บุกห้องทำงานเสมา 2 “กัลยา โสภณพนิช” คุณหญิงโค้ดดิ้ง แก้ปัญหาอย่างไร ทั้งการศึกษาไทยและในประชาธิปัตย์

นานๆ ทีจะมีโอกาสบุกมาถึงห้องทำงานรัฐมนตรี เมื่อมีหลายประเด็นสงสัยและอยากคุยกับผู้ที่อาวุโสสุดใน ครม.ประยุทธ์ 2 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เปิดใจเล่าให้เราฟังว่า บางคนเขาถือคติว่า ถ้าเคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว ให้มาเป็นรัฐมนตรีช่วยคงไม่มีใครอยาก

แต่สำหรับ “คุณหญิงโค้ดดิ้ง” เล่าว่า งานที่กระทรวงศึกษาธิการคืองานที่อยากทำมาก อยากเข้ามาผลักดันหลายสิ่งหลายอย่าง และนำประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนการศึกษาไทยไปอีกระดับ

คุณหญิงกัลยากล่าวถึงภารกิจงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง หลังทำงานมาได้ 5-6 เดือน คือการเตรียมความพร้อม ทั้งเตรียมเด็กและเตรียมบุคลากรในการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วฉับพลัน

ปัญหาที่บ้านเราต้องเผชิญคือความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตอล ทุกช่วงชีวิตของทุกคนจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเครื่อง เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปชนิดที่เราไม่เคยเจอมาก่อน

คำถามสำคัญในการเข้ามาทำงานที่กระทรวงนี้คือว่าเราจะเตรียมเด็กนักเรียนของเราอย่างไร?

นี่คือโจทย์ใหญ่มากๆ ในด้านนโยบายของเราชัดเจน ก็ตั้งใจนำสิ่งที่หาเสียงในนามพรรคประชาธิปัตย์ว่า นอกจากที่เด็กไทยทุกคนจะต้องเรียน 2 ภาษาคือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ แล้วยังไม่พอ ก็เกทับไปว่าจะต้องมี “ภาษาคอมพิวเตอร์” ด้วย

ในสากลเรียกว่า “โค้ดดิ้ง”

ซึ่งมีหลายระดับ ตั้งแต่เด็กเล็ก, อนุบาล, ประถม, มัธยม, วิทยาลัย ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ที่มีความแตกต่างและสลับซับซ้อนกันขึ้นไปตามลำดับ ก็พยายามผลักดันให้เด็กได้เรียนโค้ดดิ้งเริ่มตั้งแต่ชั้นประถมและปฐมวัย

ซึ่งถือว่าเป็น “นโยบายเร่งด่วน” อันแรก

เป้าหมายสำคัญคือการให้เด็กไทยอนุบาลและประถมที่มีเด็กนักเรียนประมาณ 3.5 ล้านคน เราก็มองว่าเด็กจำนวนนี้คุ้มค่าที่จะลงทุนเพื่อเตรียมตัวให้เขามีความพร้อมที่จะก้าวสู่สังคมยุคดิจิตอล

โดยเรียนโค้ดดิ้งแต่ยังเล็ก แล้วก็มีการเรียนแบบอันปลั๊กคือไม่ต้องใช้เครื่อง ไม่ต้องเสียบปลั๊ก เด็กก็สามารถเรียนโค้ดดิ้งได้ โดยแปลงไปเล่นอะไรก็ได้ ประยุกต์กับเกมอะไรก็ได้

ภายใต้หลักใหญ่คือต้องการสอนให้คิดเป็นระบบเป็นเหตุเป็นผล

เช่น จะเรียนเกี่ยวกับการเปรียบเทียบ การแก้ปัญหาอะไรก็ตาม ในการเล่นของนั้นๆ ก็ตาม จะต้องสร้างทักษะให้กับเด็กเล็ก 5-6 ทักษะ

ทักษะสำคัญคือการอ่านและเขียน ไม่ใช่แค่เพียงอ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่ต้องอ่านเพื่อเชื่อมโยงได้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้

เขียนเพื่อจะสื่อสารได้

อันนี้เป็นทักษะ 2 อย่างที่เราจะต้องให้เด็กมี

ประการต่อมาคือ ทักษะในการคิดสร้างสรรค์วิเคราะห์เป็นตรรกะเป็นเหตุเป็นผล หากเด็กจะไปเจอกับอะไรก็สามารถที่จะคิดอย่างสร้างสรรค์มีเหตุมีผลวิเคราะห์ได้ มีการเตรียมการเป็นขั้นเป็นตอนในการแก้ปัญหา ด้านต่อมาเมื่อคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์เป็นเหตุผลแล้ว ก็จะต้องคิดเชิงคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ได้ ก็จะช่วยเสริมทำให้เราสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดี

