เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | หัวใจศาสนา

หัจญีประยูร วทานยกุล ผู้ล่วงลับแล้ว ท่านเป็นปราชญ์ทางศาสนาอิสลาม เป็นมุสลิมที่เคร่งครัด

บ้านของท่านอยู่ริมคลองแสนแสบติดกับห้างสรรพสินค้าใหญ่ย่านบางกะปิ เชิงสะพานข้ามคลองใจกลางตลาดบางกะปิที่มีตึกรามคับคั่ง แต่บ้านท่านเต็มไปด้วยต้นไม้เหมือนป่ากลางกรุง ชื่อ สวนสงบ

ท่านเป็นสหายธรรมในศาสนาอิสลามเพียงหนึ่งเดียวของท่านพุทธทาส

ขอยกข้อความสำคัญในหนังสือ “ร้อยคน ร้อยธรรม 100 ปี พุทธทาส” บางส่วนมาสู่การสดับรับรู้แก่เพื่อนศาสนิกชนทั้งพุทธและอิสลาม เพื่อร่วมสู่วิถีแห่งศานติธรรมอันเป็นหัวใจของทุกศาสนาด้วยกัน

ดังนี้

ท่านหัจญีประยูรนั้น แม้จะถือกำเนิดมาในครอบครัวมุสลิม และเป็นผู้เคร่งครัดในศาสนาของตนกระทั่งเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ใกล้ชิด

หากด้วยในวัยเรียนที่ได้ผ่านการอบรมบ่มเพาะด้านการศึกษามาในโรงเรียนคริสต์ และเมื่อเติบใหญ่ก็มีโอกาสคบหากับเพื่อนพ้องผู้สนใจพุทธศาสนา ท่านจึงไม่ได้มุ่งศึกษาเพียงศาสนาอิสลามของตนเท่านั้น แต่ยังสนใจในศาสนาอื่นๆ รวมถึงพุทธศาสนาด้วย

อันเป็นเหตุให้ท่านหัจญีประยูรถึงกับเดินทางไปนมัสการท่านพุทธทาสซึ่งอยู่ไกลกันถึงสวนโมกขพลาราม ทั้งที่การเดินทางในเวลานั้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก

“ครั้งนั้นข้าพเจ้าได้ดั้นด้นมาสวนโมกข์ก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะหาธรรมะ ที่ใช้คำว่าดั้นด้นเพราะการมาสวนโมกข์ในขณะนั้นมิได้สะดวกสบายอย่างเดี๋ยวนี้ ต้องนั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ มาถึงสถานีไชยาประมาณตีสี่ ข้าพเจ้ากับพระกวงต้องนั่งรออยู่ที่สถานีจนสว่าง จึงเดินตัดทุ่งนาป่าละเมาะ บางแห่งก็ต้องลุยน้ำแค่อกเพราะเป็นฤดูฝน แต่จะรู้สึกย่อท้อก็หาไม่ ข้าพเจ้าเคยไต่ภูกระดึงที่จังหวัดเลยมาแล้ว เมื่อยังเป็นป่าดงดิบ เหน็ดเหนื่อยแทบแย่ แต่เมื่อถึงยอดภู ได้อากาศสดชื่นบริสุทธิ์ดังอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่ง ทำให้หายเหน็ดเหนื่อยทันที แต่การมาสวนโมกข์แม้จะต้องเดินไกล ระหว่างทางไม่รู้สึกอ่อนเพลียเลย เพราะได้โอสถชโลมใจอยู่ตลอดทางว่า คราวนี้จะได้ชิมรสธรรมะจากพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งมีความคิดเห็นแปลกไปกว่าที่ข้าพเจ้าเคยพบมา อาจเปรียบได้ว่าเป็นความคิดที่อยู่ในอีกซีกโลกหนึ่ง”

การพบปะกันครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2498 นั้น ท่านหัจญีประยูรได้สนทนาธรรมกับท่านพุทธทาสนานถึง 8 ชั่วโมง

โดยเล่าไว้ว่า

“เมื่อท่านอาจารย์กล่าวอะไรเกี่ยวกับพุทธศาสนาตามแนวของท่าน ก็ดูเหมือนกำลังนำข้าพเจ้าเข้าไปสู่จุดหมายของอิสลาม”

“สัจจะ มีอยู่แล้วด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ผู้ที่จะทำให้เห็นว่าเป็นอันเดียวกันยังไม่มี โดยมากจะระวังท่าทีมิให้เพลี่ยงพล้ำแก่กันในการสนทนา นั่นมิใช่การศึกษาตามความจริง มัวหาทางงัดกันให้กระเด็น ซึ่งมิใช่วิถีทางแห่งการทำความเข้าใจอันดี”

อาจนับได้ว่า วันนั้นท่านหัจญีประยูรได้ค้นพบผู้ที่จะนำทางไปสู่สัจจะอันเดียวกัน ความต่างของศาสนานอกจากจะไม่ได้ขวางกั้นความเข้าใจระหว่างกันแล้ว หากยังกลับพาให้อีกฝ่ายลุถึงแก่นธรรมของตนเองได้ลึกซึ้งยิ่งกว่าเดิม ความจริงข้อนี้ค่อยๆ ประจักษ์ชัดขึ้นเป็นลำดับในเวลาต่อมา

“พุทธศาสนาที่ข้าพเจ้าเรียนรู้มาก่อนนั้นเป็นสิ่งที่หาได้ทั่วๆ ไป มักเป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ และอยู่ในขั้นศีลธรรม ยังไม่มีอะไรเป็นลักษณะพิเศษ ต่อเมื่อข้าพเจ้าได้พบท่านอาจารย์ อ่านหนังสือของท่าน และเก็บเอามาไตร่ตรอง จึงได้เข้าใจปรมัตถธรรม เลื่อนจากชั้นโลกิยธรรมขึ้นสู่โลกุตรธรรม”

“หลังจากวันนั้น ข้าพเจ้าค่อยศึกษาจากหนังสือของท่านอาจารย์ เปรียบกับคำในคัมภีร์อัลกุรอาน แล้วก็ค่อยๆ ได้ความสว่างขึ้นเรื่อยๆ ข้าพเจ้ามิได้มานมัสการท่านอาจารย์บ่อยนัก นานๆ จะมาสักครั้งหนึ่ง แต่ความผูกพันนั้นมีอยู่มาก ไปหาท่านครั้งใดก็เหมือนข้าพเจ้ากำลังรายงานท่านว่าได้คืบหน้าทางธรรมะไปได้แค่ไหนแล้ว ความเข้าใจซึ่งกันและกันนับวันยิ่งลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ”

“ทัศนะของท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น ข้าพเจ้าเลี่ยงที่จะใช้คำว่า ถูกต้อง เกรงว่าสำนักอื่นเขาจะหาว่าทึกทัก เขาอาจจะถามว่า คุณรู้อย่างไรว่าอาจารย์ของคุณถูกต้อง ข้าพเจ้ามักกล่าวว่า ความคิดเห็นของท่านอาจารย์เข้าที (sensible) และเข้าท่า (sound) ใครอาจจะไม่เห็นอย่างข้าพเจ้าก็ได้ เรียกว่าพุทธศาสนาในทัศนะของท่านอาจารย์ทำให้ข้าพเจ้าเข้าถึงความถูกต้องของศาสนาอิสลามด้วย ในฐานะที่ข้าพเจ้าลงทะเบียนไว้ว่าเป็นอิสลาม ก็ต้องแจกแจงธรรมะของอิสลามได้ ถ้าข้าพเจ้าไม่เข้าถึงแก่นของพุทธศาสนาดังที่ได้จากท่านอาจารย์พุทธทาส ข้าพเจ้าคงไม่เข้าถึงแก่นของอิสลามเช่นกัน ถ้าเอาแต่ฟังชาวบ้านหรือครูบาอาจารย์ ซึ่งจำกันมาจนเป็นธรรมเนียมประเพณีก็คงยังไม่มีทางออก”

