วิรัตน์ แสงทองคำ : เรื่องเฉพาะ “ขาใหญ่” ยักษ์ค้าปลีก

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ธุรกิจค้าปลีกเครือข่ายใหญ่ในสังคมไทย กำลังจะปรับตัวในเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่อีกครั้ง

หากเหตุการณ์เป็นไปอย่างที่หลายคนคาด โครงสร้างธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทยจะปรับโฉมครั้งใหญ่อีกครั้ง

เมื่อ Tesco Lotus ในฐานะเครือข่าย Tesco UK ผู้นำธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในสังคมไทยอย่างแท้จริงกำลังอยู่ในกระบวนการขายกิจการ

เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า ในไม่ช้าจะตกอยู่ในกำมือเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย รายใดรายหนึ่ง ไม่ซีพี กลุ่มเซ็นทรัล ก็ทีซีซี

ขณะที่มีเพียงเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ในเครือทีซีซีเท่านั้น ยืนยันเป็นทางการ ตามแผนเสนอซื้อเครือข่าย Tesco Lotus เป็นปรากฏการณ์ซึ่งมีนัยยะ

ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่โมเดลแบบฉบับยุโรปข้างต้น เปิดฉากขึ้นในเมืองไทยเมื่อราว 3 ทศวรรษที่แล้ว ในฐานะธุรกิจร่วมทุน เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ช่วงปี 2540 การปรับโครงสร้างธุรกิจเกิดขึ้นเนื่องด้วยผู้ร่วมทุนฝ่ายไทยถอนตัว เปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่ กลายเป็นเครือข่ายกลุ่มธุรกิจต่างชาติอย่างสิ้นเชิง เป็นเช่นนั้นมานานกว่าทศวรรษ (2542-2556) ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญด้วยแผนการขยายเครือข่ายเชิงรุก จนครอบคลุมและมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

จนกระทั่งดีลใหญ่ปะทุขึ้น ปี 2556 เครือซีพีซื้อ Makro แห่งเนเธอร์แลนด์ (มูลค่าประมาณ 188,880 ล้านบาท)

และต่อมาปี 2559 กลุ่มทีซีซี ซื้อ Big C จากเครือข่ายธุรกิจฝรั่งเศส (มูลค่าทะลุ 200,000 ล้านบาท) เป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องสำคัญ สู่ช่วงใหม่ธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทย จากอยู่ในกำมือธุรกิจต่างชาติ ค่อยๆ มาอยู่ในอำนาจธุรกิจใหญ่ไทย

ขณะเป็นช่วงเวลาใหม่อันซับซ้อนมากขึ้นด้วยช่วงเวลา “แรงปะทะ” อันเปรี้ยงปร้างของเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย

 

กลุ่มเซ็นทรัลมีฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทย ธุรกิจครอบครัว เติบโตมาอย่างเป็นจังหวะก้าว ตามกระแสสังคมอ้างอิงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้คนในสังคมเมือง ซึ่งขยายฐานต่อเนื่องจากเมืองสู่หัวเมืองใหญ่ ฯลฯ ตั้งแต่รุ่นบุกเบิก จากร้านโชห่วย จนมาเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ ทดแทนห้างฝรั่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก้าวสู่ยุคไลฟ์สไตล์ตะวันตก ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตสังคมเมืองใหญ่ ในยุคสงครามเวียดนาม กลุ่มเซ็นทรัลก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบหลากหลายที่สุด

“เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกของเราครอบคลุมทุกภูมิภาคหลักในประเทศไทย รวมไปถึงภูมิภาคต่างๆ ในประเทศเวียดนามและประเทศอิตาลี ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 เซ็นทรัล รีเทลมีเครือข่ายร้านค้าจำนวน 1,922 ร้านค้าใน 51 จังหวัดในประเทศไทย, 133 ร้านค้าใน 40 จังหวัดในประเทศเวียดนาม และห้างสรรพสินค้าจำนวน 9 สาขาใน 8 เมืองในประเทศอิตาลี” ข้อมูลพื้นฐานล่าสุดของเซ็นทรัล (นำเสนอในกระบวนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ) ซึ่งเน้นว่า “ผู้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลายประเภทผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย (Multi-format and Multi-category)”

ภาพธุรกิจหลักกลุ่มเซ็นทรัลกระจ่างชัดขึ้น จากข้อมูลประกอบ (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ ข้อมูลจำเพาะ : ตัวเลขการเงินสำคัญ) สะท้อนอิทธิพลธุรกิจค้าปลีกในสังคม เฉพาะกลุ่มเซ็นทรัลสร้างรายได้นับแสนล้านบาท

หากคิดเฉพาะในประเทศไทย จากข้อมูลแหล่งเดียวกัน ระบุว่ามีสัดส่วนมากที่สุด ราวๆ 75% ของรายได้ทั้งหมด คิดคร่าวๆ มีมากกว่า 150,000 ล้านบาท โดยเปรียบเทียบแล้ว นับว่ามีรายได้น้อยกว่ากลุ่มซีพีผู้มาทีหลัง

 

เครือซีพีขยายอาณาจักรครั้งใหญ่ สู่ธุรกิจค้าปลีกราวๆ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะบุกเบิกธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กที่เรียกว่าร้านสะดวกซื้อ (convenience store) กลายเป็นธุรกิจซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมหัศจรรย์ กลายเป็นผู้นำอย่างแท้จริงในธุรกิจดังกล่าว

