เปลี่ยนผ่าน : มองปรากฏการณ์ “คนไม่มีศาสนา” ผ่านสายตานักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง “เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์”

AFP PHOTO / BRENDAN SMIALOWSKI

โดย ธงชัย ชลศิริพงษ์

ปรากฏการณ์ที่ผู้คนเลือกไม่มีหรือไม่นับถือศาสนาทั้งในสังคมไทยและในสังคมโลก ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด

อันที่จริงหากไล่ย้อนกลับไปในสายธารประวัติศาสตร์โลก ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นมาโดยตลอด และหากมองศาสนาเป็นอำนาจอย่างหนึ่งในสังคม แน่นอนว่าย่อมมีอำนาจชนิดอื่นก้าวขึ้นมาท้าทายและช่วงชิงอำนาจทางศาสนาอยู่เสมอ

หนึ่งในอำนาจของโลกสมัยใหม่ที่มีพลังมากคือ “วิทยาศาสตร์” และไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม นอกจากที่องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะมีส่วนในการขับเคลื่อนโลกสมัยใหม่ผ่านเทคโนโลยีและการสื่อสารชนิดใหม่แล้ว

วิทยาศาสตร์ยังได้ช่วงชิงความชอบธรรมจากการครอบงำทางสังคมของศาสนาอย่างมีประสิทธิภาพ คือใช้เวลาไม่มากแต่ได้ผลชัดเจนเป็นรูปธรรม

เมื่อปี 2553 องค์กรที่วิจัยเกี่ยวกับศาสนาและชีวิตสาธารณะหรือ Pew Research Center : Religion & Public Life ได้เผยแพร่สถิติซึ่งระบุว่า อัตราของคนที่ไม่มีหรือไม่นับถือศาสนา (ศาสนาในความหมายที่ว่าเป็น “ศาสนาหลัก” คือ คริสต์ อิสลาม พุทธ พราหมณ์-ฮินดู ยิว ฯลฯ) ของทั้งโลกนั้นอยู่ที่ 1.1 ล้านคน หรือคิดเป็นตัวเลขเกือบร้อยละ 20

และแน่นอนตัวเลขนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ด้วยอำนาจของความรู้ชุดใหม่ที่เรียกว่า “วิทยาศาสตร์”

ในสังคมไทยเอง ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา มีการจัดเสวนาเรื่อง “สภาวะการไม่นับถือศาสนาทั่วโลก” ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในซอยอารีย์ กรุงเทพมหานคร นำโดย ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนาและกลุ่มศาสนวิทยา ที่มีสมาชิกอยู่จำนวนหนึ่ง และคอยผลักดันประเด็นทางศาสนาในสังคมอยู่ก่อนหน้าแล้ว

วงเสวนาเล่าถึงที่มาและแนวโน้มของปรากฏการณ์ที่คนเลือกไม่มีและไม่นับถือศาสนา โดยมาจากเหตุผลอย่างน้อยสองประการ คือ

หนึ่ง-ผู้คนเริ่มผิดหวังกับศาสนา กับองค์กรศาสนา หรือกับนักบวชในศาสนา ที่ประพฤติปฏิบัติตัวไม่ดี และพอเห็นว่าไม่ดีจึงเริ่มสงสัยว่ามันไม่จริง

สอง-การเพิ่มขึ้นของพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยมากขึ้นกับศาสนา เนื่องจากความรู้หลายเรื่องของวิทยาศาสตร์ได้ขัดแย้งกับสิ่งที่ศาสนาเคยสอนเอาไว้ในอดีต

มากกว่านั้นในวงเสวนาได้โยงปรากฏการณ์คนไม่มีศาสนาเข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน โดยเปิดเผยว่า นอกจากกลุ่มคนไม่มีศาสนาในสังคมไทยจะมีพื้นที่ในการแสดงตัวตนอันจำกัดแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาการสมัครงาน ที่หลายหน่วยงานโดยเฉพาะระบบราชการไม่รับเข้าพิจารณาเนื่องจากไม่มีศาสนา

ซึ่งถึงที่สุดแล้วย่อมส่งผลต่อสถานะทางเศรษฐกิจ และโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทางสังคมอีกมากมาย

 

ทีมข่าวได้สนทนาประเด็นนี้เพิ่มเติมกับ “รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ซึ่งนิยามตนเองว่าเป็นผู้ไม่ยึดติดกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

“โดยภาพรวมๆ แล้ว มีคนไม่นับถือศาสนาในโลกจำนวนมาก ทั้งในยุโรปเองก็ดี ทั้งในประเทศแถบสแกนดิเนเวียเองก็ดี หรือแม้แต่ทางญี่ปุ่น หรือประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีน รัสเซีย เพราะฉะนั้น ที่จริงแล้วคนที่ไม่นับถือศาสนาในโลกมีค่อนข้างเยอะ

“ทีนี้พอในสังคมไทยเราเอง บริบทอาจจะดูเปลี่ยนไป เราค่อนข้างจะชัดเจนว่าเราเป็นสังคมพุทธเป็นหลัก ยังมีคริสต์ อิสลาม หรือศาสนาอื่นๆ น้อย ดังนั้น พอมีใครพูดออกมาว่าตนเองเป็นผู้ไม่นับถือศาสนา มันจึงยิ่งดูแปลกออกไปในสังคมไทย

 

“แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ พอเรามานั่งไล่ดูตามสถิติว่าประเทศที่ไม่นับถือศาสนานั้นเป็นกลุ่มไหน ก็จะแยกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ค่อนข้างก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือมีความเจริญทางความคิดสูงมาก

“ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นประเทศกลุ่มคอมมิวนิสต์ เพราะประเทศคอมมิวนิสต์เขาปูพื้นมาตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าไม่ให้ผูกพันกับศาสนา แต่เราก็จะเห็นเหมือนกันว่ากลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ว่านั้นเป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ค่อนข้างมีความก้าวหน้าสูงในยุคหลัง เช่น จีน หรือเวียดนาม เป็นต้น

“มันก็มีการวิเคราะห์เหมือนกันที่ว่าการไม่นับถือศาสนาสัมพันธ์กับเรื่องของสติปัญญา ความหมายคือในเรื่องของการศึกษา ก็มีการทำกราฟออกมา ปรากฏว่าประเทศที่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์สูง มีการศึกษาทางเทคโนโลยีสูง หรือมีจำนวนนักวิทยาศาสตร์มาก มักจะสอดคล้องกับกลุ่มประเทศที่คนไม่นับถือศาสนาค่อนข้างสูงไปด้วย

“มันก็มีการกล่าวอ้างในทำนองนี้เหมือนกันว่าศาสนามีส่วนในการดึงความคิดทางสังคมหรือเปล่า”

 

แต่ในขณะเดียวกัน รศ.ดร.เจษฎา ก็เน้นย้ำว่าไม่ได้ต่อต้านศาสนา เพราะมองว่าศาสนายังมีองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต

แต่สิ่งสำคัญคือต้องมองศาสนาให้ถึงแก่นและละทิ้งเปลือกที่ไม่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ หรือพูดอีกแบบคือ ในอดีต ศาสนาเกิดขึ้นเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ร่วมกันของคนในสังคม แต่ในโลกสมัยใหม่ กฎเกณฑ์เหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

เพราะกฎเกณฑ์ที่ยึดใช้ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่ไม่ใช่ศาสนา แต่เป็นหลักกฎหมาย

“แต่ปัจจุบัน วันนี้ กฎเกณฑ์ที่สำคัญคือกฎหมาย เอาเข้าจริงๆ แล้ว กฎหมายคือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา และถ้าเราสามารถดำเนินการตามกฎหมายต่างๆ ได้ เราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้

“โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าความสำคัญของการยึดเหนี่ยวทางจิตใจของการมีศาสนานั้นลดลง แต่จริงๆ เราควรยึดเหนี่ยวในเรื่องของการดำเนินชีวิตอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ ไม่มีปัญหากับผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นลำบาก และเราไม่ลำบากที่จะอยู่ร่วมกับเขาเหล่านั้น

