ในประเทศ / ระวัง ไวรัสตู่ฮั่น

ในประเทศ

 

ระวัง

ไวรัสตู่ฮั่น

 

ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังเฝ้าระวังไม่ให้ไวรัสโคโรนา หรือไวรัสอู่ฮั่น แพร่กระจายออกไป

ในทางการเมือง ก็ต้องเฝ้าระวัง ไวรัสตู่ฮั่น ไม่ให้ระบาดเช่นกัน

ทั้งนี้ โปรดอย่าเข้าใจผิดว่าจะเป็นการเหยียดผู้นำ ลงไปเป็นเชื้อโรค

แต่เป็นการเปรียบเปรยถึงภาวะแห่งความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มากกว่า

ด้วยระยะหลังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ความเชื่อมั่นในตัวผู้นำลดน้อยถอยลงตามลำดับ

โดยเฉพาะหลังจากบริหารประเทศ ในช่วงปีที่ 5 ภาวะดังกล่าวชัดเจน

หากหยุดยั้งความไม่เชื่อมั่น ไม่ได้ปล่อยให้ไวรัสตู่ฮั่นแพร่กระจายออกไปเรื่อยๆ

รัฐบาลผสม 19 พรรค มีโอกาสพังพาบลงได้

ด้วยพรรคฝ่ายค้านกำลังเตรียมจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นเป้าหมายใหญ่

ซึ่งแน่นอน คงจะช่วยกัน “ขยายภาพ” ความเป็นอันตรายของไวรัสตู่ฮั่น ให้คนไทยได้เห็นชัดขึ้น

 

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะยืนยันว่า “ที่ผ่านมารัฐบาลก็ทำอย่างเต็มที่แล้วในทุกๆ ด้าน”

“และวันนี้เราก็เข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยเต็มรูปแบบแล้ว”

“เป็นประเทศที่มีการเลือกตั้ง”

“สื่อต่างประเทศก็ยอมรับปรับลำดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยขึ้นมาถึง 38 ลำดับ”

“เพราะฉะนั้น จะมาบอกว่าผมไม่ได้รับการยอมรับได้อย่างไร วันนี้เราเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถือว่าเลื่อนลำดับมากที่สุดในโลก การตรวจสอบผ่านสภาและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งผมก็ปฏิบัติตามมาโดยตลอดและผมก็คิดว่าผมไม่เคยหาวิธีที่จะหลบเลี่ยง”

“จึงขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นกับผมและรัฐบาลต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์เรียกร้อง

 

แต่ดูเหมือนว่า ความเห็นแย้งจากฝ่ายต่างๆ นับวันจะทวี “ความเห็นต่าง” มากขึ้น

ตั้งแต่ในเรื่องเชิงหลักการ อย่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ประกาศว่า จะเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง

แต่เอาเข้าจริงนับตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญ ปัญหาคอร์รัปชั่นก็ยังเป็นปัญหาหลักและมีทิศทางเลวร้ายลง

‘ดัชนีคอร์รัปชั่นโลก’ ปี 2019 หรือ พ.ศ.2562 ที่ประกาศออกมา

ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 101 ได้ 36 คะแนน

ทั้งนี้ ดัชนีการรับรู้การทุจริตในปี 2562 ของไทย แม้จะมี 36 คะแนนเท่ากับปี 2561 แต่อันดับร่วงลง 2 อันดับ

จากปี 2561 ที่ไทยอยู่ที่อันดับ 99 และในปี 2561 อันดับไทยก็ร่วงลง 3 อันดับจากปี 2560 ที่อยู่ในอันดับ 96

โดยในปี 2561 ไทยมี 36 คะแนน ลดลง 1 คะแนน จากปี 2560 ที่มี 37 คะแนน

ทั้งนี้ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับหนึ่งคือสิงคโปร์ ได้ลำดับที่ 4 มี 85 คะแนน สูงที่สุดในทวีปเอเชีย ตามมาด้วยบรูไน ได้ลำดับที่ 35 มี 60 คะแนน ส่วนมาเลเซีย ได้ลำดับที่ 51 มี 53 คะแนน อินโดนีเซีย ได้ลำดับที่ 85 มี 40 คะแนน ตามด้วยติมอร์-เลสเต ได้ลำดับที่ 93 มี 38 คะแนน เวียดนาม ได้ลำดับที่ 96 มี 37 คะแนน

ขณะที่ไทยอยู่ในกลุ่มรั้งท้าย สะท้อนว่าปัญหาการทุจริตของประเทศไม่ได้ดีขึ้น แถมยังแย่ลง

