โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/ เหรียญกลมใหญ่ 2512 หลวงปู่โต๊ะ เหล็กจาร มงคลวัดประดู่ฉิมพลี

หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวัณโณ

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญกลมใหญ่ 2512

หลวงปู่โต๊ะ เหล็กจาร

มงคลวัดประดู่ฉิมพลี

 

“หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวัณโณ” หรือ “พระราชสังวราภิมณฑ์” วัดประดู่ฉิมพลี แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ พระเกจิดังแห่งเมืองกรุง

สร้างวัตถุมงคลตั้งแต่ปี พ.ศ.2468 เป็นพระผง หลังจากนั้น สร้างติดต่อกันเรื่อยมา ทั้งประเภทเนื้อผง เหรียญและพระกริ่ง ที่นิยมได้แก่ พระปิดตาพิมพ์ต่างๆ อาทิ พระปิดตาจัมโบ้ 1-2 พระปิดตาข้างกระหนก พระปิดตาหลังเต่า พระปิดตานะทะนะ และพระปิดตาปลดหนี้

กล่าวสำหรับเหรียญกลมใหญ่ หลวงปู่โต๊ะ เป็นอีกเหรียญหนึ่งที่ได้รับความนิยมในวงการพระเครื่อง จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2512 เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเพื่อแจกคณะศิษย์โดยเฉพาะ จัดสร้างจำนวน 2,512 เหรียญ ตามจำนวนปีที่จัดสร้าง

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงกลมขนาดใหญ่ ไม่มีหูห่วง

ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงปู่โต๊ะหันหน้าตรงครึ่งองค์ ด้านบนเขียนว่า “พระครูวิริยกิตติ (หลวงปู่โต๊ะ)” ด้านล่างเขียนคำว่า “พุทธศักราช ๒๕๑๒” พื้นเหรียญมีรอยเหล็กจารอักขระยันต์

ส่วนด้านหลัง เป็นอักขระยันต์สุกิตติมา อ่านได้ว่า “สุกิตติมา สุภาจาโร สุสีละวา สุปากะโต ยัสสะสิมา วะเจธะโร เกสะโรวา อะสัมภิโต”

ทั้งนี้ ยันต์สุกิตติมานี้ ถือเป็นอีกหนึ่งสุดยอดของยันต์วิเศษ หัวใจสำคัญของการเดินคาถายันต์สุกิตติมา จะต้องตีตารางเป็นแล้วลงอักขระขอม คำว่า สุ อยู่ตรงกลาง ก่อนเดินแนวบนเป็น “กิตติมา” เดินแนวล่างเป็น “สีละวา” เดินแนวขวาเป็น “ภาจาโร” เดินแนวซ้ายเป็น “ปากะโต”

ด้านในทั้ง 4 ด้าน ลงองค์พระกำกับอยู่ 4 พระองค์

แถวตารางด้านนอก จะมีการลงอักขระแถวละตัว มีคำว่า ยัสสะสิ, วะเจธะ, เกสะโร, อะสัมภิ

เป็นการเดินสูตรยันต์ของหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี

วงการพระเครื่องนิยมเรียกขานว่า “เหรียญเหล็กจาร” ซึ่งหลวงปู่โต๊ะ จารด้วยตัวเองนานถึง 3 เดือน

ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง ต่างกล่าวขานถึงพุทธคุณ ที่มีความโดดเด่นรอบด้าน

ทุกวันนี้ เป็นเหรียญหายากไปแล้ว!!!

 

เป็นชาว อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เกิดวันที่ 27 มีนาคม 2430

ลักษณะความเป็นผู้นำ ฉายแววมาแต่เยาว์วัย เป็นผู้มีความเข้มแข็ง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ชอบที่จะติดตามบิดามารดาไปวัดอยู่เป็นประจำ หลายครั้งท่านมักแอบไปวัดเพียงลำพัง เพื่อฟังการสวดมนต์ จนสามารถท่องจำได้อย่างแม่นยำ

บิดาจึงนำมาฝากเรียนอยู่กับวัดเกาะแก้ว ปากคลองน้อย อายุ 13 ปี เมื่อบิดา-มารดาเสียชีวิต จึงอาศัยอยู่กับหลวงตาแก้ว

