การศึกษา / ยูเนสโกยกย่อง ‘หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต’ ปูชนียาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของคณะสงฆ์ไทย

การศึกษา

 

ยูเนสโกยกย่อง ‘หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต’

ปูชนียาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของคณะสงฆ์ไทย

 

ถือเป็นปีมหามงคลสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทย เมื่อที่ประชุมใหญ่สมัยสามัญขององค์การยูเนสโกครั้งที่ 40 มีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองในวาระ ครบรอบบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในวาระปี 2563-2564

โดยได้ยกย่องบุคคลสำคัญถึง 2 รูป

ได้แก่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ครบรอบ 150 ปีชาตกาล (20 มกราคม 2563) และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ (2 สิงหาคม 2464)…

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมการศาสนาได้เสนอชื่อพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เพื่อให้องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง เนื่องในวาระครบรอบ 150 ปีชาตกาล

และได้ประกาศยกย่องให้พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ ในวาระปี พ.ศ.2563-2564 และได้รับการบรรจุให้มีการเฉลิมฉลองครบชาตกาล 150 ปีชาตกาล ในวันที่ 20 มกราคม 2563 และวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในวันที่ 2 สิงหาคม 2564

ซึ่งรัฐบาลจะได้ดำเนินการเตรียมกิจกรรมเฉลิมฉลองในมิติศาสนา

โดยได้จัดพิธีประกาศเกียรติคุณฯ และจัดกิจกรรมศาสนพิธี กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาส่งเสริมสันติภาพ ฉลอง 150 ปีชาตกาล พระอาจารย์มั่น ไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 ที่วัดปทุมวนาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์

สำหรับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี บูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม

วางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แก่สมณะและพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก

 

แนวคำสอนนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า คำสอนพระป่า (สายพระอาจารย์มั่น) หลังมรณภาพ ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์สืบต่อแนวปฏิปทาธรรมปฏิบัติของท่านสืบมา โดยเรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ได้รับยกย่องให้เป็นพระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่าสืบมาจนปัจจุบัน

หลวงปู่มั่น สกุลเดิม แก่นแก้ว เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดที่บ้านคำบง ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีพี่น้อง 6 คน ท่านเป็นคนโต อาชีพทำนาทำไร่เป็นพื้นฐาน

อายุ 15 ปี บรรพชาที่วัดบ้านคำบง อันเป็นวัดบ้านเกิด ศึกษาพระปริยัติธรรมและพระสูตรต่างๆ จนแตกฉาน อายุ 17 ปี บิดาขอร้องให้สึกเพื่อให้ไปช่วยทำงาน จึงสึกตามคำขอร้อง ทั้งที่เสียดายในการลาจากเพศบรรพชิตที่สุด ถึงกับรำพึงในใจ “หากมีโอกาสเมื่อใดก็จะกลับเข้ามาบวชอีก”

ทั้งยังคิดถึงคำของผู้เป็นยายที่เคยกล่าวในตอนเป็นเด็กอยู่เสมอว่า “เมื่อโตขึ้นต้องบวชให้ยายนะ เพราะยายเลี้ยงยาก”

เมื่อออกมาช่วยงานพ่อ-แม่นานพอสมควรแล้ว เห็นว่าสมควรที่จะกลับเข้าไปบวชอีก จึงไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ที่วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดศรีทอง หรือวัดศรีอุบลรัตนารามในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2436 มีพระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสีเทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า ภูริทัตโต

อยู่จำพรรษากับหลวงปู่เสาร์ที่วัดเลียบในตัวเมืองอุบลฯ ได้รับวิธีเจริญกัมมัฏฐานขั้นสมถะใช้คำภาวนาว่า “พุทโธ” เป็นหลัก จนนำไปปฏิบัติให้เกิดผล และสอนผู้อื่นให้เข้าใจ

