ว่าด้วย “การโละ” วุฒิสมาชิกทั้ง 6 | มนัส สัตยารักษ์

ประเด็นวุฒิสมาชิกตามตำแหน่ง 6 คนยังคงเป็นประเด็นใหญ่ของรัฐสภาแห่งประเทศไทย เมื่อประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ได้กล่าวถึงข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

“โดยส่วนตัวเป็นคนหนึ่งที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมีความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าในอดีต”

นายชวนเล่าว่า เมื่อครั้งที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ได้เคยพบกับรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ให้ข้อมูลว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่มาจากตัวบุคคล จึงต้องแยกให้ออกจากกัน ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย ดังนั้น การเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงควรรับฟังทุกฝ่าย”

“ถ้าเรามุ่งไปที่บทบาทของวุฒิสภา แน่นอนว่าบางท่านคงไม่เห็นด้วยและมีการต่อต้าน”

นายชวนได้ตบท้ายด้วยข้อความสำคัญว่า “เช่น การกำหนดว่าให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพต้องเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผมคิดว่าโดยหลักการไม่เคยมีการระบุ ส.ว.โดยตำแหน่งแบบนี้ เพราะถ้าจะเลือกคนเข้ามาก็ควรเป็นระบบอื่น”

นายชวนพูดด้วยความสุภาพและระมัดระวัง อ้างหลักการอ้อมไปอ้อมมาตามประสา “ใบมีดโกนอาบยาพิษ” แต่บรรดาสื่อทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสื่อหลักหรือสื่อโซเชียลต่างพากันพาดหัวไปในทิศทางเดียวกันว่า

“นายชวนเสนอให้โละทิ้ง ส.ว.ที่มาจาก ผบ.เหล่าทัพ”!

มีปฏิกิริยาโต้กลับทันทีจากนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.คนหนึ่ง เปิดหน้าสู้กับนายชวนและผู้ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดว่าด้วย “วุฒิสมาชิก” อย่างตรงไปตรงมา

“ถ้ากระทบถึงสิทธิ์ของวุฒิสมาชิก ผมจะต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถ้า ส.ว.ไปรับลูกหรือเห็นด้วยอาจจะลามไปถึงอำนาจหน้าที่อื่นของ ส.ว.ด้วย”

นายเสรีอ้างถึง “บริบท” ว่าด้วยรัฐธรรมนูญเดิมที่เขียนไว้แบบนี้เพราะต้องการให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 6 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเข้ามามีส่วนในการดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศ”

“ทั้ง 6 คนอยู่แค่ 5 ปีเท่านั้น ไม่ได้ยาวนาน พอหมดตำแหน่งก็เปลี่ยนคนอื่นมา”

นายเสรีสรุปราวกับว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคล ไม่ใช่เรื่องของหลักการ…หลักการที่ว่าบุคคลไม่ควรจะเป็นทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองในเวลาเดียวกัน แถมยังกินเงินเดือนจากทั้ง 2 ตำแหน่งอีกด้วย

ประเด็น “วุฒิสมาชิก” ในรัฐธรรมนูญ 2560 เป็น “ปมวิวาทะ” มาตั้งแต่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญทีเดียว และหลังจากประกาศใช้ก็เริ่มมีการต่อต้านกันอย่างเป็นงานเป็นการทันที ส่วนที่สำคัญของวิวาทะก็คือ “การแก้รัฐธรรมนูญ 2560”

ผมจำได้ว่า นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นคนแรกๆ ที่เปิดหน้าสู้กับผู้แสดงความต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นอันว่าด้วยวุฒิสมาชิก

เคยติดตามฟังผู้เกี่ยวข้องวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นนี้ และหลายครั้งตามไปดูรายละเอียดในรายการที่ YOUTUBE บันทึกไว้ แทบทุกครั้งจะเห็นนายเสรีอ้างถึง “บริบท” ที่จำเป็นต้องกำหนดให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพต้องเป็นวุฒิสมาชิกด้วย

บริบทของนายเสรีก็คือ ประเทศไทยอยู่ในห้วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางการเมือง จำเป็นต้องให้ผู้นำเหล่าทัพรับทราบปัญหาต่างๆ เสียตั้งแต่ต้นในรัฐสภา ส่วนหนึ่งนับเป็นการป้องกันการรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

ผมไม่สามารถแปลความของ “บริบท” เป็นอย่างอื่นได้ นอกจากว่าเราต้องจ่ายค่าตัว 6 วุฒิสมาชิกเป็นพิเศษ เท่ากับจ้างไม่ให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพทำรัฐประหารนั่นเอง!

พลันที่ประกาศรายชื่อวุฒิสมาชิกของรัฐสภาไทย ทำให้นึกถึงคำของ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของประเทศจีน ในช่วง 2520 ถึง 2540…

“อย่าตอบแทนบุญคุณส่วนตัว ด้วยผลประโยชน์ของประเทศชาติ”

เป็นคำพูดที่ทั่วโลกต่างตระหนักกันดีของการใช้ระบบธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการปกครองและแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ประเทศจีนก้าวพ้นความทุกข์ยากของคนชั้นล่าง และก้าวไปสู่ความเป็นชาติมหาอำนาจ เพราะธรรมาภิบาลในยุคของเติ้งเสี่ยวผิง เป็นต้นมา

ตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่ คสช.ใช้งบประมาณของแผ่นดินในการตอบแทนบุญคุณผู้ที่ช่วยเหลือ คสช.เป็นการส่วนตัว

ย้อนกลับไปราวครึ่งปี หรือเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2562 ผมเขียน “บทพูด” ของคนในคณะรัฐบาลที่กำลังหารือร่วมกันในกรณีวุฒิสมาชิกตามตำแหน่ง 6 ท่าน ที่รับประทานเงินเดือนจาก 2 ตำแหน่ง

เป็นข้อเขียนทีเล่นทีจริงในคอลัมน์ “กาแฟโบราณ” เขียนเชิงประชดประเทียดเพื่อระบายอารมณ์หงุดหงิดในฐานที่เป็นเจ้าของเงินงบประมาณแผ่นดินด้วยคนหนึ่ง

ในขณะเดียวกันผมถือโอกาสเล่าเรื่อง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มี 2 ตำแหน่งคือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในยุคนั้นกฎหมายเปิดโอกาสให้เลือกกินเงินเดือนจากตำหน่งไหนก็ได้ ดร.ป๋วยเลือกรับเงินเดือนจากตำแหน่งอธิการฯ ซึ่งน้อยกว่าเงินเดือนจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

มาถึงยุคนี้ เงินเดือนวุฒิสมาชิก 71,230 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท รวมเป็นเงินดือน 115,740 บาท

เงินเดือน ผบ.เหล่าทัพ (ในกูเกิลบอกว่า) ประมาณ 120,000 บาท

ผมจึงแอบฝันเงียบๆ ว่า น่าจะมีใครสักคนสวมวิญญาณ ดร.ป๋วย (เป็นผู้นำของ 6 ท่าน) เลือกรับจากที่ใดที่หนึ่งเพียงที่เดียว

ส่วนวุฒิสมาชิกท่านอื่นๆ อาจจะมีใครสักคนสวมวิญญาณมหาธีร์และนักการเมืองมาเลเซีย เป็นผู้นำยอมลดเงินเดือนตัวเอง เพื่อช่วยชาติที่มีหนี้สาธารณะอยู่จำนวนหนึ่ง

แต่ไม่มีข่าวจากวุฒิสมาชิกเลยแม้แต่ข่าวเดียว

ชื่อ “วุฒิสมาชิกทั้ง 6” ของคอลัมน์นี้ ผมได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อ “คนแคระทั้ง 7” ของการ์ตูนในนิตยสาร PLAYBOY เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว

เป็นการ์ตูนทะลึ่งทางเพศตามบุคลิกของนิตยสารเพลย์บอย… คนแคระทั้ง 7 พยายามจะทำอะไรสักอย่างกับซินเดอเรลลาตามประสาเพศชายทำกับเพศหญิง แต่ทำไม่ได้เพราะเป็นคนละสายพันธุ์กัน

วุฒิสมาชิกทั้ง 6 ไม่ใช่การ์ตูน แม้จะเป็นมนุษย์ 2 สายพันธุ์ คือเป็นข้าราชการและเป็นนักการเมืองในเวลาเดียวกัน อาจจะผิดหลักสากลไปบ้าง แต่ไม่ผิดหลักของเมืองการ์ตูน