ประการสุดท้ายคือ เด็กจะต้องมีทักษะในการตัดสินใจ สามารถที่จะทำอะไรแล้วเกิดผิดพลาดหรือผิดก็แก้ไขได้ เริ่มต้นใหม่ได้ วางแผนคิดเป็นระบบ คิดวิเคราะห์เป็นตรรกะ คิดสร้างสรรค์มีเหตุมีผล สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือทักษะที่เรากำลังจะสร้างให้เด็กไทยให้มีพื้นฐานจากโค้ดดิ้งนี้

แม้กระทั่งการเล่นของเล่นก็ตาม เช่น โยนโจทย์ไปว่าให้เลโก้ไป 10 ชิ้นให้สร้างมนุษย์อวกาศหรือสร้างจรวด เด็กในชั้นทุกคนก็จะเริ่มมีทักษะในการคิดก่อนว่า ถ้าจะสร้างจรวดตรงไหนเป็นฐาน ตรงไหนเป็นหัว ต้องต่ออย่างไรให้สร้างสรรค์

เด็กก็จะเริ่มมีการวางแผน คิดกันอย่างเป็นระบบเป็นเหตุเป็นผล เพื่อให้จรวดที่สร้างนี้แข็งแรงไปต่อได้

ถ้ามันผิดก็แก้ใหม่ทำใหม่ เด็กก็จะมีทักษะตรงนี้

ที่ผ่านมาการศึกษาไทยอาจไม่ได้สอนให้คิดอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอนแล้วสามารถแก้ไขปัญหาได้ในชีวิตประจำวัน

การเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ที่จริงแล้วมันเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้วยซ้ำ คือไม่ต้องซื้อเครื่องการเรียนแบบอันปลั๊ก อยู่บนเขาก็เรียนได้ อยู่ชายทะเล อยู่ชายแดน อยู่ชายขอบก็เรียนได้ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา

ที่สำคัญที่สุดคือ เป็น “การปฏิรูปการศึกษาที่ถึงตัวเด็กโดยตรง” เป็นครั้งแรก

คำคำนี้ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นคนพูดเลยว่านี่คือการปฏิรูปการศึกษาที่ถึงตัวเด็กเป็นครั้งแรก

หรือ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ก็บอกว่า การเรียนโค้ดดิ้งนี้เป็นพื้นฐานของการเรียนการศึกษาของเด็กไทยอย่างแน่นอน และมีความจำเป็นอย่างมาก ขณะที่คุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ก็บอกว่านี่คือนโยบายที่ดีที่สุดของประเทศไทย ก็ภูมิใจที่มีคนสนับสนุนความคิดนี้

หรือในระดับสากล สตีฟ จอบส์ ก่อนเสียชีวิต เขากล่าวเอาไว้ว่า ในปี 2017 ต้องการบุคลากรที่มีทักษะโค้ดดิ้ง 1.7 ล้านคน พอมาปี 2018 มีความต้องการ 2.2 ล้านคน

แสดงให้เห็นว่าเด็กต้องเรียนโค้ดดิ้งเพื่อให้มีงานทำ ในโลกสมัยใหม่แล้ว หรือ ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิลคนต่อมา พูดชัดเจนว่า ถ้าเขาเป็นเด็กฝรั่งเศสเขาจะเลือกเรียนโค้ดดิ้งมากกว่าเรียนภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ

เพราะโค้ดดิ้งสามารถเชื่อมต่อกับคน 7 ล้านล้านคนทั่วโลกในทุกช่วงวัย ทุกอาชีพ จากนี้ไปไม่มีใครหลีกเลี่ยงโค้ดดิ้งได้เลย

จึงเป็นที่มาของแนวคิดว่า Coding for al / All for coding โค้ดดิ้งง่ายกว่าที่คิดพิชิตยุคดิจิตอล ต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อเพิ่มทักษะ อัพสกิล รีสกิลให้เขาทำอะไรได้มากขึ้นเพื่อต่อสู้ในโลกยุคใหม่

เสมา 2 กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าเรารู้แต่ภาษามนุษย์ ไม่ว่ากี่ภาษาในโลกนี้ก็ไม่สามารถสั่งงานเครื่องได้ เพื่อให้เครื่องทำอะไรให้เรา เราต้องมีโค้ดดิ้งติดตัว แล้วอาชีพต่างๆ ก็สามารถประยุกต์ใช้ได้หมด

อย่างเช่น ชาวนาต้องเตรียมตัวการปลูก ดูสภาพอากาศต้องใช้น้ำใช้อะไรเท่าไหร่ หรือสมาร์ตฟาร์มต่างๆ โค้ดดิ้งให้การทำเกษตรประสบผลสำเร็จ หรือตัวอย่างชัดที่สุดคือ ที่สมุทรสงครามเขาก็มีการประยุกต์ใช้กับการผลิตกะปิคลองโคน ใช้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นปรับให้เข้ากันได้หมด เอาไปแก้ปัญหาต่างๆ ได้ นั่นคือเป้าหมายหลัก

มีคนเคยถามนะคะว่า “โค้ดดิ้ง” ของคุณหญิงนี่สามารถแก้ปัญหาเด็กตีกันได้หรือไม่?