ในที่สุดก็ออกเดินธุดงค์เพื่อแสวงหาสัจธรรมตามป่าเขาลำเนาไพร เมื่อปฏิบัติธรรม ณ ที่ใดก็จะเทศนาอบรมสั่งสอนที่นั่น จนมีศิษย์สายพระกรรมฐานทั่วทุกภาคของประเทศไทย

คติธรรมคำสอนให้ศิษย์เพื่อไว้เตือนสติ 2 ข้อ คือ

  1. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
  2. ได้สมบัติทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง

คติธรรมอีกบทหนึ่งที่เทศนาสอนอยู่เสมอ ซึ่งเป็นคำกลอนภาษาอีสานว่า “แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ได้แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาก้นย่างยาย เวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภาพทั่งสามภพทั่งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่”

พระอาจารย์มั่นละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492 ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร สิริอายุ 79 ปี พรรษา 56

 

ในโอกาสนี้ ยูเนสโกได้ประกาศคุณพระอาจารย์มั่น ให้ประจักษ์แก่ชาวโลกตอนหนึ่งว่า

“…พระอาจารย์มั่นเป็นบุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่นระดับโลกสาขาสันติภาพ ดังต่อไปนี้ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระมหาเถระในพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอุดมบัณฑิต ณ ปัจจุบันสมัย เป็นปูชนียาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของคณะสงฆ์ไทย เป็นพระวิปัสสนาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์กรรมฐาน เพียบพร้อมด้วยปรีชาญาณแห่งไตรสิกขา บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร สง่างามด้วยเนกขัมมปฏิบัติ เป็นเนติแบบแผนอันโสภณของหมู่สงฆ์ ดำรงสมณคุณอดุลยกิตติประวัติ มั่นคงในอจลพรหมจริยาภิรัต มิหวั่นไหวต่อโลกามิส อุทิศสรรพกำลังเพื่อสั่งสอนการปฏิบัติสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา กระทั่งขยายอาณาแพร่หลายไปสู่มหาชนทั่วโลกในปัจจุบัน มิจำกัดแต่ภายในประเทศ หากแผ่เผยขอบเขตแห่งคุณานุคุณ ไปค้ำจุนความสงบร่มเย็นถึงไพรัชทวีป มีอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ตลอดทั่วไปในภูมิภาคเอเชีย

แม้หมู่ผู้มิได้เป็นสมาชิกแห่งพุทธบริษัท ครั้นได้น้อมนำคำสอนของท่านไปปฏิบัติตาม ก็บังเกิดความสงบพบวิธีทุเลาความเร่าร้อนในตัวตน คือสาเหตุซึ่งอำนวยผลเป็นหนทางใหม่ในชีวิต ผลิตสันติรสคือความสงบเยือกเย็นใจ เป็นที่ประจักษ์แจ้งอยู่ทั่วไปในหมู่ผู้ใฝ่ธรรม ฉะนี้แม้ที่สุดย่อมนำมาซึ่งสันติภาพแก่โลกได้อย่างยั่งยืน ปฏิปทาและอนุศาสนีแห่งความสงบ เรียบง่าย สันโดษ ไม่เบียดเบียน มุ่งประโยชน์แห่งการดำรงชีวิตอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ไม่เน้นสิ่งปลูกสร้างและถาวรวัตถุซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสิ่งแวดล้อม ไม่น้อมจิตไปในทางขวนขวายทะเยอทะยานอยากได้ความสุขภายนอก…”

นับเป็นโอกาสดี ซึ่งนอกจากจะร่วมรำลึกถึงหลักธรรมคำสอนของพระอาจารย์มั่นแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้พุทธศาสนิกชนหันมาสนใจศึกษาหลักธรรม และแนวทางปฏิบัติเจริญภาวนาสมาธิ ทำให้คนทุกชาติ ทุกศาสนาได้เข้าใจถึงการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ใช้หลักธรรมชาติ

การนั่งสมาธิทำให้เกิดสติปัญญา ไม่แตกแยก กลมเกลียว…