พล.อ.ประยุทธ์พยายามแก้ว่า หากเราเอาข้อมูลมาจาก 9 แหล่งข้อมูล ของเราดีขึ้น 5 ต่ำลง 4 ต้องให้ความเป็นธรรมด้วยว่าเราพยายามทำอย่างเต็มที่

“ช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินคดีข้าราชการระดับสูงจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ก็น่าจะนำในส่วนนั้นมาพิจารณาด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบต่างๆ บางทีก็ตรวจสอบข้อมูลจากบริษัทต่างๆ ที่ให้สินบนบ้าง ซึ่งจริงหรือไม่จริงบางทีเราก็ตรวจสอบไม่ได้ หากจริงก็ต้องลงโทษ ทุกปัญหาที่ร้องเรียนมาเราตรวจสอบทุกอัน ตรวจสอบแล้วถ้าไม่ได้เป็นข้อมูลเท็จหรือกลั่นแกล้งกันผมก็สั่งดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมดำเนินการ”

ฟังขึ้น หรือ เชื่อหรือไม่ ทุกคนก็คงประเมินกันเองได้

 

ยิ่งกว่านั้น การที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งถูกร่างมา “เพื่อพวกเรา”

พวกเรา ซึ่งหมายถึงรัฐบาลผสมถึง 19 พรรค

แต่ก็มีเสียง “ปริ่มน้ำ” ที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมากมาย

โดยเฉพาะความเป็นเอกภาพ ที่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่สามารถกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้

ตรงกันข้าม กลับปรากฏรอยร้าวให้เห็นทั้งในและนอกพรรครัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ที่เป็นปัญหาวิกฤตอยู่ตอนนี้ก็คือ การแฉโพยกันเองของคนในพรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ที่นำไปสู่การเปิดโปงเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน

ทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 เกิดปัญหาว่าจะโมฆะหรือไม่

ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าผลจะออกมาอย่างไร

แต่ก็สร้างความกังวลให้กับรัฐบาล ว่าอาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายภาครัฐสะดุด ซึ่งจะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจทั่วประเทศอย่างรุนแรง

พล.อ.ประยุทธ์โยนให้เป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติและศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องหาทางออกให้ประเทศร่วมกัน

แต่กระนั้น รัฐบาลก็คงลอยตัวไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันกับรัฐบาลโดยตรง จะต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบอย่างเต็มที่

คำถามก็คือ ปล่อยให้มีการเสียบบัตรแทนกันได้อย่างไร

เพราะปัญหานี้ ฟากฝ่ายรัฐบาลก็เคยใช้เป็นไม้เด็ดในการเปิดโปงรัฐบาลในอดีตมาแล้ว ในกรณี พ.ร.ก.เงินกู้แก้ปัญหาน้ำ 2 ล้านล้านบาท

แต่พอมาเป็นรัฐบาลกลับปล่อยให้เกิดวิธีการนี้อีก กลายเป็น “อิเหนาเมาหมัด” เสียเอง

และยังไม่รู้ว่าจะก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นมากเพียงใด หรือจะต้องใช้ความไม่มีมาตรฐานแห่งกฎหมายและคำวินิจฉัยขององค์กรกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอาตัวรอดอีก

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ความเชื่อมั่นในรัฐบาลและในตัว พล.อ.ประยุทธ์ก็จะต่ำลงไปอีก

ไวรัสตู่ฮั่นก็จะระบาดออกไปอีกมาก

 

ขณะที่ปัญหาไวรัสจริงอย่างไวรัสอู่ฮั่นหรือไวรัสโคโรนา ก็เข้ามาช่วยซ้ำเติม ในขณะที่ปัญหางบประมาณปี 2563 ยังไม่คลี่คลาย

เมื่อเป็นเช่นนั้น เครื่องยนต์เศรษฐกิจ เครื่องเดียวที่ยังติดอยู่คือการท่องเที่ยว หากดับลง ก็ย่อมทำให้วิกฤตเศรษฐกิจหนักหนาสากรรจ์ขึ้นอีกหลายเท่า

เพราะนักท่องเที่ยวจีนจะหายไป พร้อมกับเม็ดเงินหลายแสนล้านก็จะหายไปด้วย

แม้รัฐบาล โดยเฉพาะบุคลากรด้านสาธารณสุข จะได้รับการยอมรับว่าสามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวที่หายไปโดยเฉพาะจีน ย่อมสะเทือนต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้

