เศรษฐกิจ / จับตา ‘บิ๊กตู่’ ให้อาญาสิทธิ์ ‘สมคิด’ คุม ศก.ไทยฝ่าวิกฤตปี ’63 ลุ้นผลงาน ‘ไม่ฝันค้าง’ โต 4-6%

เศรษฐกิจ

 

จับตา ‘บิ๊กตู่’ ให้อาญาสิทธิ์

‘สมคิด’ คุม ศก.ไทยฝ่าวิกฤตปี ’63

ลุ้นผลงาน ‘ไม่ฝันค้าง’ โต 4-6%

 

ผลงานตลอด 6 เดือนในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลเลือกตั้ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี แสดงอาการไร้เสถียรภาพในการคุมเศรษฐกิจอย่างชัดเจน จากปัจจัยเรื่องความหลากหลายพรรค เพราะเสียงรัฐบาลค่อนข้างปริ่มน้ำ

นั่นเพราะทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลตู่ ประกอบไปด้วย 3 พรรคหลัก คือ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์

จึงได้เห็น “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ออกอาการตัดพ้อต่อหน้าสื่อบ่อยครั้งว่าไร้อำนาจในการคุมทีมเศรษฐกิจ

จนกระทั่งสิ้นปี เกิดฉายาที่เกี่ยวข้องกับทีมเศรษฐกิจสำคัญๆ 3 คน คือ “สมคิด” ได้รับฉายา “ชายน้อยประชารัฐ” ที่ถูกริบอำนาจงานด้านเศรษฐกิจหลายกระทรวง คล้ายคนง่อยเปลี้ยเสียขา ขาดมือไม้ในการทำงาน ทำให้เดินหน้าโครงการไม่ได้ 100% ถึงกับออกปากว่า ตอนนี้เหมือนคนที่เหลือเพียงขาเดียวเท่านั้น สุดท้ายเหมือนตัวคนเดียว พรรคร่วมก็ไม่เอาด้วย

อีกคนที่ได้รับฉายาเช่นกัน คือ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับฉายา “รัฐอิสระ” ที่ให้ความสำคัญและเดินหน้าเฉพาะนโยบายของพรรคตนเองเป็นหลัก ไม่สนใจภาพรวมของรัฐบาล

และ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับฉายา “โอ๋ แซ่รื้อ” เพราะตั้งแต่เข้ามากำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ผุดไอเดียบรรเจิดจนคนต่อต้าน และเดินหน้ารื้อหลายโครงการที่เป็นปัญหา แต่ยังไม่มีนโยบายไหนที่เป็นรูปเป็นร่าง

 

อาการไร้เสถียรภาพในการคุมเศรษฐกิจส่งผลต่อผลงานเศรษฐกิจไม่คึกคักเท่าที่ควรแม้จะมีการอัดเงินเข้าระบบผ่านนโยบายต่างๆ บวกกับเจอกับปัจจัยเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน กอปรกับความผันผวนของค่าเงิน จนทำตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะเติบโตเพียง 2.6%

ขณะที่ปี 2563 จับสัญญาณชีพเศรษฐกิจไทยดูท่าจะมีอาการหนักกว่า แม้จะคาดหวังให้ตัวเลขเติบโตเกินระดับ 3% เพราะยังไม่พ้นเดือนมกราคม ก็เผชิญกับปัจจัยลบเพียบ โดยเฉพาะปัจจัยในประเทศ ทั้งปัญหาภัยแล้ง ส่งสัญญาณเตือนภัยมาตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบันเริ่มเห็นผลกระทบวงกว้าง หน่วยงานเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชนต่างประเมินสถานการณ์แล้งของไทยปีนี้ จะวิกฤต บางหน่วยระบุว่าวิกฤตหนักรอบ 40 ปี บางหน่วยก็ในรอบ 60 ปี

ทั้งยังประเมินว่าภัยแล้งครั้งนี้กระทบจีดีพีเติบโตต่ำกว่า 2.8% ความเสียหายไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท หลายฝ่ายจึงจับจ้องแนวทางแก้ปัญหาของภาครัฐว่าจะเดินไปทิศทางใด จะได้เห็นมาตรการแก้ปัญหาและป้องกันอย่างจริงจังหรือไม่ เพราะภัยแล้งคือปัญหาที่วนกลับมาเล่นงานประเทศไทยทุกปีสลับกับปัญหาน้ำท่วม