จนเจริญวัยเข้าสู่วัยหนุ่มและถึงแม้จะเจริญเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่ม แต่ก็หามีจิตใจฝักใฝ่สตรีเพศดุจคนรุ่นเดียวกันไม่

หลวงตาเห็นความขยันหมั่นเพียร จึงนำมาฝากกับพระอธิการสุข เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี

ครั้นอายุย่าง 17 ปี บรรพชา ที่วัดประดู่ฉิมพลี ในปี พ.ศ.2447 มีพระอธิการสุข เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์

ขยันหมั่นเพียรในการศึกษาพระปริยัติธรรม ท่องเรียนพระสูตรต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ สนใจเจริญสมาธิกัมมัฏฐานอย่างมุ่งมั่น

พระอาจารย์พรหม ผู้อบรมสั่งสอนสมาธิกรรมฐานให้ในสมัยนั้น ถึงกับเคยกล่าวไว้ว่า “แทบทุกคืนจะเห็นสามเณรโต๊ะ หลบไปนั่งกัมมัฏฐานเพียงลำพังในโบสถ์ บางครั้งเห็นไปเดินจงกรมอยู่ในป่าริมคลองบางหลวงเพียงลำพัง” พระอาจารย์พรหมยังเล่าอีกว่า “สามเณรโต๊ะมักชอบเก็บตัวอยู่เงียบ พูดน้อย แต่ช่างซักถามทำความเข้าใจในข้อธรรมต่างๆ”

อายุครบ 20 ปี อุปสมบทที่พัทธสีมาวัดประดู่ฉิมพลี เมื่อวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2450 เวลา 15.30 น. โดยมีพระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูอักขรานุสิต (ผ่อง) วัดนวลนรดิศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูธรรมวิรัติ (เชย) วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า “อินทสุวัณโณ”

เหรียญกลมหลวงปู่โต๊ะ พ.ศ.2512

 

ตั้งใจศึกษาและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยด้วยความวิริยะอุตสาหะ ต่อมาพระอธิการคำ เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีในสมัยนั้นลาสิกขา

จึงรับภาระหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี ขณะนั้นอายุ 26 ปี พรรษา 6

อยู่ศึกษาพระธรรมวินัยตลอดจนวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์พรหม ที่วัดประดู่ฉิมพลี เมื่อทราบว่าสำนักใดมีพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคม ท่านจะเดินทางไปศึกษาวิชา ยิ่งในย่านฝั่งธนบุรียุคนั้น หลวงปู่เอี่ยม (เจ้าคุณเฒ่า) วัดหนัง มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นวัดที่อยู่ในย่านเดียวกัน ท่านบวชได้ประมาณ 5 พรรษาก็เดินทางไปขอศึกษาพุทธาคมจากหลวงปู่เอี่ยม

นอกจากนี้ เดินทางไปศึกษาวิชากับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ จ.สมุทรสาคร ได้รับการถ่ายทอดวิชาการลงยันต์ตรีนิสิงเห อันเป็นยันต์ชั้นยอด

ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2463 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่พระครูวิริยกิตติ

พ.ศ.2516 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสังวรวิมลเถร

พ.ศ.2521 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสังวราภิมณฑ์

 

บั้นปลายชีวิต หลวงปู่โต๊ะเริ่มอาพาธด้วยโรคชรา เนื่องจากท่านไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน สุขภาพจึงไม่แข็งแรง

ท่านอาพาธครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2524 และก่อนมรณภาพเพียง 7 วัน ท่านลุกจากเตียงไม่ได้ กระทั่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2524 ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ สิริอายุ 94 ปี พรรษา 73

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญศพมาตั้งที่ศาลาร้อยปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระราชทานเกียรติยศศพเป็นพิเศษเสมอพระราชาคณะชั้นธรรม และพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการจัดพิธีศพ

ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จฯ เป็นประธานในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 50 วัน 100 วัน

พระราชทานพระราชกุศลออกเมรุและพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส