วรศักดิ์ มหัทธโนบล : การเมืองสืบราชสมบัติยุคปลายถังไท่จง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน

แม้จะเป็นความจริงที่ว่า โดยภาพรวมแล้วจีนในยุคถังไท่จงจะมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยิ่งก็ตาม แต่ในช่วงท้ายรัชกาลก็ได้เกิดความไม่ราบรื่นทางการเมือง เมื่อรัชทายาทที่ได้มีการวางตัวไว้แต่เดิมเกิดปัญหาขึ้นมา ปัญหานี้ได้นำไปสู่การเปลี่ยนองค์รัชทายาทในเวลาต่อมา

การที่ปัญหาถูกแก้ตกไปเช่นนี้แม้จะมีการสูญเสียอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงกล่าวได้ว่าเสถียรภาพของถังหาได้ถูกกระทบไปด้วยไม่ ถึงแม้หลังความไม่ราบรื่นดังกล่าวไปแล้วถังไท่จงจะประชวรลงจนยากแก่การเยียวยา และอยู่ในช่วงบั้นปลายแห่งชีวิตแล้วก็ตาม แต่เสถียรภาพที่ดำรงอยู่นี้ก็ได้ดำเนินไปท่ามกลางปฏิสัมพันธ์ของตัวละครบางตัว

ที่ต่างอยู่รายล้อมและใกล้ชิดกับถังไท่จง

แน่นอนว่าช่วงที่ปฏิสัมพันธ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นย่อมไม่มีผู้ใดล่วงรู้ได้ว่ามันจะนำไปสู่เหตุการณ์ใด ต่อเมื่อได้เกิดเหตุการณ์นั้นแล้ว การย้อนไปกล่าวถึงปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวจึงเกิดขึ้น และเป็นการกล่าวถึงในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยทัศนะที่แตกต่างกันไป

ปฏิสัมพันธ์ของตัวละครที่นำไปสู่เหตุการณ์ดังกล่าวก็คือ ปฏิสัมพันธ์ที่นำไปสู่การเกิดจักรพรรดินีเพียงหนึ่งเดียวในประวัติศาสตร์จีนอันยาวนาน จักรพรรดินีองค์นี้รู้จักกันในนามว่า อู่เจ๋อเทียน

ผู้ซึ่งแม้จะเป็นอิสตรี แต่ก็มีบทบาทไม่แพ้บุรุษ แต่ก็ด้วยเหตุที่เป็นอิสตรีเช่นกันที่ทำให้บทบาทของเธอถูกตีความไปต่างๆ นานา ทั้งที่จริงแล้วบทบาทเช่นนั้นบุรุษก็ทำเป็นปกติ ถึงแม้ความจริงจะเป็นเช่นที่ว่า แต่การปรากฏขึ้นของจักรพรรดินีองค์นี้ก็ทำให้การก้าวเดินของถังต้องสะดุดลง

และกว่าที่จะก้าวเดินได้ต่อไปเวลาก็ล่วงเลยไปนานนับสิบปี

เหตุดังนั้น ปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของจักรพรรดินีองค์นี้จึงมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ในที่นี้จะศึกษาถึงเรื่องราวนี้ไปโดยลำดับตามสมควร

 

การเมืองเรื่องรัชทายาท

แม้ปัญหารัชทายาทจะเป็นปัญหาที่มีให้เห็นมาก่อนหน้านี้บ้างก็ตาม แต่ในยุคถังไท่จงกลับมีความแตกต่างอยู่ประการหนึ่ง ความแตกต่างนี้ส่วนหนึ่งมีที่มาจากการครองตนของถังไท่จงจากที่กล่าวมาอยู่ด้วย

กล่าวคือ แม้จะมีการตั้งรัชทายาทจากโอรสองค์แรกของมเหสีก็ตาม แต่เมื่อองค์รัชทายาทมีปัญหา ถังไท่จงก็มิได้ทรงปล่อยปัญหานั้นไปโดยไม่กล้าฝืนธรรมเนียม หากทรงชำระสะสางปัญหาเท่าที่พึงทำได้ตามวิสัย

ถึงแม้จะหารู้ไม่ว่าที่ทำไปนั้นจะส่งผลเช่นไรต่อไปในกาลข้างหน้า เพราะนั่นย่อมเป็นเรื่องอันสุดที่จะหยั่งถึงได้

ถังไท่จงมีโอรส 14 องค์ และที่เกิดจากมเหสีมีสามองค์คือ หลี่เฉิงเฉียน (ค.ศ.619-645) หลี่ไท่ (ค.ศ.620-653) และหลี่จื้อ (ค.ศ.628-683) ตามลำดับ โดยถังไท่จงทรงแต่งตั้งให้หลี่เฉิงเฉียนเป็นรัชทายาทตามธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมา ในขณะที่หลี่เฉียนเฉิงมีอายุ 8 ชันษา

