รายงานพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ/ร้านสะดวกซื้อไร้พนักงานที่สิงคโปร์ ประสบความสำเร็จ ถอดบทเรียนจากจีน

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

ร้านสะดวกซื้อไร้พนักงานที่สิงคโปร์

ประสบความสำเร็จ

ถอดบทเรียนจากจีน

 

“สิงคโปร์” เป็นประเทศเล็กๆ ที่ยังจำเป็นต้องอาศัยแรงงานต่างชาติป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมและกิจการของภาคเอกชนต่างๆ

รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายให้ผู้ประกอบการลดการพึ่งพากำลังแรงงาน แล้วหันไปเพิ่มคุณภาพบุคลากรทุกระดับ รวมถึงเทคโนโลยีนวัตกรรม

ความต้องการลดแรงงานคนในวงการค้าปลีกในสิงคโปร์ และผลักดันให้แรงงานเหล่านั้นไปทำงานอื่นที่มีทักษะสูงขึ้น ร้านค้าหลายแห่งเร่งนำเอาตู้ซื้อสินค้าอัตโนมัติเข้ามาให้บริการ ทยอยนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในธุรกิจมากขึ้น

สำหรับร้านสะดวกซื้อในสิงคโปร์แล้วการบริการลูกค้าเริ่มหันนำเทคโนโลยีมาใช้ เนื่องจากตอนนี้เริ่มมีปัญหาขาดกำลังคนในตลาดแรงงานและยังพบว่าต้นทุนของแรงงานสูงขึ้นในการจ้างแรงงานเนื่องจากความไม่สมดุลของประชากรระหว่างวัยทำงานกับวัยชรา

สิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่จำนวนประชากรสูงวัยขยายตัวอย่างรวดเร็ว

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ร้านค้าในสิงคโปร์ปรับรูปแบบเนื่องจากการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริการที่เคยพึ่งพาแรงงานต่างชาติมาตลอด

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลเข้มงวดกับการจ้างแรงงานต่างด้าว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจให้เกิดภาวะสมดุลของตลาดแรงงานอย่างเหมาะสม

 

เทรนด์ของการเปิดร้านค้าไร้พนักงานในสิงคโปร์ เป็นที่สนใจของกลุ่มผู้ประกอบการในสิงคโปร์อีกหลายราย เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานและอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นเชนร้านสะดวกซื้อ “Cheers” ที่เปิดตัวร้านไร้พนักงานขายแห่งแรกที่นันยางโพลีเทคนิคเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รวมถึงร้านอย่าง OMO Store และ Pick and Go

เมื่อมีการนำเทคโนโลยีด้านการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ ทำให้ธุรกิจค้าปลีกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นำมาวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าเพื่อช่วยให้เกิดการจัดหมวดหมู่สินค้าได้ดีขึ้น รวมถึงการสร้างเครือข่ายกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

ไม่ควรใช้ร้านค้าอัจฉริยะเหล่านี้วางขายเพียงแต่สินค้าที่เก็บไว้ได้นาน อย่างพวกขนม และเครื่องดื่ม ร้านนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติใหญ่ๆ เครื่องหนึ่งในสายตาของผู้บริโภค

 

มาดูร้าน “Octobox” ร้านสะดวกซื้อไร้พนักงานที่ประสบความสำเร็จจากบทเรียนต่างๆ ของจีน ร้านสะดวกซื้อสตาร์ตอัพสัญชาติสิงคโปร์ ที่มีสาขาตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ซึ่งมีระบบการชำระเงินสุดไฮเทค เพียงแค่สแกนฝ่ามือลงไปที่หน้าจออิเล็กทรอนิกส์ที่ติดไว้บนผนัง

Ng Kiat Seng ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ Octobox ระบุว่าเขาต้องการทาร์เก็ตไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อินกับดิจิตอล โดยการเข้าไปตอบโจทย์เรื่องของความสะดวก ราคาที่เข้าถึงได้ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารร้าน เพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ

ซึ่งต้นทุนการเปิดต่อสาขานั้นอยู่ที่ 108,000 เหรียญสหรัฐ และภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ มีนักศึกษาที่สนใจลงทะเบียนกว่า 3,000 คน ที่สแกนฝ่ามือเพื่อผูกกับเบอร์โทรศัพท์ในการยืนยันตัวตน

Ng Kiat Seng ยังระบุถึงแผนการเปิดสาขาอีก 4 แห่งเร็วๆ นี้ ด้วยกลยุทธ์เดียวกันกับที่ใช้ใน NUS คือ เข้าไปเจาะกลุ่มชนขนาดเล็ก เช่น ที่พักอาศัย รวมถึงยิม พร้อมกับความสนใจที่จะนำโมเดลนี้ไปเปิดในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย

โดยผู้ประกอบการแต่ละรายในสิงคโปร์ได้ให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ จะไม่เกิดข้อผิดพลาดแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศจีนในความยุ่งยากของการยืนยันตัวตน จนถึงการทำรายการได้สำเร็จ ในร้านค้าไร้พนักงาน

ขั้นตอนเหล่านี้มันขัดต่อการให้บริการที่รวดเร็วประทับใจ

 

การนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการขาย การพัฒนาสินค้าใหม่ๆ รวมถึงการสร้างเครือข่ายกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จมากกว่าที่อื่น คือไม่ควรนำเทคโนโลยีเข้าไปแทนที่การใช้แรงงานเป็นหลัก ซึ่งอาจมองข้ามข้อมูลสำคัญในการขายและบริการ

เหมือนดังเช่น “อาลีบาบา” ได้เปิดตัว “Freshippo” หรือที่รู้จักกันในนาม “เหอหม่า เซียนเซิง” ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตไฮเทคที่นำเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ภายในร้าน ทั้งระบบการชำระเงินแบบแคชเลส คิวอาร์โค้ดบอกข้อมูลสินค้า ฯลฯ แต่ที่ร้านก็ยังมีพนักงานเพื่อซัพพอร์ตลูกค้า ทำให้ดำเนินธุรกิจอยู่ได้

ก่อนหน้านี้ร้านไร้พนักงานในประเทศจีน เช่น กรณีของร้าน “Buy-Fresh Go” ร้านสะดวกซื้อแบบไร้พนักงานที่ปิดตัวลงในช่วงกลางปีที่ผ่านมา หลังจากที่เปิดให้บริการได้เพียง 1 ปี

Buy-Fresh-Go ลงหลักปักฐานธุรกิจครั้งแรกในปี 2017 ที่เสิ่นเจิ้น จากนั้นก็เปิดสาขาที่หัวเฉียง ย่านการค้าสำคัญของเสิ่นเจิ้นในเวลาต่อมา แต่ไม่นานนักความนิยมชมชอบในร้านอัจฉริยะไร้พนักงานขายนี้ก็เริ่มลดลง และนำไปสู่การปิดสาขาในเวลาต่อมา

และที่เมืองกว่างโจว ก็พบว่า “i-Store” ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อแบบไร้พนักงานขายเชนแรกของที่นี่ก็ปิดสาขาลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียง 3 สาขาในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากช่วงที่มีสาขาพีกๆ ประมาณ 9 สาขา

หรือก่อนหน้านี้ JD.com พี่ใหญ่ในอีคอมเมิร์ซจีนอีกรายก็ได้ออกมาประกาศว่าจะเลื่อนแผนการทำ smart shelf business หรือร้านไร้พนักงานขายไซซ์เล็กออกไปก่อน หลังจากที่เคยวางแผนเอาไว้ว่าจะขยายสาขาร้านโมเดลดังกล่าวถึง 5,000 สาขา โดยจะเอาไปตั้งอยู่ในตึกออฟฟิศ และอาคารอื่นๆ ในเมืองหลัก ๆ ทั่วประเทศ

แต่ก็ถอดใจไม่ลงทุนต่อเพียงแค่ในระยะเวลา 6 เดือนต่อมา

ธุรกิจร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะยังเป็นกระแสความต้องการในกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความสะดวกสบายไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพียงแต่ต้องเราจับทางให้ถูกว่าจะเข้าถึงลูกค้าหรือนำสินค้าที่เหมาะต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างไรจึงจะสะดวกที่สุดและเหมาะสมที่สุด