“ขณะเดียวกัน การหาคำตอบต่างๆ ในสังคม เราหาคำตอบด้วยกระบวนการอื่นได้ เช่น วิทยาศาสตร์มันสามารถเข้ามาตอบคำถามต่างๆ ของเราได้

 

“เพราะฉะนั้น ในวันนี้ ที่บอกว่าไม่ได้นับถือศาสนาใดเป็นพิเศษ เพราะรู้สึกว่าแก่นของศาสนายังสำคัญ แต่เปลือกของศาสนาเริ่มหมดความสำคัญลงแล้ว เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องไปยึดติดกับเปลือกพวกนั้น

“แต่กฎเกณฑ์ในกฎหมายต่างหากที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม ฉะนั้นจริงๆ แล้ว หลายครั้งบางคนบอกว่าเคารพในศาสนามาก ยึดมั่นทำพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนามาโดยตลอด แต่ไม่ยึดมั่นกฎหมาย ไม่เชื่อตามกฎหมาย ขับรถฝ่าไฟแดง ผมว่าสังคมก็อยู่ร่วมกันไม่ได้

“จริงๆ ในประเทศที่เขาบอกว่าผู้คนส่วนใหญ่เป็นผู้ไม่นับถือศาสนา อย่างเช่นในสแกนดิเนียหรือญี่ปุ่น จะเห็นว่ามันมีการกลับข้างทางความคิด

“คือคนในประเทศจะเคารพกฎหมายสูงมาก กฎหมายเป็นตัวหลักในสังคมเขาเลย และที่สำคัญกฎหมายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ต่างจากศาสนาที่บัญญัติมาแล้วตั้งแต่พันปีก่อน แล้วต้องเชื่อตามนั้น

“กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่สังคมค่อยๆ หล่อหลอม อันนี้ไม่ดีก็เปลี่ยนใหม่ให้เข้มข้นขึ้นหรืออ่อนลงก็ได้ ผมว่าแบบนี้เราจะอยู่ร่วมกันได้”

 

นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอธิบายต่อไปว่า แม้จะไม่เห็นด้วยกับศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ แต่การให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ

เพราะถ้าหากไม่อยากให้ศาสนาเป็นเครื่องมือของอำนาจในการเลือกปฏิบัติกับผู้อื่น ในอีกด้านหนึ่งก็ไม่ควรกีดกันศาสนาออกไปจากสังคม เพราะจะถือเป็นการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการเลือกปฏิบัติกับผู้อื่นด้วยเช่นเดียวกัน

“จริงๆ ในรัฐธรรมนูญชุดหลังๆ ผมก็เห็นกรอบความคิดนี้เปลี่ยนไปเยอะ มีลักษณะที่เปิดกว้างมากขึ้น ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ สามารถจะนับถือศาสนาใดก็ได้ สามารถจะใช้องค์ความรู้ทางวิชาการไปใช้ในการอธิบายเรื่องต่างๆ

“ฉะนั้น ถ้าบอกเรื่องกฎเกณฑ์ในการสมัครเข้าทำงาน และยังมีการตั้งกรอบตั้งแง่พวกนี้ มันถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ มันไม่ต่างไปจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ เมื่อก่อนอาจจะมีการระบุชัดเจนว่าคุณต้องเป็นศาสนาไหน แต่วันนี้ผมเชื่อว่ากระแสมันต่างไปแล้ว แล้วมันไม่มีความจำเป็นต้องระบุว่าเป็นศาสนาไหน

“เราอาจจะถึงวันหนึ่งในอนาคต ที่เราจะเห็นการฟ้องร้องเกิดขึ้น เช่น คุณถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากการนับถือศาสนาไม่ตรงกับการรับสมัครงาน หรือว่าทำงานไปแล้วถูกกีดกันในหน้าที่การงาน อาจจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

“แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับพื้นฐานของการค่อยๆ เปลี่ยนไปตามสังคมไทยด้วย”

คลิกชมคลิปรายงานข่าวเกี่ยวข้อง ผ่านทางเว็บไซต์ยูทูบ โดยเสิร์ชข้อความ “คนไม่มีศาสนา พื้นที่จำกัดในสังคมไทย”