แม้จะเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์อันมีกำเนิดที่ดี แต่หลี่เฉียนเฉิงกลับมีบุคลิกที่ไม่สมบูรณ์ ด้วยทรงมีเท้าที่ผิดปกติที่อาจมาจากโรคข้อต่ออักเสบ (gout) หรือเท้าผิดรูป (clubfoot) เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มีสติปัญญาและความสามารถ

แต่ครั้นเติบใหญ่ในวัยมานพก็แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการครองตนเป็นที่ยิ่ง คือมีความดื้อรั้น ไม่ใฝ่ศึกษา ละเมิดกฎมนเทียรบาลเป็นนิจ ยึดที่นาของชาวนามาสร้างตำหนัก ขโมยสัตว์เลี้ยงของชาวนามาบริโภค มีความยินดีในเรื่องหยาบช้าลามก มีความบันเทิงในการแบ่งบริวารเป็นสองฝ่ายแล้วให้สู้กันจนบาดเจ็บล้มตาย ฯลฯ

แต่ที่ผิดจารีตยิ่งก็คือ นิยมมีเพศรสกับบัณเฑาะก์ (กะเทย) ผู้หนึ่ง

ในข้อหลังนี้เมื่อถังไท่จงทราบความก็ทรงกริ้วและสั่งให้ประหารบัณเฑาะก์ผู้นั้น จนยังความโศกเศร้าแก่หลี่เฉิงเฉียนยิ่งนัก คือไม่เพียงทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับเท่านั้น หากยังทรงให้สร้างศาลากับรูปเคารพของบัณเฑาะก์ผู้นี้เพื่อเซ่นไหว้ และแสดงความอาลัยทุกเช้าค่ำ ทั้งยังได้สร้างหลุมศพไว้ในอุทยานพร้อมป้ายสลักชื่อและตั้งบรรดาศักดิ์ให้สูงส่ง

การครองตนเช่นนี้ย่อมทำให้ฐานะรัชทายาทมีปัญหา ด้วยขัดกับจารีตที่ยึดถือกันมาช้านาน

 

ส่วนหลี่ไท่ซึ่งเป็นโอรสองค์ที่สองกลับตรงกันข้ามกับหลี่เฉิงเฉียน แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไร้ซึ่งปัญหา กล่าวคือ หลี่ไท่เป็นผู้มีบุคลิกที่สง่างาม ใฝ่ศึกษา คบหาบัณฑิต กิริยามารยาทงดงาม และสามารถในทางร้อยกรอง ทำให้เป็นที่ชื่นชมของบรรดาศึกษิตทั้งหลายไม่เว้นแม้แต่ถังไท่จง

จนครั้งหนึ่งถึงกับทรงให้ค่าใช้จ่ายมากกว่าหลี่เฉิงเฉียน และให้พำนักในตำหนักใกล้กับท้องพระโรงที่เสด็จออกขุนนาง เหตุเช่นนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพี่น้องทั้งสอง โดยหลี่เฉิงเฉียนระแวงว่าฐานะรัชทายาทของตนจะตกไปเป็นของหลี่ไท่

จนเป็นเหตุให้หลี่เฉิงเฉียนวางแผนโค่นล้มถังไท่จง

แผนนี้มีเสนามาตย์ที่ไม่พอใจถังไท่จงอยู่จำนวนหนึ่งเข้าร่วมด้วย แต่แผนกลับรั่วไหลเสียก่อน จากเหตุนี้ถังไท่จงจึงทรงปลดหลี่เฉิงเฉียนจากรัชทายาทพร้อมถอดจากฐานันดรศักดิ์ให้เป็นสามัญชน จากนั้นให้คุมขังไว้ยังต่างเมืองที่ห่างไกลจนสิ้นชีพในวัย 26 ปี

หลังเหตุการณ์นี้หลี่ไท่เชื่อมั่นว่าตนจักได้เป็นรัชทายาทสืบแทน ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น ด้วยถังไท่จงทรงมีดำริที่จะให้หลี่ไท่ดำรงตำแหน่งนี้

แต่ยังมิทันที่จะได้ประกาศแต่งตั้ง ถังไท่จงก็ได้รับการทัดทานจากขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด ว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่หลี่ไท่แสดงให้เห็นว่าตนเป็นบัณฑิตนั้นเป็นเพียงภาพภายนอก แต่ในความจริงแล้วเป็นบุคคลหน้าไหว้หลังหลอกและซ่องสุมกำลังเอาไว้มาก