“ปัจจุบันมีร้าน 7-Eleven ทั่วประเทศรวม 10,268 สาขา แบ่งเป็นร้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 4,556 สาขา (คิดเป็น 44%) ร้านในต่างจังหวัด 5,712 สาขา (คิดเป็น 56%)” ข้อมูลจากต้นแหล่งระบุ และเมื่อซื้อกิจการ Makro (จากที่อ้างไว้ข้างต้น) มาด้วย จึงมีพลังแห่งเครือข่ายมากขึ้นอีก “Makro มีสาขาอยู่ 123 แห่งทั่วประเทศ และ 1 สาขาที่ประเทศกัมพูชา”

ตัวเลขทางการเงินผ่านบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) สะท้อนความเป็นไปของเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกภายใต้อาณาจักรกลุ่มซีพี

จึงถือได้ว่าเป็นเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

 

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน การเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มทีซีซี ในฐานะผู้มาใหม่ ใช้เวลาเพียงทศวรรษเศษ กลายเป็นผู้ท้าทายที่น่าเกรงขาม

อันที่จริง กลุ่มทีซีซี มีความพยายามอย่างน่าสนใจครั้งแรกตั้งแต่กรณีเข้าซื้อกิจการที่ประเทศเวียดนาม – METRO GROUP แห่งเยอรมนี เมื่อสิงหาคมปี 2557 ใช้เวลานานทีเดียวกว่าดีลจะเสร็จสิ้นในต้นปี 2559 แต่ไม่ตื่นเต้นเท่ากับกรณีเบอร์ลี่ยุคเกอร์ซื้อกิจการ BigC ในประเทศไทย ซึ่งผมเองเคยยกให้เป็นปรากฏการณ์ “สายฟ้าแลบ” (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ-ลำดับเหตุการณ์ดีลเบอร์ลี่ยุคเกอร์-บิ๊กซี)

ข้อมูลพื้นฐานล่าสุด (BJC Earnings Presentation – 27th November 2019) ระบุว่าเครือข่าย BigC มีทั้งหมด 1,240 แห่ง ประกอบด้วย รูปแบบขนาดใหญ่ (Hypermarket) 148 สาขา รูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ต 62 สาขา รูปแบบร้านสะดวกซื้อ (Mini Big C) 887 สาขา และร้านขายยา (แบรนด์ pure) อีก 143 สาขา

เมื่อพิจารณาผลประกอบการ ซึ่งเสนอไว้ในข้อมูลชุดเดียวกัน ระบุว่า เครือข่าย Big C ธุรกิจหลักของเบอร์ลี่ยุคเกอร์ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจเรียกว่า Modern Retail Supply Chain ครองสัดส่วนรายได้มากที่สุด ประมาณ 70% คิดคร่าวๆ (จาก “ข้อมูลจำเพาะ : ตัวเลขการเงินสำคัญ” เช่นเดียวกัน) สามารถสร้างรายได้ถึง 120,000 ล้านบาท อย่างไรก็คงเป็นอันดับ 3 ต่อจากกลุ่มซีพีและเซ็นทรัล

ดัชนีข้างต้นอาจสะท้อนแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนสำคัญ ว่าด้วยบทบาทที่จริงจังของกลุ่มทีซีซี ในดีล Tesco Lotus อันอาจจะนำสู่โครงสร้างธุรกิจค้าปลีกใหม่ในสังคมไทยที่น่าตื่นเต้น

ซีพีเจ้าของเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุด กลุ่มเซ็นทรัล-เครือข่ายอันหลากหลายที่สุด และกลุ่มทีซีซี เจ้าของเครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ใหญ่ที่สุด

จะเป็นไปเช่นนั้นหรือไม่ อย่างไร โปรดติดตาม

 

ลำดับเหตุการณ์

ดีลเบอร์ลี่ยุคเกอร์-บิ๊กซี

21 มีนาคม 2559 (เวลาในฝรั่งเศส)

Casino Group แถลงข่าวว่า การซื้อขาย Big C ในประเทศไทยสำเร็จลุล่วง

22 มีนาคม 2559

– บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) แจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าได้รับแจ้งจาก Casino Group ว่า “Gant International B.V. ได้ดำเนินการขายหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัท …คิดเป็นร้อยละ 58.555 ของจำนวนหุ้นให้แก่บริษัท บีเจซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด และบริษัท สัมพันธ์เสมอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีผลทำให้บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทโดยทางอ้อม จากการถือหุ้นในบริษัทโดยผ่านบริษัทย่อยทั้งสองบริษัทดังกล่าว”

– บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องการได้มาซึ่งหุ้นสามัญทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และการได้มาซึ่งบริษัทย่อยเพื่อการเข้าลงทุนในหุ้นของบิ๊กซี “ในวันที่ 21 มีนาคม 2559 (ภายหลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 ของบริษัทมีมติอนุมัติให้เข้าทำรายการได้) ได้มีการชำระราคาและส่งมอบหุ้นตามสัญญาจะทำการขายหุ้นที่ทำขึ้นกับ Geant International BV ฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 โดยเสร็จสมบูรณ์แล้วในวันดังกล่าว”

28 มีนาคม 2559

เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จัดทำคำเสนอหลักทรัพย์ (Tender offer) ซื้อหุ้น BigC ส่วนที่เหลือทั้งหมดประมาณ 41% กำหนดวันให้ผู้ถือหุ้นเสนอขาย 29 มีนาคม – 11 พฤษภาคม 2559

16 พฤษภาคม 2559

เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ นำส่งรายงานผลการซื้อหลักทรัพย์ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สรุปว่าซื้อได้ถึง 39% ในที่สุดกลุ่มทีซีซี ถือหุ้นบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนทั้งหมดถึง 98%