“พวกมุสลิมเขาชอบกล่อมเด็กด้วยเนื้อสั้นๆ ว่า ลา อิ ลาห อิล ลอล ลอห ซึ่งเป็นคำประกาศสัจธรรมเวลานับลูกประคำในการสวด เขาจะเน้น ซ้ำๆ ว่า ลาอิลาห อิลลอลลอห ลาอิลาห อิลลอลลอห จนเกิดสมาธิทางใจ เสียดายที่คนส่วนมากมิได้เข้าใจความหมายถึงแก่น มักจะแปลกันว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์

“คำว่าอัลลอฮ์ หรืออัลลอห มีพยัญชนะหลัก 3 ตัว คือ อ ล ห ส่วนพยัญชนะของอรหัต ได้แก่ อ ร ห ล ลิงทางซีกโลกตะวันตก จะมาเป็น ร เรือทางซีกโลกตะวันออก เช่น elephen ซึ่งแปลว่า ช้าง มาเป็นเอราวัณ อาลี แปลว่า สูงส่ง ก็ตรงกับ อริย ในอริยสัจ

“เรื่องทางภาษานี้ ข้าพเจ้าเคยชี้แจงมาแล้ว ที่นำมาพูดอีก ก็เพื่อท่านที่ยังไม่เคยได้ยินด้วยหลักดังกล่าว อัลลอฮ์ก็คืออรหัตนั่นเอง เป็นแต่อัลลอฮ์ใช้ในความหมายกว้างกว่าคำอิลาหในลาอิลาห แปลว่า สิ่งเคารพ ลา แปลว่าไม่ให้หรือห้าม มุสลิมส่วนมากเข้าใจว่า อิลาห หมายถึงสรรพสิ่งรอบข้าง เช่น รูปปั้น ต้นไม้ และอื่นๆ ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะหมายถึงความยึดถือในสิ่งนั้นๆ ซึ่งอยู่ในใจคนมากกว่า อะไรที่เป็นวัตถุภายนอก เช่น อนุสาวรีย์ ต้นไม้ มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น มิได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างใด

“เมื่อคนไปยึดถือสิ่งเหล่านั้นก็จะกลายเป็นสิ่งเคารพขึ้นมาทันที ถ้าคนไม่ไปเกาะติดยึดถือมันก็ไม่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้ พอคนไปยึดถือมันเข้าก็กลายเป็นของมีอำนาจในความรู้สึกของคน มิใช่ตัวมันมีอำนาจเอง แต่คนหยิบอำนาจให้แก่มัน อิลาหจึงมิได้หมายถึงสิ่งที่ยึดถือภายนอก แต่หมายถึงความยึดถือในใจของคนต่างหาก ลาอาหจึงควรตีความว่าไม่ให้มีความยึดถือ เมื่อแปลความหมายของประโยคจะเป็นอย่างนี้ก็ได้ ลา อิ ลาห อิล ลอล ลาห ก็คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นภาวะแห่งอัลลอฮ์หรืออรหัต ช่างตรงกับหัวใจของพุทธศาสนาที่ห้ามการยึดถือเสียจริงๆ

ดังนี้จะมิให้ข้าพเจ้ากล่าวว่าหัวใจของพุทธศาสนาก็ตรงกับหัวใจของอิสลามได้อย่างไร”

ทัศนธรรมของท่านหัจญีประยูร วทานยกุล เกี่ยวกับความไม่ยึดมั่นนี้ ตรงกับพุทธภาษิตว่า

“สัพเพธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ”

แปลว่า

“สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่พึงยึดมั่นถือมั่น”