อีกเรื่องร้อนรุ่ม คือสถานการณ์งบประมาณปี 2563 ที่ส่อเค้าสะดุดยาวจากพฤติกรรมนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล อาจกระทบเงินรายจ่ายงบประมาณ 2563 ความหวังสำคัญของรัฐบาลต้องล่าช้าออกไป โดยเฉพาะอาจกระเทือนด้านลงทุนเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ จากเดิมกำหนดเงินเข้าระบบเดือนกุมภาพันธ์ อาจล่าช้าออกไปอีกไม่รู้กี่เดือน ทำให้รัฐบาลต้องเร่งหาทางออกโดยเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเงินบาทแข็งและผันผวน สาเหตุจากเงินทุนสำรองของไทยแข็งแกร่งและเศรษฐกิจโลก ต้องเฝ้าติดตามปัญหาสงครามการค้าจะคลี่คลายจริงหรือไม่ ปัจจัยสงครามการค้าในประเทศอื่น ปัจจัยอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) และปัจจัยความขัดแย้งการเมืองระหว่างประเทศ ประเดิมต้นปีคือสหรัฐกับอิหร่าน รวมถึงสถานการณ์โลกร้อนขยายความรุนแรงมากขึ้นจนเกิดปัญหาไฟป่าในออสเตรเลีย

ล่าสุด มีปัญหาที่ทั่วโลกกำลังตื่นตระหนก คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งกำลังลามไปทั่วโลก รวมถึงในไทยเจอผู้ติดเชื้อแล้ว หากไทยรับมือไม่อยู่อาจกระทบการท่องเที่ยวในไทยตลอดปีได้

 

ท่ามกลางปัจจัยร้อนรุมเร้าดังกล่าว “พล.อ.ประยุทธ์” จึงปรับกระบวนการทำงาน ตัดสินใจลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน โดยมอบหมาย “สมคิด” เป็นประธาน เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนการลงทุนและการค้า ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว ตำแหน่งนี้ไม่ต่างกับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเลยทีเดียว!!

คณะกรรมการยังประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน ส่วนรองประธานจาก 5 รัฐมนตรีกระทรวงด้านเศรษฐกิจ คือ คลัง พาณิชย์ พลังงาน ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และอุตสาหกรรม

และกรรมการประกอบด้วย กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) รองเลขาธิการ สศช. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

ภายหลังแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน เริ่มประชุมนัดแรกทันที ประกาศเร่งรัดการลงทุนและการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในเรื่องจำเป็นและมีความสำคัญปี 2563

 

ประเด็นแรก กระทรวงการคลังเสนอมาตรการกระตุ้นการลงทุนเสนอเป็นมาตรการทางภาษีที่จะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นกับภาคเอกชนที่มีการลงทุนในการนำเข้าเครื่องจักรการผลิตและสินค้าทุน โดยให้หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 2.5 เท่า จากสูงสุด 2 เท่า

คาดว่าจะจูงใจให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนได้ 100,000 ล้านบาท และยกเว้นอากรขาเข้านำเข้าเครื่องจักร เป็นระยะเวลา 1 ปี รวมทั้งมีสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษจากสถาบันการเงินของรัฐ 1.2 แสนล้านบาท

อีกประเด็นที่รัฐบาลเดินหน้าเต็มที่ คือ การเจรจาการค้า จึงมีคำสั่งในที่ประชุมให้เร่งรัดการเจรจาการค้า 3 กรอบสำคัญในปีนี้ คือ กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดสรุปการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี

รวมทั้งจะเร่งรัดการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และเอฟทีเอไทย-ฮ่องกง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยต้องเร่งรัดในการเจรจาเพื่อสร้างโอกาสในการค้าของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งความหวังให้เป็นเครื่องมือช่วยพยุงการส่งออกไทยไม่ให้ติดลบซ้ำซาก!!

 

ประเด็นต่อมา คือ แผนเร่งรัดการลงทุน 7 แผนหลัก ประกอบด้วย การลงทุนบริหารจัดการน้ำ 10,000 ล้านบาท โรงไฟฟ้าชุมชน 70,000 ล้านบาท 700 เมกะวัตต์ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) วงเงิน 122,000 ล้านบาท ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) อู่ตะเภา วงเงิน 10,588 ล้านบาท

รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ กำหนดเป้าหมายไตรมาสแรกเบิกจ่าย 110,000 ล้านบาท เป็นของรัฐวิสาหกิจ 45,000 ล้านบาท และบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจอีก 65,000 ล้านบาท

ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุว่า ปี 2563 รัฐวิสาหกิจมีกรอบลงทุน 345,141 ล้านบาท โดยเป็นกรอบการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 199,978 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 145,163 ล้านบาท มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าบางปะกงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

นอกจากนี้ ยังเร่งรัดเมืองอัจฉริยะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะทำทีโออาร์ภายใน 1-2 เดือน

และเร่งรัดการประมูล 5 จี กำหนดประมูล 16 กุมภาพันธ์ 2563 โดย 5 จีคาดว่าสร้างมูลค่า 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของจีดีพีปี 2563

 

ได้อาญาสิทธิ์คุมเพื่อโชว์ผลงานขนาดนี้

น่าติดตามว่า มาร์เก็ตติ้งแมน คนนี้จะดันเศรษฐกิจไทยพ้นปากเหว

พร้อมกับข่าวดี “บิ๊กตู่” พูดไว้ล่าสุดกับภาคเอกชนเศรษฐกิจฟื้นได้แน่

            โดยรัฐบาลพยายามผลักดันตัวเลขให้โตถึง 4-6%