลี” ไปสู่ต่างประเทศ
ผลลัพธ์คือปรากฏการณ์ที่สินค้าทางวัฒนธรรมเกาหลีหลากชนิดพากันเจริญเติบโตในตลาดโลกอย่างน่าทึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ตั้งแต่ “เค-ป๊อป” (เพลง) “เค-ดราม่า” (ซีรี่ส์) “เค-บิวตี้” (ธุรกิจความงาม) “เค-คูซีน” (อาหาร) ซึ่งพาเหรดกันไปครองใจผู้บริโภคต่างชาติ
เริ่มต้นด้วยจีนแผ่นดินใหญ่ ลามไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วเอเชีย และโลกตะวันตกในท้ายที่สุด
กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ได้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “โคเรียนนิวเวฟ” (คลื่นลูกใหม่จากเกาหลี) ซึ่งก่อตัวในทศวรรษ 1990 เมื่อผลงานของผู้กำกับฯ เกาหลีรายสำคัญ อาทิ ปักชานวุก คิมจีวูน และบงจุนโฮ ได้รับการยอมรับในระดับอินเตอร์
“หนังเกาหลี” วางฐานของตนเองอยู่บนสององค์ประกอบ คือ การพยายามหลีกเลี่ยงอิทธิพลของฮอลลีวู้ด และการสร้างตัวตนอันเป็นเอกลักษณ์ต่อสายตาชาวโลก
ขณะเดียวกัน ลักษณะเด่นสองด้านของสังคมเกาหลี ได้แก่ การเคารพธรรมเนียมประเพณี และการก้าวหน้าไปสู่ความทันสมัยอย่างรวดเร็ว ก็ถูกนำมาประกอบสร้างรวมกันเป็นภาพยนตร์แบบเกาหลี
“หนังเกาหลี” เป็นที่รู้จักกัน จากการมีพล็อตเรื่องที่มักมุ่งสำรวจตรวจสอบ “ด้านมืด” ของมนุษย์ ผ่านการถ่ายทอดความรู้สึกไม่มั่นคง, การผสมผสานอารมณ์ตลกร้ายเข้ากับพฤติกรรมรุนแรงสุดขั้ว, ชั้นเชิงการถ่ายภาพที่เต็มไปด้วยการประดิดประดอย และการออกแบบงานสร้างคุณภาพสูง
จึงไม่แปลกที่งานดังๆ จาก “โคเรียนนิวเวฟ” จะเป็นหนังที่นำเสนอเรื่องราวว่าด้วยการล้างแค้น, การสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรม หรือมิตรภาพอันผิดแปลก
ด้วยความที่กล้านำเสนอประเด็นอันเป็นข้อขัดแย้งและกล้าท้าทายการรับรู้ของผู้ชม หนังเกาหลีได้ก้าวไปสู่พรมแดนที่ภาพยนตร์ตะวันตกมักหวาดกลัว จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่งานกลุ่มนี้จะจับใจสาธารณชนวงกว้างจากหลายมุมโลก
ดังเช่นที่ “เควนติน แทแรนติโน” ได้กล่าวเปรียบเปรย “บงจุนโฮ” ในทุกวันนี้ กับ “สตีเวน สปีลเบิร์ก” ในช่วงที่กำลังโจนทะยานถึงจุดสูงสุดทางวิชาชีพ
จนถึงวันนี้ “Parasite” กวาดเงินทั่วโลกไปแล้วเกินหลัก 100 ล้านเหรียญ และยอดตั๋วน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ในช่วงเทศกาลประกาศรางวัลใหญ่ๆ ที่กำลังมาถึง
นี่คือหนังที่เอาชนะใจทั้งนักวิจารณ์และคนดูจำนวนมาก ทั้งยังมีข่าวว่ากำลังจะถูกนำไปขยายโปรเจ็กต์เป็นภาพยนตร์ซีรี่ส์ร่วมกับเอชบีโอ
ลุลคอว์สกามองคล้ายบงจุนโฮว่า “Parasite” คือความสำเร็จสืบเนื่องจาก “โคเรียนเวฟ” ระลอกแล้วระลอกเล่า
ซึ่งอาจกลายสภาพเป็น “คลื่นลูกใหญ่มหึมา” ยิ่งขึ้น หลังการประกาศรางวัลออสการ์