ก็ต้องบอกว่า การเพิ่มทักษะในการคิดวิเคราะห์วางแผน ทักษะเหล่านี้ที่ปลูกฝังให้เด็กคิดสร้างสรรค์ได้คิดเป็น แล้วจะไปตีกันอยู่หรือไม่?

มันใช้ได้กับทุกกรณี กับทุกอาชีพ ที่เขายังตีกันอยู่ เพราะเขาไม่ได้เรียนโค้ดดิ้ง แล้วยังกินโรตีดิบอะไรกันอยู่ไม่รู้

ต้องเรียนค่ะ จำเป็นมาก เคยมีสุภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า ปลูกต้นไม้ใช้เวลา 10 ปี ปลูกคนใช้เวลา 100 ปี มันต้องใช้เวลาแก้ปัญหา คือเรื่องและปัญหาที่กระทรวงศึกษาธิการต้องรับมือก็มี เรื่องดีๆ ก็มาก

เด็กไทยแข่งขันได้รางวัลเต็มไปหมดแต่ไม่มีคนเอามาประกาศ ได้เดินทางไปหลายพื้นที่ เด็กต่างจังหวัด เมื่อมีการเปิดโอกาสให้เขา เด็กไปได้ไกล เวลาไปแข่งขันต่างประเทศชนะญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ได้ เราสามารถแซงเขาได้

แต่เนื่องจากองค์กรการศึกษาเป็นองค์กรใหญ่ มีปัญหาอะไรมากมาย มันก็จะมีแต่คนหยิบยกปัญหามาพูด ขอยืนยันพอได้มาทำงานแล้ว เราพอเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่

เรายังมีความหวังการศึกษาไทยค่ะ

ปัญหาภายใน ปชป. การเตรียมพร้อมทวงเก้าอี้ ผู้ว่าฯ กทม.

ทันทีที่ถามถึงปัญหาเลือดไหลไม่หยุดของพรรค ปชป. คุณหญิงกัลยาตอบทันทีว่า มีหน่วยงานไหนที่ไม่มีปัญหาบ้าง? มีปัญหาก็แก้กันไป ทางการเมืองเราห้ามกันไม่ได้ เขาบอกว่าคนจะคลอดลูกเราห้ามกันไม่ได้ คนจะออกจากพรรคก็ห้ามกันไม่ได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราให้เกียรติซึ่งกันและกัน ว่าเป็นการตัดสินใจของเขาก็ต้องยอมรับแล้วก็ชื่นชมว่าเขาออกไปก็ไปทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างแน่นอน เราก็ขาดคนที่มีคุณภาพไป แต่เรายังสามารถหาใหม่ได้ ยังเชื่อว่ามีคนหนุ่มคนสาวจำนวนมากที่จะเข้ามาใหม่ เรามียุวประชาธิปัตย์ เราจะทำให้เข้มแข็งมากขึ้น

ปัญหาอะไรก็แก้ไขกันไป มันไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินกว่าที่พวกเราจะจัดการได้

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าหัวหน้าพรรคเราและรัฐมนตรีทุกคนของพรรคได้ทำผลงานตามที่สัญญาไว้ได้ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็ออกไปขายของเพิ่มตลาดผลงานโดดเด่นมาก

เราเองก็ได้รับการขนานนามโค้ดดิ้ง นอกนั้น รมช.สธ. มท.2 รมว.พม. หรือเกษตร ทุกคนทำหน้าที่ได้อย่างดี แล้วเชื่อมั่นว่าผลงานรัฐมนตรีประชาธิปัตย์ทุกคนเข้าตากรรมการ (ประชาชน) อย่างแน่นอน ประชาชนก็จะเชียร์เรามากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

สุดท้ายก็แย้มว่ามีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการไม่กี่คน ในการเตรียมคน พร้อมลงชิงผู้ว่าฯ กทม. ต้องไม่ลืมเราเป็นผู้ว่าฯ มาหลายปี ทุกอย่างเปลี่ยนไป เราต้องหาคนที่โดนใจ มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากเพื่อมาขับเคลื่อนเมืองใหญ่ที่มีปัญหาสลับซับซ้อนมากขึ้น แล้วก็ต้องการทีมที่เข้มแข็งมากกว่านี้

เราจำเป็นต้องมีทีมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์ ก็ยังพอมีเวลาเฟ้นหาคนมีประสบการณ์ เราประมาทไม่ได้ ลูกค้า (คนเลือกเรา) เริ่มเปลี่ยน ความต้องการเขาก็เปลี่ยน เราก็ต้องเอาคนที่สอดคล้องมานำทัพ ใครลงเราก็พร้อมที่จะช่วย

ก็กำลังคุยๆ ดูๆ กันอยู่

ชมคลิป