คำถามก็คือ รัฐบาลจะรับมืออย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร

ขณะที่ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ปัญหาภัยแล้ง ก็รุมเร้าเข้ามา ซึ่งล้วนแต่ไม่เป็นผลดีทั้งสิ้น

แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ดูเหมือนจะรับมือได้ไม่ดีเท่าที่ควร

คืออยู่ในภาวะตั้งรับ มิได้รุก

จึงกลายเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง

 

จนกลายเป็นว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูด

อย่างการพูดเปิดใจในงานคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร ครบรอบปีที่ 62 และงานเกียรติยศจักรดาว ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563

ว่า ได้แก้ปัญหาทุกเรื่อง

ไม่ว่าปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก

เรื่องไข้หวัดโคโรนาที่รัฐบาลกำลังบริหารจัดการอยู่

ส่วนปัญหาเศรษฐกิจก็พยายามแก้ไขตามหลักการเศรษฐศาสตร์โลก

เรื่องปัญหาการเมืองเกี่ยวกับงบประมาณ ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย

อีกปัญหาสำคัญก็คือการบริหารจัดการน้ำ โดยเรื่องการสร้างเขื่อนหรือทำอะไรในพื้นที่ ต้องมีการประชาพิจารณ์ เพราะการแก้ไขปัญหาต้องยึดโยงประชาชน

“ทุกเรื่องไม่สามารถทำได้วันเดียว หลายอย่างต้องใช้เวลา 5-20 ปีตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูป หลายอย่างจะทำตามใจไม่ได้ เพราะต้องมีหลักคิด ข้อมูล และเหตุผล” พล.อ.ประยุทธ์พยายามชี้แจง

“ทั้งนี้ยอมรับว่า ที่ผ่านมามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็พยายามเดินหน้าต่อไป และไม่เคยทำให้สถาบันเสื่อมเสีย จึงขอให้ช่วยกันสร้างความเข้าใจว่า รัฐบาลทำงานในทุกมิติ ซึ่งประกอบไปด้วย 20 กระทรวงและอีกหลายหน่วยงาน โดยต้องทำงานให้ตรงกับเป้าหมายตามงบประมาณ รวมถึงการพัฒนาด้านต่างๆ ทุกเรื่องต้องเชื่อมโยงกันและยืนยันว่าจะไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ใครคนใดคนหนึ่ง”

แต่กระนั้นก็ตาม หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์ว่า น้ำหนักแห่งคำพูด ดูจะเบาลง

ความเชื่อมั่นหรือตอบสนอง ไม่ได้เป็นเหมือนเก่า

 

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็คงจะรู้

และพยายามตอบโต้ว่า “หลายคนก็บอกว่ารัฐบาลไม่มีน้ำยา น้ำเยอ อะไร มันมีหมดน้ำยาถ้าจะใช้ แต่ (ถ้าใช้) มันเดือดร้อน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ซึ่งหากเป็นการพูดเมื่อตอนที่มีอำนาจตามมาตรา 44 หรือมีอำนาของคณะปฏิวัติ หลายคนก็อาจจะฟัง

แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป

จนเกิดคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์แน่ใจหรือว่ายังมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะแก้ปัญหาได้

แล้วปัญหาต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดทำไมจึงไม่ใช้

แถมยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า ในทุกเวทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปพูด มักจะมีการตั้งคำถามว่ายังรักกันอยู่หรือไม่ รวมถึงการขอกำลังใจที่จะทำงานต่อไป

อันสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการกำลังใจ และความเชื่อมั่นว่าประชาชนกลุ่มต่างๆ ยังยืนอยู่กับตนเอง

ซึ่งจะได้รับการตอบสนองเช่นเดิมหรือไม่ ยังเป็นคำถามอยู่

คำถามเช่นเดียวกับเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ที่เคยแข็งแกร่ง มีอำนาจเบ็ดเสร็จ

ในนาทีนี้ ยังรักษาความแข็งแกร่งนี้ไว้ได้หรือไม่ สิ่งที่เคยพูดและมีคนฟังและมีคนเชื่อ ยังเป็นเช่นนั้นหรือไม่

หรือจะเป็นอย่างที่นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ทุบโต๊ะกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์คือศูนย์กลางของปัญหาเสียเอง

            และปัญหานั้น ทำให้กลายเป็นไวรัสตู่ฮั่น ที่จำเป็นจะต้องควบคุมไม่ให้ระบาดเป็นภัยร้ายต่อประเทศอีกต่อไป?!?!