เมื่อฟังความแล้วถังไท่จงจึงได้ชะลอการแต่งตั้งรัชทายาทเอาไว้

 

ข้างฝ่ายหลี่ไท่เมื่อไม่เห็นมีประกาศแต่งตั้งก็ระแวงว่าโอรสองค์ที่สามหลี่จื้อจะได้ตำแหน่ง จึงเข้าไปพบหลี่จื้อพร้อมกับข่มขู่หลี่จื้อ การกระทำครั้งนี้ของหลี่ไท่ต่อมาเป็นที่ล่วงรู้ของถังไท่จง และทำให้พระองค์ทรงตัดสินใจแต่งตั้งหลี่จื้อเป็นรัชทายาท ส่วนหลี่ไท่ให้ลดตำแหน่งลงแล้วเนรเทศให้ไปปกครองเมืองที่ห่างไกล และตรอมใจตายที่เมืองนั้นในวัย 30 ปี

เหตุการณ์ปลดหลี่เฉิงเฉียน ลงโทษหลี่ไท่ และตั้งหลี่จื้อเป็นรัชทายาทนี้ล้วนเกิดขึ้นและจบลงใน ค.ศ.643

กล่าวกันว่าปัญหารัชทายาทนี้เป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของถังไท่จงในเวลานั้น ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่ส่งผลไม่แพ้กันก็คือ การทำสงครามกับเกาหลีที่ใช้เวลานานหลายปี แต่ไม่สามารถเอาชนะได้ (ดังได้กล่าวไปแล้ว)

จากปัญหาสุขภาพประกอบกับวัยที่ล่วงสู่ความชรานี้ ทำให้ชีวิตบั้นปลายของถังไท่จงไม่สู้จะสงบนัก โดยข้างฝ่ายราษฎรนั้นต้องทนทุกข์จากการศึกที่มีกับเกาหลีก็เกิดความไม่พอใจขึ้นโดยทั่ว

ข้างฝ่ายเสนามาตย์ก็มิอาจทูลทัดทานถังไท่จงได้ดังแต่ก่อน จนบ่อยครั้งยังทรงกริ้วขุนนางที่ถวายความเห็นที่แตกต่าง

อารมณ์เช่นนี้นับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรง

นอกจากนี้ แต่เดิมที่ทรงมัธยัสถ์ มาบัดนี้กลับทรงให้สร้างตำหนักขึ้นหลายแห่ง แต่ละแห่งต้องเกณฑ์แรงงานราษฎรทั้งสิ้น ราษฎรที่ต้องทนทุกข์จากภัยสงครามอยู่แล้วจึงทุกข์หนักยิ่งขึ้น

จนบางคนถึงกับยอมทำร้ายตัวเองให้พิกลพิการเพื่อจะได้ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน

 

ภาวะที่เสื่อมถอยเช่นนี้ดำเนินมาจนถึงฤดูร้อน ค.ศ.649 ถังไท่จงทรงป่วยอย่างหนัก และสิ้นพระชนม์หลังครองราชย์ได้ 23 ปี แน่นอนว่าจักรพรรดิองค์ต่อไปย่อมตกเป็นของรัชทายาทหลี่จื้อ

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าวิสัยทัศน์ของถังไท่จงนับว่ามีส่วนไม่น้อยที่ช่วยทำให้จีนฟื้นเป็นจักรวรรดิอีกครั้งหนึ่ง บทบาทของพระองค์ได้กลายเป็นทั้งรากฐานและแบบอย่างให้แก่จักรพรรดิถังบางพระองค์ ซึ่งจะมีบทบาทในการเสริมสร้างจักรวรรดิจีนให้แข็งแกร่งต่อไป

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเมื่อวัฏสงสารแห่งชีวิตทำให้ถังไท่จงทรงมีบั้นปลายชีวิตที่ไม่ราบรื่น ถึงแม้จะได้แก้ปัญหารัชทายาทโดยแลกกับการสูญเสียโอรสสององค์ แต่นั่นก็เป็นเหตุการณ์ที่เคยมีมาแต่อดีตและผู้เป็นจักรพรรดิพึงมีความหนักแน่น เพื่อแลกกับอนาคตที่ยั่งยืนของราชวงศ์

แต่โชคร้ายของเรื่องนี้มีอยู่ว่า รัชทายาทที่ทรงแต่งตั้งเท่าที่จะทำได้ดีที่สุดแล้วนี้กลับตกอยู่ในอีกวัฏสงสารหนึ่ง และยากที่ใครจะหยั่งรู้ได้ ว่าต่อมาได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์จีน