ยานยนต์/สันติ จิรพรพนิต /เจาะอนาคตตลาดรถยนต์ไทย 2562 ขายติดลบ-2563 ยังลบต่อ

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

เจาะอนาคตตลาดรถยนต์ไทย

2562 ขายติดลบ-2563 ยังลบต่อ

 

“ยานยนต์สุดสัปดาห์” ฉบับนี้ไม่ได้มาแนะนำรถใหม่ หรือทดสอบรถยนต์ รวมถึงเปรียบเทียบข้อมูลรถใดๆ

เนื่องจากจะเจาะลงไปยังตลาดรถยนต์ในปี 2562 และคาดการณ์ยอดขายในปี 2563

หลังจากตัวเลขยอดขายปี 2562 ออกมา แม้จะไม่เกินคาดหมายเพราะลดลงแน่นอน แต่ก็ตะลึงตึ่งโป๊ะกันพอสมควร

และยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อหลายฝ่ายประเมินว่ายอดขายในปี 2563 จะแย่ยิ่งกว่าปี 2562

แม้เมืองไทยจะเพิ่งผ่านเหตุการณ์ตลาดรถยนต์ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 4 ปีซ้อนระหว่างปี 2556-2559 แต่นั่นเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากนโยบาย “รถคันแรก” ที่ทำให้ยอดขายในปี 2555 บวมขึ้นผิดปกติ

โดยปี 2555 มียอดขายรวม 1,436,335 คัน เพิ่มขึ้น 80.9% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และน่าจะใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่าจะทุบสถิติลงได้

ส่วนปี 2556 ไทยมียอดขายรถยนต์ในประเทศ 1,330,668 คัน ลดลง 7.4%

ช่วงเข้าปี 2557 ใหม่ๆ ทุกสำนักประเมินว่ายอดขายจะลดลงอีกแน่ แต่น่าจะแตะหลักล้านคัน และน่าจะลดลงเพียงปีเดียว ก่อนจะพลิกกลับมาได้ในปี 2558

แต่ที่ไหนได้ ยอดขายร่วงกราวถึงปี 2559 แต่เป็นการลดลงในลักษณะชะลอตัว

ปี 2557 ยอดขายรถยนต์รวม 881,832 คัน ลดลง 33.7%

ปี 2558 ยอดขายรถยนต์รวม 799,594 คัน ลดลง 9.3%

ปี 2559 ยอดขายรถยนต์รวม 768,788 คัน ลดลง 3.9%

จะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงการรัฐประหารในปี 2557

ย่างเข้าปี 2560 ยอดขายรถยนต์ดีดกลับขึ้นมาค่อนข้างแรง มียอดขาย 871,647 คัน เพิ่มขึ้น 13.4%

เข้าสู่ปี 2561 ยอดขายยังติดลมบนทำได้ 1,041,739 คัน เพิ่มขึ้น 19.5% กลับมาเกิน 1 ล้านคันอีกครา

 

ช่วงเข้าสู่ปี 2562 ใหม่ๆ ทุกฝ่ายมั่นใจอย่างยิ่งว่าเมืองไทยจะกลายเป็นตลาดรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายระดับล้านคันต่อเนื่อง

ยิ่งตอกย้ำด้วยยอดขายในช่วง 2 ไตรมาสแรกเป็นบวกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปี 2561

ทว่าเมื่อผ่านพ้นกลางปี ยอดขายเริ่มสาละวันเตี้ยลง เทียบเดือนต่อเดือนกับปีที่ 2561 ลดลงอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เดือนธันวาคม 2562 ปริมาณยอดขายเหลือ 89,285 คัน ลดลง 21.4%

เมื่อสรุปรวม 12 เดือนของปี 2562 มียอดขายรวม 1,007,552 คัน ลดลง 3.3%

แม้ยอดขายยังเกินล้านคัน แต่การลดลงของปริมาณการขายก็น่าตกใจไม่น้อย เพราะเมืองไทยไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ยอดขายปีก่อนหน้าบวมผิดปกติเหมือนเมื่อปี 2555

ถ้าจะเป็นปัญหาไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจโลก และการส่งออกของไทยที่หดตัวซึ่งมาจากหลายสาเหตุ

หลักๆ ไม่พ้นเงินบาทžที่แข็งค่าสุดในภูมิภาค ซึ่งไม่เพียงทำให้ส่งออกแย่เท่านั้น แต่การท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในเสาหลักในการนำเงินเข้าประเทศพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย

ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พยายามออกมาตรการต่างๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแจกเงินผ่านโครงการต่างๆ

แต่ด้วยหลายๆ ปัจจัยลบ ทำให้ตลาดรถยนต์พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

 

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงตัวเลขยอดขายรถยนต์ในปี 2562 พบว่าลดลงในทุกเซ็กเมนต์

ตลาดรวมขายได้ 1,007,552 คัน ลดลง 3.3%

รถยนต์นั่งมียอดขาย 398,386 คัน ลดลงเล็กน้อย 0.3%

รถเพื่อการพาณิชย์มียอดขาย 609,166 คัน ลดลง 5.1%

รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) มียอดขาย 492,129 คัน ลดลง 3.8%

และรถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) มียอดขาย 431,677 คัน ลดลง 3.4%

ส่วนยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปปี 2562 ทั้งปีอยู่ที่ 1,054,103 คัน ลดลง 7.59% จากปี 2561 แต่มากกว่าเป้าหมาย 54,103 คัน เพราะตั้งไว้ 1,000,000 คัน

คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 545,967.56 ล้านบาท ลดลง 8.21%

ขณะที่ประมาณการยอดขายรถยนต์ในปี 2563 นายมิจิโนบุมองว่าจะลดต่ำลงกว่าปี 2562 และมียอดขายไม่ถึง 1 ล้านคัน

“ปีนี้นับเป็นปีที่ท้าทายอีกปีหนึ่งสำหรับตลาดรถยนต์ไทย เนื่องจากตลาดรถยนต์ยังคงเผชิญกับหลายปัจจัย จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนและมาตรการควบคุมสินเชื่อรถยนต์ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ดังนั้น เราจึงคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์รวมในประเทศจะอยู่ที่ 940,000 คัน ลดลงประมาณ 7% เมื่อเทียบกับปี 2562”

เมื่อแยกตามเซ็กเมนต์ใหญ่ ประเมินว่ารถยนต์นั่งจะมียอดขาย 358,500 คัน ลดลง 10% และรถเพื่อการพาณิชย์มียอดขาย 581,500 คัน ลดลง 4.5%

 

การคาดการณ์ของนายใหญ่โตโยต้า สอดคล้องกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ประมาณการยอดผลิตรถยนต์ปี 2563 มีรวม 2,000,000 คัน

ปรับลดจากปี 2562 จำนวน 13,710 คัน ที่ผลิตได้ 2,013,710 คัน ลดลง 0.68%

แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,000,000 คัน ลดลง 37,164 คัน คิดเป็น 3.58%

เนื่องจากยังกังวลเรื่องสงครามการค้าที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะยุติ ค่าเงินบาทแข็ง รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศในบางภูมิภาค

ขณะที่เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 1,000,000 คัน เพิ่มขึ้น 23,454 คัน เพิ่มขึ้น 2.4% จากที่ผลิตได้ 976,546 คัน เพราะการผลิตรถอีโคคาร์รุ่นใหม่ของหลายบริษัท

“สาเหตุที่สมาชิกกลุ่มรถยนต์ของ ส.อ.ท.ไม่ตั้งเป้าการผลิตสูงมากนัก เนื่องจากยังไม่มั่นใจเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ เพราะอาจขยายไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) และห่วงเรื่องค่าเงินบาทที่อาจส่งผลต่อการผลิตรถยนต์ในไทยและส่งออกไปขายต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องปัญหาภัยแล้งอาจกระทบต่อเกษตรกรและปัญหาการเมืองในประเทศไทย”

ยิ่งหากมองไปยังความคิดเห็นของหลายๆ ภาคส่วน ต่างมองว่าในปี 2563 เศรษฐกิจไม่ได้ดีไปกว่าปี 2562 เลย จึงไม่น่าแปลกใจว่าตลาดรถยนต์จะแย่ตามไปด้วย

ส่วนจะปรับลดขนาดไหน หรืออาจจะพลิกกลับมาเป็นบวก

ต้องจับตามองด้วยความระทึก และระมัดระวังต่อไป